ปิดตำนาน “ฟอกรถหรู” บทเรียน #ผู้กำกับโจ้ รวยสินบนร้อยล้าน – ประชาชาติธุรกิจ

สืบเนื่องกรณีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ “ผู้กำกับโจ้” อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสววรรค์ ได้มีพฤติการณ์ร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยการทรมาน นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติด ตามที่ปรากฏในคลิปบนโลกออนไลน์ รวมทั้งยังมีการครอบครอง “รถหรู” เกือบ 30 คัน โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่ารถที่ปรากฏอยู่ในบ้านของผู้กำกับโจ้จะเป็นการ “ฟอกรถ” จากกระบวนการประมูลหรือไม่

เปิดช่องโหว่กฎหมาย สู่กระบวนการหากินด้วยการจับกุมรถหรู

ซึ่งว่ากันว่าในอดีตการลักลอบนำเข้ารถหรูจากต่างประเทศจะมีในหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะซื้อจากตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศแล้วนำผ่านด่านกรมศุลกากร จากนั้นเครือข่ายจะนำรถจอดทิ้งไว้ในฝั่งไทย แล้วแจ้งตำรวจให้มาจับ เนื่องจากเป็นการลักลอบนำเข้ารถแบบผิดกฎหมาย ไม่ได้มีการจ่ายภาษี จากนั้นชุดจับกุมก็จะส่งเข้าสำนวนดำเนินคดี และหลังจากที่คดีความได้สิ้นสุดกระบวนการลงไปแล้ว ก็นำรถยนต์ราคาแพงๆ ผิดกฎหมายเหล่านั้นมาทำการขายทอดตลาดด้วยวิธีการประมูลต่อไป

ทั้งนี้ การประมูลขายทอดตลาด ราคากลางที่ตั้งประมูลก็จะเป็นตามสภาพรถ คนในวงการบอกเล่ากันมาว่า “รถที่ขายทอดตลาดจะถูกถอดอุปกรณ์ชิ้นส่วนสำคัญออกไปอย่างกล่องสมองกล (ECU) เพื่อที่จะได้ประมูลในราคาถูก แล้วจะมีหน้าม้าของกระบวนการเข้ามาประมูล และนำไปขายต่อทำกำไร” โดยรถที่ถูกประมูลไปเหล่านี้สามารถนำเอกสารการประมูลจากกรมไปยื่นจดทะเบียนเป็นรถยนต์ถูกกฎหมายได้ทันที จึงเรียกได้ว่า เป็นการ “ฟอกรถผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย” ได้ง่าย

ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมรถจะได้รางวัลนำจับตามกฎหมายของกรมศุลกากร โดยนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ให้สัมภาษณ์กรณีเงินรางวัลที่ได้จากการนำจับรถ ว่า ก่อนจะมีการแก้ไขกฎหมายศุลกากรปี 2560 ขณะนั้นจะมีการจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมอยู่ที่ไม่เกิน 25% ของอัตราค่าปรับที่ประเมิน ส่วนเงินสินบนนำจับจ่ายให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสอยู่ที่ไม่เกิน 30% แต่หลังจากปี 2560 เป็นต้นมา ได้ลดการจ่ายรางวัลเหลือ 20% และ สินบนนำจับเหลือ 20% ต่อ 1 คดี และ เพดานไม่เกิน 5 ล้านบาท

กรมศุลฯ ชี้ผู้กำกับโจ้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ “เงินรางวัลนำจับ-สินบน” 300 ล้านบาท

ส่วนในกรณีของผู้กำกับโจ้ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลรถของกรมศุลกากรนั้น นายพชร กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นการใช้กฎหมายเป็น “เครื่องมือ” แต่ถ้าดูในแง่กฎหมาย ไม่ได้เป็นการกระทำผิด เพราะผู้กำกับโจ้ เป็นเจ้าพนักงานที่สามารถดำเนินการจับกุมการลักลอบนำเข้ารถยนต์ที่เข้ามาในประเทศไทยได้ ซึ่งเมื่อจับมาแล้วก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมาย

ทั้งนี้ จากตรวจสอบข้อมูลของผู้กำกับโจ้ พบว่าตั้งแต่ปี 2554-2560 พ.ต.อ.ธิติสรรค์ เป็นเจ้าของสำนวนคดีนำจับรถหรูและรถทั่วไปรวม 368 คัน ขายทอดตลาดไปแล้ว 363 คัน เหลือ 5 คัน โดยจากข้อมูลรถดังกล่าวนั้น มีการเปิดราคาประมูลที่ 500 ล้านบาท เฉพาะส่วนที่ขายทอดตลาด เป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท 

“จากสำนวนของเขาทั้งหมดที่มีการประมูลไป เงินรางวัลก็อยู่ในวงเงินประมาณ 300 ล้านบาท แต่ที่เขาได้ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะต้องหักพวกค่าใช้จ่ายในการประมูล ค่าอะไรต่าง ๆ รวมถึงจะไม่ใช่เขาได้คนเดียว แต่คนเกี่ยวข้องทั้งหมดก็ได้รางวัลด้วย” อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว

หน่วยงานยกระดับกฎหมาย อุดรูรั่วการ “ฟอกรถ” 

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ปัจจุบันพ.ร.บ.ศุลกากรที่ปรับปรุงล่าสุดตั้งแต่ปี 2560 เป็นส่วนหนึ่งของการอุดช่องโหว่กระบวนการหากินกับการจับกุมรถหรู ซึ่งปรับปรุงให้ระบบจ่ายเงินรางวัลน้อยลง โดยลดการจ่ายรางวัลเหลือ 20% และสินบนนำจับเหลือ 20% ต่อ 1 คดี และ เพดานไม่เกิน 5 ล้านบาทอย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่ากรมมีเฉพาะมาตรการส่วนนี้ เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กรมมีมาตรการที่ออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้กระบวนการฟอกรถสามารถดำเนินการได้ รวมทั้งหน่วยงานอื่นด้วย

สำหรับหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้มีการดูแลเรื่องการฟอกรถ เช่น กรมการขนส่งทางบก ขณะนี้ได้ยกเลิกการจดทะเบียนรถ กรณีนำรถเข้ามาโดยไม่ถูกต้อง รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีการออกระเบียบ กรณีรถยนต์ให้แล้ว รวมทั้งรถจักรยานยนต์ เป็นสินค้าที่ต้องห้าม หรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2562 หากนำเข้ารถยนต์โดยไม่ถูกกฎหมายภายหลังจากปี 2562 จะต้องนำไปทำลาย ไม่สามารถนำไปทำอย่างอื่นได้ 

“หากไม่เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด และนำเข้ารถภายหลังจากปี 2562 รถที่นำเข้ามาไม่สามารถนำไปเปิดประมูลได้ โดยปัจจุบันนี้กรมก็จะไม่สามารถทำเนินการเปิดประมูลรถได้ตามระเบียบดังกล่าว เนื่องจากรถยนต์ยังไม่สามารถนำไปจดทะเบียนได้”นายชัยยุทธกล่าว

กรมศุลฯ ยันไม่นำรถถูกถอดชิ้นส่วนออกประมูล

สำหรับการประมูลรถยนต์ ซึ่งมีคนเคยพูดถึงว่า “พวกที่ฟอกรถก็สั่งรถเข้ามาแล้วถอดกล่องสมองกล (ECU) ออก เพื่อเวลาประมูลรถจะได้ไม่มีใครมาแข่ง แล้วตัวเองจะได้รถไปในราคาถูก” โดยในส่วนของกรมก็ได้มีการดำเนินการป้องกันหากมีกรณีดังกล่าว โดยหากมีรถของกลางมาให้จับแล้วกรมตรวจสอบพบว่ามีอุปกรณ์ที่เป็นสาระสำคัญของรถยนต์ เช่น ถอดกล่องสมองกล (ECU) หายไป กรมจะไม่นำรถคันนั้นมาประมูล 

นอกจากนี้ ในเรื่องระบบของการประมูล กรมก็ทำให้โปร่งใสมากที่สุด โดยให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาประมูลรถได้ และกรมไม่ได้ดำเนินการประมูลเอง ซึ่งมอบหมายให้บริษัทที่เป็นมืออาชีพด้านการประมูลเข้ามาดำเนินการโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ต่ำกว่า 5 ปี ที่กรมได้ใช้บริษัทเข้ามาช่วยดูแล ทั้งนี้ ก็ได้เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปทราบล่วงหน้า อย่างน้อย 15 วัน และให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาดูรถได้ก่อนการประมูล โดยการประมูลครั้งล่าสุด เมื่อปี 2563 กรมได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจสามารถประมูลออนไลน์ได้ด้วย ซึ่งส่วนนี้ก็น่าจะช่วยลดปัญหาที่มีการพูดถึงกันได้ 

ปัจจุบันพบรถนำเข้าผิดกฎหมาย เฉลี่ยไม่ถึง 100 คัน/ปี

ทั้งนี้ หลังจากที่มีการอุดช่องโหว่ต่างๆ แล้ว ปัจจุบันกรมตรวจพบรถยนต์ที่ไม่ถูกกฎหมาย เฉลี่ยน้อยกว่า 100 คันต่อปี โดยไม่ได้รวมเฉพาะการนำเข้ารถยนต์ที่ไม่ถูกกฎหมายเท่านั้น รวมถึงรถที่อยู่ภายในประเทศแล้วถูกจับ เนื่องจากเป็นรถที่ใช้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด เช่น นำรถยนต์ไปขนของลักลอบนำของหลบภาษีเข้ามาในประเทศ ซึ่งถือว่าเฉลี่ยแล้วการนำเข้ารถยนต์ที่ไม่ถูกกฎหมายไม่ถึง 100 คันต่อปี แต่ก่อนหน้าที่จะมีพ.ร.บ.ศุลกากร ฉบับปี 2560 มีการตรวจพบรถยนต์นำเข้าไม่ถูกกฎหมายมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

หาทางบริหารรถที่ค้างอยู่ 700 คัน หลังยกเลิกเปิดประมูลขายทอดตลาด

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ส่วนรถจากสำนวนของผู้กำกับโจ้ที่ยังค้างอยู่ 5 คัน ยังไม่ได้มีการประมูลนั้น ยังขายไม่ได้ และตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กรมได้ร่วมมือกับกรมขนส่งทางบกที่ได้มีการยกเลิกจดทะเบียนให้กับรถยนต์ลักลอบนำเข้า และยกเลิกการประมูลไปด้วย ทำให้ยังมีรถค้างอยู่ราว 600-700 คันที่กร

“พอไม่มีการประมูล รถที่มีการจับกุมมา ก็ยังเก็บรักษาไว้ที่กรมศุลฯ ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังให้เจ้าหน้าที่ศึกษาอยู่ว่าจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง จะบริจาคเป็นวิทยาทานด้านการศึกษา จำนวนรถก็มีมากเกินไป หรือ จะแยกชิ้นส่วนขายเป็นซากได้หรือไม่ ก็กำลังดูอยู่” อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว

หลังถูกลอดช่องกฎหมายเพื่อหาประโยชน์มานานมากกว่า 10 ปี  แนวทางการอุดช่องโหว่ที่ภาครัฐดำเนินการ จะได้ผลเพียงใด คงต้องติดตามต่อไป