น้ำท่วมถนน รถ-เรือชนกันใช้ กม.อะไรตัดสิน! รถหลีกซ้าย เรือหลีกขวา เจอกันพอดี!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เรื่องเด่นวันนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องที่น้ำกำลังนองไปครึ่งค่อนประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯก็อาจจะต้องเป็นปีที่สร้างประวัติศาสตร์ไว้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งน้ำท่วมกรุงเทพฯครั้งใหญ่ที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้เริ่มมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พงศาวดารกล่าวว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในปี ๒๓๒๕ ทรงทำพิธีปราบดาภิเษกขึ้นอย่างสังเขป เมื่อสร้างพระนครและพระราชมนเทียรขึ้นแล้ว จึงทรงทำพิธีราชาภิเษกอีกครั้งในปี ๒๓๒๘ ให้ครบตามธรรมเนียมประเพณี ในปลายปีนั้นก็ต้องเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่เป็นครั้งแรก วัดระดับน้ำที่ท้องสนามหลวงได้ถึง ๘ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว หรือราว ๔ เมตรครึ่ง น้ำเข้าท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานซึ่งเป็นที่ว่าราชการ สูงถึง ๔ ศอก ๘ นิ้ว ต้องย้ายไปว่าราชการที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางต้องใช้เรือไปเข้าเฝ้า

ต่อมาในปี ๒๓๖๒ สมัยรัชกาลที่ ๒ น้ำได้ท่วมใหญ่อีกครั้งในเดือนตุลาคม วัดระดับน้ำที่สนามหลวงได้ ๖ ศอก ๘ นิ้ว ส่วนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานระดับน้ำสูง ๒ ศอก ๑ คืบ ต้องย้ายไปว่าราชการที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทอีกเช่นกัน

น้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ ๓ เกิดในปี ๒๓๗๔ สมัยรัชกาลที่ ๓ ในเดือนพฤศจิกายน ระดับน้ำเข้าท่วมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยซึ่งเป็นท้องพระโรงว่าราชการ วัดได้ ๔ ศอก ๑ คืบ โปรดเกล้าฯให้ยกพื้นปูกระดานขึ้นเหนือน้ำ ใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ

 

จากนั้นน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯก็เว้นระยะไปเกือบ ๑๐๐ ปี จนในปี ๒๔๖๐ สมัยรัชกาลที่ ๖ น้องน้ำก็กลับมาเยี่ยมกรุงเทพฯในขณะไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ แม้ระดับน้ำจะไม่สูงเหมือนครั้งก่อนๆ แต่ก็ท่วมลานพระบรมรูปทรงม้า คนกรุงเทพฯเลยไม่ละโอกาสที่จะต้อนรับน้ำท่วมในรอบ ๑๐๐ ปี จัดแข่งเรือที่นั่นเสียเลย กลายเป็นเรื่องสนุกสนานเฮฮาไป และไม่มีใครรู้สึกว่าเดือดร้อน ยังไปไหนมาไหนได้สะดวก เพราะสมัยนั้นถนนยังไม่มี รถยนต์ก็ไม่มี ใช้กันแต่เรือเป็นหลัก น้ำท่วมถึงไหนก็พายเรือไปถึงที่นั้นได้ สบายกว่าน้ำไม่ท่วมเสียอีก

อีก ๒๕ ปีต่อมา คือในปี ๒๔๘๕ สมัยรัชกาลที่ ๘ น้ำเหนือไหลบ่ามาเยือนกรุงเทพมหานครอีก เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมแช่ตลอดไปถึงเดือนพฤศจิกายน โดยท่วมทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน จนถึงภาคใต้ ระดับน้ำวัดที่เชิงสะพานพุทธฯในวันที่ ๑๒ ตุลาคม สูง ๒.๒๗ เมตร กรุงเทพฯได้กลายเป็นเมืองบาดาล ต้องใช้เรือเป็นพาหนะ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทยจัดคนมีเรือนำเรือออกมารับจ้างบริการประชาชนแทนการคมนาคมทางบกที่ปิดสนิท แต่ห้ามใช้เรือยนต์บนถนน

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจึงระดมความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ให้กรมประชาสงเคราะห์แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค สร้างเรือนยกพื้นขึ้นหลายแห่งให้พวกอยู่ห้องแถวชั้นเดียวได้ย้ายมาอาศัย กระทรวงสาธารณสุขจัดหน่วยพยาบาลตั้งตามที่ดอนต่างๆ ส่วนตามบ้านก็ส่งเรือนำข้าวปลาอาหารและน้ำประปาไปให้ ชักชวนให้ต้มน้ำดื่ม ใช้ตุ่ม ไห โอ่ง เป็นส้วมชั่วคราว และส่งเรือไปเก็บ

สมเด็จพระจักรพรรดิอิโรฮิโตของญี่ปุ่นที่ร่วมรบกับไทย ทราบข่าวอุทกภัยในประเทศไทย ทรงโทรเลขแสดงความเสียพระราชหฤทัย ส่วนฝ่ายสัมพันธมิตรที่เอาระเบิดมาถล่มจุดยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในไทยเป็นประจำ ก็งดเอาระเบิดมาหย่อนในช่วงที่น้ำท่วม เพื่อแสดงความเห็นใจคนไทย คนไทยที่ต้องวิ่งหนีระเบิดจึงรู้สึกโล่งอก พากันออกพายเรือเล่น และที่ชุมนุมแห่งหนึ่งก็คือลานพระบรมรูปทรงม้า

 

น้ำท่วมกรุงเทพฯครั้งรุนแรงที่สุดต้องยกให้ปี ๒๕๕๔ ถูกกล่าวขานว่าเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ขนาดตอนจะสร้างสนามบินแห่งแรกของกองทัพ บินไปสำรวจจากสนามบินชั่วคราวที่สนามม้าฝรั่ง ปทุมวัน พบว่าดอนเมืองซึ่งตอนนั้นมีชื่อว่าดอนอีเหยี่ยว เป็นที่ดอนที่สุดของกรุงเทพฯ แต่น้ำท่วมปี ๒๕๕๔ รันเวย์ดอนเมืองก็ยังต้องปิด เครื่องบินขึ้นลงไม่ได้ รถจอดที่สนามบินจมมิดคัน ที่อื่นจึงไม่ต้องพูดถึง อ่วมอรทัยกันไปทั่วหน้า ธนาคารโลกประเมินมูลค่าเสียหายถึง ๑.๔๔ ล้านล้านบาท

ในสมัยก่อนมีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่มีน้ำท่วมถนน ยังมีเรื่องปวดหัวอีกเรื่องหนึ่งเมื่อมีรถชนกับเรือ ตำรวจก็มึนไปไม่รู้ว่าจะเอากฎหมายไหนไปตัดสิน กฎหมายการจราจรทางน้ำ กำหนดว่า

เรือแล่นกราบซ้าย ต้องหลีกทางให้เรือที่แล่นกราบขวา

เรือใต้ลม ต้องหลีกทางให้เรือเหนือลม

เรือกลต้องหลีกทางให้เรือใบ เว้นแต่ในร่องน้ำ เรือใบต้องหลีกทางให้เรือกล

เรือที่จะเข้าท่า ต้องหลีกทางให้เรือออกจากท่า

ส่วนกฎหมายการจราจรทางบก กำหนดว่า ผู้ขับขี่รถทุกคันจะต้องขับรถในทางเดินรถด้านซ้าย เมื่อสวนกันจึงต้องหลีกไปทางซ้าย

ฉะนั้นเมื่อรถเผชิญหน้ากับเรือ เรือก็หลบไปทางขวาของเรือ ส่วนรถก็หลีกไปทางซ้ายของรถ จึงเจอกันพอดี

กฎหมายจรจรทางบกยังกำหนดว่า เมื่อเกิดชนกัน ห้ามแยกรถออกจากกันก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขีดเส้น แต่กว่า ตร.จะมาถึงเรือก็ลอยเลื่อนไปแล้ว และ ตร.ก็ขีดเส้นใต้น้ำไม่ได้ด้วย จึงไม่มีหลักฐานว่าใครผิดใครถูก

ในกรณีนี้ ตร.ก็ไม่รู้จะตัดสินอย่างไร เลยเอาข้อที่ว่า ใครไม่มีใบอนุญาตให้ขับขี่ยานพาหนะบนถนนเป็นฝ่ายผิด เรือก็เลยต้องเป็นฝ่ายรับผิดไป

แต่การตัดสินแบบนี้ก็คงไม่ถูกนัก เพราะเรือไม่ได้ใช้ถนน และไม่มีคุณสมบัติขับขี่บนถนนได้ จะต้องมีใบอนุญาตไปทำไม แต่วิ่งเฉพาะในน้ำ น้ำไปถึงไหนเรือก็ไปถึงที่นั่นได้ โดยใช้กฎหมายของเรือ เลยไม่รู้ว่าความจริงแล้วจะใช้กฎหมายของใครกัน

ยุคนี้ก็มีเรือขึ้นมาวิ่งบนถนนอยู่บ่อยๆในฤดูน้ำหลาก หากเกิดปัญหาชนกับรถขึ้นจะทำยังไงดี ตอนนี้มีทนายออกมารับร้องทุกข์อยู่หลายคน ช่วยเอาปัญหารถกับเรือชนกันไปพิจารณาหน่อยก็ดีนะ