ทำความรู้จักรถ “ไฮโดรเจน” รุ่นล่าสุด Mirai เจน 2 และ Corolla Cross H2 Concept



เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ “โตโยต้า” ต้องการนำเสนอแนวทางความเป็นกลางทางคาร์บอนผ่านเทคโนโลยีที่หลากหลาย ดังนั้นการพัฒนารถขับเคลื่อนพลังงานไฮโดรเจน เป็นอีกหนึ่งวิธีในการพยายามครั้งนี้ และเราได้เห็นรถไฮโดรเจนที่โตโยต้าทำผ่านรถยนต์ 2 รุ่นของพวกเขา คือ Mirai เจเนอเรชัน 1 และโตโยต้า โคโรลล่า กันบ้างแล้ว แต่วันนี้หลังจากที่สื่อมวลชนไทยได้รับเชิญให้ไปเรียนรู้เทคโนโลยีไฮโดรเจน ณ ประเทศญี่ปุ่น เลยได้มีโอกาสสัมผัส 2 รุ่นใหม่ล่าสุด  Mirai เจเนอเรชัน 2 และ Corolla Cross Hydrogen Power (Corolla Cross H2 Concept)



เริ่มจาก Mirai รถยนต์ไฟฟ้าพลังเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (FCEV) โฉมใหม่ ซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่ 2 ของรถตระกูลนี้หลังเริ่มจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 2015 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีในระดับหนึ่งจากกลุ่มลูกค้าในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น มียอดขายประมาณ 10,000 กว่าคัน

ส่วนรุ่นที่ 2 ของ Mirai มีการพัฒนาทั้งในเรื่องของหน้าตาและเทคโนโลยีที่อยู่ข้างในใหม่หมด เพื่อให้ตัวรถสามารถรองรับกับการใช้งานได้ไม่ต่างจากรถยนต์ทั่วไปโดยเฉพาะเรื่องของหน้าตามีการเปลี่ยนแปลงจากโฉมก่อน โดยโตโยต้าระบุว่าออกแบบตามหลักแอโรไดนามิก เพิ่มความสปอร์ตคูเป้ด้วยตัวรถที่โหลดต่ำกว่าเดิม ยาวขึ้นและกว้างขึ้น ด้านหน้ารถปรับกระจังหน้าใหญ่กว่าเดิมเพิ่มความดุดันและไฟเปลี่ยนไปตามเทรนด์ปัจจุบันคือมีขนาดที่เรียวเล็กลง ดูเหมือนว่าโตโยต้าต้องการให้Mirai รุ่น 2 มีหน้าตาที่ไม่ล้ำเกินไปสอดคล้องกับรถยนต์ทั่วไป



ภายในห้องโดยสารตกแต่งส่วนต่าง ๆ ด้วยวัสดุแบบซอฟต์ทัช เบาะที่นั่งติดตั้งเครื่องทำความร้อนมี Panoramic moonroof พร้อมกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวก หน้าจออินโฟเทนเมนต์ 12.3 นิ้ว เชื่อมต่อได้ทั้ง Android Auto ,Apple CarPlay และ Amazon Alexa ลำโพง JBL 14 ตำแหน่ง ซึ่งติดตั้งมาคู่กับซับวูฟเฟอร์และแอมพลิฟายเออร์ ขณะที่ผู้ขับขี่มีจอแสดงข้อมูลแบบ LCD ขนาด 8 นิ้วและยังมีที่ชาร์จแบตเตอรี่มือถือแบบไวร์เลสมาให้ด้วย



ส่วนระบบโตโยต้า Safety Sense 2.5 + ที่ติดตั้งมาใน Mirai รุ่น 2 มีระบบช่วยเหลืออย่างระบบเบรกฉุกเฉิน, ระบบตรวจจับผู้ขับขี่จักรยาน, ระบบควบคุมรถให้อยู่กลางเลน, ระบบช่วยอ่านสัญญาณจราจรและมีระบบใหม่ Full-Speed Dynamic Radar Cruise Control ซึ่งจะทำงานเมื่อรถยนต์แล่นด้วยความเร็วมากกว่า 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง



ที่น่าสนใจคือเรื่องการปรับให้สเป็กของถังเก็บไฮโดเจนเหลวแบบแรงดันสูงมีขนาดเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 30% ขุมกำลังรุ่นนี้จะใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 3 ลูก (ความจุของไฮโดรเจนรวมทั้งสิ้น 5.5 กิโลกรัม) ให้กำลังรวมกันสูงสุด 182 แรงม้า แรงบิดอยู่ที่ 300 นิวตันเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อบวกกับความสามารถในการจัดการระบบการทำงานและการผลิตกระแสไฟฟ้าของแผงเซลล์เชื้อเพลิง มีการประเมินว่า Mirai ใหม่จะสามารถแล่นทำระยะทางได้ถึง 528 ไมล์ หรือ 850 กิโลเมตรเลยทีเดียว



ส่วนราคาที่ตั้งไว้ 7 ล้านเยน แต่มีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐทำให้ราคาลงมาถูกสุดที่ 2.4 ล้านเยน หรือประมาณ 6-7 แสนบาท แต่มาติดตรงที่ราคาเติมไฮโดรเจนกิโลกรัมละ 1,000-1,200 เยน เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน สำหรับลูกค้าที่ซื้อไป 60-70 % เป็นบริษัท องค์กรต่าง ๆ อีก 40 % บุคคลทั่วไป ที่รักเทคโนโลยีพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เพราะสถานีเติมไฮโดรเจนในญี่ปุ่นมีเพียงแค่ 170 แห่งเท่านั้นไม่เยอะ ฉะนั้นคนซื้อไปใช้ต้องมีความพร้อมและยอมรับกับเรื่องพวกนี้ อย่างไรก็ตาม Mirai รุ่น 2 ขายไปแล้ว 20,000 กว่าคัน ทั่วโลก



ส่วนอีกรุ่นที่เราได้พบเจอตัวจริง คือ Corolla Cross Hydrogen Power (Corolla Cross H2) รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งกำลังพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ โดยรถยนต์รุ่นนี้ใช้พื้นฐานจากรถยนต์สันดาป 90% และนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนใส่เพิ่มเข้าไปเพียง 10% เท่านั้น เครื่องยนต์ยังคงใช้เป็น G16E-GTS เทอร์โบสามสูบของ GR Yaris 1.6 ลิตร ซึ่งเป็นรถยนต์สันดาป และใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนต่างๆเข้ามาประกอบด้วย มาพร้อมกับถังอัดก๊าซไฮโดรเจน 2 ถังใต้พื้นรถ ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีของรถ Mirai มาใช้



ทั้งนี้เครื่องยนต์เชื้อเพลิงไฮโดนเจนจะสร้างพลังงานจากการสันดาปภายใน โดยใช้ระบบการจ่ายเชื้อเพลิงและหัวฉีดที่ดัดแปลงมาจากเครื่องยนต์เบนซิน ทำให้การสันดาปในเครื่องยนต์ไฮโดรเจนเร็วกว่าในเครื่องยนต์เบนซินจึงตอบสนองการขับขี่และให้สมรรถนะที่ดีกว่า ทำให้การขับขี่สนุกสนานได้อารมณ์สปอร์ต พร้อมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการปล่อยเป็นน้ำ



การใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงแทนที่น้ำมันนั่นคือสิ่งที่ “โตโยต้า” พิสูจน์ให้เห็นผ่านทางรถยนต์ต้นแบบและรถแข่งโดยในส่วนของตัวแข่งโคโรลล่า  ลงแข่งครั้งแรกในรายการ Fuji SUPER TEC 24 Hours Race โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งการพัฒนาเครื่องยนต์ไฮโดรเจน ให้หลังจากการแข่งขันครั้งนั้นโตโยต้า ได้ดำเนินการปรับปรุงหลายส่วน ทั้งกับตัวรถยนต์เองและกับโครงสร้างพื้นฐานไฮโดรเจนที่เกี่ยวข้อง เช่น ลดการเผาไหม้ที่ผิดปกติ ส่งผลให้ประสิทธิภาพดีขึ้น (แรงบิดเพิ่มขึ้นประมาณ 15%) และ การตอบสนอง ซึ่งเป็นข้อดีหนึ่งของการใช้เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น



การเปิดตัวต้นแบบ Corolla Cross H2 มีความสำคัญมาก เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโตโยต้าในการนำเสนอเทคโนโลยีของรถยนต์ไฮโดรเจนสู่ตลาด และเราได้มีโอกาสพูดคุยกับฝ่ายพัฒนาของโตโยต้าเขาบอกว่า ถ้ามีการผลิตขายจริงที่เป็นรถเครื่องยนต์เชื้อเพลิงไฮโดนเจน จะทำออกมาเป็นโมเดลใหม่เลย อาจจะไม่ได้ใช้บอดี้ของโคโรลล่า ครอส ก็ได้

แต่อย่างไรรถคอนเซ็ปต์คันนี้ พัฒนามาเพื่อให้รู้ว่าใช้งานจริงเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ โดยนำเอาไปวิ่งทดลองเมืองหนาว เมืองร้อน และนำประสบการณ์ที่พบเจอระหว่างทดสอบมาพัฒนาให้สมบูรณ์ก่อนที่จะผลิตออกจำหน่าย ที่สำคัญโตโยต้ายังไม่ได้บอกว่าจะขายปีไหน บอดี้รถเป็นแบบไหน แต่แค่แนวคิดก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าลุ้น น่าจับตามอง ซึ่งเราคงต้องรอดูกันต่อไป



สามารถคาดการณ์ได้ว่า Toyota Corolla H2  ในอนาคต โตโยต้า จะสามารถพัฒนารถไฮโดรเจนที่ตอบโจทย์ทั้งด้านราคา ระยะทางในการเดินทาง รวมทั้งระยะเวลาในการเติมเชื้อเพลิงที่รวดเร็วเทียบเท่ารถน้ำมันได้อย่างแน่นอน



หลายแนวทางสู่ CO2



อีกหนึ่งสถานที่สื่อมวลชนไทยได้ไปเยี่ยมชมคือ มหาวิทยาลัยโทโฮคุ (วิทยาเขตอาโอบายามะ) ในเมืองเซนได จังหวัดมิยากิ ซึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้มีการจัดแสดงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV)หลายรุ่น และชิ้นส่วนเซลล์เชื้อเพลิงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง



รถที่จอดเรียงรายภายในบริเวณงานส่วนใหญ่เป็นรถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน ที่สำคัญมิใช่มีเพียงแค่ค่ายรถโตโยต้าเท่านั้น แต่เป็นความร่วมมือของค่ายรถยี่ห้ออื่นด้วยเช่นกัน ที่มุ่งพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ให้สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันและอนาคต



ไม่ว่าจะเป็น Mirai รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV)เจเนอเรชัน 2 และ COROLLA CROSS H2 CONCEPT แล้วยังมีรถอื่น ๆ ให้ชมกันด้วย ที่เด่นจะเป็นรถ Mirai ผ่าครึ่งให้เห็นภายในรถว่ามีถังเก็บไฮโดรเจนถึง 3 ถัง มีทั้งแนวนอนและแนวขวาง ดูแล้วยาวขึ้น ใหญ่ขึ้น



นอกจากนี้ยังมีรถ FCV EXPRESS DINER ทำเป็นครัวเคลื่อนที่ โดยใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นตัวกำเนิดไฟฟ้า ภายในรถมีทั้งเตาไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องทำกาแฟ ทุกอย่างใช้พลังงานจากไฮโดรเจนทั้งสิ้น



คันที่สองเป็นรถทางการแพทย์ กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาว่าพลังงานไฮโดรเจนจะช่วยพัฒนาในการเป็นรถพยาบาลได้อย่างไร ส่วนคันเล็กเป็นรถยกของใช้ในเชิงพาณิชย์ สามารถใช้งานได้ 8 ชั่วโมง ยกของได้1.8 ตัน



รถบัส คันนี้ บรรจุถังไฮโดรเจนถึง 19 ถัง หน้าที่ของรถคันนี้คือหน่วยจ่ายไฟเคลื่อนที่ ถ้าเกิดอุบัติเหตุในหมู่บ้านไฟดับ รถคันนี้จะเข้าไปบริการ โดยบรรทุกไฟหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ชาวบ้านได้มีไฟใช้



ทั้งหมดเป็นรถพลังงานไฮโดรเจน และยังคงเป็นรถต้นแบบที่ต้องได้รับการพัฒนากันต่อไป แต่แน่นอนทิศทางและเป้าหมายของงานนี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การริเริ่มในการใช้แนวทางต่าง ๆ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

มีผู้เชี่ยวชาญคอยบรรยายถึงถังใส่ไฮโดรเจน