SAWADขยายพอร์ตสินเชื่อ เล็งแบงก์เสมือนเสริมฐาน

SAWAD มั่นใจพอร์ตสินเชื่อทั้งปี 2566 โตมากกว่าปี 2565 ที่คาดว่าจะโตได้กว่า 20% YoY ย้ำกลยุทธ์รุกปล่อยสินเชื่อทั้ง รถใหม่ และจำนำทะเบียนต่อเนื่อง มั่นใจเศรษฐกิจเติบโต นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นหนุนประชาชนต้องการเม็ดเงินลงทุน ทั้งยังช่วยให้ลูกหนี้มีความสามารถในการผ่อนชำระลดภาระ NPL พร้อมเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี-แอปพลิเคชันให้ใช้ง่ายรวดเร็ว ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ควบคู่ศึกษาโมเดล Virtual Bank หวังเสริมฐานทุนในอนาคต

นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยว่า ในปี 2566 กลุ่มบริษัทจะยังคงกลยุทธ์ “เชิงรุก” อย่างต่อเนื่อง มุ่งขยายผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพธุรกิจเดิมตั้งแต่ปี 2566 เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเครือศรีสวัสดิ์ ควบคู่กับการขยายพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนราว 35% ของพอร์ตสินเชื่อรวม, สินเชื่อบ้านและที่ดิน ซึ่งมีสัดส่วนราว 36% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และสินเชื่อเช่าซื้อซึ่งมีสัดส่วนราว 23% ของพอร์ตสินเชื่อรวม เพื่อหนุนให้พอร์ตสินเชื่อรวมทั้งปี 2566 เติบโตต่อเนื่องจากปี 2565 สูงกว่า 20% YoY ขณะเดียวกัน บริษัทมั่นใจว่าจะควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้คงอยู่ในระดับไม่เกิน 3-4% ได้อย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันทั้งบริษัท เอส ลีสซิ่ง จำกัด, และบริษัท คาเธ่ย์ ลีสซิ่ง จำกัด เน้นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ขณะที่ SAWAD จะดูแลสินเชื่อจำนำเป็นหลัก ส่วน BFIT จะรุกธุรกิจด้านสินเชื่ออื่นๆ อาทิ ธุรกิจเช่าซื้อทุกประเภทแบบครบวงจร และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการ และออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ให้ครอบคลุมทุกความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น”

มุ่งพัฒนาเทคโน

พร้อมกันนี้ ยังเร่งนำเทคโนโลยี และผนึกพันธมิตรทั้งสถาบันการเงิน และเอกชนหลากหลายภาคส่วน ร่วมพัฒนาธุรกิจเดิมให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ปัจจุบัน “รุนแรง” กว่าในอดีต รวมถึงเพื่อการต่อยอดธุรกิจในอนาคต

ขณะเดียวกัน กลุ่มบริษัทมีความสนใจศึกษาหลักเกณฑ์จัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bankเพื่อประกอบการพิจารณาบริหารจัดการแหล่งเงินทุน และอัตราดอกเบี้ยจ่ายให้เหมาะสม สอดคล้องกับการขยายบริษัทในอนาคต เนื่องจากกลุ่มบริษัทมี “คาเธ่ย์ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้ง” (Cathay Financial Holding Co., Ltd) ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำจากประเทศไต้หวันถือหุ้นในสัดส่วนราว 10%

“ในระยะ 1-2 ปีนี้บริษัทยังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี แอปพลิเคชันต่างๆ ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันให้มีความรวดเร็ว ใช้ง่าย สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด รวมถึงการพัฒนาระบบหลังบ้านให้ช่วยสนับสนุนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงที่จะเกิด NPL ให้ได้อย่างมีประสิทธภาพ ขณะเดียวกันก็ศึกษาผลสำเร็จของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่สามารถตั้ง Virtual Bankได้สำเร็จเพื่อประกอบการพิจารณาการบริหารจัดการแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมในอนาคต”

เป้าพื้นฐาน 53 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่าบริษัทได้เตรียมแผนดำเนินงานหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ. สินเชื่อเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งควบคุม Loan Yield สินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% (ลดลงจากปัจจุบันที่มากกว่า 30%) โดยระยะสั้นจะเพิ่มรายได้ผ่านการทำ Cross Selling ขณะที่ระยะยาวจะปรับลด Commission ดีลเลอร์ลง รวมถึงมีโอกาสที่จะเพิ่มวงเงินดาวน์รถ เพื่อป้องกันความเสี่ยง

ขณะเดียวกันการที่ ดีลเลอร์ จะไม่สามารถปล่อยสินเชื่อเองได้จะส่งผลบวกต่อ SAWAD จากการแข่งขันที่ลดลงตามการหายไปของผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขั้นเป็น 20-25% จากปัจจุบันที่ 15% ทั้งนี้บริษัทมีเครือข่าย Dealerที่สูงถึง 4 พันรายทั่วประเทศ

คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 ที่ 4.2 พันล้านบาท ลดลง 11% YoYจากต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นถึง 40% YoY ขณะที่พอร์ตสินเชื่อจะเติบโตได้ 26% YoY หนุนกำไรสุทธิปี 2566 เร่งตัวขึ้น 13% YoY แตะ 4.7 พันล้านบาท แนะนำ “ซื้อ” พร้อมปรับราคาพื้นฐานปี 2566 เป็น 53 บาท