“พอล วอล์คเกอร์” : เมื่อภาพของ “คนรักรถ” บนจอและในชีวิตจริงเป็น “ภาพเดียวกัน” – Sanook

30 พฤศจิกายน 2013 “พอล วอล์คเกอร์” นักแสดงชาวอเมริกันผู้เป็นที่รักจากแฟรนไชส์ภาพยนตร์  “Fast and Furious” ประสบอุบัติเหตุระหว่างนั่งรถ “Porsche Carrera GT” ที่ “โรเจอร์ โรดาส” เพื่อนของเขาขับ เมื่อรถสปอร์ตตัวแรงปะทะเข้ากับเสาไฟคอนกรีตจนไฟลุกท่วม ส่งผลให้เขาและเพื่อนเสียชีวิตลง ที่ซานตา คลาริต้า รัฐแคลิฟอร์เนีย

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้แฟนๆจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะช็อกและเสียใจ เพราะในขณะนั้นเขากำลังถ่ายทำภาพยนตร์ “Furious 7” ภาพยนตร์ลำดับที่ 7 ในแฟรนไชส์ Fast and Furious อยู่ด้วย ซึ่งกำกับโดย เจมส์ วาน อย่างไรก็ตาม การถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าวก็เดินหน้าต่อ เพราะได้รับการช่วยเหลือจากตัวแสดงแทนโดยน้องชายของเขาอย่าง “เคเล็บ” และ “โคดี้ วอล์คเกอร์” ประกอบกับการใช้ซีจี ทำให้ Furious 7 ปิดกล้องได้อย่างราบรื่น 

เมื่อ Furious 7 เข้าฉาย ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นภาพยนตร์ที่เปรียบเสมือนจดหมายรักที่สั่งลา พอล วอล์คเกอร์ ที่ปิดตำนานตัวละคร “ไบรอัน โอคอนเนอร์” ได้อย่างงดงาม เพราะนอกจากคนจะจำเขาไว้ในฐานะนักแสดงแล้ว ทุกๆคนยังได้จดจำเขาในฐานะคนรักรถอย่างแท้จริงอีกด้วย

เนื่องในโอกาสครบรอบวันเสียชีวิตของ พอล วอล์คเกอร์ Main Stand ขอชวนไปสำรวจความรักของเขาที่มีต่อรถ สายสัมพันธ์พิเศษที่เขามีให้แก่รถ โดยมีแฟรนไชส์ Fast and Furious เป็นสื่อกลางไปพร้อมๆกัน

ONE OF THE RAREST BIRD IN HOLLYWOOD 

“พอล วิลเลียม วอล์คเกอร์” เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน ปี 1973 ที่เมืองเกลนเดล รัฐแคลิฟอร์เนีย เขาเป็นพี่ชายคนโตสุดในบรรดาพี่น้อง 5 คนแห่งบ้านวอล์คเกอร์ โดยมีน้องชาย 2 คนได้แก่ “เคเล็บ” และ “โคดี้ วอล์คเกอร์” น้องสาวอีก 2 คนได้แก่ “เอมี่” และ “แอชลี่ย์ วอล์คเกอร์” 

1พอลและพี่น้องอีก 4 คนของเขา เติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างเคร่งศาสนา ชีวิตวัยเด็กของเขามักจะวนเวียนอยู่กับโบสถ์ของศาสนาคริสต์นิกายมอร์มอน แต่ถึงอย่างไร เด็กชายพอล วอล์คเกอร์ ก็เป็นเด็กที่ไม่ได้ถูกห้ามหรือโดนจำกัดอิสระแบบครอบครัวที่เคร่งศาสนาที่เราเห็นในหนังแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของเขาก็เป็นครอบครัวที่ชอบทำกิจกรรม คุณแม่ของพอล “เชอรีล วอล์คเกอร์” เป็นถึงนางแบบ ในขณะที่คุณตาของเขาคนหนึ่งเป็นนักมวย และคุณปู่เคยเป็นนักแข่งรถของฟอร์ดเมื่อช่วงทศวรรษ 1960s 

เด็กชายพอล วอล์คเกอร์ เริ่มต้นเส้นทางอาชีพนักแสดงของเขาตั้งแต่วัย 12 ด้วยการรับบทเป็น “เจเรมี่ บีทตี้” ลูกชายของ “แซนดี้ บีทตี้” (นำแสดงโดย ไดอาน่า คาโนว่า) ในซิตคอมอารมณ์ดีเรื่อง “Throb” (1986) ในช่วงเวลาที่เขาเติบโตควบคู่ไปกับการทำงาน พอลได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียน Village Christian High School หลังจากนั้นเขาก็มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นหนังคอมเมดี้ชื่อ “Tammy The T-Rex” (1994) ในขณะที่เขาอายุ 17 ปี 

2พอลได้เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแถบแคลิฟอร์เนียตอนใต้ เอกวิชาชีววิทยาทางทะเล เพราะเดิมทีเขาอยากเป็นนักชีววิทยา แต่สุดท้ายพอลก็ได้เลือกเส้นทางอาชีพนักแสดงซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำมาก่อนในวัยเด็ก ผลงานในอดีตของเขาตอน 17 ปี ส่งผลให้ภาพของวัยรุ่นหน้าหยกผมทองตาสีฟ้าคนนี้ ได้รับบทในหนังไฮสคูลตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น “Varsity Blues” (1999) หรือ She’s All That (2000) 

พอล วอล์คเกอร์ ถูกจดจำในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ที่ไต่เต้าขึ้นไปบนเส้นทางอาชีพของตัวเองแบบ “ไม่ฝืน” กล่าวคือเขาไม่ได้พยายามทำตัวให้เป็นจุดสนใจเพื่อที่จะได้รับงานใหญ่ในวงการฮอลลีวูด ในทางกลับกัน ความธรรมดานี้เองที่เป็นเสน่ห์ของพอลในแบบที่เขาไม่ต้องพยายามที่จะดูดีแต่อย่างใด เสมือนเป็นดาราที่เป็นดารามาตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นที่รู้จัก 

หนังสือพิมพ์สำนักหนึ่งจากรัฐเท็กซัสชื่อ “The Dallas Morning News” เคยลงความเห็นต่อนักแสดงคนนี้เอาไว้ในปี 2000 ว่า “Paul is one of the rarest birds in Hollywood- a pretension free movie star.” หรือที่แปลได้ทำนองว่า “พอลเป็นหนึ่งในนกที่หายากที่สุดในฮอลลีวูด เขาเป็นนักแสดงที่ไม่มีการอวดดีแต่อย่างใด”

3จุดเปลี่ยนในเส้นทางอาชีพนักแสดงของเขามาถึงตอนที่เขาได้ไปเล่นหนังโจรกรรมเรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่า “The Fast and The Furious” ในปี 2001 ประกบกับนักแสดงอย่าง “วิน ดีเซล” ที่โด่งดังมาจากภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง “Pitch Black” (2000)

ใครจะรู้ว่าการเล่นภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล และมันยังทำให้นักแสดงคนนี้กลายเป็นคนรักรถอย่างถอนตัวไม่ขึ้นไปด้วย

“I THINK THE WHOLE SPEED CAR THING IS REALLY IN MY BLOOD.”

ชื่อของ พอล วอล์คเกอร์ เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้นจากการเล่นภาพยนตร์ The Fast and The Furious ในบท “ไบรอัน โอคอนเนอร์” นายตำรวจที่ต้องแฝงตัวเข้าไปอยู่ในแก๊งรถซิ่งเพื่อที่จะทำลายแก๊งจากภายใน โดยมีหัวหน้ากลุ่มคือ “โดมินิก ทอเร็ตโต” (นำแสดงโดย วิน ดีเซล) แต่เขากลับผูกพันกับแก๊ง เส้นแบ่งระหว่างโลกของตำรวจและโลกของโจรนั้นบางลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายแล้วเขาต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างไหน 

4แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะเป็นภาพยนตร์โจรกรรมที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ใช่หนังที่เพอร์เฟ็กต์ แต่มันก็เป็นหนังแอ็กชันที่ดูสนุกเรื่องหนึ่ง อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในด้านของรายได้ โดยหนังทำรายได้เปิดตัวไปได้ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกวาดรายได้รวมทั้งในและนอกประเทศไปทั้งหมด ราว 207 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ตัวละคร ไบรอัน โอคอนเนอร์ กลายมาเป็นหนึ่งในตัวละครโปรดของแฟนๆไม่แพ้กับบท โดมินิก ทอเร็ตโต ของ วิน ดีเซล อาจเป็นเพราะเคมีคู่หูที่ดูเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยของทั้งคู่ ทำให้ พอล วอล์คเกอร์ ได้กลายเป็นอีกหนึ่งโฉมหน้าของแฟรนไชส์ Fast and Furious ที่มีหนังตามอีกถึง 8 ภาคจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความที่ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีองค์ประกอบหลักคือรถ ความที่ต้องถ่ายทำหลายๆฉากกับรถ ไม่ว่าจะเป็นฉากขับรถ ซ่อมรถ ความที่ต้องอยู่กับรถก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พอล วอล์คเกอร์ กลายเป็นคนรักรถไปเสียอย่างงั้น? 

หากจะบอกว่าแฟรนไชส์ภาพยนตร์ดังกล่าวทำให้พอลเป็นคนรักรถก็ไม่ผิดนัก แต่ความจริงแล้ว ความรักที่มีต่อรถของพอลเริ่มต้นตั้งแต่ตอนที่เขาจะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแฟรนไชส์นี้แล้ว ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในระหว่างที่เดินสายโปรโมตภาพยนตร์ในปี 2001 ว่า

“พ่อของผมเป็นคนที่อินกับรถมานานแล้ว ผมเติบโตขึ้นมากับนิตยสารรถมากมายในบ้าน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมอ่านมาตลอดด้วย คุณปู่ของผมก็เคยเป็นนักแข่งรถของฟอร์ด ผมคิดว่าจริงๆแล้ว พวกเรื่องรถแรงเนี่ยมันอยู่ในสายเลือดผมมาตลอดนั่นแหละ” 

5ประกอบกับสิ่งที่เราได้บอกไปก่อนหน้าแล้วว่า การจะพูดว่าแฟรนไชส์ภาพยนตร์ดังกล่าวทำให้พอลเป็นคนรักรถก็ไม่ผิดนัก เป็นเพราะนอกจากเขาจะเติบโตมากับการได้เห็นรถในนิตยสาร การที่ได้เข้ามาเล่นหนังในแฟรนไชส์นี้ก็เหมือนกับเป็นเครื่องย้ำเตือนให้เขากลับมาสนใจรถอีกครั้งตอนโตด้วย ซึ่งมันเหมือนเป็นตัวช่วยขยายความสนใจเรื่องรถของเขาให้กว้างขึ้นกว่าที่เคยเป็น 

“จริงๆแล้วผมไม่ใช่คนที่อินกับรถอิมพอร์ตสักเท่าไหร่ ก่อนที่จะมาเล่นหนังเรื่องนี้ผมค่อนข้างคุ้นเคยกับมัน แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่โปรดปรานสำหรับผมเท่าไรนัก กระทั่งผมได้มาเล่นหนังเรื่องนี้นี่แหละ จนได้รู้ว่ารถพวกนี้มันทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้ผมอินแต่กับรถอิมพอร์ต ผมยังรักรถในประเทศของผมนะ ตอนนี้ผมจะเล่นมันทั้งคู่นั่นแหละ” 

รถอิมพอร์ต หรือ “รถนำเข้า” ที่ พอล วอล์คเกอร์ พูดถึง คือรถที่นำเข้ามาจากประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น อย่าง Mitsubishi Eclipse ปี 1998 หรือ Toyota Supra ปี 1995 ที่ปรากฏในภาพยนตร์ภาคแรกและลามไปถึงภาคสองใน “2 Fast 2 Furious” ที่ออกฉายในปี 2003 ที่มีรถอย่าง Nissan Skyline R34 GT-R ปี 1999, Mitsubishi Lancer Evolution VII ปี 2002 และ Mitsubishi Eclipse ปี 2001 

6กลายเป็นว่าแฟนๆของแฟรนไชส์ภาพยนตร์ชุดนี้จะจดจำภาพของ ไบรอัน โอคอนเนอร์ คู่กับรถญี่ปุ่นเสมอ ในขณะที่ดอมจะถูกจับคู่กับ “มัสเซิลคาร์” แบบอเมริกันอย่าง Dodge Charger​ ปี 1970.. Fast and Furious ได้เข้ามาจุดชนวนความสนใจในรถของ พอล วอล์คเกอร์ อีกครั้ง และแผ่ขยายไปมากกว่าเดิมจนถึงรถญี่ปุ่นอีกด้วย

ในขณะที่แฟรนไชส์ภาพยนตร์เรื่องนี้เติบโตขึ้น คอลเล็กชั่นรถของพอลและความหลงใหลในรถของเขาก็เติบโตตาม ความรักที่มีต่อรถของพอลเป็นความรักแบบไม่มีข้อกังขา ว่ากันว่านี่คือนักแสดงที่เหมาะสมกับบทที่สุดในแฟรนไชส์ Fast and Furious

A TRUE CAR GUY 

พอล วอล์คเกอร์ อาจจะเป็นคนที่มีรถมากกว่า ไบรอัน โอคอนเนอร์ ก็เป็นได้ เพราะรถส่วนมากของเขาไม่ได้ถูกนำมาบู๊แล้วทิ้งแบบรถในหนังแต่อย่างใด พอล วอล์คเกอร์ ในชีวิตจริงมีรถอยู่ทั้งหมดถึง 21 คัน อีกทั้งยังมีอู่รถที่ชื่อ “Always Evolving” (หรือชื่อเดิม AE Performance) ซึ่งเขาร่วมเปิดกับเพื่อนที่มีชื่อว่า “เอริค เดวิส” และ “โรเจอร์ โรดาส” (ที่เสียชีวิตไปพร้อมกับพอล) อยู่ในลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย

7รถบางส่วนในคอลเล็กชั่นของพอลประกอบไปด้วย Chevrolet Nova ปี 1967, BMW M3 E30 ปี 1988 และปี 1991, Nissan Skyline R32 GT-R ปี 1989, Audi S4 ปี 2000, Nissan 370Z ปี 2009 คันเดียวกันกับที่ปรากฏในภาพยนตร์ Fast Five (2011) ภาพยนตร์ลำดับที่ 5 ในแฟรนไชส์ และ Ford Mustang Boss 302 ปี 2013 

ทั้งหมดที่กล่าวมาถูกนำไปประมูลในงานประมูลประจำปีของ Barrett-Jackson สำนักการประมูลชื่อดังเมื่อปี 2020 ก่อนจะถูกเคาะประมูลขายด้วยมูลค่ารวมทุกคันกว่า 2.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 77 ล้านบาท รายได้ทั้งหมดจะถูกส่งต่อให้มูลนิธิ “Reach Out Worldwide” มูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรที่ พอล วอล์คเกอร์ เป็นคนก่อตั้งขึ้น (ปัจจุบัน มีโดว์ วอล์คเกอร์ ลูกสาวของพอลรับหน้าที่ดูแลต่อ) เพื่อนำเงินไปสนับสนุนการศึกษาใต้ทะเล อีกหนึ่งความหลงใหลของพอลนอกเหนือจากการแสดงและการขับรถ

แพชชั่นของพอลที่มีต่อรถยังถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจน เช่นในปี 2011 ที่ พอล วอล์คเกอร์ เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมชม “Mine’s” อู่แต่งรถชื่อดังของญี่ปุ่น ที่นั่นเขายังได้พบกับ “ซึโสะ นีคุระ” เจ้าของอู่ พร้อมกับได้ลองขับ Nissan GT-R R35 ที่ Mine’s ปรับแต่งอีกด้วย 

8การไปเยี่ยมญี่ปุ่นครั้งนั้นไม่ได้ผ่านการเชื้อเชิญโดยใครเป็นพิเศษ มันเป็นทริปที่พอลได้ไปรู้จักกับชายคนหนึ่งที่ชื่อ “เจสัน คุซากายะ” อดีตพนักงานที่เคยทำงานที่ Mine’s อีกหนึ่งคนรักรถ เมื่อคุยกันถูกคอพอลจึงขอให้เจสันพาเขาเที่ยวญี่ปุ่น เนื่องจากเจสันสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ พอลยังพา มีโดว์ ลูกสาวของเขาที่ปิดเทอมอยู่ และ โรเจอร์ โรดาส เพื่อนของเขาไปเที่ยวด้วย คุซากายะ เล่าผ่านเว็บไซต์ของ GT Channel ช่องที่อัปโหลดวิดีโอของพอลขณะไปเยี่ยมชมอู่ โดยเล่าว่าระหว่างที่พอลไปญี่ปุ่น เขามักจะทำตัวให้ไม่เป็นจุดสนใจ เขาไปที่นั่นในฐานะคนรักรถไม่ใช่ในฐานะนักแสดงคนดัง 

“ส่วนใหญ่แล้วระหว่างการเดินทางในประเทศญี่ปุ่น เรามักจะเดินทางกันด้วยรถยนต์ส่วนตัว เพื่อทำตัวไม่ให้อยู่ในเรดาร์ พอลเป็นบุคคลที่ธรรมดามาก ไม่ได้ทำตัวหวือหวา เขาไม่ได้แสดงอาการอะไรที่จะทำให้เป็นจุดสนใจ นั่นเลยน่าจะเป็นสาเหตุว่า ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ไม่มีใครจำเขาได้เลย” 

9กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่าประทับใจ เพราะ พอล วอล์คเกอร์ ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการไปญี่ปุ่นเพื่อการโปรโมตหนังแต่อย่างใด หากแต่ไปเพื่อจะไปเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้และเพื่อไปชมรถญี่ปุ่นที่เขาชื่นชอบโดยเฉพาะ

อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็พอจะทำความเข้าใจได้ว่า พอล วอล์คเกอร์ นั้น เป็นคนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับความหลงใหลในรถยนต์ แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า รถ ยานพาหนะที่เขารักที่สุด จะเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตเขาไปด้วยในปี 2013

FOR PAUL 

เรื่องราวเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน ช่วงเวลาประมาณบ่าย 3 โมง เป็นวันที่พอลและโรเจอร์ได้เดินทางไปร่วมงานการกุศลที่มูลนิธิ Reach Out Worldwide ของเขาจัดขึ้น เพื่อระดมเงินทุนไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน หนึ่งในพายุที่รุนแรงที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ 

หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจ พอลและโรเจอร์ออกจากงานด้วยรถ Porsche Carrera GT โมเดลปี 2005 โดยโรเจอร์เป็นคนขับ เขาทั้งคู่ผ่านไปในจุดที่เป็นที่นิยมต่อการดริฟต์รถบนถนนเฮอร์คิวลิส ในย่านชุมชนวาเลนเซีย เมืองซานตา คลาริต้า

10โรเจอร์ขับรถมาด้วยความเร็วเกินกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตจำกัดความเร็ว 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนทำให้รถเสียการควบคุมและได้พุ่งเข้าชนกับเสาไฟคอนกรีต จนเสียหลักอีกครั้งไปปะทะเข้ากับต้นไม้จนไฟลุกท่วมรถ 

จากการตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุ มีการคาดการณ์สาเหตุการตายโดยแผนกชันสูตรว่า ระหว่างที่รถเสียหลักชนกับเสาไฟและตอนที่ไฟลุก ทั้งสอง 2 คนยังไม่ได้เสียชีวิตทันที มีเวลานานนับนาทีที่จะสามารถเข้าไปช่วยได้ แต่เป็นเรื่องบังเอิญแสนเศร้าที่ ณ ตอนนั้น บนถนนเฮอร์คิวลิสไม่มีใครอยู่เลย สิ่งที่คร่าชีวิตทั้งคู่จึงกลายเป็นไฟที่กำลังท่วมรถในขณะที่พอลและโรเจอร์หมดสติอยู่ 

ร่างของพอลได้ถูกนำไปเผาซ้ำอีกครั้งและฝังเถ้ากระดูกไว้ที่สุสาน Forest Lawn Memorial Park บริเวณ Hollywood Hills ในลอสแอนเจลิส เช่นเดียวกับ โรเจอร์ โรดาส ที่เสียชีวิตไปพร้อมกัน

พอล วอล์คเกอร์ เสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 40 ปี และ Furious 7 ได้กลายเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเขา ปิดฉากตัวละคร ไบรอัน โอคอนเนอร์ ลงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งผู้กำกับ เจมส์ วาน ก็ได้หาบทสรุปให้แก่ตัวละครนี้ ด้วยการให้ไบรอันรีไทร์ออกจากชีวิตอาชญากรรมไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับ มีอา น้องสาวของดอม รักแรกของไบรอัน (นำแสดงโดย จอร์ดาน่า บรูว์สเตอร์) กับลูกอีก 2 คน

11เป็นการยากที่จะจินตนาการหน้านักแสดงคนอื่นมาแทนที่ตัวละคร ไบรอัน โอคอนเนอร์ แทน พอล วอล์คเกอร์ บางทีสิ่งที่พอแทนกันได้ก็อาจจะเป็นรูปลักษณ์ภายนอก อย่างรูปร่างของร่างกาย ทรงผม สีผิว แต่สิ่งที่ยากกว่าเรื่องปัจจัยภายนอกคือความรักที่เขามีต่อรถ ที่นักแสดงคนหนึ่งจะมีให้ได้ทั้งในจอและนอกจอ ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้พอลเหมาะกับบทนี้มากกว่าใคร การปิดฉากตัวละครนี้ไปพร้อมกับเขาก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว 

แม้ว่าปัจจุบันแฟรนไชส์ Fast and Furious ยังคงดำเนินต่อไปแบบไม่มีพอล (แม้มีฉากที่กล่าวถึง ไบรอัน โอคอนเนอร์ อยู่ตลอดทุกภาค) แต่นักแสดงทุกคนโดยเฉพาะ วิน ดีเซล ก็ยังคงจดจำเพื่อนรักคนนี้ไว้เสมอ อย่างล่าสุดในปี 2021 ที่ มีโดว์ วอล์คเกอร์ ลูกสาวของพอลเข้าพิธีแต่งงาน วิน ดีเซล ก็รับหน้าที่แทน พอล วอล์คเกอร์ ในฐานะพ่อทูนหัว ช่วยส่งตัวมีโดว์เข้าพิธีวิวาห์อย่างอบอุ่น 

12ไม่ว่าทิศทางของภาพยนตร์ชุดนี้จะดำเนินต่อไปทางไหน แต่สิ่งที่ทำให้ Fast and Furious เป็นแฟรนไชส์ดังอย่างทุกวันนี้ได้ ก็เป็นเพราะหนังโจรกรรมทุนหลักสิบล้านที่ออกฉายในปี 2001 เรื่องนี้ มีชายชื่อ “พอล วอล์คเกอร์” กรุยทางไว้ให้