1. RB Sports Media
หนึ่งในกลุ่มสินทรัพย์ตราสารทุนนอกตลาด (Private Equity) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของพี่น้องตระกูลรูเบน โดยปัจจุบัน Reuben Brothers ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ส่วนการลงทุนในด้านอื่นๆ ก็เช่น การเข้าซื้อกิจการ Arena Racing Company ซึ่งเป็นเจ้าของสนามม้าแข่ง 16 สนามทั่วประเทศอังกฤษ และการเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท hiSky ผู้ให้บริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมของอิสราเอล ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทวีปยุโรป
และล่าสุดมีรายงานว่า Reuben Brothers กำลังให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานลมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ โดยเฉพาะที่บริเวณท่าเรือและฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งของเมืองนิวคาสเซิล ด้วยเหตุนี้ การเข้าร่วมซื้อสโมสรฟุตบอลย่อมเป็นผลดีต่อการสานสัมพันธ์ทางด้านธุรกิจกับบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
2. PCP Capital Partners
“อแมนดา สเตฟลีย์” ก่อตั้ง PCP Capital Partners ตั้งแต่ปี 2548 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ผ่านมา PCP Capital Partners ถือเป็นบริษัทที่มีประวัติด้านการลงทุนอันแข็งแกร่ง และเป็นที่ไว้วางใจของบรรดาพันธมิตรนักลงทุนเอกชนหรือแม้กระทั่งสถาบันการเงินในระดับสูงมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังเคยมีผลงานชิ้นโบแดงในวงการฟุตบอล อย่างการปิดดีลซื้อสโมสร “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” มาแล้ว
3. Public Investment Fund หรือ PIF
ปัจจุบัน PIF ภายใต้การดูแลของมกุฎราชกุมาร “โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน” แห่งซาอุดีอาระเบีย คือ กองทุนที่มั่งคั่งและมีอิทธิพลมากที่สุดกองทุนหนึ่งของโลก โดยนับตั้งแต่มีการก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบัน PIF มีความมั่งคั่งรวมแล้วมากกว่า 3.2 แสนล้านปอนด์!
โดยหลังจาก PIF ทำเงินจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลักมาช้านาน แต่ในเมื่อ “ทองคำสีดำ” ซึ่งนับวันจะค่อยๆ หมดไป ซาอุดีอาระเบียจึงต้องมองหาการลงทุนรูปแบบอื่นๆ สำหรับอนาคตในระยะยาว เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันให้น้อยลง ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา PIF จึงเริ่มนำเงินอย่างน้อย 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปลงทุนในธุรกิจดาวรุ่งต่างๆ มากขึ้น เช่น ดิสนีย์, อูเบอร์, เฟซบุ๊ก, สตาร์บัคส์, ไฟเซอร์, ซิตี้กรุ๊ป, แบงก์ ออฟ อเมริกา, โบอิ้ง, ไลฟ์ เนชัน เอนเตอร์เทนเมนท์ และล่าสุด คือ “สโมสรฟุตบอล”
1. ความจงเกลียดจงชัง ไมค์ แอชลีย์
ผลสำรวจความคิดเห็นโดย Newcastle United Supporters Trust หรือ NUST พบว่า “ทูนอาร์มี” ถึง 93.8% สนับสนุนการเข้า TakeOver ของ PIF แม้ว่า ภาพลักษณ์ของ PIF จะดูเทาๆ ไปบ้างจากปัญหาอีรุงตุงนัง เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการละเมิดลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์อังกฤษ
แต่อย่างไรก็ดี “ยุคใหม่” ของไทน์ไซด์ ที่ไม่มี “บุคคล” ที่พวกเขาแสนจะเกลียดชังอย่าง “ไมค์ แอชลีย์” อดีตประธานสโมสรจอมอื้อฉาว มันก็น่าจะเป็นอะไรที่ดูแล้วมี “ความหวัง” มากกว่า 14 ปี ภายใต้การบริหารที่สุดล้มเหลว
พาทีมจบอันดับเลขตัวเดียวในพรีเมียร์ลีกได้เพียงครั้งเดียว, ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก 2 ครั้ง, ไร้การทุ่มทุนซื้อสตาร์ดัง, ไร้วิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนสโมสรไปข้างหน้า, มีปัญหากับตำนานสโมสร อย่างเควิน คีแกน และอลัน เชียร์เรอร์, จะเปลี่ยนชื่อสนามไปเป็นชื่อบริษัทของตัวเอง, ที่สำคัญจ้องหานายทุนมารับซื้อสโมสรไปเพื่อหวังฟันกำไรสูงสุดอยู่ตลอดเวลา เพียงเท่านี้…รู้หรือยังว่าเพราะอะไร “ทูนอาร์มี” จึงจงเกลียดจงชังชายคนนี้เสียจนยอมหลับตาข้างหนึ่งให้กับ “ความสีเทาๆ” ของเจ้าของทีมคนใหม่ได้ง่ายดายนัก
2. เซนต์ เจมส์ พาร์ก และทูนอาร์มี
สนามเซนต์ เจมส์ พาร์ก นอกจากจะจุคนได้มากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศอังกฤษแล้ว (ความจุ 52,305 ที่นั่ง) ยังถือเป็นหนึ่งในสนามที่มีค่าเฉลี่ยแฟนบอลเข้าสนามสูงที่สุดทีมหนึ่งด้วย (ค่าเฉลี่ยต่อนัดเฉพาะการแข่งขันในศึกพรีเมียร์ลีกตลอดฤดูกาล 2018-2019 หรือก่อนโลกเผชิญหน้าโควิด-19 อยู่ที่ 51,121 คน ขณะที่ สนามเอติฮัด สเตเดียม ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในฤดูกาลเดียวกัน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 54,130 คน จากความจุ 55,017 คน) ฉะนั้นในแง่ของการลงทุนแล้ว นี่คือ “หุ้นพื้นฐานดี” ชัดๆ
3. ราคาไม่แรง เหมาะสมสำหรับการลงทุน
วิกฤติโควิด-19 กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดราคานิวคาสเซิลให้ “ดำดิ่ง” ทั้งๆ ที่ผู้มาใหม่อย่าง PIF มีเงินมากล้นในแบบที่ “ไมค์ แอชลีย์” เพ้อฝันมาช้านาน อีกทั้งความช่ำชองในกดดันเพื่อปิดดีลในแบบยืนกรานอย่างแข็งกร้าวว่า จะไม่ยอมจ่ายเงินเกินกว่า 300 ล้านปอนด์อย่างเด็ดขาดของ “อแมนดา สเตฟลีย์” ทำให้ “ดีล” ที่ควรฟันกำไรได้เป็นหลายๆ เท่าจากจำนวนเงินที่ “ไมค์ แอชลีย์” อุตส่าห์ลงทุนซื้อนิวคาสเซิลมาในราคา 134 ล้านปอนด์ ตั้งแต่พฤษภาคม 2550 นั้น มีราคาเพียง 1.7 เท่าของรายได้ในรอบบัญชีล่าสุดที่ “เดอะแมคพาย” ทำได้ก่อนหน้าวิกฤติโควิด-19 เท่านั้น!
ในขณะที่ ตอนตระกูลเกลเซอร์ซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2548 นั้น ใช้เงินไปประมาณ 800 ล้านปอนด์ หรือ 4.1 เท่าของรายได้ที่ปิศาจแดงทำได้ในฤดูกาลก่อนหน้า
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ไมค์ แอชลีย์ “โดนกดราคา” จนต้องยอมกลืนเลือดขายในราคาไม่แรงอย่างที่ปรารถนา คือ ระหว่างปี 2554-2564 ไมค์ แอชลีย์ ใช้เงินลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของสโมสรสาลิกาดง เช่น การปรับปรุงสนาม, การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา, สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการฝึกซ้อม และที่สำคัญ คือ ศูนย์ฝึกเยาวชน แหล่งดึงดูดนักเตะรุ่นเยาว์มากพรสวรรค์ไปรวมกันเพียง 8.3 ล้านปอนด์เท่านั้น! ซึ่งน้อยที่สุดในบรรดาทีมในพรีเมียร์ฤดูกาลปัจจุบัน “น้อยกว่า” แม้กระทั่งสโมสรที่เล็กกว่าไม่รู้กี่เท่าอย่างนอริช ซิตี้ ที่ใช้เงินไปรวม 25.2 ล้านปอนด์ หรือเบรนท์ฟอร์ด น้องใหม่ที่กำลังมาแรง และเพิ่งขึ้นมาสูดอากาศในพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรที่ใช้เงินไปมากถึง 51.2 ล้านปอนด์!
นอกจากนี้ การทุ่มเงินซื้อนักเตะของ “ไมค์ แอชลีย์” ยังอยู่ที่จำนวนรวมเพียง 486 ล้านปอนด์ ทั้งๆ ที่สามารถขายนักเตะทำเงินรวมกันได้ถึง 356 ล้านปอนด์ ซึ่งนั่นทำให้มีการใช้เงินสำหรับการซื้อนักเตะไปเพียง 129 ล้านปอนด์ หรือเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่เพียง 9.3 ล้านปอนด์เท่านั้น ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา!
ด้วยเหตุนี้ ราคาของนิวคาสเซิลจึงมีราคาถูกกว่าราคาหนึ่งในอภิมหาคฤหาสน์ที่มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ซื้อไว้ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีราคาถึง 340 ล้านปอนด์ เสียอีก!
ประเทศซาอุดีอาระเบียพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นถึง 87% ของรายรับประเทศ หรือคิดเป็น 42% ของ GDP ประเทศ และ 90% ของรายได้การส่งออกประเทศ (จากการประเมินเบื้องต้น ราคาน้ำมันที่จะทำให้ซาอุดีอาระเบียได้รับผลกำไรต้องอยู่ที่ประมาณ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเป็นอย่างน้อย)
แต่การเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้เกิดการลดใช้น้ำมันไปทั่วโลกอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (มีการประเมินว่า โลกลดใช้น้ำมันลงถึง 8.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้) ถือเป็นเพียง “แบบฝึกหัดวิกฤติด้านพลังงาน” ที่จะต้องเผชิญในอนาคตสำหรับดินแดนที่มั่งคั่งไปด้วยน้ำมันแห่งนี้
นั่นเป็นเพราะ…แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดินแดนตะวันออกกลางจะเผชิญหน้ากับ “ปัญหาราคาน้ำมันที่ตกต่ำ” แต่วิกฤติล่าสุดนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ราคาน้ำมันอาจจะไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงเช่น 2-3 ปีที่ผ่านมาอีกแล้ว เพราะโลกกำลังเปลี่ยนถ่ายไปสู่การใช้พลังงานทดแทนต่างๆ มากขึ้น ถึงแม้ทางกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ “โอเปก” จะยังมองโลกในแง่ดีว่า น่าจะยังไม่มีพลังงานอื่นใดเข้ามาเป็นพลังงานหลักแทนที่ “น้ำมัน” ได้ในอีก 20-30 ปีข้างหน้าก็ตาม
จริงๆ แล้ว ซาอุดีอาระเบียได้ริเริ่มสิ่งที่เรียกว่า “Vision 2030” มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ “อนาคตใหม่ของประเทศ” ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอนุรักษ์นิยมแห่งนี้ไปสู่ทิศทางใหม่ในหลายด้านๆ และการลงทุนในวงการกีฬาเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ประเทศ ก็คือ หนึ่งในวิสัยทัศน์ที่ว่านั้น
กีฬาฟุตบอล คือ กีฬาที่ได้รับความนิยมและมีคนดูการถ่ายทอดสดมากที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น มันจึงสามารถเข้าถึงผู้คนในทุกมุมโลกได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษที่มีผู้รับชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์รวมกันมากกว่า 4,700 ล้านคน ใน 212 ประเทศทั่วโลก
ฉะนั้นในเมื่อ ประเทศกาตาร์ใช้เงินก้อนโตสนับสนุนบาร์เซโลนา และเป็นเจ้าของสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง ผ่านกองทุน Qatar Sport Investments ส่วน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งอัดฉีดเงินให้กับ อาร์เซนอล และเข้าซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เพื่อมุ่งไปสู่เส้นทางเดียวกับที่ซาอุดีอาระเบียกำลังกำหนดเป้าหมายสู่อนาคต แล้วเหตุใด…ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งร่ำรวยมากกว่าจะมีสโมสรฟุตบอลเป็นของตัวเองไม่ได้กันล่ะ?
หากใครยังไม่ทราบ ซาอุดีอาระเบียได้เริ่มโหมเงินไปกับวงการกีฬาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะการเป็นผู้สนับสนุนหลักการแข่งขันรถยนต์ระดับโลกอย่าง 24 Hours of Le Mans, Indy 500, Monaco Grand Prix และ Dakar Rally หรือการทุ่มเงินนับร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดการแข่งขันแข่งม้าที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก หรือแม้กระทั่งจัดการแข่งขันชกมวยชิงแชมป์โลกระหว่าง แอนโทนี โจชัว และ แอนดี รุยซ์ จูเนียร์ กลางกรุงริยาดมาแล้ว
ซึ่งทั้งหมดที่ทำลงไปก็เพื่อ “เป้าหมาย” เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ความเป็นอนุรักษ์นิยม รวมถึงเรื่องยุ่งๆ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในสายตาชาวโลก ไปสู่ “ความร่วมสมัย” ที่เอื้อต่อการสร้างช่องทางการทำธุรกิจใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งตาม “Vision 2030” กำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาติตะวันตกจาก 15.3 ล้านคนต่อปีใน พ.ศ. 2561 เป็น 100 ล้านคน สร้างงานเพิ่มอีก 1 ล้านตำแหน่ง และทำให้ GDP การท่องเที่ยวขยับจาก 3.8% เป็น 10% ภายใน พ.ศ. 2573
รวมถึงการแสวงหาคอนเนกชันด้านความมั่นคงจากประเทศพันธมิตรในยุโรป หลังการลดบทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อไม่ให้การค้าขายน้ำมันต้องสะดุดลงจากภัยแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การได้อภิมหาเศรษฐีมาเป็นเจ้าของทีมคนใหม่ ซึ่งร่ำรวยกว่า “ชีคห์ มานซูร์” เจ้าของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ 10 เท่า และมากกว่า “นาสเซอร์ อัล-เคไลฟี” เจ้าของทีมปารีส แซงต์ แชร์กแมง 50 เท่า ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองตรงกันว่า พรีเมียร์ลีกอังกฤษได้ก่อกำเนิดมหาอำนาจลูกหนังทีมใหม่ในลำดับที่ 7 หรือ BIG7 ต่อจาก ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล, เชลซี และทอตแนม ฮอตสเปอร์ ขึ้นมาแล้ว
ความเหลื่อมล้ำระหว่าง BIG7 และทีมเล็กๆ จะยิ่งเพิ่มขึ้น
การขยับขึ้นแบบก้าวกระโดดของเพดานค่าตัวและค่าเหนื่อยนักเตะในพรีเมียร์ลีกเริ่มสูงเอาๆ จนน่าตกตะลึง หลังการเริ่มต้นอัดฉีดเงินแบบไร้ขีดจำกัดของ “โรมัน อับราโมวิช” เจ้าของทีมเชลซีคนปัจจุบัน และมันยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ หลังการมาถึงของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้กระตุ้นให้ทีมหัวแถวทีมอื่นๆ ต้องขยับตัวเลขการใช้จ่ายตามเพื่อการต่อสู้
อะไรคือสมการเพดานค่าตัวและค่าเหนื่อยนักเตะ?
ณ ปัจจุบัน “แจ็ค กรีลิช” นักเตะดาวรุ่งเมดอินอิงแลนด์แท้ๆ ถูกแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทุ่มเงินถึง 100 ล้านปอนด์ ซื้อตัวมา ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยมีเกียรติประวัตินำทีมคว้าแชมป์ใดๆ หรืออาร์เซนอลต้องใช้เงินมากมายถึง 50 ล้านปอนด์ กับกองหลังดาวรุ่งอังกฤษที่รอวันเจียระไน อย่าง เบน ไวท์
เช่นนั้นแล้ว…หาก แฮร์รี เคน ย้ายจาก ทอตแนม ฮอตสเปอร์ เขาควรจะมีค่าตัวเท่าไร?
โรนัลโดได้ค่าเหนื่อยจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 480,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์
ล่าสุด โมฮาเหม็ด ซาลาห์ เรียกร้องค่าเหนื่อยในสัญญาฉบับใหม่กับลิเวอร์พูล ที่ว่ากันว่า อาจจะมากถึง 500,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ เพื่อแซงหน้าโรนัลโดไปเป็นนักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยสูงที่สุดในลีก
เช่นนั้นแล้ว ในกลุ่มนักเตะบิ๊กเนมในระดับเดียวกันของแต่ละสโมสรของระดับ BIG7 และทีมอื่นๆ ควรจะได้รับค่าเหนื่อยเท่าไร?
และช่องว่างเพดานค่าเหนื่อยระหว่าง นักเตะระดับท็อป ระดับกลาง และระดับที่ต่ำกว่า ของทีมกลุ่ม BIG7 และทีมอื่นๆ ควรจะอยู่ที่เท่าไร?
แต่ข่าวร้ายคือ ผู้กำหนดสมการที่ว่านั้น มิใช่บรรดาสโมสรอีกต่อไป ภายหลังกฎบอสแมนได้หยิบยื่นอำนาจการตัดสินใจเหล่านั้นไปให้กับ “บรรดาเอเย่นต์นักเตะ” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหากสโมสรใดไม่ยอมขายนักเตะ หรือยอมจ่ายค่าเหนื่อยตามที่เอเย่นต์นักเตะเป็นคนกำหนด “คำขู่” จะไม่ต่อสัญญาจนอาจต้องเสียนักเตะไปฟรีๆ หรือมีทีมมหาเศรษฐีทีมใหม่ๆ พร้อมยอมจ่ายมากกว่าจะถูกยกขึ้นมากลางโต๊ะเจรจาทันที!
และปัจจุบัน วงรอบการบีบบังคับเพื่อขึ้นเพดานค่าตัวและค่าเหนื่อยนักเตะจะถูกเร่งให้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน ในเมื่อมีทีมเศรษฐีรายใหม่ที่พร้อมจ่ายไม่อั้นได้อย่าง “นิวคาสเซิล” เข้ามาอยู่ในสมการนี้!
แม้ “อแมนดา สเตฟลีย์” ในฐานะผู้อำนวยการสโมสรคนใหม่ ไม่แม้แต่เพียงสักนิดที่จะหลบซ่อนความทะเยอทะยาน ด้วยการประกาศผ่านการให้สัมภาษณ์กับ Sky Sports โต้งๆ เอาเลยว่า “นิวคาสเซิล” ยุคใหม่จะต้องคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกให้จงได้ แต่ก่อนที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จผ่านฟ่อนธนบัตรเช่นนั้นได้ มันจำเป็นต้องจ่ายด้วย “เวลา” เช่นกัน
เพราะทีมที่ได้เจ้าของร่ำรวยเข้ามา Takeover และจ่ายไม่อั้นเพื่อซื้อนักเตะที่ต้องการก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส, เชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือแม้กระทั่งนิวคาสเซิล ในยุคเซอร์จอห์น ฮอลล์ (Sir John Hall) ช่วงยุค 90 เอง “ความเปลี่ยนแปลง” เพื่อนำไปสู่การกลายร่างเป็นทีมหัวแถวเพื่อลุ้นแชมป์ หรือการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ก็ต้องอาศัยเวลาในการค้นหา “คนที่ใช่” ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการทีมหรือนักเตะที่เหมาะสมสำหรับแท็กติกที่จะนำมาใช้ทั้งสิ้น เพราะการผสมสูตรฟุตบอลในโลกจริง มันไม่ใช่เกม Championship Manager อ่อ…นั่นอาจรวมถึงการเคลียร์ปัญหาเรื่องยุ่งๆ ทางบัญชี เพื่อไม่ให้การทุ่มเงินก้อนมหาศาลที่กำลังจะเกิดขึ้น ไปผิดกฎ Finance Fair Play ด้วยนะรู้ยัง!
หากแต่ก้าวแรกที่ควรจับตาอย่างยิ่งว่า “นิวคาสเซิลยุคใหม่” ทะยานอยากมากแค่ไหน ก็คือ ตลาดนักเตะในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้
1. จะมีการใช้เงินสำหรับการซื้อนักเตะมากแค่ไหน?
2. จะมีนักเตะบิ๊กเนมกี่คนที่ทยอยเข้าสู่ เซนต์ เจมส์ พาร์ก?
3. จะมีการทุ่มเงินเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคตในระยะยาวมากแค่ไหน?
4. กุนซือคนใหม่ที่จะต้องมากบารมีเพื่อดึงดูดสตาร์นักเตะ แทนที่ สตีฟ บรูซ คือใคร?
และทั้งหมดนี้ คือ “ดัชนี” ที่จะวัดได้ว่าก้าวแรกของ “นิวคาสเซิลยุคใหม่” ทะเยอทะยานมากแค่ไหน?
ข่าวน่าสนใจ:
As part of their spo…
This website uses cookies.