ย้อนไปช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบที่จะปรับอัตราค่าบริการ โดยได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่น พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากในช่วง 18 ปีที่ผ่านา บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ไม่ได้ขอปรับอัตราราคาค่าบริการ
โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม คือวันแรกของการบังคับใช้ โดย จดหมายประเภทซอง แม้จะเริ่มต้น 3 บาทเช่นเดิม แต่มีการปรับราคาเพิ่มเติมตามแต่ละน้ำหนัก เช่น จาก 10-20 กรัม 3 บาทก็ปรับเป็น 5 บาท, น้ำหนัก 20-100 กรัม จาก 5 บาทเป็น 10 บาท เป็นต้น ส่วน จดหมายประเภทหีบห่อ น้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม ราคาอยู่ที่ 30 บาท และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 55 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม
แน่นอนว่าที่สาเหตุของไปรษณีย์ไทยต้องปรับราคาเป็นเพราะ ต้นทุน ที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่กิจการไปรษณีย์ในปัจจุบันมีแนวโน้มประสบปัญหาขาดทุน โดยปีที่ผ่านมาแม้จะมีรายได้ถึง 22,000 ล้านบาท แต่ก็ ขาดทุนถึง 1,600 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทจำต้องปรับราคาค่าส่ง
คงไม่ต้องบอกว่า ตลาดขนส่งพัสดุไทย (Parcel Delivery) นั้นแข่งขันรุนแรงแค่ไหน เพราะมีคู่แข่งจากต่างชาติตบเท้าเข้ามาจำนวนมาก ที่เห็นจะมี Kerry, Flash, J&T, Best Express, Ninja Van เป็นต้น โดยในช่วงปี 2019-2021 ตลาดสามารถเติบโตได้ถึง 38% โดยในปี 2021 ตลาดมีมูลค่ากว่า 91,000 ล้านบาท
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ตลาดปีนี้อาจเติบโตได้ถึง 17% คิดเป็นมูลค่าราว 1.06 แสนล้านบาท และมีปริมาณขนส่งพัสดุเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 7 ล้านชิ้นต่อวัน
ที่น่าสนใจคือ แม้ต้นทุนจะสูงแต่กลับยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวของผู้เล่นเจ้าไหนที่จะปรับราคาขึ้น แต่หลังจากไปรษณีย์ไทยปรับราคาขึ้นได้ไม่เท่าไหร่ ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Kerry และ Flash ทำโปรโมชันลดราคาทันที โดย Kerry เปิดราคาใหม่เริ่มต้นเพียง 15 บาท ต่ำกว่า J&T ที่เริ่มต้น 19 บาทเสียอีก ส่วน Flash ก็ลดราคาลง 10% สำหรับการส่งพัสดุที่มีขนาด 1 กิโลกรัม หรือความยาว x กว้าง x สูง ไม่เกิน 40 เซนติเมตร เรียกได้ว่าลดราคา สวนทางต้นทุนที่พุ่งสูง
คำตอบคือ ที่ผ่านมา ผู้เล่นแต่ละรายจำต้อง บริหารต้นทุนเพื่อตรึงราคาไว้ก่อน เพื่อให้สามารถ แข่งขันกับคู่แข่ง ได้ และเมื่อมีใครปรับราคาขึ้นหรือลง แต่ละแบรนด์ถึงจะเริ่มขยับตาม และในกรณีที่ไปรษณีย์ไทยที่เป็นผู้เล่นที่กินมาร์เก็ตแชร์ถึง 57% จึงถือเป็นโอกาสทองให้ผู้เล่นรายใหญ่รีบ ดัมพ์ราคา เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด เพราะต้องยอมรับว่าตลาดไม่ได้มีลอยัลตี้ขนาดนั้น รายไหนให้ราคาดีก็ใช้เจ้านั้นเพื่อประหยัดต้นทุน
เมื่อทุกคนหันมาแข่งราคากันหมด คำถามคือ เอากำไรจากไหน? คำตอบคือ ความ เฉพาะทาง ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น พัสดุขนาดใหญ่ อย่างเช่น ต้นไม้, อะไหล่รถ หรืออย่าง สินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ เช่น การจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น และจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น (และไม่รู้จะลดลงเมื่อไหร่) การวางแผนควบคุมต้นทุนระยะยาวจึงจำเป็นที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้น จึงเริ่มเห็นเทรนด์การนำ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า มาใช้งานเพื่อเป็นการลดต้นทุนระยะยาว
จับตายักษ์ใหญ่ ‘โลจิสติกส์’ แตกเซกเมนต์ใหม่ ‘Bulky’ ส่งของชิ้นใหญ่ฉีกหนี ‘สงครามราคา’
ด้วยตลาดที่ยังเติบโต ผู้เล่นที่มีมากตลาดขนส่งพัสดุจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ไม่ใช่แค่คำแผนทำโปรโมชันหรือแข่งราคา ผู้เล่นแต่ละรายยังต้องพยายามที่จะบริหารต้นทุนให้ได้ดีที่สุด และมองหาลู่ทางสร้างกำไร เพื่อที่จะยังเป็นผู้อยู่รอดในตลาดต่อไป
This website uses cookies.