ดูบอลโลกแบบ “ฉิวเฉียด” ปลุกเศรษฐกิจได้จำกัด



ไทยได้ลิขสิทธิ์บอลโลกมาก่อนเส้นตายลดราคาลงมาราว 400 ล้าน จบที่ราว 1,200 ล้าน ภาษีอีก 200 ล้าน กฎ Must Have เป็นปัญหามาตั้งแต่บอลโลก 2014 ไม่มีเอกชนกล้าประมูล งานนี้กลายเป็นรัฐบาลที่ต้องเร่งซื้อ ขณะที่คอบอลไม่สน-ไม่ได้ลิขสิทธิ์ก็ดูบอลโลกได้ นักการตลาดชี้ได้มาช้าเกินไป กระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัด

เป็นอันว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่าง 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2565 ที่ลุ้นระทึกกันว่าประเทศไทยจะสามารถหาเงินมาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ได้หรือไม่

ก่อนฟุตบอลโลกจะเปิดฉากขึ้นเพียง 3 วัน (20 พ.ย.2565 เวลา 5 ทุ่มของไทย) 17 พฤศจิกายน 2565 ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ออกมาแจ้งข่าวว่าคนไทยจะได้ชมฟุตบอลโลก 2022 ครบทั้ง 64 แมตช์ ด้วยตัวเลขค่าลิขสิทธิ์รวมภาษี 1,400 ล้านบาท (ภาษี 200 ล้านบาท) ถือว่าราคาปรับลดลงมาจากเดิมได้ราว 4 ร้อยล้านบาท (เฉพาะค่าลิขสิทธิ์)

ถือเป็นการได้ข้อสรุปก่อนเส้นตายที่ตัวแทนลิขสิทธิ์กำหนดไว้ต้องจบภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เป็นอันว่าคนไทยได้ดูการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ฟรี ขณะที่บางประเทศที่ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกไปก่อนหน้าอาจได้ชมฟรีเพียงบางแมตช์เท่านั้น ที่เหลืออาจต้องเสียเงิน

Must Have ต้นทางปัญหา

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในเรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก คือกฎ Must Have ของ กสทช.ที่เคยประกาศออกมาว่า รายการกีฬา 7 ประเภท ต้องให้บริการแก่ประชาชนเป็นการทั่วไปหรือฟรี ได้แก่ ซีเกมส์ อาเซียน พาราเกมส์ เอเชียน เกมส์ เอเชียน พาราเกมส์ โอลิมปิก พาราลิมปิก และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

ครั้งนั้นจึงทำให้เกิดปัญหากับบริษัท อาร์เอสที่ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2014 จนมีการฟ้องร้อง และ กสทช.ต้องชดเชยความเสียหายให้ทางอาร์เอส

มันเป็นเรื่องที่ตอบยาก ถ้าสังเกตให้ดีประเทศอื่นๆ ที่ประมูลลิขสิทธิ์ไปส่วนใหญ่เป็นเอกชนที่นำไปสร้างรายได้ต่อด้วยการเก็บเงินผู้ที่ต้องการรับชม หรืออาจเป็นรัฐที่เลือกเฉพาะแพกเกจที่สำคัญเท่านั้นไม่ได้ถ่ายทั้ง 64 แมตช์ ซึ่งในยุคอาร์เอสก็มีเงื่อนไขที่ต้องรับชมผ่านกล่องรับสัญญาณของอาร์เอส หมายถึงต้องติดจานดาวเทียมและต้องมีกล่อง Sun Box ของ RS ค่ากล่องราว 1,590 บาท

กสทช.มองว่าเป็นภาระกับประชาชนและเกรงว่าจะเป็นการผูกขาดจึงออกกฎดังกล่าว เมื่อเกิดกรณีตัวอย่างกับ RS จึงทำให้ไม่มีเอกชนเข้าประมูลลิขสิทธิ์กีฬาฟุตบอลทั้งยูโรและฟุตบอลโลกอีก อย่างฟุตบอลโลกปี 2018 รัฐบาลต้องหาเอกชนมาลงขันกันจ่ายค่าลิขสิทธิ์กว่า 1,141 ล้านบาท ตามมาด้วยฟุตบอลยูโร 2020 ได้เจ้าของผู้ผลิตรองเท้า Aerosoft เข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ให้ 300 กว่าล้านบาท

ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 จึงถูกปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลในการดำเนินการ เมื่อจวนตัวใกล้แข่งจึงเริ่มพูดถึงเรื่องนี้กัน แน่นอนว่าถ้าคนไทยได้ชมฟุตบอลโลกฟรี ย่อมถือว่าเป็นผลงานของรัฐบาลที่อยู่ในสถานการณ์ใกล้เลือกตั้ง เงินจากกองทุนใน กสทช. 600 ล้านบาท ที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาท การกีฬาแห่งประเทศไทยต้องไปหามา แต่ภาคเอกชนที่พร้อมเข้าร่วมสนับสนุนยังไม่พอ 1,600 ล้านบาท

สุดท้ายได้ข้อสรุป คือ ตัวแทนลิขสิทธิ์ยอมลดราคาลงมาใกล้กับเงินที่หามาได้ราว 1,100-1,200 ล้านบาท ที่เหลือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จัดหาเงินส่วนที่ขาดมาให้ เป็นอันว่าคนไทยได้ดูฟุตบอลโลกฟรี ขณะที่บางประเทศคนที่ต้องการชมต้องเสียเงิน



คอบอลเฉยลิขสิทธิ์ไม่ใช่ปัญหา

ที่จริงถ้าประเทศไทยไม่ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยจะไม่สามารถรับชมฟุตบอลโลกได้ จะเห็นได้ว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้ทุกฝ่ายเงียบมาตลอด ทั้งเอกชน ภาครัฐ หรือแม้แต่แฟนบอลชาวไทย อาจจะเป็นผลมาจากโควิด-19 ที่ลากยาวมา ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมโรค ประคับประคองธุรกิจ หลายคนต้องว่างงาน จนใกล้ถึงวันแข่งขันจึงเริ่มออกมาพูดกันถึงเรื่องฟุตบอลโลก

รอบนี้ไม่มีเสียงเรียกร้องจากฝั่งแฟนบอลถึงเรื่องลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดฟุตบอลโลกครั้งนี้ ภาคเอกชนนิ่งสนิท มีแต่ภาครัฐเท่านั้นที่กลับมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ส่วนจะมีผลต่อคะแนนนิยมในทางการเมืองหรือไม่ คงแล้วแต่มุมมองของแต่ละบุคคล คนที่เขาชอบดูบอลจริงๆ ย่อมรู้ว่ายังมีช่องทางในการรับชมที่ทุกคนก็รู้กันว่า สามารถรับชมได้ในพื้นที่สีเทา

คอบอลรายหนึ่งกล่าวว่า ถ้าไทยไม่ได้ลิขสิทธิ์ก็ไม่เป็นปัญหาในการรับชมของพวกเขา เพราะมีช่องทางในการดูอยู่แล้ว ขออย่างเดียวให้มีอินเทอร์เน็ต อย่างบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ที่ฤดูกาลนี้ผู้ได้ลิขสิทธิ์รายใหม่ไม่ปล่อยการถ่ายทอดออกมาบนฟรีทีวีเลย ต่างจากครั้งก่อนที่ยังปล่อยบนช่อง PPTV บ้าง แม้จะเป็นคู่ที่ไม่น่าสนใจ แต่คอบอลก็ยังได้ชม

ที่จริงช่วงที่ยังไม่รู้ผลเรื่องลิขสิทธิ์กล่อง Android TV ออกมาทำตลาดว่าสามารถรับชมฟุตบอลโลกผ่านกล่องของพวกเขาได้ จ่ายเพียง 490 บาท รับชม 1 ปี มีลูกค้าให้ความสนใจไม่น้อย แต่ประเทศไทยดันได้ลิขสิทธิ์ขึ้นมาเลยต้องเงียบไป

ผมยกเลิกกล่อง Android TV ไปนานกว่า 3 ปีแล้ว เพราะที่ผ่านมาเวลาที่ผู้ให้บริการถูกจับลูกค้าที่จ่ายเงินไปแล้วก็เสียเงินฟรี ตอนนี้ดูผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก จะดูลีกไหนก็เลือกรับชมได้ ทุกอย่างมันเอื้ออำนวยค่อนข้างมาก Smart TV ก็เชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ หรือจะใช้มือถือหรือคอมพิวเตอร์เชื่อมช่องสัญญาณแล้วให้ไปออกที่ TV ก็ทำได้เช่นกัน

ดังนั้น ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ครั้งนี้จึงไม่มีใครเดือดร้อน แถมตัวเว็บที่อำนวยความสะดวกในการรับชมก็มีตัวเลือกในวิธีการรับชมหลากหลายรูปแบบ

จะเรียกว่าร้อยละร้อยก็ว่าได้ เว็บที่ชี้ช่องทางในการรับชมนั้นเป็นเว็บการพนัน หลายคนอาจเป็นห่วงว่าเยาวชนจะเป็นเหยื่อเว็บการพนันเหล่านี้ ที่จริงแล้วเว็บการพนันมีมาตลอดทั้งบอลอังกฤษ สเปน อิตาลี หรือลีกต่างๆ ไม่ใช่มีเฉพาะบอลโลกรอบนี้ ถ้าเรารู้จักแยกแยะแค่การรับชมก็ไม่มีปัญหา แต่คงมีบ้างที่คนดูบางรายอยากลองก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

เว็บพวกนี้ทำการตลาดสีเทาของพวกเขา เมื่อเรื่องของลิขสิทธิ์ทำให้เกิดข้อจำกัดในการรับชม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการใช้ช่องว่างบนโลก Social Media มาใช้ทำการตลาด และเกิดขึ้นทั้งโลก พูดตรงๆ ว่า ถ้าฟุตบอลติดลิขสิทธิ์ทั้งหมด Web เหล่านี้ยิ่งเติบโต ปัญหาคือเจ้าของลิขสิทธิ์มีวิธีป้องกันได้หรือไม่



รัฐซื้อดูฟรี

เรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองมุมไหน ส่วนใหญ่แล้วเอกชนจะประมูลไปเพื่อไปบอกขายสมาชิก ถ้าเป็นรัฐซื้อก็อาจเลือกเฉพาะนัดสำคัญ ราคาซื้อขายของแต่ละประเทศไม่เท่ากันอยู่แล้ว เพราะจะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเฉพาะแต่ละประเทศอีก เช่น ความนิยมในฟุตบอล เศรษฐกิจของประเทศ ระยะเวลาในการซื้อถ้าซื้อล่วงหน้าจะได้ราคาถูกกว่า เป็นต้น

ถ้าเอกชนซื้อส่วนใหญ่แล้วจะต้องคิดเงินกับผู้ที่ต้องการรับชม ซึ่งประเทศไทยเคยเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ถ้ารัฐจะซื้อก็จะเจอปัญหาเรื่องถูกท้วงติงเรื่องการใช้เงินที่ไม่คุ้มค่า

พูดกันตามตรง ไม่ต้องซื้อครบทั้ง 64 แมตช์ก็ได้ รอบแรกอาจเข้มข้นในนัดสุดท้ายที่ต้องแย่งแชมป์กลุ่มหรือหนีตายตกรอบ และจะเข้มข้นมากขึ้นในรอบน็อกเอาต์ขึ้นไป

ถ้ารัฐจะเป็นเจ้าภาพให้ดูฟรีก็ต้องหาเอกชนมาแบกรับค่าใช้จ่าย แลกกับการได้โฆษณาสินค้าหรือทำการตลาดในรูปแบบอื่น หรือถ้าเป็นเอกชนเพียงรายเดียวประมูลได้ ก็ต้องยอมรับว่าเขามีสิทธิทำตลาดในเชิงธุรกิจที่ต้องมุ่งกำไร

เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่กล้าเป็นเจ้าภาพซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกล่วงหน้า เพราะไม่มีอะไรการันตีว่ารัฐบาลที่ซื้อลิขสิทธิ์จะยังเป็นรัฐบาลในวันที่แข่งขันจริงหรือไม่ สิ่งที่เราเห็นในเวลานี้จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดของฝ่ายรัฐ เจรจาเอกชนให้ร่วมลงขันซื้อลิขสิทธิ์ เพราะการซื้อและการแข่งขันเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้

แพงหรือถูกอยู่ที่วิธีคิด

ค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 1,400 ล้านบาทแพงไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองว่าเราจะมองแบบไหน อย่างลิขสิทธิ์จัด Moto GP ในประเทศไทย 3 ปี 400 ล้านบาท รัฐหนุน 300 ล้านบาท ช่วงแรกถูกถล่มยับว่าช่วยสายบุรีรัมย์ แต่การแข่งขันที่ผ่านมาสามารถสร้างเม็ดเงินและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่าค่าลิขสิทธิ์ เว้นแต่ครั้งที่ผ่านมาทั่วโลกเพิ่งพ้นจากโควิด จึงแผ่วลงไป แถมเจอฝนถล่มอีก

เอาแค่ทีมแข่งทั้ง 3 รุ่นที่ต้องเดินทางมาเมืองไทย นักแข่ง ทีมแข่ง รถแข่ง และอุปกรณ์ต่างๆ ต้องบินมาทั้งนั้น พวกเขาต้องอยู่อย่างน้อย 3 วันขึ้นไป ค่าที่พัก ค่าอาหารต่างๆ ล้วนแล้วแต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ผู้ชมต่างพื้นที่ทั้งคนไทยและต่างประเทศต้องเดินทางไปสนามแข่งบุรีรัมย์ ที่พัก อาหาร คือสิ่งที่หนีไม่พ้นที่ต้องจ่ายเช่นกัน

ตอนนี้หลายประเทศจึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรายการนี้ มันเป็นรายการมอเตอร์สปอร์ตระดับโลก คนทั่วโลกสนใจ สามารถสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้มากกว่าค่าลิขสิทธิ์ โดยฤดูกาล 2023 ฝ่ายจัดการแข่งขันได้เพิ่มสนามเป็น 21 สนาม ประเทศที่เพิ่มเข้ามาคือ อินเดีย และคาซัคสถาน



กระตุ้นเศรษฐกิจช้าไป

แม้ว่าประเทศไทยจะได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาในเกือบนาทีสุดท้าย แต่ถือว่าช้าเกินไปที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง นักการตลาดรายหนึ่งมองว่า เจ้าภาพที่กาตาร์เวลาช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง อย่างคู่เปิดสนามแข่งขันเริ่มที่ 1 ทุ่ม จะตรงกับเวลาบ้านเรา 23.00 น. จบการแข่งขันที่ประมาณตี 1 ถือว่าเป็นเวลาที่ไม่โหดเกินไป อย่างคู่อังกฤษพบอิหร่าน แข่งเวลา 2 ทุ่มบ้านเรา อาจมีบางคู่ดึกสุดตี 2 บ้าง ส่วนใหญ่แล้วถ้าเจ้าภาพอยู่ในเอเชียมักจะสะดวกในการรับชม ถ้าเราทราบเรื่องการได้ลิขสิทธิ์ล่วงหน้าสัก 3-6 เดือน คงสามารถทำตลาดให้สินค้าที่เกี่ยวข้องได้มากกว่านี้

ที่จริงมีสินค้าบางประเภทที่ทำโฆษณาดักเอาไว้บ้างแล้ว รอเรื่องความชัดเจนเรื่องลิขสิทธิ์ แต่บางสินค้ารอแค่ให้ฟุตบอลโลกเริ่มแม้ไทยจะได้หรือไม่ได้ลิขสิทธิ์ก็ตาม ตอนนี้เริ่มปล่อยโฆษณาออกมาบ้างแล้ว

ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่รู้ล่วงหน้ากันนานๆ เราจะเห็นกิจกรรมทางการตลาดของผู้ประกอบการต่างๆ ปลุกกระแสให้คนติดตามชม หรือกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าต่างๆ ในช่วงก่อนแข่งอย่างคึกคัก

คุณต้องเห็นเรื่องกระป๋องเครื่องดื่มต่างๆ มีรูปธงชาติของชาติที่เข้าแข่งขันฟุตบอลโลกให้เก็บไว้สะสม ค่ายทีวีแข่งขันกันชักชวนให้ซื้อทีวีใหม่ เพิ่มขนาดให้ใหญ่กว่ากว่าเดิมเพื่ออรรถรสในการรับชม หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับชม เช่น อาหารว่าง เครื่องดื่มพร้อมส่ง ครีมช่วยบำรุงริ้วรอยช่วงดูฟุตบอลดึก ร้านอาหารที่จัดโปรโมชันเชียร์ฟุตบอล

เม็ดเงินที่หมุนเวียนจาก Event กีฬาระดับโลก เช่นนี้ย่อมสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนได้มาก ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย

คือถ้ารัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพก็ควรทำตั้งแต่แรก เพราะหลังจากเกิดกรณี RS ไม่มีเอกชนกล้าประมูล อย่างฟุตบอล 2020 ก็เห็นชัดแล้วว่าไม่มีเอกชนรายใดกล้าประมูลลิขสิทธิ์ หรือถ้าจะยกเลิกกฎของ กสทช. เปิดโอกาสให้เอกชนประมูลได้ต้องยอมรับความจริงกันว่า คนไทยอาจไม่ได้ดูกีฬาฟรีอีกต่อไป เพราะทุกอย่างเป็นธุรกิจ แม้กระทั่งรายการแข่งขันกีฬา

แต่อย่าเพิ่งกังวลในเรื่องการผูกขาดหรือการกำหนดราคารับชมที่แพงเกินไป เพราะทุกวันนี้ยังมีโลก Social คอยถ่วงดุลราคาและค่าบริการอยู่ ถ้าแพงเกินการแสวงหาช่องทางรับชมที่ถูกกว่าย่อมต้องเกิดขึ้นบนโลกที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้คนทำ Content ไม่ใช่คนคุมเกมเพียงฝ่ายเดียว

ทายผลบอลเกือบหงอย

ถือเป็นกิจกรรมควบคู่กับการแข่งขันฟุตบอลโลก คือการร่วมสนุกทายผลแชมป์ฟุตบอลโลก ครั้งนี้มีทั้งการใช้ไปรษณียบัตรแบบเดิม และทายผลผ่านแอปพลิเคชัน Prompt Post เพียงไม่กี่ขั้นตอน แค่โหลดแอปยืนยันตัวตน เลือกทีมที่ชอบ จ่ายเงินก็เสร็จสิ้น หมดเขตส่งทายผลในเวลา 23.59 น. วันที่ 17 ธันวาคม 2565 ทั้ง 2 ช่องทางสามารถส่งคำทายผลมาร่วมสนุกได้โดยไม่จำกัดจำนวน

“ปีนี้ค่อนข้างเงียบๆ เพราะกว่าจะรู้ว่าได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกก็เกือบจะแข่งอยู่แล้ว แต่ถือว่าโชคดีที่ยังได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดมา ช่วงระยะนี้คงต้องเริ่มโปรโมตเรื่องไปรษณียบัตรทายผล ส่วนจะได้ถึง 2 ร้อยกว่าล้านฉบับเหมือนครั้งที่แล้วหรือไม่ต้องรอลุ้นกัน” นายไปรษณีย์แห่งหนึ่งกล่าว

สำหรับเงินรางวัลในการร่วมทายผลฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ประกอบด้วย รางวัลเงินสด รางวัลที่ 1 เงินสดมูลค่ารางวัลละ 5,000,000 บาท จำนวน 1 รางวัล รางวัลที่ 2 เงินสดมูลค่ารางวัลละ 500,000 บาท จำนวน 5 รางวัล รางวัลที่ 3 เงินสดมูลค่ารางวัลละ 100,000 บาท จำนวน 15 รางวัล รางวัลที่ 4 เงินสดมูลค่ารางวัลละ 50,000 บาท จำนวน 15 รางวัล

ของรางวัลพิเศษ รถยนต์ Honda City Turbo RS มูลค่ารางวัลละ 739,000 บาท จำนวน 2 รางวัล ทองคำ มูลค่ารางวัลละ 90,000 บาท จำนวน 20 รางวัล Gift voucher The Mall มูลค่ารางวัลละ 20,000 บาท จำนวน 25 รางวัล Gift Voucher จากร้านกาแฟอินทนิล มูลค่ารางวัลละ 10,000 บาท จำนวน 50 รางวัล Gift Card จาก Big C มูลค่ารางวัลละ 10,000 บาท จำนวน 100 รางวัล รวมมูลค่าของรางวัลเงินสด และของรางวัลพิเศษทั้งสิ้น 15,028,000 บาท

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH

Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link

Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jv