TK เผย Q3/65 มีกำไรสุทธิ 60.1 ลบ.ลดลง 53.7% เหตุค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพิ่ม ส่วน 9 เดือน กำไรสุทธิ 312.7 ลบ.ลดลง 9.5% มั่นใจปีนี้เติบโตได้ 20%
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/65 มีกำไรสุทธิ 60.1 ล้านบาท ลดลง 53.7% จาก 129.8 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น
โดยบริษัทฯ ใช้นโยบายบัญชีตัดค่าใช้จ่ายดังกล่าวทันทีทั้งจำนวน และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามจำนวนลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการขยายตัวเพื่อเพิ่มยอดการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม คุณภาพลูกหนี้ของบริษัทฯ ดีขึ้น โดยมีลูกค้าค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 5.9% ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับคุณภาพลูกหนี้สิ้นปี 64
ในไตรมาส 3/65 มีรายได้รวม 498.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% จาก 476.2 ล้านบาท ส่วนรายได้เช่าซื้อมีจำนวน 381.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.4% จาก 327.7 ล้านบาท ตามนโยบายเพิ่มยอดปล่อยสินเชื่อที่สอดรับกับทิศทางตลาดรถจักรยานยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ส่วนงวด 9 เดือน ปี 65 กำไรสุทธิ 312.7 ล้านบาท ลดลง 9.5% จาก 345.7 ล้านบาท รายได้รวมอยู่ที่ 1,484 ล้านบาท ลดลง 2% จาก 1,514.5 ล้านบาท คาดเศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลดีต่อการบริโภคและการจ้างงานภายในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศลูกหนี้เติบโต 24% ในกัมพูชาและเติบโต 14.5% ใน สปป.ลาว มั่นใจปิดปีตามเป้าหมายเติบโต 20%
ด้านประกาศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควบคุมธุรกิจเช่าซื้อ TK ย้ำยึดนโยบายดำเนินธุรกิจตามกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ พร้อมแข่งขันในบริบทใหม่ของตลาด
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโต 3.3% ตามการเติบโตของภาคท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคของภาคเอกชน โดยภาคท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง คาดว่าในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีจำนวนเพียง 0.4 ล้านคน
ขณะที่การส่งออก 9 เดือน เติบโตขึ้น 10.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 คาดว่าการส่งออกจะยังคงขยายตัวไปได้ด้วยดี เป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริโภคและการจ้างงานภายในประเทศ ขณะที่ปัญหาชิปขาดแคลนคลี่คลายมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% และมีแนวโน้มลดลงในปีหน้าตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มดีขึ้น
ด้วยสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น กับสภาพตลาดโดยเฉพาะยอดจำหน่ายรวมรถจักรยานยนต์ในไตรมาส 3 ปีนี้ ที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 38.7% จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินกิจการให้เติบโต 20% ในปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ตลาดรวมรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ไตรมาส 3/65 มียอดขาย 458,815 คัน เพิ่มขึ้น 38.7% จาก 330,704 คัน ขณะที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ 9 เดือน ปี 65 มีจำนวน 1,369,531 คัน เพิ่มขึ้น 13.7% จาก 1,204,745 คัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 64 ส่วนยอดขายรถยนต์ ไตรมาส 3 ปี 65 มียอดขาย 206,391 คัน เพิ่มขึ้น 30% จาก 158,740 คัน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ 9 เดือน ปี 65 มีจำนวน 633,694 คัน เพิ่มขึ้น 19.1% จาก 531,931 คัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 64
นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ไตรมาส 3 ปี 65 บริษัทฯ มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 4,575.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.8% จาก 3,949.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 64
สัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30.5% ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 65 โดยมาจากกัมพูชาเป็นตลาดหลัก มีลูกหนี้รวม 1,236.1 ล้านบาท เติบโต 24% จาก 996.7 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ สปป.ลาว มีลูกหนี้ 158.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.94% จาก 137.6 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา จากนโยบายเพิ่มยอดปล่อยสินเชื่อและสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศ เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 นายประพลกล่าวว่า TK มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจตามกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ตลอดมา และจะยังคงยึดหลักการดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะทำให้ทั้งอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้เพดานดอกเบี้ยเดียวกัน บริบทการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายย่อยและประชาชนที่มีความต้องการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ รวมทั้งการแข่งขันของตลาดจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกฎระเบียบใหม่ของราชการ
สำหรับ TK เราเริ่มปรับการดำเนินงานและเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยได้เตรียมตัวตั้งแต่ก่อนออกประกาศ และเริ่มควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/65 เพื่อลดต้นทุนทางด้าน Credit cost หรือหนี้เสีย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมพร้อมในการเพิ่มบริการใหม่ จากการที่บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตเพิ่มเติมให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และ สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งบริการใหม่เหล่านี้จะช่วยเพิ่มรายได้ และช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการพึ่งพาธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เป็นหลักเพียงอย่างเดียว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะกลางและระยะยาวต่อไป
ลักษณะธุรกิจของ TK
ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
As part of their spo…
This website uses cookies.