“ดนันท์” กางแผนพลิก “ปณท” ฝ่าโควิดสู่ “Tech Post”ในปี 65 – เดลีนีวส์

ท่ามกลาง “สมรภูมิ”การแข่งขันของ “ธุรกิจโลจิกติกส์” หรือการจัดส่งสินค้า ในไทยที่มีการแข่งกันดุ มีผู้เล่นรายใหญ่ๆมีทุนหนาจากต่างประเทศหนุนหลังกระโดดเข้ามาร่วมวง “ชิงเค้กก้อนใหญ่” ในตลาด

ทำให้ผู้เล่นหน้าเดิมที่เป็นบริษัทขนส่งสัญชาติไทยแท้ๆ อย่าง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท จะมีทิศทางดำเนินธุรกิจอย่างไร ในวันนี้ “เดลินิวส์” มีโอกาสได้สัมภาษณ์ “ดนันท์  สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ ปณท ที่ได้นั่งบริหารงานมาตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 64  ที่ผ่านมา

ขนส่งแข่งดุเมินโควิด

“ดนันท์” บอกว่า ช่วงโควิด -19 ระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมาก็ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ โดยด้านบวกนั้น เมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้นก็มีทั้งซื้อและขายของออนไลน์มากขึ้น ทำให้ตลาดโต ขณะที่ผลด้านลบเมื่อคนติดโควิด-19 กันมากขึ้นทำให้มีพนักงานติดด้วย ส่งผลให้ในบางที่ทำการฯ มีการส่งของล่าช้าบ้าง จึงต้องมีการบริการจัดการให้ดี แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นมาก สามารถดำเนินการให้บริการได้อย่างปกติแล้ว

“การแข่งขันในธุรกิจขนส่งมีมีการแข่งขันสูง มีผู้ให้บริการหลากหลายมีทุนต่างชาติเข้ามา ซึ่งภาพร่วมแล้ว ถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกและมีผู้ให้บริการรองรับสิ่งของจัดส่งที่มีปริมาณเติบโตได้ช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ ซึ่งผูัให้บริการทุกรายก็มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีที่สุด ในส่วนของ ปณท เน้นการบริการที่ทำให้เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค ให้รู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เพื่อเตรียมบริการที่จะรองรับ”

จุดแข็งบุรุษไปรษณีย์ทั่วไทย

สิ่งที่เป็นจุดแข็งของ ปณท  คือ เราอยู่ในชุมชนมานาน คนของเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า บุรุษไปรษณีย์ หรือ เจ้าหน้าที่นำจ่ายของเรา รู้จักลูกค้าในทุกพื้นที่และเป็นระยะเวลานาน  ด้วยโครงข่ายบุรุษไปรษณีย์ที่มีทำให้สามารถนำเสนอ บริการอื่นๆ ให้กับลูกค้าถึงบ้านได้ เช่น การเติมเงินมือถือ การขายซิม รับออเดอร์ของที่ลูกค้าต้องการ ฯลฯ ซึ่งต่อไปจะมีการพัฒนาบริการขึ้นเรื่อยๆ และจากการเป็นบริษัทขนส่งขนาดใหญ่ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ มีการะบวนการ รับฝาก ส่งต่อ และ นำจ่าย ที่เข้มแข็งทำให้ควบคุมคุณภาพบริการได้ดี

ช่วยเอสเอ็มอีเกษตรกร

จากการที่ ปณท เป็น รัฐวิสาหกิจ ก็มีหน้าที่ดูแลชุมชนด้วย ไม่ใช่การทำธุรกิจที่หาแต่ผลกำไรอย่างเดียว แต่ต้องดูแลชุมชนและสังคมไทยให้เติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งในช่วงโควิด-19 ก็มีการช่วยจัดส่งยาให้กับสถานที่กักตัว ในชุมชนต่างๆ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล และ ช่วยสนับสนุนส่งผลไม้ของเกษตกรในช่วงที่ราคาตกต่ำ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ คือ www.thailandpostmart.com ที่ได้รวบรวมสินค้าเกษตร และวิสาหกิจชุมชนที่ใหญ่ที่สุด มีสินค้ามากกว่า 17,000 รายการ จากทุกภูมิภาค และมีผู้ประกอบการมากกว่า  6,500  ราย ที่นำสินค้าขึ้นมาขายขนแพลตฟอร์ม โดย ปณท จะจัดส่งให้ถึงบ้าน นอกจากนี้ในส่วนออฟไลน์ ก็มีการนำสินค้าเหล่านี้ ไปขายยังที่ทำการไปรษณีย์ในพื้นที่ต่างๆมากกว่า 5,000 จุดด้วย ทำให้เอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน พ่อค้า แม่ค้าชาวสวน สามารถขายสินค้าได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. 64 นี้ ช่วยให้เกษตรมีรายได้แล้วประมาณ 400  ล้านบาท

เร่งมุ่งสู่ Tech Post

อย่างไรก็ตามในยุคดิจิทัล ทาง ปณท ก็มีนโยบายนำเทคโนโลยีมายกระดับองค์กรและการให้บริการประชาชน ซึ่งจะมีการลงทุนด้านดิจิทัลไม่น้อยกว่า 1,000  ล้านบาทในปีหน้า โดยให้ความสำคัญกับเรื่อง บิ๊กดาต้า ซึ่งได้ร่วมมือกับ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) เพื่อบูรณาการด้านข้อมูลทำเป็นระบบวิเคราะห์ และมีระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ หรือ ซีอาร์เอ็ม เพื่อนำมาบริหารจัดการข้อมูลของลูกค้าให้สามารถตอบสนอง ความต้องการของ ลูกค้าแต่ละกลุ่มได้

 ในส่วนของการดำเนินการได้นำระบบอัตโนมัติมาช่วยคัดแยก จดหมายและพัสดุที่มีมากถึงวันละ 7-8 ล้านชิ้น ทำให้สามารถคุมคุณภาพ  และความถูกต้องในการคัดแยก ให้ส่งของไม่ผิด บริหารเวลา และทรัพยากรบุคคล เพื่อไปทำงานในส่วนอื่น ที่มีความต้องการกำลังคนได้ ขณะเดียวกันในส่วนระบบหน้าบ้าน การรับฝาก ได้นำดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆมาช่วยสนับสนุนให้ลูกค้า ขอรับบริการไปรับของที่บ้าน หรือ Pick up service ได้ และนำระบบการชำระเงินมาอำนวยความสะดวกรับสังคมไร้เงินสด

ปี 65 ลุย “ฟู้ด เดลิเวอรี่” 

สิ่งที่จะทำต่อไปจากนี้ คือ นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการขนส่ง เช่นที่ผ่านมา มีการปิดหมู่บ้านจากโควิด หรือน้ำท่วมไม่สามารถเข้าไปส่งได้ ก็มีการทดลองนำ “โดรน” มาทดลองบินส่งยาให้ผู้ป่วย ฯลฯ เพื่อก้าวข้ามผ่านข้อ จำกัดต่างๆ นอกจากนี้ยังมองถึงการช่วยลดมลภาวะ ซึ่งในปีหน้าจะมีการนำรถไฟฟ้าประมาณ 250 คันมาใช้ในการขนส่ง แทนรถยนต์ใช้น้ำมันด้วย จะช่วยลดต้นทุนได้ส่วนหนึ่ง

ในส่วนบริการใหม่อย่าง “ฟิ้วซ์ โพสต์”ที่เป็นการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน ที่ทำร่วมกับพันธมิตร ก็ได้รับการตอบรับดี โดยอยู่ระหว่างเตรียมขยายเส้นทาง เพื่อให้มีพื้นที่บริการครอบคลุมมากขึ้น นอกเหนือจากขนส่งอาหารทะเลแล้วจะขยายไปยังร้านอาหารที่ต้องการส่งวัตถุดิบของสดไปยังสาขาต่างๆ หรือพวกผักผลไม้ที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ ฯลฯ รวมถึงขยายจุดรับของให้คนที่ต้องการใช้บริการนำของมาดร็อปไว้ได้

“ดนันท์” ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ไม่เพียงเท่านี้ ปณท กำลังอยู่ระหว่างศึกษาตลาด “ฟู้ด เดลิเวอรี่” เนื่องจากมองเห็นช่องว่างทางการตลาดที่ผู้ให้บริการที่มีอยู่ ยังให้บริการจำกัดในบางพื้นที่ แต่ด้วยโครงข่าย ของไปรษณีย์ไทยที่ครอบคลุมจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะเปิดตลาด เช่นในพื้นที่เมืองรอง ในต่างจังหวัด ถือเป็นการใช้ทรัพยกรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งในปีหน้าจะเห็น เป็นรูปธรรมแน่นอน

เพิ่มลูกเล่นแสตมป์

อีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับจดหมายมานานแสนนาน ก็คือ แสตมป์  ซึ่ง “ดนันท์” บอกว่า ปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยม มีกลุ่มคนที่สะสมและนำไปใช้ชำระค่าธรรมเนียมไปรษณีย์ ซึ่งแสตมป์ที่ผลิตออกมาในระยะเวลา 1  ปี จะมียอดจำหน่ายประมาณ 70% ส่วนใหญ่จะซื้อไปเพื่อสะสม โดยลูกค้าจะเป็นกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และเจนเอ็กซ์ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ทาง ปณท ก็ได้นำมาใช้ในการผลิตแสตมป์ เช่น  พิมพ์ทอง หมึกสีพิเศษ หรือ ใช้เทคโนโลยีเออาร์ โดยสามารถใช้กล้องมือถือส่องทำให้เห็นคอนเทนต์ที่เล่าเรื่องราวของแสตมป์ถูกสร้างขึ้น มีประวัติศาสตร์อย่างไร ฯลฯ ก็จะช่วยดึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ๆเพิ่มขึ้นได้

 “ดนันท์” ยังทิ้งท้ายด้วยความมั่นใจด้วยว่า…ในฐานะที่ ปณท เป็นหน่วยงานขนส่งหลักของประเทศ ทางผู้บริหารทุกคนต่างร่วมใจตั้งเป้าหมายให้ปี 65 เป็นปี ที่จะเดินหน้าเต็มสรรพกำลังเพื่อพัฒนาบริการต่างๆและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆมาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในและการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อมุ่งสู “Tech Post” อย่างเต็มตัว!!

                 จิราวัฒน์ จารุพันธ์