นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้วิเคราะห์ธุรกิจดาวเด่น เดือนพ.ค. 2564 พบว่า ธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ เติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งการจัดตั้งธุรกิจใหม่และผลประกอบการสิ้นปี ส่งผลให้เป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามองเป็นอย่างมาก อีกทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก ธุรกิจได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนด้านสินเชื่อยานยนต์ เช่น การลดค่างวด หรือการพักชำระค่างวด และการรวมหนี้สินเชื่อ เป็นต้น ดังนั้น ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ยังคงมีความแข่งแกร่งและเติบโตได้อีกมาก
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
ซึ่งจากข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ ตั้งแต่ปี 2561-2564 พบว่า ปี 2561 มีการจัดตั้งธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 24 ราย ทุนจดทะเบียน 124.50 ล้านบาท ปี 2562 จัดตั้งจำนวนทั้งสิ้น 37 ราย ทุนจดทะเบียน 820.80 ล้านบาท แต่ในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อัตราการจดทะเบียนจัดตั้งมีความผันผวนและชะลอตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตามภาวะเศรษฐกิจ โดยในปี 2563 มีการจดทะเบียนจัดตั้งจำนวนทั้งสิ้น 17 ราย ทุนจดทะเบียน 83.21 ล้านบาท และปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ จำนวน 9 ราย ทุนจดทะเบียน 36.50 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 5 ราย คิดเป็น 35.71% โดยม.ค.-พ.ค. 2563 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จำนวน 14 ราย ทุนจดทะเบียน 32.20 ล้านบาท
ส่วนของนักลงทุนชาวต่างชาติ สัญชาติที่ลงทุนในธุรกิจฯ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 70,587.18 ล้านบาท คิดเป็น 39.19% สิงคโปร์ 4,290.14 ล้านบาท คิดเป็น 2.38% และมาเลเซียคิดเป็น 1,001.02 ล้านบาท คิดเป็น 0.55% โดยธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์มีแนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้น 8.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่ การลดดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ความต้องการรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่เพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจได้ในอนาคต ส่งผลให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นและลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันมีธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 418 ราย คิดเป็น 0.05% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมีมูลค่าการลงทุน 180,134.43 ล้านบาท คิดเป็น 0.92% ของเงินลงทุนทั้งหมดของกิจการที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ดำเนินการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 353 ราย 84.45% มูลค่าเงินลงทุน 127,367.97 ล้านบาท โดยธุรกิจนี้ส่วนใหญ่มีมูลค่าทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 268 ราย คิดเป็น 64.11%
เมื่อพิจารณาจากรายได้ของกลุ่มธุรกิจฯ ตั้งแต่ปี 2560-2562 พบว่า ปี 2562 มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2560 มีรายได้จำนวน 86,560.40 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้จำนวน 86,080.98 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยลดลงเพียง 0.55% และปี 2562 มีรายได้ถึง 96,622.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ เช่น นโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้เดือนพ.ค. 2564 มีจำนวนการจดทะเบียนใหม่ของยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 15,506 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 9.55% และส่งผลดีต่อธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์อีกด้วย
As part of their spo…
This website uses cookies.