ดอลฟิน ใต้ปีก “เซ็นทรัล-เจดี” ต่อยอด “อีวอลเลต” สู่โลกการเงินดิจิทัล – ประชาชาติธุรกิจ

วิกฤตโควิด-19 อาจทำร้ายหลายธุรกิจ แต่ก็มีอีกหลายธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ หนึ่งในนั้นก็คือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเติบโตอยู่แล้วก็ยิ่งโตไปกันใหญ่ ตามมาด้วยความนิยมในการใช้บริการชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet)

โดยมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลายโครงการที่ให้รับสิทธิผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ช่วยจุดพลุ

หนึ่งในผู้เล่นหน้าใหม่ในสนามอีวอลเลตมี “ดอลฟิน” (Dolfin) ภายใต้ความร่วมมือของยักษ์ใหญ่จาก 2 วงการ “เจดี” จากจีน และกลุ่มเซ็นทรัลของไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “รุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์” ประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลดอลฟิน (Dolfin) หลากหลายแง่มุม ดังนี้

Q : ความร่วมมือของกลุ่มเซ็นทรัลกับเจดี

บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จำกัด เกิดจากความร่วมมือของบริษัทค้าปลีกของไทย คือ กลุ่มเซ็นทรัลกับเจดีจากประเทศจีน ภายใต้บริษัทในเครือ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทคจำกัด ที่ให้บริการอีวอลเลตภายใต้ชื่อ “Dolfin Wallet”

และบริษัท เซ็นทรัล เจดี มันนี่ จำกัด ให้บริการสินเชื่อดิจิทัล เรานำบริการทางการเงินของทั้งสองบริษัทมาอยู่รวมกันบนแอปพลิเคชั่น Dolfin

ปัจจุบันแอป Dolfin จะมี 2 บริการหลัก ๆ คือ อีวอลเลตหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และบริการสินเชื่อดิจิทัล Dolfin Money by KBank ล่าสุดได้ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์เปิดตัวสินเชื่อหมุนเวียนชื่อ ชอบใจ (ShopJai) เพิ่มขึ้นอีกอัน เป็นบริการที่สมัครได้ง่าย ไม่ต้องใช้เอกสาร และรู้ผลอนุมัติเร็วภายใน 5 นาทีผ่านแอปพลิเคชั่น Dolfin

Q : ขาขึ้นของอีวอลเลตในไทย

โควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งทางใจที่ดี คือ ทำให้ผู้บริโภคเปิดใจมากขึ้นที่จะใช้บริการอีวอลเลตในการซื้อสินค้าและใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อลดการสัมผัสกับเงินสด ขณะที่ในอีกมุม “โควิด” ก็ทำให้กิจกรรมออฟไลน์ต่าง ๆ ต้องหยุดลง

เช่น ร้านอาหารและโรงหนัง ที่ไม่สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ เมื่อกิจกรรมเหล่านี้หายไปเกือบทั้งหมด ทำให้การใช้จ่ายอีวอลเลตเกิดขึ้น เฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ๆ ยอดคนใช้จะหายไป

เพราะอย่างที่บอกว่าบางกิจกรรมหายไป ไม่มีคนดูหนังหรือนั่งทานอาหารที่ร้านค้า แต่แนวโน้มการใช้งานอีวอลเลตในไทยโดยรวมมีโอกาสโตอีกมาก

คาดว่าภายในปี 2565 จำนวนผู้ใช้อีวอลเลตน่าจะไปถึง 70-80% ของประชากรทั้งประเทศที่จะมีการใช้อีวอลเลตอย่างน้อย 1 แพลตฟอร์ม หากนับรวมแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่มีโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งเราชนะ คนละครึ่ง และ ม33 เรารักกัน เข้ามาด้วย จะเท่ากับว่าตัวเลขผู้ใช้อีวอลเลตในไทยโตขึ้น 100% แล้ว

Q : ทำไมยังมีบางส่วนไม่ใช้

ถ้ามองในแง่พื้นฐานโครงสร้างต่าง ๆ ของการรับชำระเงินดิจิทัลในประเทศไทยตอนนี้ ถือว่ามีความพร้อมมากทั้งเรื่องเพย์เมนต์แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นพร้อมเพย์, คิวอาร์โค้ด, โครงข่ายอินเทอร์เน็ต และจำนวนสมาร์ทโฟน

รวมทั้งดิจิทัลแพลตฟอร์มของภาครัฐอย่าง “เป๋าตัง” ที่ผลักดันให้คนใช้จ่าย ทั้งคนละครึ่ง เราชนะ ม.33 ถือว่ากระตุ้นให้คนทดลองใช้อีวอลเลตมากขึ้น เพราะร้านค้าเล็กรายย่อยอย่างร้านข้าวเหนียวหมูปิ้ง

ร้านขายข้าวแกงก็จ่ายด้วยอีวอลเลต จ่ายด้วยพร้อมเพย์ได้แล้ว ทำให้คนรู้สึกสะดวกและง่าย เริ่มมีประสบการณ์การใช้อีวอลเลตที่ดีขึ้น

นั่นหมายความว่า โครงสร้างต่าง ๆ พร้อมแล้ว ปัจจัยเดียวที่คนยังกังวลและไม่ตัดสินใจใช้บริการอีวอลเลตน่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการคงต้องพยายามลดข้อกังวลเหล่านี้ของผู้บริโภคให้ได้ ซึ่งการนำเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนเข้ามาใช้ทั้งลายนิ้วมือ การสแกนใบหน้าเพื่อลดความกังวลเรื่องนี้

Q : คู่แข่งและการแข่งขัน

เรื่องการแข่งขันในไทยพบว่า ผู้เล่นในธุรกิจนี้แข่งกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้เงินในกระเป๋าตังค์ดิจิทัลของลูกค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ ผู้เล่นในตลาดนี้มีหลายรายทั้งทรูวอลเลต, ช้อปปี้เพย์, ลาซาด้า แกร็บ

แต่ละรายก็มีพื้นฐานการเติบโตที่ต่างกัน อย่างทรูวอลเลตโตมาจากโทรคมนาคม ส่วนช้อปปี้เพย์โตมาจากอีคอมเมิร์ซ อีกกลุ่มคือสถาบันการเงิน ซึ่งเจดี ฟินเทคไม่ได้มองเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าเป็นพาร์ตเนอร์มากกว่า

ถ้าหันกลับมาที่ผู้เล่นในธุรกิจอีวอลเลตด้วยกัน แต่ละบริษัทมีอายุ จุดแข็งต่างกัน การมาก่อนมาหลังในธุรกิจนี้ไม่มีผลต่อการแข่งขัน เนื่องจากกฎระเบียบ การควบคุม รวมถึงเทคโนโลยีแตกต่างกัน และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ดอลฟินมีจุดแข็งด้านเทคโนโลยีโดยเริ่มต้นด้วย e-KYC (Electronic Know-Your-Customer) ตามกรอบ regulatory sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่นำมาใช้ในการยืนยันตัวตนสำหรับสมัครใช้บริการ

และเสริมความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีจดจำใบหน้า (facial recognition) การอ่านตัวอักษรจากภาพถ่าย (optical character recognition) ที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งพัฒนามาสำหรับคนไทย

เทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้ช่วยลดขั้นตอนลงทะเบียนเปิดบริการให้สะดวก รวดเร็ว แค่ถ่ายเซลฟีและสแกนบัตรประชาชนให้ระบบยืนยันตัวตนว่าบัตรประชาชนที่นำมาสมัครบริการกับผู้สมัครนั้น ๆ เป็นบุคคลคนเดียวกันจริง เพื่อระบบความปลอดภัยผู้ใช้

Q : แผนขยายฐานผู้ใช้

เราเปิดให้บริการในปี 2562 จนถึงปัจจุบันถือว่าจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น หากต้องการสร้างการเติบโตมากกว่านี้ก็ต้องใส่เงินลงไป ธุรกิจนี้มีความคล้ายกับอีคอมเมิร์ซ ที่หากต้องการฐานผู้ใช้มาก ๆ

ก็ต้องใส่โปรโมชั่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เงินในกระเป๋าของผู้บริโภค แต่อีวอลเลตจะมีความยากกว่าเพราะเป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้กับคนขาย ดังนั้น แม้จะใส่เงินอัดโปรโมชั่นลงไป เมื่อผู้บริโภคจะใช้ก็ไม่ได้เสิร์ชหาว่าอีวอลเลตเจ้าไหนดีที่สุด ต่างจากอีคอมเมิร์ซเพราะพฤติกรรมการใช้ต่างกัน

โดยการใช้อีวอลเลตผู้บริโภคจะมีโจทย์แล้วว่าจะซื้อสินค้าอะไร จึงเลือกอีวอลเลต หากใส่โปรโมชั่นแรง ๆ ก็ได้เฉพาะแค่คนคนเดียวเท่านั้น ดังนั้น การสร้างการเติบโตอีวอลเลต คือ ต้องค่อย ๆ โต ค่อย ๆ เดินไป พร้อมกับพันธมิตรที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันแอปพลิเคชั่น Dolfin มีผู้ใช้2 ล้านราย ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 2.5-3 ล้านราย

ทิศทางในปีนี้จะเดินหน้า 2 กลยุทธ์หลัก คือ 1.การพัฒนาบริการใหม่ ๆ ต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่งได้รับใบอนุญาตขายประกันภัยจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

และเตรียมเปิดธุรกิจนายหน้าขายประกันภัยอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ โดยจะร่วมกับบริษัทประกันภัยพัฒนาโปรดักต์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอล

เช่น ประกันรถยนต์ก็จะเป็นลักษณะ “ขับน้อยจ่ายน้อย” เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้การใช้รถน้อยลง เป็นต้น

และ 2.จัดโปรโมชั่นต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้และขยายฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ อีกทั้งมีการทำโปรโมชั่นรูปแบบสมาร์ทเพย์ หรือคูปองส่วนลดที่ลูกค้าสามารถใช้ลดได้ทันที

ปัจจุบันลูกค้าใช้ดอลฟินวอลเลตชำระได้ทั้งร้านค้าในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป และพาร์ตเนอร์รายอื่น ๆ อีกกว่า 4,000 แบรนด์ โดยรายได้ของบริษัทมาจากค่าธรรมเนียมการชำระเงิน ซึ่งได้จากร้านค้าพาร์ตเนอร์และส่วนแบ่งจากการขายประกันภัย การปล่อยสินเชื่อ และรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต