“ทุนจีน” มาแล้ว ชิงแชร์ตลาด “รถยนต์ไฟฟ้า” หมดยุคสู้ 4.0 ไทยอย่ามัวติดหล่ม – ไทยรัฐ

เมื่อ “มังกร” ขับเคลื่อน “รถยนต์ไฟฟ้า”

จากข้อมูลของ McKinsey & Company คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 จีนจะครองส่วนแบ่งตลาด “ยานยนต์ไฟฟ้า” อย่างน้อย 1 ใน 3 ของยอดขายรถยนต์ขนาดเล็กทั้งหมด หรือราวๆ 37% ขณะที่อีก 2 พี่เบิ้มอย่างยุโรปอยู่ที่ 33% และอเมริกา 17%

แต่หากว่า พี่เบิ้มในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าอย่าง “จีน” เกิดทำผลงานได้ดีกว่าที่วางแผนไว้ ก็คาดการณ์ว่า ส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่งหรือกว่า 52% จะถูกพญามังกรครอบครองอย่างสำราญใจ ขณะที่ ยุโรปน่าจะได้ 44% และอเมริกา 36%

อีกการคาดการณ์ของ HSBC และ UBS มองว่า ภายในปี 2030 กว่า 3 ใน 5 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในจีนจะเป็น “รถยนต์ไฟฟ้า” นั่นหมายความว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 18 ล้านคัน และมีขนาดตลาดมากถึง 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11,565,360 ล้านบาท หากเฉลี่ยต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 642,520 บาท

นี่ยังไม่นับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องที่ต้องขยับไปพร้อมๆ กันด้วยอย่าง Navigation (ระบบนำทาง), ซอฟต์แวร์, ส่วนประกอบฮาร์ดแวร์, การควบคุมการจราจร และอื่นๆ

อะไรที่ทำให้ “มังกร” ขับเคลื่อน “ยานยนต์ไฟฟ้า” มาได้ถึงเพียงนี้?

คำตอบก็มีเพียงสั้นๆ คือ ผู้บริโภคกระแสหลัก หรือประชาชนชาวจีนทั้งหลายพร้อมใจกันตอบรับ และการสนับสนุนที่เข้มแข็งของ “รัฐบาลจีน!” รวมถึงกระแสเทรนด์โลกที่เกิดขึ้นกับคำว่า Green ที่ทำให้จีนเตรียมโบกมือลา “แก๊ส” แล้วกล่าวทักทาย “แบตเตอรี่” ไม่เพียงเท่านั้น บรรดา “ทุนจีน” ยังขมักเขม้นคิดค้นเพื่อท้าชน “อเมริกา” กับการพัฒนาไปสู่ฟีเจอร์รถยนต์ไฟฟ้า “ขับเคลื่อนอัตโนมัติ” แบบเต็มศักยภาพ

แล้ว “บ้านเรา” ขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน?

จากการเปิดเผยของ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ล่าสุด คือ ระยะแรก ปี 2025 ไทยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 225,000 คัน และภายในปี 2030 ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด หรือ ZEV (Zero Emission Vehicle) ให้ได้ 725,000 คัน หรือคิดเป็น 30% ของการผลิตยานยนต์ไทยทั้งหมด

ส่วนที่มีข่าวแว่วๆ ช่วงปลายปี 2020 ว่า ไทยกำลังจะจีบยักษ์ใหญ่ยานยนต์ไฟฟ้าอย่าง “เทสล่า” (Tesla) ให้มาตั้งฐานการผลิต ตอนนี้…เหมือนจะเงียบๆ ไป

แต่หากถามว่า ณ ขณะนี้ ไทยมียานยนต์ไฟฟ้ามากเท่าไรแล้ว?

คำตอบจากข้อมูลกรมการขนส่งทางบก คือ ณ วันที่ 30 เมษายน 2021 สะสมกว่า 210,126 คัน แบ่งเป็น HEV/PHEV 202,876 คัน และ BEV 7,250 คัน ในจำนวนทั้งหมดนี้เป็น “รถยนต์ไฟฟ้า” 197,558 คัน แบ่งเป็น HEV/PHEV 194,789 คัน และ BEV 2,769 คัน

ที่น่าสนใจ คือ ในปี 2021 นี้ ยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่มีจำนวนลดลงกว่าปี 2020 เกือบครึ่งทีเดียว

ขณะเดียวกัน จากเป้าหมายระยะแรก 4 ปี ที่จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั่วประเทศ 2,000-4,000 แห่ง ณ ขณะนี้ ปี 2021 (30 เม.ย.) มีอยู่ประมาณ 664 แห่ง นั่นหมายความว่า ในแต่ละปีต้องมีเพิ่ม 334-834 แห่งหรือมากกว่านั้น

หากทำสำเร็จ!…เป้าหมายปี 2030 ก็คงไม่น่ายาก(?)

แล้ว “คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์” รู้กันไหมว่า ตอนนี้มีรถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่จำหน่ายในไทยกี่รุ่น?

ข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ณ วันที่ 26 เมษายน 2021 พบว่า รวมๆ แล้วมีทั้งหมด 18 รุ่น และในจำนวนนั้นมี “สัญชาติไทย” เพียง 2 รุ่น คือ Fomm ONE และ TAKANO TTE 500 มีราคาอยู่ที่ 664,000 บาท และ 438,000 บาท (ตามลำดับ)

แน่นอนว่า รถยนต์ไฟฟ้า “สัญชาติจีน” บุกตลาดไทยมากที่สุด จนถึงตอนนี้ปักฐานผลิต เดินเครื่องป้อนตลาดขายแล้วถึง 5 รุ่น ภายใต้ 3 แบรนด์ดัง คือ BYD, MG และ VOLVO ไล่เรียงดังนี้

1) BYD

1.1 รุ่น e6

– หัวชาร์จ AC Type 2

– ระยะทางวิ่งสูงสุด 400 กม.

– แบตเตอรี่ 80KWh

– ภาษีสรรพสามิต 8%

– ราคา 1,400,000 บาท

1.2 รุ่น M3, T3

– หัวชาร์จ AC Type 2

– ระยะทางวิ่งสูงสุด 300 กม.

– แบตเตอรี่ 50.3KWh

– ภาษีสรรพสามิต 8%

– ราคา 999,000-1,059,000 บาท

2) MG

2.1 รุ่น EP Wagon EV

– หัวชาร์จ AC Type 2 & CCS2

– ระยะทางวิ่งสูงสุด 380 กม.

– แบตเตอรี่ 50.3KWh

– ภาษีสรรพสามิต 8%

– ราคา 988,000 บาท

2.2 รุ่น ZS EV

– หัวชาร์จ AC Type 2 & CCS2

– ระยะทางวิ่งสูงสุด 337 กม.

– แบตเตอรี่ 44.5KWh

– ภาษีสรรพสามิต 8%

– ราคา 1,190,000 บาท

3) Volvo

3.1 รุ่น XC40 Recharge

– หัวชาร์จ AC Type 2

– ระยะทางวิ่งสูงสุด 418 กม.

– แบตเตอรี่ 78KWh

– ภาษีสรรพสามิต 8%

– ราคา 2,590,000 บาท

ส่วนรุ่นอื่นๆ ที่เหลือนั้นเป็นสัญชาติเยอรมนี, เกาหลีใต้, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และอเมริกา เหล่านี้ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,490,000-11,700,000 บาท ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาแรงขนาดนี้ แรงกว่ารถยนต์สัญชาติจีนบางรุ่น นั่นก็เพราะว่าต้องบวก “ภาษีนำเข้า” ด้วย ตั้งแต่ 20-80%

สำหรับ BYD ยักษ์ใหญ่จีนที่เข้ามาชิงแชร์รถยนต์ไฟฟ้าในไทยรายแรกๆ นั้น จาก 2 รุ่นที่มาทำตลาดในไทยนั้น จริงๆ แล้ว มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถึง 5 โมเดล ซึ่งช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นับเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดของจีนด้วย

อ้อ…ที่ต้องจับตา คือ ข่าวแว่วๆ จาก BOI ที่คาดการณ์ว่าจะมี “ทุนจีน” เข้ามาลงทุนทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอีกหลายเจ้าทีเดียว คร่าวๆ 3-4 เจ้า

และอีกรายที่สร้างความฮือฮาไปเมื่อต้นเดือนเมษายน 2021 คงหนีไม่พ้น GWM หรือ Great Wall Motor บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ที่ประกาศกร้าวว่าจะก้าวเป็น “ผู้นำ” ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน!!

ดร.ธารากร เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจว่า จากการพูดคุยกับ GWM เบื้องต้นทราบว่า นโยบายปีหน้า (2022) จะผลิตประมาณ 80,000 คัน โดย 60% จะส่งขายตีตลาดอาเซียน และอีก 40% จะขายในบ้านเรา บ่งบอกว่า ทุนจีนกำลังจะเข้าสู่ยุคแห่งการลงทุนรูปแบบใหม่!

ขณะเดียวกัน GWM เองก็แย้มว่า จาก 9 โมเดล ที่วางแผนจะเปิดตัวในไทยช่วง 3 ปีนี้ จะมี “รถยนต์ไฟฟ้า” ด้วยอย่างแน่นอน

ดังนั้น เมื่อบรรดาพี่เบิ้มเข้าสู่ยุคการลงทุนรูปแบบใหม่ในโลก Green กันแล้ว ดร.ธารากร จึงฝากข้อกังวลว่า การจะแข่งขันกับทุนจีนที่เข้ามา หรือส่งออกไปตลาดข้างนอก เราต้องเน้นนวัตกรรม (Innovation) เพิ่มการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) ถึงจะสู้กับจีนได้ ไม่ใช่ว่าจะทำแค่แบบ 4.0 หรือ 5.0 เพื่อเข้าไปขายพืชผลเกษตร นั่นค่อนข้างจะหมดยุคแล้ว เราต้องคิดใหม่ทำใหม่!

“ระยะ 3 ปี ถึง 5 ปีนี้ รถประหยัดพลังงาน หรือรถยนต์ไฟฟ้า จะมาแชร์ตลาดบ้านเรามากมาย ผมคิดว่า ในอนาคตจะเติบโตได้ดี”

อย่างไรก็แล้วแต่… สำหรับการตอบรับ “รถยนต์ไฟฟ้า” ในไทย เมื่อพิจารณาจากราคา หากไม่ใช่สัญชาติไทยแล้ว ก็นับว่าราคาแรงอยู่ไม่น้อย อย่างที่บอกไปข้างต้น คือ บวกภาษีนำเข้า 20-80% กันทีเดียว

ฉะนั้น หาก “รัฐบาล” อยากให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อลดมลพิษในอากาศและขับเคลื่อนสู่โลกแห่ง Green ก็ต้องหาหนทางดึงดูดให้มาลงทุนในไทยให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัญหา (คาราคาซัง) ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะเรายังมีสถานีอัดประจุและโรงงานแบตเตอรี่น้อยไป หรือไม่มากพอที่จะให้นักลงทุนตัดสินใจมาลงหลักปักฐานที่นี่…

และจะเป็นไปได้ไหม…ที่ “เรา” จะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้า “สัญชาติไทย” มากกว่านี้.


ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์

กราฟิก: sathit chuephanngam

ข่าวน่าสนใจ:

  • จับตา “รถยนต์ไฟฟ้า” แข่งเดือด “เทสล่า” มีดีอะไร ทำไมไทยจีบตั้งฐานผลิต
  • วงจรชีวิต ขสมก. ขาดทุนซ้ำซ้อน แผนฟื้นฟูฯ อืด ดันมิกซ์ยูสกู้ชีพ
  • “รถไฟฟ้า” แพงเพื่อใคร? ถึงเวลา “ตั๋วร่วม” รื้อสัมปทาน เว้น “ค่าแรกเข้า”
  • 10 อาชีพดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2021 เผยทักษะงานแห่งอนาคต
  • ชะตา “แคมป์คนงานก่อสร้าง” กรุงเทพฯ หนัก แก้ไม่ถูกจุด ส่อพังทั้งยวง

ข้อมูลอ้างอิง:

  • ประเทศไทย 4.0 โดยสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.)
  • อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2021 : 32.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ