ถ้าเป็นไปอย่างที่ได้ยิน ได้ฟัง ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ นอกจากนี้ “ผบ.ปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข แม่ทัพใหญ่สีกากี จะต้องมีคำสั่งมอบหมายงาน รองผบ.ตร.และผู้ช่วย ผบ.ตร.รับผิดชอบสายงานต่างๆ ตามหลักปกติที่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง เปลี่ยนแปลงตัวบุคลที่ได้รับการแต่งตั้ง ประจำปีงบประมาณ
ก็ต้องแบ่งสายงานความรับผิดชอบให้ รอง ผบ.ตร.กันใหม่ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ใครจะคุมงานบริหาร, งานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม, งานสืบสวน, งานกฎหมายและคดี, งานความมั่นคงและกิจการพิเศษ และงานจเรตำรวจ???
แต่ไฮไลต์ครั้งนี้ ซึ่งเป็นเทอม 2 เป็นปีสุดท้าย ในการบริหารงาน “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ของ “ผบ.ปั๊ด” ถือเป็นการพิสูจน์ฝีมือการทำงานบนเก้าอี้ “แม่ทัพใหญ่สีกากี” อย่างแท้จริง หมดเวลาลองงาน หมดเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กันแล้ว
ว่ากันว่า “ผบ.ปั๊ด” จะมีการจัดตั้งศูนย์เพื่อมอบหมายให้ รองผบ.ตร.ไปเป็น “ผู้อำนวยการศูนย์” ซึ่งก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเช่นกัน
แต่ครั้งนี้มีการตั้งศูนย์เพิ่มขึ้นอีก
ราวดอกเห็ด!!!
ศูนย์อาชญากรรมพิเศษ มีศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ศปลป.ตร.), ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง (ศนม.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ (ศปจร.ตร.), ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและมือปืนรับจ้าง (ศปอร.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ (ศปทส.ตร.)
ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.ตร.) ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และปราบปรามการค้ามนุษย์ (ศพดส.ตร.), ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.), ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง (ศตปค.ตร.), ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง (ศปข.ตร.), ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมือง (ศปชก.ตร.) และศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ศปปง.ตร.)
นอกจากนี้ ศูนย์บริหารงาน ที่มีศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม (ศปป.ตร.), ศูนย์บริหารงานสอบสวนคดีพิเศษ (ศส.ตร.), ศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติ มีศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.ตร.), ศูนย์บังคับและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ถามว่า “ศูนย์ฯ” เหล่านี้จำเป็นหรือไม่ อย่างไร ในยุคที่ “กรมปทุมวัน” ขยายโครงสร้าง ขยายการทำงานครอบคลุมไปเกือบทุกหน้างานแล้ว
หลายๆ ศูนย์ฯ ที่ตั้งขึ้นมามีเจ้าภาพดูแลหน้างานเกือบครบทุกด้านแล้ว ไม่ว่าจะเป็น บก.ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ, บก.ปคม.ของสอบสวนกลาง, บช.สอท. และ บก.ปอท., กองปราบปราม ตำรวจป่าไม้ บก.สืบสวนทุก บช.
จะตั้งขึ้นมาทับซ้อนกันทำไม???
รอง ผบ.ตร.และผู้ช่วย ผบ.ตร. ก็มีหน้างานที่ตัวเองรับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องมีศูนย์ฯ มาให้คุมก็มีงานให้ทำล้นมือ หรือไม่ไว้ใจ “ตำรวจ” ที่อยู่แต่ละหน่วยงานที่ตัวเองก็เป็นคนแต่งตั้งลงไปนั่งเก้าอี้ ลงไปนั่งทำงาน เหตุใดต้องมีชุดเฉพาะกิจ เหตุใดต้องมีชุดเฉพาะด้านระดับ ตร.ลงไปเพิ่มอีก
ที่สำคัญการตั้งศูนย์เหล่านี้ต้องใช้กำลังคน ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น เพราะกำลังคนที่จะมาทำงานให้ศูนย์ก็ต้องดึงมาจากโรงพัก ดึงมาจากหน่วยต่างๆ ก็ยิ่งทำให้กำลังโรงพัก กำลังหน่วยต่างๆ ขาดแคลน งบประชุม งบเดินทางก็ต้องเบิกเพิ่มขึ้น
สำคัญสุดๆ คือบางครั้ง บางคราว เจอพวกนอกรีต เจอพวกหิว ก็สุ่มเสี่ยงจะแปรผันไปเป็นชุดเฉพาะเก็บกันอีก
ถ้าหากมองว่าให้ระดับ บก.ทำงาน ระดับ บช.ทำงาน เวลาเกิดเรื่อง เกิดคดีใหญ่ๆ อาจไม่ครอบคลุมทั่วถึง ก็สามารถตั้งเป็นชุดเฉพาะขึ้นมาดูแลเป็นเรื่องๆ แบบชั่วคราว พอทุกอย่างคลี่คลายก็ยุบไป ก็จะไม่เปลืองกำลังคน ไม่เปลืองงบประมาณ
ไหนๆ ก็เป็นห้วงเวลาที่สังคมเรียกร้องให้ “ปฏิรูปตำรวจ” เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เป็นการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง การตั้งศูนย์ฯ ต่างๆ เยอะแยะไปหมดเช่นนี้ “เทอะทะ” อาจได้ไม่คุ้มเสีย
ไม่อยากให้ “องค์กรตำรวจ” ที่กำลังโดนกระแสสังคมโจมตี กระแสสังคมตั้งคำถามต่อการทำงาน จะถูกเพ่งเล็งเพิ่มขึ้นว่า การผูดศูนย์ฯ ขึ้นราวดอกเห็ดแบบนี้ เพื่อประโยชน์ขององค์กร เพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน
หรือเพื่อประโยชน์ของพวกพ้องตัวเอง???.
As part of their spo…
This website uses cookies.