กลวิธีตั้งรับ “คนตกงาน” ทุกวันนี้ต้องทำงานแข่งกับเวลา – ประชาชาติธุรกิจ

ว่างงาน

การวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวเลขคนตกงาน เพราะผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทะลุกว่า 1 ล้านคน ร้อนถึงกระทรวงแรงงานที่ต้องออกมาชี้แจงก่อนที่จะเข้าใจผิด อีกทั้งอาจจะยังไม่เข้าใจสภาพตลาดแรงงานในประเทศว่าเป็นอย่างไร

และที่สำคัญต้องมองให้ครบทุกมิติของตลาดแรงงานที่เชื่อมโยงกันอยู่ เพราะมีคนออกจากงานก็ต้องมีคนเข้าทำงาน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถึงตัวเลขตกงานที่แท้จริงเป็นอย่างไร ? รวมถึงมาตรการรองรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ และการช่วยสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19

“จำนวนคนตกงาน ถ้าไม่รู้จริง อย่าพูดเอามันอย่างเดียว เพราะประชาชนเขา panic กันไปหมดแล้ว พูดแล้ว ต้องรับผิดชอบด้วย เรื่องนี้ sensitive เพราะอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุน” เจ้ากระทรวงแรงงานเปิดการสนทนาครั้งนี้ด้วยการฝากถึงคนไม่รู้จริงด้านแรงงาน พร้อมกับอธิบายต่อเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่าตัวเลขการตกงานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้มีนัยสำคัญ

เหตุผลสนับสนุนคือ เมื่อย้อนกลับไป 2 ปีก่อนหน้านี้ จะพบว่าตัวเลขคนตกงานในประเทศกลับใกล้เคียง หรือน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา อย่างไตรมาส 1 ของปี 2564 มีคนตกงานรวม 110,000 ราย ปี 2563 อยู่ที่ 270,000 ราย และปี 2562 อยู่ที่ 197,000 คน

ตามที่ได้มีการประเมินภาพรวมของสถานประกอบการ “สุชาติ” พบว่า มีภาคธุรกิจที่ยังเดินหน้าต่อไปได้ อย่างเช่นธุรกิจผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ยังจ้างแรงงาน และจ่ายโบนัสให้กับพนักงานในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนภาพให้เห็นว่าว่างงานได้ แต่กลับเข้าระบบทำงานได้

และจากนี้ประเทศจะเริ่มฟื้นตัว ภาคการผลิตที่หยุดกิจการชั่วคราวจะกลับมาจ้างงานอีกครั้งได้เช่นกัน แต่ที่สำคัญคือต้องใช้เวลา

สถิติคนตกงานฉบับ รมว.แรงงาน

“สุชาติ” ระบุถึงจำนวนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน และผู้ประกันตนรายใหม่ สัญชาติไทย เป็นข้อมูลระหว่างเดือน ม.ค. 2563 ถึงเดือน มี.ค. 2564 พบว่า มีผู้ประกันตนว่างงานจาก 3 กรณี รวม 1,181,576 คน ในขณะเดียวกันก็มีผู้ประกันตนกลับเข้าสู่ระบบแล้ว 405,857 คน

นอกจากนี้ยังมีจำนวนผู้ประกันตนรายใหม่ 397,336 คน เมื่อรวมผู้ประกันตนที่กลับสู่ระบบ และผู้ประกันตนรายใหม่แล้วอยู่ที่ 803,193 คน ฉะนั้น จะมีจำนวนผู้ตกงานที่แท้จริงเพียง 378,383 รายเท่านั้น เหตุผลสนับสนุนคือการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสถานประกอบการต่าง ๆ

การระบาดระลอกแรกในปี 2563 รัฐบาลได้ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดการจ่ายเงินสมทบจากผู้ประกันตน และสถานประกอบการรักษาการจ้างงาน จ่ายชดเชยว่างงานจากเหตุสุดวิสัยที่ 62%

พร้อมทั้งกระตุ้นการบริโภคภายในผ่านโครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, เราชนะ และมาตรา 33 เรารักกัน ยังมีนโยบายรัฐกระตุ้นการจ้างงานคือการจ้างงานภาครัฐ งบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามพระราชกำหนดเงินกู้จัดงาน JOB EXPO THAILAND 2020 รวมถึงลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานการผลิต มาตรการทางภาษี และเงินกู้เพิ่มเติม

“หากภาครัฐไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย ยอดคนตกงานอาจจะถึงล้านคนก็มีความเป็นไปได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาล กระทรวงแรงงานเดินหน้ามาตรการต่าง ๆ จนทำให้มีงานรองรับและแก้ปัญหาคนว่างงานได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะ JOB EXPO THAILAND 2020 และโครงการไทยมีงานทำที่มีผู้สนใจเข้ามาสมัครงาน แต่ส่วนใหญ่สกิลของแรงงานยังไม่ตรงกับที่สถานประกอบการต้องการ ซึ่งคาดว่าหากสถานการณ์โควิดคลี่คลายการจ้างงานจะค่อย ๆ ฟื้นตัวแน่นอน” นายสุชาติกล่าว

จับตาธุรกิจท่องเที่ยวซบ

นอกจากนี้ “สุชาติ” ยังกล่าวอีกว่า อัตราการกลับเข้าสู่สภาวะปกติของตลาดแรงงานประมาณ 67.98% โดยการแก้ปัญหาว่างงานนั้น จะพิจารณาจากขนาดของสถานประกอบการเท่านั้น “ไม่ได้” แต่ต้องพิจารณาแต่ละกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว

โดยเฉพาะการท่องเที่ยวอันดามัน ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต, กระบี่ และพังงา หากผลักดันให้คนไทยท่องเที่ยวอันดามันก็ค่อนข้างยาก เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวถึงจำนวนผู้ประกันตนกรณีว่างงานสัญชาติไทยที่ยัง “ไม่กลับเข้าระบบ” ช่วงเดือน ม.ค. 2563 ถึงเดือน มี.ค. 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 775,719 คน
แบ่งเป็นแรงงานเพื่อเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และการส่งออก กลุ่มกระตุ้นการจ้างงานด้วยนโยบายภาครัฐ และกลุ่มส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 ใน 5 พื้นที่ คือ กทม., นนทบุรี, ชลบุรี, เชียงใหม่ และปทุมธานี เพื่อคัดแยกผู้ป่วยออกมารักษาให้เร็วที่สุด เหมือนจังหวัดสมุทรสาครที่ตรวจเชิงรุกไปแล้ว และสามารถคุมสถานการณ์การระบาดได้ในที่สุด

“ตอนนี้เราต้องทำงานแข่งกับเวลา พบผู้ติดเชื้อเร็วก็สามารถควบคุมการระบาดได้เร็วเช่นกัน โจทย์มีแค่นี้คือเข้าถึงพื้นที่และรวดเร็ว ซึ่งเรามองว่าแม้การระบาดครั้งนี้จะค่อนข้างรวดเร็วและแตกต่างจากการระบาดระลอกแรก และระลอกที่ 2 แต่ความร่วมมือของ ก.แรงงาน สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานในสังกัดอื่น ๆ จะช่วยสกัดการระบาดทุกวิถีทาง ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กำชับไว้”

จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้