ชำแหละ กม.จราจรใหม่ เพิ่มโทษ “โหดจริง” ตั้ง “แผนกคดีจราจร” เคลียร์ “จ่าย – จบ” ที่ศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – นอกจากมีการบังคับใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่  “พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565”  ยกระดับบทลงโทษด้านจราจร สร้างวินัยและอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว อีกหนึ่งความน่าสนใจก็คือ การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตั้ง “แผนกคดีจราจร”  รองรับการบังคับใช้ “ร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. ….” ซึ่งมีหมุดหมายสำคัญคือการเปลี่ยนจากให้ “ตำรวจ” ออกใบสั่งเป็นส่งตัวขึ้น  “ศาล”  ในบางกรณี เช่น ขับรถเร็ว, ฝ่าไฟแดง ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ยังพุ่งเป้าสางปัญหาค้างจ่ายค่าปรับจราจรที่ล้นทะลัก ย้อนกลับไปปี 2564 มีการออกใบสั่งมากกกว่า 10 ล้านใบ แต่มีผู้จ่ายค่าปรับเพียง 10% เท่านั้น ส่วนความผิดที่ฝ่าฝืนมากที่สุด อันดับ 1 ขับรถเร็ว อันดับ 2 ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ซึ่งอุบัติเหตุบนท้องถนนนำมาซึ่งความสูญเสียร้ายแรง โดยในแต่ละปีมีผู้คนจำนวนมากจบชีวิตลง

แม้แนวโน้มการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยลดลง แต่การสูญเสียยังจัดอยู่ในระดับสูง  นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของลดลง จำนวนกว่า 17,831 คน คิดเป็น 27.2 ต่อแสนประชากร หรือ 49 คนต่อวัน หรือชั่วโมงละ 2 คน โดยกลุ่มที่เสียชีวิตสูงสุดเป็นกลุ่มอายุ 16 – 30 ปี ขณะที่กลุ่มอายุ 46-60 ปี กลุ่มที่อายุมากกว่า 60 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจนสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่กรณีเกิดกับผู้สูงอายุเมื่อได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอายุน้อย 10 เท่า ซึ่งตัวเลขจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คิดเป็น 74% เป็นเช่นนี้มานานนับสิบปีแล้ว

สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน www.thairsc.com เปิดเผยว่า ปี 2564 ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีมากกว่า 13,000 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 36 ราย โดยเป็นกลุ่มคนวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25 – 60 ปี เสียชีวิตมากถึง 54% หรือประมาณกว่า 7,000 ราย โดยสาเหตุของความสูญเสียของกลุ่มวัยทำงานมาจากปัจจัยเกี่ยวกับ “พฤติกรรมของคน” และ “สภาพของรถ” เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ซึ่งกลุ่มคนวัยทำงานเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด จำนวนมากว่า 5,800 ราย และมีสถานะเป็น ผู้ขับขี่ จำนวนมากกว่า 5,000 ราย

อย่างไรก็ดี การบังคับใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่  “พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565”  เป็นภาพสะท้อนการคุมวินัยการขับขี่ให้เข้มข้นทันยุคสมัยมากขึ้น แต่ในอีกมิติหนึ่งเพิ่มโทษรุนแรงทั้งปรับและจำคุกในฐานกระทำผิดกฎจราจร ก็เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในสังคมอยู่มิใช่น้อยว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใด หรือจะยิ่งเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐแสวงหารายได้เข้ากระเป๋าตัวเองได้มากกว่าเดิมกันแน่

สำหรับกฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร หรือ ศจร.ตร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเพิ่มโทษในหลายคดีและโดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่มีการกระทำผิดซ้ำ โดยการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 มีดังนี้

1) เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ กระทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ (ม.160 ตรี/1 และ 160 ตรี/3)

2) เพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง 2.1 เพิ่มอัตราโทษปรับ เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท), ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท), ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท), ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท), ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท), ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท) และ 2.2 เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท เพิ่มเป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3) กำหนดความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง เพิ่มเติม ดังนี้ 3.1 ความผิดฐานพยายามแข่งรถ กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ร่วมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง พร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป หากมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง (ม.134) ดังนี้ มีการนัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือ รถที่รวมกลุ่มมีการดัดแปลง/ปรับแต่งรถที่มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทาง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) 3.2 เพิ่มโทษสำหรับผู้จัด และกำหนดโทษใหม่สำหรับผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ อัตราโทษเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพิ่มเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(ม.134/1) และ 3.3 กำหนดโทษใหม่สำหรับร้านรับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน คือ ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทางระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) (ม.134/2)

4) กำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย 4.1 รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้ 4.2 สำหรับรถกระบะ ผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอนผู้โดยสารตอนหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ด้วย หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ตามข้อ 4.1 และ 4.2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

สำหรับข้อกฎหมายข้อบังคับใช้การนั่งบริเวณแคปหรือนั่งท้ายกระบะ สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย แต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด ส่วนประกาศกำหนดที่ชัดเจนอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565

ส่วนที่นั่งนิรภัยหรือเบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ได้ร่วมประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐานที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้ เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2565 ซึ่งที่นั่งนิรภัยยังไม่เริ่มบังคับใช้ในตอนนี้ แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำประกาศและลงประกาศให้ทราบในราชกิจจานุเบกษา



ขณะเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 ความว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ  “ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. ….” ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็วขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันสถิติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีจราจรในแต่ละปีมีจำนวนมาก โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่ขาดความรู้ความเข้าใจและวินัยในการใช้รถใช้ถนน ไม่เคารพปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษของกฎหมาย ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรและผลกระทบถึงความปลอดภัยต่อชีวิตร่างกายและจิตใจของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลทั่วไป

อีกทั้งมาตรการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ผู้กระทำผิดชำระค่าปรับตามกฎหมายน้อยมาก เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบสั่งต่อผู้กระทำผิดกฎจราจรเพื่อลงโทษปรับตามกฎหมาย แต่ไม่ได้กำหนดวิธีพิจารณาคดีจราจรในกรณีผู้รับใบสั่งได้โต้แย้งข้อกล่าวหา หรือเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง จึงต้องใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ทำให้มีหลายขั้นตอนและใช้ระยะเวลานาน

ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็วขึ้น ครม. จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีจราจรและจัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นโดยเฉพาะต่างหากจากคดีอาญาทั่วไป ให้กำหนดประเภทคดีที่เป็นคดีจราจรซึ่งจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. นี้ กำหนดขั้นตอนดำเนินงานเป็นการเฉพาะสำหรับคดีจราจร ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนออกใบนัดให้ผู้กระทำความผิดคดีจราจรไปศาล และกำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดคดีจราจรนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้นๆ ซึ่งประเภทคดีจราจรและขั้นตอนการดำเนินการพิจารณาคดีจราจร แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 กลุ่มที่ 1 ความผิดจราจรบางฐานที่กำหนดไว้เฉพาะ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ขับรถในระหว่างใบขับขี่ถูกพักใช้ เพิกถอน หรือหมดอายุ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด เป็นต้น ร่างพ.ร.บ.นี้ กำหนดห้ามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับหรือออกใบสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่ให้ผู้นั้นไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

 กลุ่มที่ 2 ความผิดอื่นที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยทางหลวง และกฎหมายว่าด้วย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยไม่รวมถึงกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากผู้กระทำผิดไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับหรือไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

 กลุ่มที่ 3 ความผิดนอกจากกลุ่มที่ 1 และ 2 ที่มีความร้ายแรง เช่น ความผิดฐานเมาแล้วขับ เป็นต้น กำหนดให้สอบสวนและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตาม ป.วิ.อ. หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงแล้วแต่กรณี โดยศาลอาจกำหนดมาตรการลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้เพิ่มเติม แก่ผู้กระทำความผิดได้

ทั้งนี้ คดีจราจรกลุ่มที่ 1 และ 2 ให้พนักงานสอบสวนส่งคู่ฉบับใบนัดให้ศาลภายใน 3 วันนับแต่วันที่ออกใบนัด แต่หากผู้ต้องหายอมชำระค่าปรับ ก็ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในวันที่มาศาล หากจำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้ แต่ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การหรือให้การปฏิเสธ ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ถ้าเพียงพอให้ศาลพิพากษาคดีทันที ถ้าไม่เพียงพอให้นัดสืบพยานต่อไป และศาลมีอำนาจใช้มาตรการลงโทษแก่จำเลยซึ่งมีความผิดนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้นๆ ได้ เช่น ยึด พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ให้เข้ารับการศึกษาอบรมด้านการจราจร เป็นต้น

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจรฯ ลำดับถัดไป จะส่งให้สำนักงานคณะกรรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

  กรณีนี้ เสียงส่วนใหญ่ของสังคมให้การตอบรับเป็นอย่างดี แต่มีประเด็นที่สังคมตั้งข้อสังเกตและจับตาก็คือคดีจราจรกลุ่มที่ 1 และ 2 ให้พนักงานสอบสวนส่งคู่ฉบับใบนัดให้ศาลภายใน 3 วันนับแต่วันที่ออกใบนัด แต่หากผู้ต้องหายอมชำระค่าปรับ ก็ให้คดีเป็นอันเลิกกัน….ซึ่งคงต้อรอดูกันต่อไปว่า ในทางปฏิบัติผลจะออกมาอย่างไร และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ 

ท้ายที่สุดการสังคยานากฎหมายจรจรใหม่ “พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565” รวมทั้ง การผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. ….” ไม่ใช่เพียงเรื่องของการเพิ่มโทษนั้นก็เพื่อให้เกิดความยำเกรงต่อการกระทำผิดกฎจราจร ยังมุ่งควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หวังลดอัตรการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบนท้องถนน แต่ไม่ว่าจะใช้ยาแรงสักเพียงใด จะไม่มีทางไปถึงฝั่งฝันได้หากผู้ใช้รถใช้รถถนนยังขาดจิตสำนึกสาธารณะ