อาทิตย์ นันทวิทยา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)
เปิดเส้นทาง “ยานแม่ SCBX”
ก้าวสู่ Tech Company
“DNA ของ SCBX คือความเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่วัดความสำเร็จจากฐานลูกค้า SCBX จะไม่ใช่แค่ตัวกลาง แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่จะนำเสนอด้านการเงินเชื่อมกับโลก หากเราตอบโจทย์การเข้าถึงทางการเงิน ตอบโจทย์เรื่องโลกและสิ่งแวดล้อมได้ จะทำให้เกิดการชื่นชมนำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ได้รับความชื่นชม (The Most Admired)”
ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 “ธนาคารไทยพาณิชย์” ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญด้วยการประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “ยานแม่” โดยเป็นการปรับโครงสร้างจากธนาคารไปสู่บริษัทโฮลดิ้งในนาม “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” (SCBX Group)
ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวออกมาต่อเนื่องตามแผนปรับโครงสร้าง โดยเป็นการวางแนวทางสร้างธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินและแพลตฟอร์มของกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ตามที่ประกาศยุทธศาสตร์เอาไว้ ทั้งการเปิดตัวบริษัทใหม่ๆ ในฐานะยานลูกกว่าสิบแห่ง และการเข้าลงทุนที่มุ่งเน้นในด้านเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน สินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก วันนี้ “เอสซีบี เอกซ์” ก้าวขึ้นสู่ฐานะยานแม่อย่างสมบูรณ์ เมื่อกระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจบรรลุตามแผนที่วางเอาไว้ จากนี้ไปจึงได้เวลาที่ยานแม่จะแล่นเข้าสู่วงโคจรใหม่ ตามเป้าหมายการเป็น “บริษัทเทคโนโลยีทางการเงินระดับภูมิภาค” ที่จะสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีมูลค่าตลาด (Market Cap) 1 ล้านล้านบาท ภายใน 3-5 ปี และสร้างฐานลูกค้าให้ได้ถึง 200 ล้านคน
อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า การปรับโครงสร้างองค์กรไปสู่บริษัทเทคโนโลยีสร้างให้เกิด DNA ใหม่ของ SCBX คือ “การกล้าทดลองทำสิ่งใหม่” เพราะการยึดติดอยู่กับความสำเร็จที่มีมายาวนาน จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การดึง DNA ของบริษัทเทคโนโลยีเข้ามา การดึงคนเก่งที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีเข้ามา จะช่วยทำให้องค์กร เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นได้ และจะมีธุรกิจรูปแบบใหม่พร้อมเข้ามาในธุรกิจการเงิน โดยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้าได้มากกว่ารูปแบบเดิม
“ทุกคนเห็นตรงกันว่า การนำเทคโนโลยีมาสร้างรูปแบบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและสามารถเพิ่มมูลค่าให้เพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่ระบบเดิมไม่สามารถทำได้ ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้องค์กรอยู่ได้อย่างมั่นคง สอดคล้องไปกับเทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ในยุคสมัยที่ตนทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบองค์กร มองว่าถ้าไม่ลงเสาหลัก ไม่สร้างโครงสร้างพื้นฐานในวันนี้ ในอนาคตอาจจะไม่มีความพร้อมเพียงพอ และแม้สิ่งที่เริ่มไว้อาจจะไม่ได้สำเร็จได้ภายใน 5 ปีนี้ แต่ก็ยังสามารถส่งให้สานต่อไปในอนาคตได้”
จับ 3 กระแสโลก
สร้าง Climate Tech
อาทิตย์กล่าวอีกว่า ภายหลังจากการจัดโครงสร้างองค์กรสำเร็จสิ่งที่ SCBX มองไปข้างหน้านับจากนี้คือ การเป็นองค์กรธุรกิจที่ดีที่สุด ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว ซึ่ง SCBX มองเห็น 3 เรื่องสำคัญที่เป็นกระแสหลักของโลกนับจากนี้ไป คือ
1. รายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน (Income Inequality) ดังนั้น จึงเป็นเป้าหมายของ SCBX ที่จะสร้างการเข้าถึงการเงิน (Financial Inclusion) ผ่านรูปแบบธุรกิจต่างๆ ทั้งดิจิทัลแบงก์ การสร้างแพลตฟอร์ม หรือบริการทางการเงินที่สามารถนำความสามารถของเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้คนที่ไม่เคยใช้บริการธนาคาร หรือเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน รวมทั้งกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ เพื่อช่วยให้เกิดการสร้างอาชีพหรือดำรงชีพได้ภายใต้ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง
“สิ่งที่ SCBX พยายามทำ เริ่มต้นจากโจทย์ที่ต้องการให้คนที่ไม่เคยเข้าถึงบริการทางการเงินสามารถเข้าถึงได้ เป็นอีกเป้าหมายนอกจากสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วคือ การดูแลกลุ่มชนชั้นกลางหรือกลุ่มที่มีฐานะ หรือธุรกิจที่ธนาคารไทยพาณิชย์สามารถดูแลได้ในปัจจุบัน”
2. การบุกเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ (Disruptive Technologies) จากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาในโลกการเงินในหลายรูปแบบ เช่น การนำเทคโนโลยีอย่าง Blockchain เข้ามาในโลกของธุรกิจการเงิน ซึ่งก็แบ่งได้เป็นสองด้าน ด้านหนึ่งคือ การเข้ามาเพื่อปฏิรูปการทำงานของธุรกิจการเงิน (Evolution) อีกด้านหนึ่งคือ การเข้ามารุกรานธุรกิจเอง (Disruption) โดยจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของ สินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาปฏิรูปธุรกิจ แต่ถูกมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการเก็งกำไร
“รากฐานของธุรกิจการเงินคือการเป็นตัวกลาง แต่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี Blockchain คือการเข้ามาทดแทนตัวกลางในตลาดทุนและตลาดเงิน ทั้งตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน การกู้ยืม โดยเทคโนโลยี Blockchain สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สามารถแทนที่ตัวกลางต่างๆ ด้วยความสามารถที่ทำได้ดีกว่าระบบเดิมตอบสนองความต้องการได้ดีกว่าเดิม”
3. ความตระหนักในสิ่งแวดล้อม (Environmental Concerns) กระแสของการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลงให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero เป็นกระแสที่ทุกภาคส่วนกำลังมุ่งไปในทางนี้ ซึ่ง SCBX มีเป้าหมายในเรื่องนี้เช่นกันและมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่
“องค์กรขนาดใหญ่ที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลงจนเหลือศูนย์ ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานขององค์กรขนาดใหญ่เหล่านั้น ต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับในแนวทางเดียวกัน เราจะเห็นเทคโนโลยีในด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น จะเห็น Startup ในด้านนี้เกิดอีกมาก ซึ่งเป้าหมายของ SCBX คือการเป็นตัวช่วยที่จะหาแนวทางในด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกให้แก่ธุรกิจ (Global Solution Provider) ทั้งเรื่องระบบการเงินและเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง”
อาทิตย์กล่าวด้วยว่า การเปิดโอกาสให้เข้าถึงบริการทางการเงิน และเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะเป็น 2 แกนใหญ่ที่เชื่อมกัน โดย SCBX มีเป้าหมายที่จะเป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนทางการเงิน พร้อมกับทำหน้าที่เป็นนักลงทุนและช่วยหาทางเลือกเพื่อให้เกิดการปรับตัวรับกระแสนี้ โดยจะเดินหน้าผ่าน “Robinhood” แพลตฟอร์มส่งอาหารที่กำลังก้าวสู่การเป็น Super App ซึ่งในระยะอันใกล้ Robinhood จะขยับขึ้นเป็นแพลตฟอร์มด้านการขนส่ง โดยได้รับใบอนุญาตจากกรมขนส่งทางบกมาเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ รถในแพลตฟอร์ม Robinhood มีเป้าหมายจะเป็นรถ EV ทั้งหมดในอนาคต และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการสร้างอาชีพสามารถเช่าใช้รถยนต์ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มไปขับหารายได้ และจ่ายเป็นค่าเช่า ไม่ต้องไปสร้างหนี้ซื้อรถเป็นของตัวเองในรูปแบบ Subscription ขณะเดียวกัน รถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ส่งอาหารในแพลตฟอร์มของ Robinhood มีแผนที่จะเปลี่ยนเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทั้งหมดเช่นกัน
“ค่าเช่าในการเช่าใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อนำมาสร้างรายได้ผ่าน Robinhood จะถูกกว่าการต้องซื้อรถเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนในการซ่อมบำรุง และไม่ต้องกังวลว่ามูลค่ารถจะลดลงในระยะยาวด้วย เริ่มแรกการสร้าง Robinhood ไม่ได้มองว่าจะมาถึงตรงนี้ แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ Robinhood จะเป็นทั้งการเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กเข้าถึงอาชีพมีรายได้ในรูปแบบ Sharing Economy และสามารถเป็น Climate Tech รับกระแสสิ่งแวดล้อมด้วย”
อาทิตย์กล่าวอีกว่า เป้าหมายของกลุ่ม SCBX คือการมุ่งสู่ธุรกิจเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม (Climate Tech) ซึ่งเป็นหนึ่งในกระแสที่กำลังมาอย่างแน่นอนในอนาคต โดย SCBX เข้าไปลงทุนใน Rise กองทุนที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ESG โดยเป็นพันธมิตรกับ TPG ผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ของโลกด้วยเงินลงทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าไปศึกษาในเรื่องของ ESG ซึ่งการเข้าไปร่วมลงทุนจะเป็นวิธีการเรียนรู้ของ SCBX เป็นการลงทุนที่ได้ทั้งเรียนรู้และผลตอบแทน โดยนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้มาปรับใช้กับองค์กร
เปิดยุทธศาสตร์เดินเส้นทาง
สู่การเป็น Tech Company
อาทิตย์กล่าวอีกว่า เมื่อทำความเข้าใจกับทิศทางของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปใน 3 เรื่องที่สำคัญแล้ว และทำการปรับโครงสร้างองค์กรฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนเรียบร้อยสมบูรณ์ ก้าวต่อไปของกลุ่ม SCBX คือการเดินหน้าสู่บริษัทเทคโนโลยีผ่านยุทธศาสตร์ 3 ระยะตามที่วางเอาไว้ภายใน 5 ปีนับจากนี้
แผนระยะแรกคือ การเตรียมวางโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะใช้เวลาราว 1-2 ปี โดยจะปักหมุดสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้องค์กร ซึ่งได้เริ่มแล้วคือการตั้ง “Center of Excellence” ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมเทคโนโลยีของกลุ่ม SCBX เอง โดยมี 3 เทคโนโลยีที่เน้นหนักคือ Cloud, AI และ Cybersecurity ซึ่งระบบธนาคารมีความเกี่ยวข้องกับ 3 เทคโนโลยีนี้
โดยเฉพาะ Cloud จะเป็นเป้าหมายของกลุ่ม SCBX ที่จะให้เดินธุรกิจบน Cloud เป็นหลัก ส่วนเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็เป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ในอนาคตความเสี่ยงทางไซเบอร์อาจจะสำคัญไม่น้อยไปกว่าความเสี่ยงด้านเครดิต ดังนั้น Center of Excellence จึงทำหน้าที่รวมศูนย์ทางเทคโนโลยีของกลุ่ม SCBX ให้บริษัทในกลุ่มเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานนี้ร่วมกัน
“กลุ่ม SCBX มีบริษัทในกลุ่มหลายแห่ง และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ธุรกิจที่ตั้งใหม่อาจจะไม่มีความพร้อมในการลงทุนทางเทคโนโลยีเอง แต่ Center of Excellence จะเพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีและช่วยสร้างความปลอดภัย อีกทั้งบริษัทในกลุ่มเชื่อมโยงกันหมด การถูกโจมตีทางไซเบอร์อาจจะไม่ได้เจาะจงที่ธนาคารโดยตรง แต่อาจจะโจมตีจากบริษัทอื่นที่มีความอ่อนแอทะลวงเข้ามาในระบบได้ ซึ่งนี่คือความตั้งใจที่จะปกป้องความมั่งคงทางไซเบอร์ของกลุ่ม SCBX”
อาทิตย์กล่าวอีกว่า การจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีได้นั้น การทดลองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่การจะทดลองในเรื่องใหม่อาจจะสร้างความกังวลให้กับผู้กำกับดูแล ซึ่งการทดลองเรื่องใหม่ต้องทำให้ผู้กำกับดูแลเกิดความสบายใจด้วยว่า ความเสียหายจากการทดลองจะเกิดในวงจำกัด ซึ่ง กลุ่ม SCBX มีแผนที่จะสร้าง Innovation Lab ในต่างประเทศและร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีงานวิจัยทดลองในเชิงลึกโดยเฉพาะเรื่องที่ SCBX สนใจ เพื่อนำสิ่งที่ได้จากการทดลองมาประยุกต์กับธุรกิจ
แผนระยะที่สองคือ การขยายการเติบโต โดยนำขีดความสามารถใหม่ที่สร้างในแผนระยะแรกมาช่วยผนึกให้ธุรกิจในกลุ่ม SCBX ต่างๆ สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น โดยแผนระยะที่สองจะใช้เวลา 3-4 ปี
ทั้งนี้ ธุรกิจในกลุ่ม SCBX สามารถแบ่งออกเป็น 3 GEN โดยใน Gen 1 จะเป็นธุรกิจที่เป็นบริการด้านธนาคารเป็นหลัก คือ
• ธนาคารไทยพาณิชย์
• บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ (บลจ.)
• ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งโดย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด
• ธุรกิจด้านประกัน โดย บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด
ส่วนธุรกิจในกลุ่ม GEN 2 บริการด้านการเงินส่วนบุคคล และบริการด้านการเงินดิจิทัล ประกอบด้วย
• CardX บริษัทด้านธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล
• AutoX ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียน และสินเชื่อที่มีหลักประกัน
• AlphaX บริษัทร่วมทุนกับ บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) ทำธุรกิจเช่าซื้อ ลีสซิ่ง กลุ่มรถหรู
• SCB Abacus แอปพลิเคชั่น Money Thunder ใช้เทคโนโลยี AI ในการปล่อยสินเชื่อ
• MONIX บริษัทร่วมทุนทำสินเชื่อ Digital Lending ในชื่อ “FINNIX”
ธุรกิจ GEN 3 เป็นธุรกิจด้านแพลตฟอร์มและบริการด้านเทคโนโลยี ประกอบด้วย
• บริษัทหลักทรัพย์ InnovestX (บล.) ที่เพิ่งเปิดตัว Super App ด้านการลงทุนครบวงจร มีเป้าหมายทำ IPO ภายใน 3 ปี
• SCB 10X บริษัทเรือธงลงทุนด้านเทคโนโลยี
• Robinhood แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ ที่มีเป้าหมายเป็น Super App
• Digital Ventures บริษัทผู้สร้างนวัตกรรมทางการเงิน
• TokenX ผู้ให้บริการทางด้าน ICO Portal และ Tokenization
• SCB TechX บริษัทให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีพัฒนา Platform และ Solution
• DataX บริษัทด้านวิเคราะห์ข้อมูล
“DNA ของ SCBX คือความเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่วัดความสำเร็จจากฐานลูกค้า SCBX จะไม่ใช่แค่ตัวกลาง แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอด้านการเงินเชื่อมกับโลก หากเราตอบโจทย์การเข้าถึงทางการเงิน ตอบโจทย์เรื่องโลกและสิ่งแวดล้อมได้ จะทำให้เกิดการชื่นชมนำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ได้รับความชื่นชม (The Most Admired)”
แผนระยะที่สามคือ เห็นมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งจะอยู่ในช่วงปีที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของแผน 5 ปีของ SCBX ที่ตอนนี้แต่ละบริษัทในกลุ่มเดินหน้าทำธุรกิจของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอให้แต่ละบริษัททำธุรกิจโดยคำนึงถึงความมั่นคง มีวินัยและเลือกการลงทุนในสิ่งที่คิดว่าจะทำได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้สิ่งที่ลูกค้าชอบใจแล้วธุรกิจจะอยู่ได้อย่างแข็งแรง
อย่างไรก็ดี หากธุรกิจแต่ละบริษัทในกลุ่ม SCBX สามารถเดินหน้าได้ด้วยดี มั่นใจว่าจะสามารถเดินต่อไปได้จนกว่าจะเจอกระแสคุกคามจากเทคโนโลยีครั้งใหม่ และหากอนาคตต้องเจอการเปลี่ยนแปลงก็จะมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่วางขนานเอาไว้คอยช่วยเหลืออยู่ข้างหลัง
“เป้าหมาย 5 ปีของแผนทั้งสามระยะคือ การที่ SCBX เป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับภูมิภาคที่มีมูลค่าตลาด 1 ล้านล้านบาท และมีลูกค้า 200 ล้านคน โดยที่ธุรกิจในกลุ่มจะสามารถระดมทุนเพิ่มขึ้นหรือเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ หรือสามารถก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มระดับยูนิคอร์น”
ไม่ถอย “สินทรัพย์ดิจิทัล”
กางแผนสร้างกลไกตลาด
อาทิตย์กล่าวอีกว่า ส่วนอนาคตอีกเรื่องที่ SCBX จะเดินต่อคือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ที่แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วงที่ผ่านมา แต่ SCBX จะไม่ถอยในเรื่องนี้แน่นอน โดยยังคงเดินหน้าต่อไปเพราะมองว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องกระแสหลักของโลกและมีผู้คนทั่วโลกสนใจในเรื่องนี้ แม้ว่าจะถูกมองในเรื่องเก็งกำไร
อย่างไรก็ดี การจะนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาในโลกตลาดทุน (Capital Market) จะต้องสร้างองค์ประกอบให้เป็นตลาดทุนที่ครบถ้วน คือ มีทั้งตลาดแรกนั่นคือ ICO Portal ที่จะทำหน้าที่ออกสินทรัพย์เหมือนกับการทำ IPO ในตลาดหุ้นและต้องมีกระดานซื้อขาย (Exchange) เป็นตลาดรองไม่ต่างกับการซื้อขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน โดยทั้งตลาดแรกตลาดรองอยู่คู่กันมีความสัมพันธ์กันหากกระดานซื้อขายไม่มีสภาพคล่องก็ไม่สามารถจะกำหนดราคาในการเสนอขายได้ นอกจากนี้ ยังต้องมี ศูนย์ฝากหลักทรัพย์ (Custody) และต้องมีผู้ทำหน้าที่นายหน้าหลักทรัพย์ (Broker) ที่เป็นหนึ่งในกลไกของตลาดทุนด้วย
ขณะนี้ SCBX กำลังสร้างองค์ประกอบของตลาดทุนในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีใบอนุญาต ICO Portal คือ TokenX และ มีใบอนุญาตนายหน้า (Broker) คือ InnovestX ที่ได้อีกใบอนุญาตคือ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ (Exchange) นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนใน Fireblocks แพลตฟอร์ม Crypto Custody ไปแล้ว
“การจะเดินหน้าในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลยังต้องเตรียมความพร้อมอีกระยะ ส่วนจะต้องมีการหาพันธมิตรเพิ่มหรือซื้อกิจการอีกหรือไม่นั้นล้วนอยู่ในแผน ทั้งนี้ ทิศทางสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยก็ต้องรอความพร้อม หากผ่านไปอีก 2 ปีข้างหน้า ผลออกมาว่าเรื่องนี้ยังไม่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย SCBX ก็ต้องเคารพกติกาเป็นสำคัญ โดยอาจจะออกไปทำในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศก็ได้ ซึ่งมีหลายแนวทาง”
ติดตามอ่านคอลัมน์ Special Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565 ฉบับที่ 487 ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi
รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt
Learn about the impl…
The 2024 event recog…
Each month throughou…
This website uses cookies.