THE SUBCULTURE : BOZOSOKU BIKE SIAM มากกว่าการขับขี่คือมิตรภาพและความหลงใหลในวัฒนธรรมแดนอุทิศอุทัย – Unlockmen

เมื่อคุณหลงใหลและชื่นชอบอะไรบางอย่างมาก ๆ มันจะมีพลังที่จะทำให้คุณยอมทุ่มสุดตัวเพื่อแลกกับสิ่งเหล่านั้นให้ได้มาครอบครอง ประโยคนี้สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งกับกลุ่ม Bozosoku Bike Siam กลุ่มผู้นำวัฒนธรรมการขับขี่รถจักรยานต์ของประเทศญี่ปุ่นข้ามน้ำข้ามทะเลมาสู่ท้องถนนในประเทศไทย พวกเขามาพร้อมสไตล์การแต่งรถที่ถอดแบบจากแดนปลาดิบมาทุกตารางนิ้ว ทุกเอกลักษณ์ถูกถ่ายทอดมาจากความรักและแพชชั่นที่มีต่อ Bozosoku

Bozosoku Bike Siam ได้ส่ง นนท์ (Kawasaki zephyr 400), โน (Kawasaki zephyr 750), จักร (Honda cb650 Custom) และแพท (Kawasaki zephyr 400) 4 ตัวแทนมาร่วมถ่ายทอดความสุดให้ชาว Unlockmen ได้ทำความรู้จักพวกเขากับบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ


จุดเริ่มต้นความชื่นชอบ BOZOSOKU

นนท์ : เริ่มแรกมาจากการอ่านการ์ตูน แล้วแบบเฮ้ยมันมีหรอวะ มันมีจริง ๆ หรือเปล่า พอโตขึ้นมาก็เลยศึกษาดู และเห็นรุ่นพี่ที่สุพรรณทำก็เลยติดต่อเขาไป เริ่มคุยกัน จนสุดท้ายได้ไปซื้อจากทางที่ญี่ปุ่นกลับมาทำที่ไทย

โน: จุดเริ่มต้นแรกมาจากการบ้ามอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่น เมื่อก่อนจะบ้ารถโกดัง รถสี่สูบเรียง, Superfour, Zephyr พอมาวันหนึ่งเราอ่านการ์ตูนมาก ๆ รถทึ่เห็นมันอยู่ในการ์ตูน อยู่ในมังงะทั้งหมดเลย หลังจากนั้นก็เริ่มมาศึกษาวิธีการแต่ง ของแต่ง อะไหล่แต่ง พอรู้จักเพื่อนคนนี้ (นนท์) เพื่อนก็เอาหัวจรวดมาให้ จากนั้นค่อย ๆ เอามาปั้นและสั่งอะไหล่ จนเป็นแบบนี้ครับ 

จักร: จริง ๆ แล้วชอบมาตั้งแต่เด็กจากการ์ตูนญี่ปุ่นกับพวกแก๊งค์ซิ่ง และบวกกับเราชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น การแต่งตัวแบบญี่ปุ่น ก็เลยคิดว่าแนวนี้เหมาะกับเราครับ

แพท: ของผมมาจากการชอบมอเตอร์ไซค์ ผมไม่ได้มาจากรถแบบนี้ ผมชอบช็อปเปอร์ ชอบมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก แล้วคราวนี้เราได้มาเห็นอะไรที่มันแปลกใหม่ แล้วมันควรจะทำลองดูนะ เลยศึกษาก็เลยได้ไปเจอกับพวกพี่ ๆ ครับ  


การรวมตัวของ BOZOSOKU BIKE SIAM

นนท์: ก็เจอเพราะความชอบแล้วก็มาคุยกัน เห็นในโซเชียลก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มทักกัน ผมก็แต่งก่อน แล้วจักรก็ทักมาถามว่าพี่อันนี้ทำยังไง แชร์ข้อมูลแชร์ไอเดียกัน 

โน: ก็มานั่งคุยกันว่าควรจะเอาอะไหล่ตัวไหนมาเล่น เอารถอะไรมาทำดี ซ่อมที่ไหน อันนี้ถามกันได้ครับ


ศึกษาจากช่องทางไหนบ้าง

แพท: สำหรับผมเมื่อก่อนมันจะศึกษาได้น้อย แต่สมัยนี้ด้วยอินเตอร์เน็ตกับโซเชียลมีเดีย ทำให้ทุกอย่างมันสื่อสารด้วยกันได้หมดเลย เราอยากรู้ว่าญี่ปุ่นตอนนี้เขาเสพอะไร เราก็ศึกษาจากทางอินเทอร์เน็ตก่อน แล้วเราก็มาคุยกันในกลุ่มปรึกษากันว่าควรเป็นแบบไหน 

จักร: ของผมหลัก ๆ ก็มาจากหนังสือการ์ตูน แล้วก็ทาง Instagram และเราก็จะมาศึกษาดูว่า Bosozoku แบบไหนคือสไตล์เรา แบบไหนที่คิดว่าเหมาะกับเรา เราก็มาขัดเกลา เลือกหยิบสไตล์ที่เราชอบใส่รถเรา

โน: ส่วนตัวผม ถ้าเป็นอย่างพวกของแต่งที่จะทำให้รถเป็นแนว Bosozoku ผมไม่ได้ตามพวก Instagram หรือ Twitter เพราะว่าเล่นไม่เป็น เราใช้วิธีการดูหนังสือแต่งรถญี่ปุ่นสมัยเก่า ผมซื้อมาจากโกดัง แล้วก็มาดูการแต่ง ดูรายละเอียดรถ ใช้การสังเกตเอา มีประมาณนี้แล้วก็เดินโกดังบ้านเรา พอเจอแล้วค่อยสะสม แล้วก็ตามหารุ่นรถที่ชอบ อย่างผมขี่ตระกูลคาวาซากิ ก็เลยไปเลือกเอา Zephyr 750 มาทำ เพราะรถมันแรง ดูแลรักษาง่ายครับผม 

นนท์: ตอนไปญี่ปุ่น ได้ไปดูของเขา แล้วก็ติดต่อคุยกับเขาว่าผมอยากแต่งรถ มีอะไหล่ มีอะไรแนะนำไหม  อะไหล่แต่งเป็นอย่างไรบ้าง อันนี้ควรจะใส่ ควรจะมีนะ โชคดีอย่างเราไปเห็นของจริงก็เริ่มง่าย เราเห็นแล้ว อ๋อ น่าจะเป็นแบบนี้แล้วดูวิดีโอที่เราถ่าย ดูรูป และเอามาทำสั่งอะไหล่มาแต่ง จนเป็นแบบนี้ 

นนท์ BOZOSOKU BIKE SIAM

นนท์ BOZOSOKU BIKE SIAM


ความหมายของ BOZOSOKU

แพท : มันเกิดจากคำว่า “Zoku” คำว่า Zoku มันคือกลุ่ม เช่นคำว่า “Cityzoku” ก็คือกลุ่มของ City คำว่า Zoku มันคือคำแสลงที่เขาเรียกกัน จริง ๆ ความหมายมันก็พอ ๆ กับคำว่า “Yankee (แยงกี้)”  ก็เหมือนบ้านเราที่เปรียบเทียบเรียกว่า “แว้นซ์” กับ “รถซิ่ง”

นนท์ : Bozosoku มันไม่ตายตัว มีทั้งรถยนต์ รถป๊อบ รถสิบล้อ พวกจักรยานก็มี อย่างสมัยก่อนตอนประถม อยากเป็นโบโซก็เอาจักรยานมาแต่งมา Custom ใส่ไฟ แล้วก็ขี่ไปตามงานอวดกัน พอโตหน่อยก็เป็นมอเตอร์ไซค์และรถเก๋ง 

แพท : ความชื่นชอบในยุคนั้นมันมาพร้อมกับค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ได้รวยทุกคนนั้นในสมัยนั้น และเด็กที่เริ่มเล่นที่ญี่ปุ่น เรื่องแรกต้องมีใบขับขี่ เขาให้ความสำคัญมากกับเรื่องนี้ ต้องมีใบขับขี่ อายุต้องถึง เพราะว่าโดนจับทีเขาหนักกว่าเราหลายเท่า เด็ก ๆ ที่อยากมีก็เริ่มต้นจากจักรยานก่อน แล้วอนาคตก็ค่อย ๆ ไต่มันขึ้นไป 

นนท์: ช่วงอายุคนเล่นประมาณ 35-50 ขึ้นไปก็ยังมี เพราะว่าเขามีกำลังที่จะกลับมาซื้อของที่เขาใฝ่ฝันที่อยากจะเล่นตั้งแต่ตอนนั้น 

แพท BOZOSOKU BIKE SIAM


ความเป็นมาของ BOZOSOKU

นนท์: Bosozoku เริ่มมาตั้งในปี 70’s รถก็เริ่มออกมาเยอะแล้ว แต่ถ้าประวัติจริง ๆ ที่เคยอ่านมา มันเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1972 และมาบูมสุดคือช่วง 80’s – 90’s บูมหนักมาก จริง ๆ มีข้อมูลลึกกว่านี้มากแต่เขาไม่ค่อยบอกกัน สมัยก่อนมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี แบบขี่รถข้ามเขตคุณก็โดนทำร้ายแล้ว สมัยนี้เบาลงแล้วเพราะคนที่เล่นรถคือคนรวย คนมีเงิน เพราะรถเก่าภาษีแพงมาก รถจากไทยกลับญี่ปุ่นนี่เยอะมาก ตอนนี้รถพวกนี้ในไทยก็จะหายากแล้ว 

โน: ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป แต่ก่อนรถแนวนี้คือรถแก๊งค์ซิ่ง เป็นรถที่วัยรุ่นขี่ไปประชุมแก๊งค์ หรือข้ามเขตไปตีกันแบบที่เรารู้จักกัน แต่พอเวลาผ่านไปวัยรุ่นกลุ่มพวกนั้นก็เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ตอนนี้ในเมืองไทยมีมอเตอร์ไซค์จำนวนมากถูกซื้อกลับไป ก็เป็นคนกลุ่มนี้แหละที่ซื้อกลับไป 

นนท์ : ทำไมญี่ปุ่นถึงมีรถน้อยก็เพราะวัยรุ่นไม่มีเงินซื้อ ต้องเป็นคนอายุ 30-40 ขึ้นไปที่เขาซื้อเก็บ บางทีขโมยหายไปเยอะก็มี ดูจากใน Twitter เพราะรถสามารถแยกอะไหล่ขายได้ อย่างเช่น Z1 ราคาเป็นล้านบาทไทย อยู่ที่ญี่ปุ่นไม่ต้องพูดเลยราคาโดดมาก ญี่ปุ่นเขาไม่เล่นรถใหม่ เล่นแต่รถเก่า เพราะภาษีรถเก่าที่นู้นแพงมากเขาเรียกว่าภาษีมลภาวะที่ต้องเสีย

จักร BOZOSOKU BIKE SIAM


เอกลักษณ์ของการแต่งรถแบบ BOZOSOKU

นนท์: เป็นความชอบส่วนบุคคลเลย ไม่มีที่มาที่ไป อยู่ที่เราอยากใส่ไอเดียอะไร แต่ละคันไม่เหมือนกันเพราะว่าทุกคนมีไอเดียแตกต่างกัน แค่ไม่ให้หลุดสไตล์ ให้มองเห็นว่ารถคันนี้คือ Bosozoku นะ อยากจะใส่เบาะยาวก็แล้วแต่คุณ custom เอง  ความเป็นญี่ปุ่นอย่างหนึ่งคือไม่แบ่งแยกไม่เหยียด  บางคันอยากจะติดจรวด 4-5 อัน ก็สวยทุกคัน ผมเคยถามว่าคันไหนสวย เขาตอบสวยทุกคัน

แพท: การแต่งมันไม่มีกรอบเลย แต่เราต้องศึกษามันหน่อยว่ามันเป็นแบบที่เราได้ศึกษามาจริง ๆ ไหม จะได้สนุกกัน หรือรถ Bosozoku ที่พูดมา จริง ๆ แล้วรถอะไรก็ทำได้ แต่ต้องอยู่ในสไตล์ของมัน ผมไม่ได้เหยียดรถนะครับ แต่ผมกำลังสื่อสารว่า รถบางคันของแต่งตรงรุ่นหมด แต่ถ้าเราเอารุ่นอื่นมี่ไม่มีของแต่งเราจะต้องสร้างมันเพิ่มขึ้น พอสร้างเพิ่มขึ้นคุณก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมรายละเอียดมันถึงวางไม่เหมือนกัน ก็เพราะมันไม่มีอะไหล่ที่รองรับของรุ่นที่ต้องการทำ ผมเลยอยากแนะนำรุ่นที่มีอะไหล่ เพราะว่าเราจะได้สนุกกับมัน แบบว่าเราอยากได้อันนี้นะโดยไม่ต้องสร้าง ก็กดซื้อมาเลยจะได้จบไป 

นนท์: อย่างที่บอกว่า Bosozoku ไม่จำเป็นต้องหัวจรวดนะ แค่ใส่ไฟกลมและทำเบาะสูง สิ่งสำคัญคือเบาะยาว ก็เป็น Bosozoku แล้ว แต่มันจะมีงานห้าม Bosozoku เข้าก็มีนะ ห้ามหัวจรวด ห้ามท่อแบบนี้ ก็แค่ถอดออกทำรถเดิม เขาจะเรียกว่าแนวคาเฟ่เลเซอร์ญี่ปุ่น  มีการตกแต่งเหมือนรถแข่งสมัยโบราณ แต่ของแต่งแพงมาก แค่ชุดครอบถัง ครอบหน้า ชุดไฟก็แสนกว่าบาทแล้ว

แพท: แต่ของพวกนี้มันตรงรุ่นมันเลยมีมูลค่าในตัวของมันอยู่ประมาณนี้ครับ

โน BOZOSOKU BIKE SIAM


ความแตกต่างกับจักรยานยนต์รุ่นอื่น ๆ 

แพท: ที่เห็นได้ชัดเจนคือ หัวจรวด แต่หัวจรวดเรามีหลายแบบได้แก่ไฟเดี่ยวและไฟคู่ ชิลด์ก็จะเป็นพลาสติกอะคริลิค ไม่ใช่กระจกเด็ดขาดเพราะเวลาล้มมันจะอันตราย อะคริลิคที่สามารถยืดหยุ่นได้  อย่างตัวบังโตลนจะเป็นรุ่นปีเก่า พวกนี้เราจะต้องตามมันเพราะสมัยใหม่ไม่มีผลิตแล้ว มันเคยบูมในช่วงปี 80’s สภาพมันเลยไม่ค่อยสมบูรณ์แบบมากนัก ต่อมาเป็นเบาะที่มีความสูง แล้วแต่เจ้าของรถเลยว่าอยากได้แบบไหน ถ้าบางคนอยากได้สูงก็สั่งทำสูง สามารถพิงได้ 100% ส่วนแตรแล้วแต่ว่าจะติด 5 ปาก 6 ปาก หรือ 10 ปาก แล้วแต่เจ้าของรถ มันจะบ่งบอกถึงเจ้าของรถด้วยว่าเป็นแบบไหน คันนี้แบบนี้ คันนู้นแบบนู้น

ต่อมาอกล่าง มันจะช่วยซัพบริเวณข้างล่างของรถ เป็นของแต่งของค่าย One’s ค่ายนี้จะมีของแต่งเยอะ เช่นพวกประกับ ต่อมาก็เป็นแฮนด์ก็จะเปลี่ยนให้เขากับสรีระของแต่ละคัน มีสั้นยาวแล้วแต่ความถนัด แบบแฮนด์โหนเหมือนจิ๊กโก๋ก็มี แต่ถนนบ้านเราและการใช้งานมันไม่ได้สะดวกที่จะใช้งานแบบนั้น แต่ก็เต็มที่ให้เราถนัดที่สุด สุดท้ายจะเป็นของจุกจิก เราอยากแต่งอะไร ปกติไฟแล้วจะเป็นวงกลม ไฟดาว หัวใจ แล้วแต่เรา อยากได้แบบไหนหาซื้อรุ่นนั้นมาใส่ 

อย่างคันนี้ (สีม่วง) ของแต่ง One’s จะมีเยอะมาก ไฟ LED วิ่ง แล้วแต่ว่าอยากให้วิ่งแบบไหน มีแบบวิ่งโชว์เครื่อง โชว์ใต้เครื่อง หรือจะติดเครื่องเสียง ติดจอ LCD ก็ได้ มีติดให้ครบหมดเลย 


การนำเข้าอะไหล่รถ

นนท์ : จะดีลกับทางสำนักแต่ง One’s แบบที่ผมใส่เสื้ออยู่ และเป็นสำนักแต่งของแก๊งค์ด้วย เลยสั่งอะไหล่กับเขา และบางทีฝากเขาหาของด้วย ให้เขาส่งมาให้ที่ไทย ส่งทางเรือบ้าง ส่งทางเครื่องบินบ้าง ภาษีโหดมากเลยครับ 

โน่: ของผมได้มาจากโกดังรถเก่าบ้านเราครับ บางครั้งก็ได้จากเพื่อนที่เล่นรถแนวนี้และไม่ได้เล่นต่อแล้ว ส่วนหนึ่งที่ผมชอบคืออะไหล่ Bosozoku ตกค้างในบ้านเราค่อนข้างเยอะ ต้องค่อย ๆ หา มีอยู่ตามโกดัง ตามคนที่เล่น จึงค่อย ๆ หาเอามาแต่งรถตัวเอง เพราะแนวที่ผมชอบเป็นแนว Old school เน้นสไตล์ 80’s และ 90’s เน้นหาของแต่งตามปี ตามยุคครับ 

จักร: โดยพื้นฐานรถผมเป็นสไตล์ Classic Bike เพราะฉะนั้นจะแต่งไม่เยอะ หาของในกลุ่ม facebook ได้ง่าย ๆ เลย และคงคอนเซปต์ “วินเทจ” จะไม่ Bosozoku จ๋ามาก เพราะในชีวิตประจำวันจะได้แต่งตัวได้ง่ายครับ 

แพท: ของผมสั่งจากญี่ปุ่นตามคอนเซปต์ ไม่จำเป็นต้องของญี่ปุ่นแท้ ๆ คือทุกอย่างเราทำสร้างขึ้นมาได้หมด อยู่ที่เราเลยว่าชิ้นได้ควรสร้าง ชิ้นไหนควรสั่ง เราก็เอาเขามาตบให้เข้าทรง ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายก็อยู่ที่ความพึงพอใจของเจ้าของรถแต่ละคัน 


งบประมาณในการแต่งรถ

นนท์ : ของผมไม่เคยนับเรื่องเงินเลยเพราะรู้แล้วมันเครียด แต่ก็เยอะอยู่เพราะผมเล่นอะไหล่ญี่ปุ่น เรื่องเงินมันอยู่ที่งบของแต่ละคนมากกว่า ไม่จำเป็นต้องแต่งของแพง อะไหล่ญี่ปุ่นหรืออะไหล่บ้านเราก็ได้ การ Custom คือการเอามาทำดูแล้วเข้าใจได้ว่านี่คือแนว Bosozoku นะ 

โน: ความจริงการแต่งรถแนวนี้คือการคุมโทน เพราะว่ารถแนว Bosozoku ที่เห็นในการ์ตูนหรือใน Instargram ส่วนมากจะเป็นหัวจรวด มีเบาะยาว หรือบังโคลนแต่ง ในแนวทางของการ custom แบบนี้ผมเรียกว่ารถถังหน้า เราสามารถเอามาดัดแปลงให้รถเป็นฟีลแบบนี้ ขี่แล้วไม่เขิน


การแต่งตัวกับสไตล์ของรถ

นนท์: ผมว่าอยู่ที่คนชอบมากกว่า อย่างผมใส่เสื้อสำนัก เสื้อแก๊งค์นี้นะ การแต่งตัวเป็น lifestlye ของแต่ละคนครับว่า ชอบอะไรไม่ชอบอะไร ไม่มีขอบเขตครับผม

โน: สำหรับผมถ้าวันไหนหยิบจับรถคันนี้มาขี่ ก็จะแต่งตัวให้เข้ากับรถของเรา จะคอยหาพวกพร็อพที่ประมาณนี้มาใส่ แต่ถ้ามาเจอเพื่อน ๆ เอาจริง ๆ กลุ่มเราจะไม่ค่อยฟิคกันว่าจะเอาแบบนี้ สไตล์แบบนี้ อย่างที่เขาบอก (นนท์) ถนัดใครถนัดมัน

จักร: ในแต่ละวันผมสนุกกับมัน เสื้อผ้าแต่ละวันมันจะแมทส์กันกับรถผมที่ขี่ออกไปในแต่ละวัน ถ้ามันจอดอยู่ผมไม่ได้อยู่ที่รถ คนเห็นจะรู้เลยว่านี้ผมคือเจ้าของรถคันนี้ คราวนี้มันเป็นเรื่องราวเดียวกันทั้งคนทั้งรถ

แพท: สำหรับผมได้ทุกชุดครับ ใส่ได้ทุกชุดหมด ขออย่างเดียวให้สุภาพและอะไรก็ได้ที่เป็นเรา อันนั้นคือผมครับ 


ลีลาการขับที่ชวนหวาดเสียว

นนท์: เอาจริงมันมาจากความสนุกกับการขี่มากกว่า บางคนอยากยกล้อ ยกเป็นกิโลก็มี บิดไปบิดมาก็ทำได้ แต่เขาก็ทำตอนถนนโล่ง ๆ ไม่ใช่ตอนรถเยอะ ๆ 

แพท: สมัยนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว มีการแข่งขึ้นมา แข่งยกหน้า แข่งเบิ้ล โดยที่ไม่ต้องมาเสี่ยงอะไรบนท้องถนน เขาจะไปแข่งกันที่งาน

นนท์ : มีการจัดงาน ทำกิจกรรมให้ เช่าสนามรถยนต์ มาแข่งเบิ้ลกัน 

แพท: สนามเซอร์กิต เป็นเกาะใช่มั้ยพี่ 

นนท์: ใช่ 

แพท: เขาปิดเกาะแล้วก็ให้พวกสิงห์มอเตอร์ไซค์เข้าไปขี่ ไประบายกันได้ในนั้น โดยที่ไม่อันตราย  

นนท์: ใช่เพราะสมัยนี้ที่ญี่ปุ่นเขาจะมีกลุ่มคนอายุมาก เรียกว่า “คิวซาไค” เพราะว่าจะมีกลุ่มคนที่ชอบรถพวกนี้ แต่ไม่ใช่พวกที่บ้าระห่ำ กลางคืนขับรถไปกลางสี่แยก ไปตีกัน จุดพลุ ควงไฟจราจร แบบนั้นนะ แต่กลุ่มนี้เขาก็จะมีขี่เล่นด้วยตลอดกันครับ และคอยส่งรูปมาให้เราดูด้วยตลอดด้วยว่าไปงานนู้นงานนี้มานะ กลุ่มนี้จัดงานก็ไปช่วยเขา กลุ่มเราจัดงานเขาก็มาช่วยเรา ช่วยเหลือกันแบบนี้


ความอันธพาลที่ลดหายด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

นนท์: ที่ญี่ปุ่นพวกอันธพาลมันก็ตอบว่าหมดก็ไม่ได้ มันยังมีอยู่แต่น้อยมาก มีบ้างประปราย

แพท: แต่ก็คงไม่ขนาดที่เข้าไปตีเขาทุกคัน มันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะยุคนี้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่หันมาสนใจรถแบบนี้กันเพราะตอนเด็กเขาไม่มีกำลังเงินมากพอ พอเขามีเงินและมีกำลังเขาถึงมาเสพกัน มันก็เลยเกินคำว่ายกพวกต่อยตีไปแล้ว 

โน: บางคนมาเสพย้อนวัยก็มี หลายคนมากครับที่เป็นอดีตแยงกี้เก่า แต่เขาก็หลุดพ้นจากวงโคจรนั้น มาประสบความสำเร็จในชีวิต เขาก็ไปซื้อรถในสมัยที่เขาชอบตอนเป็นวัยรุ่น เแล้วส่วนมากรถจะไม่เกินปี 85 ช่วงวัยรุ่นของคนพวกนั้นก็ตรงกับยุค 90’s ครับ


ประสบการณ์ไปนั่งซ้อนท้าย BOZOSOKU ที่ญี่ปุ่นของนนท์

นนท์: ต้องเท้าความก่อน เริ่มแรกเห็นใน Facebook ของพี่อ๋องที่อยู่จังหวัดสุพรรณ เขาเป็นคนทำ Bozosoku คันแรกในบ้านเรา เห็นแล้วถูกใจเลยจึงทักไปคุยกับแก จะเอารถ GTO มาทำ ที่เป็นรถส่งแก๊ส พอเขาจะไปญี่ปุ่นเลยขอเขาไปด้วย ก็เลยได้ไปกัน นั่นเป็นการเจอกันครั้งแรกเลน ทางพี่อ๋องเขามีคอนเนคชั่นจากญี่ปุ่นอยู่แล้วกับทางสำนักแต่ง รู้จักพวกแก๊งค์ที่นู้นอยู่แล้ว จึงโชคดีที่ได้ไปเห็นของจริงแล้วกลับมาทำให้คนไทยได้เห็น คนญี่ปุ่นภูมิใจมากเพราะผมได้เอามาเผยแพร่วัฒนธรรมของเขา คล้าย ๆ กับทูต Bosozuku

จำได้ว่าตอนแรกทางนั้นเขาบอกว่ามีประมาณ 20 กว่าคัน เลยไปซ้อนรถกับเขา เขาให้ขี่แต่เราไม่กล้ากลัวทำรถเขาพัง แต่พอไปจริงเจอตั้ง 50 กว่าคัน เจอหลายแก๊งค์มาก และได้ไปเจอคนที่สุดยอดที่สุดในญี่ปุ่นเลยคือคนที่อยู่โอซาก้า เป็นบอสใหญ่ เป็นคนจัดงานใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นในงานแก๊งค์ซิ่ง แบบปิดเกาะเลย เอารถมาเบิ้ลกัน เป็นงานใหญ่คนมาทั้งประเทศ และคนนี้รวยมาก

ตอนไปซ้อนก็รู้สึกตื่นเต้น เขาก็คอยถามว่านั่งได้มั้ย เขาก็ขี่ร่อนไปร่อนมาไปเลย ก็สนุกดี ก็แปลกดี แต่เราชอบขี่ไปกินข้าวกันตั้ง 100 กว่ากิโล เขาก็ให้ลูกน้องมาหยิบบิลเพื่อไปจ่ายให้ ก็สนุก สนุกมาก คือทางญี่ปุ่นเขาต้อนรับเราดีมากครับ ดูแลอาหารการกินที่หลับที่นอน ดูแลดีทุกอย่าง พอไปสัมผัสถึงวัฒนธรรมจริง ๆ สนุกมาก ไม่คิดว่าเราจะได้ไปถึงจุด ๆ นั้น ขนาดคนญี่ปุ่นอยู่มา 4 ปี ยังทำแบบผมไม่ได้

เดี๋ยวนี้ที่ญี่ปุ่นคนมีอายุก็เริ่มซื้อเก็บกัน เอารถขี่ไปทานข้าว ชมเมือง วันเกิดเอาเค้กมาปาหน้ากัน แกล้งกันเหมือนเด็ก พอวันที่ใครเสียชีวิตเขาจะเอาดอกไม้มาวางท้ายรถและนำไปวางจุดที่เสียชีวิต 


มุมมองต่อคนในบ้านเรา

แพท: การมองมีหลายมุมมองครับ การแต่งตัวและรถก็เป็นไปได้ บางคนก็งง มันใส่ชุดอะไรยาว ๆ มีชื่อแก๊งค์ มันดูเวอร์ก็ตามอีเว้นท์เลย ถ้าเรามีงานมีอีเว้นท์ จะใส่ก็ต้องใส่ 

จักร: เป็นสีสันครับตอนติดไฟแดง ผมมองกระจกหลังผมเห็นเขายิ้มหมดเลยนะ ผมว่ามันหมดยุคที่จะต้องคิดว่ารถจะต้องไปตีกันแล้ว ตอนนี้มันสนุกและเท่ ตอนนี้คนคิดในมุมสนุกมากกว่าไม่มีใครคิดในมุมลบแล้ว

แพท: อยู่ที่จุดประสงค์เขาด้วย บางทีเจอคนเข้ามาจั่วหัวกวนเลยก็มี แต่ถ้าบางคนรู้เขาก็จะมาถามว่า เฮ้ยไฟแบบนี้ทำได้ไง สั่งมาจากไหน มันก็คือความตื่นตาตื่นใจกับคนที่พบเห็นอยู่แล้ว อยู่ที่เขามองเราแบบไหนเท่านั้นเอง 

นนท์: ของผมอย่างที่พี่เขาบอก เวลาติดไฟแดง คนก็จะมาบอกว่านี่มันคาเมนไรเดอร์หรือเปล่า ไอ้มดแดงหรือเปล่า เวลาจอดไฟแล้วเห็นคนยิ้มมีรอยยิ้ม ผมชอบนะ รู้สึกดี เวลาคนขำก็ไม่ซีเรียสนะ เพราะว่าผมชอบ พวกเด็กๆ จะชอบมาก มันดูแปลกตาแปลกใจ ถือว่าเป็นสีสันของท้องถนน แต่เราก็ไม่ได้คิดทำเกเรอะไรแบบนั้น

โน: สำหรับผมสายตาคนรอบข้างจะประมาณว่าทำไมเพิ่งจะมาทำ ที่ผ่านมาที่เราไม่ได้ทำเนี่ยเพราะเราไม่มีวัตถุดิบ เราไม่มีมวลสารที่ผสมให้มาเป็นแบบนี้ ถ้าไปไหนมาไหนที่แยกไฟแดงส่วนมาจะยกนิ้วให้หรือยิ้มให้ เป็นภาษากายที่แปลว่าใช้ได้ แต่ทุกคนเรียกรถแนวนี้ว่ารถไอ้มดแดงหมดเลย และที่สำคัญคือในการขับขี่ เราเอาวัฒนธรรมของการแต่งรถมา แต่เราไม่ขี่อันตราย เรามีข้อบังคับและทำตามกฏหมายจราจร และพยายามขี่ภายใต้กฏหมายไทย


สิ่งที่ทำให้ตกหลุมรัก BOZOSOKU

แพท: ถ้าสำหรับผมมันเกินคำว่าเท่ไปแล้ว เกินคำว่าสวย มันสนุก ได้เจอเรื่องราวอะไรมากมาย มันเกินคำว่าความสุขไปเยอะเลยครับ  

จักร: ผมว่ารถมันมีคาแรคเตอร์ จอดติดไฟแดงแล้วมันไม่น่าเบื่อ ไม่จำเจ มันทำให้มีสไตล์บ่งบอกของผู้ขี่แต่ละคน มันสนุกและโอเค 

โน: พื้นฐานจากความชอบความเป็นญี่ปุ่นอยู่แล้ว ถ้าเราอ่านการ์ตูนหนัก ๆ เสพอะไรที่มันเกี่ยวข้อง เราจะรู้สึกว่าการทำรถแบบนี้มันมีความแตกต่าง รถ Bosozoku มันคือแนวทางการ Custom อย่างหนึ่ง เป็นแนวทางการทำรถที่ตัดชิ้นส่วนน้อยมาก เราเพิ่มแค่เสริมเติมแต่งเอา ผมมองในแง่ของการใช้งาน ถ้าไปต่อทะเบียน รถแบบนี้สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ง่าย และที่สำคัญคืออย่างที่ทุกคนพูดกันคือ “มันแตกต่าง” และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่สนใจแนวนี้ 

นนท์: ผมคิดมาก่อนว่ามันไม่มีอยู่จริง แต่พอมาเจอจริง ๆ ก็ทำให้ตื่นเต้นและเริ่มชอบ หลัก ๆ คือ เรามีมิตรภาพ มีเพื่อนทั้งคนญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่ชอบสไตล์แนวกัน ไม่ใช่แค่รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ก็มี เพื่อนก็เริ่มเยอะขึ้น

 


คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจแต่งรถ BOZOSOKU

โน: ยุคนี้ครับเป็นยุคของ Facebook, Twitter, IG เต็มไปหมดเลย เมื่อเราเสพได้รับข้อมูล ชอบมาพอสมควร เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง เริ่มต้นได้ก็เริ่มทำเลยครับ การทำรถพวกนี้มันไม่มีถูกผิดอยู่แล้ว แต่สุดท้ายการที่จะให้เป็นสไตล์แบบนี้ต้องพยายามคุมโทน เพราะถ้าเราคุมโทนไม่ได้ เอามาใส่มั่ว จะกลายเป็นบานปลาย สุดท้ายสิ่งที่เราทำมันอาจจะไม่ตอบโจทย์เราและอาจจะไม่สามารถคุยได้อย่างเต็มปาก สุดท้ายรถพวกนี้มันเป็นรถสังคม เราทำรถพวกนี้มาเพื่อให้คนอื่นดูนั่นแหละ  เวลาเราเจอรถอะไรที่มันใกล้เคียงและคุยกันบางทีมันก็เข้าใจง่าย สุดท้ายเราเล่นอะไรก็ได้ที่เราชอบ มีความสุข ไม่เดือนร้อนคนรอบข้าง อย่างผมกว่าจะเริ่มทำคือเพื่อนมาบิวด์ หาของมาให้ มีเพื่อนคอยยุ จนทุกวันนี้ซื้อเยอะกว่าเพื่อนอีก ฮ่า ๆๆ “อยากทำเริ่มทำ ทำเลยครับ” 


ช่องทางการติดตาม

แพท: Facebook Fan Page :Bosozoku Bike Siam และ กลุ่ม Bosozoku Bike Thailand ทั้ง 2 ช่องทางนี้ติดต่อได้เลย อยากจะทำอะไร หรืออยากจะทำเอง ไม่สะดวกยกมาเพราะไกล ทักมาคุยกันได้ มีคำแนะนำได้ตลอด ไม่ต้องกลัวว่า ถามพี่แล้วจะตอบมั้ย ไม่ต้องห่วง ผมตอบได้ทุกคำถาม ของแบบนี้ต้องเป็นคนที่ชอบจริง ๆ ครับ


ทาง Unlockmen ต้องขอขอบพระคุณกลุ่ม Bozosoku Bike Siam เป็นอย่างมาก ที่สละเวลามารวมตัวให้พวกเราได้สัมภาษณ์กัน รวมไปถึงขอบคุณร้าน Moldna Club ซอยจรัญสนิทวงศ์ 92 สำหรับสถานที่ในการถ่ายทำ ใครอยากหาร้านอาหารอร่อย ๆ บรรยากาศดี ๆ มีลานให้เล่นเซิร์ฟสเก็ต ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ

Photographer : Krittapas SuttiKittibuth