JMT เปิดสาเหตุที่ถูกทิ้ง!

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย…เจ๊เมาธ์

*** มีหลายสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นของ JMT ปรับลงมาอยู่ในจุดต่ำสุดในรอบปี อย่างแรกที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าก็คือ การขายออกมาจากทั้ง เซียนหุ้น และ เซียนพระ ที่มีกำไรแล้วจากถือหุ้น JMT มานาน รวมถึงมีกำไรจากการเล่นรอบมาตลอดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องของภาวะ Dilution Effect ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ทาง JMT ผลักดัน บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด หรือ JAM เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ซึ่งเดิมที่ JMT เป็นผู้ถือหุ้น JAM สัดส่วน 100% 

ก่อนที่จะดึงเอา บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด บริษัทลูกของ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เข้ามาถือหุ้นด้วยในสัดส่วน 9.9% ซึ่งเมื่อ JAM แยกตัวเป็นอิสระเข้าตลาดฯ ก็จะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของ JMT ปรับลง เนื่องจากกำไรส่วนใหญ่ของ JAM คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของกำไรทั้งหมดของ JMT นั่นเอง 

 

ดังนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องแปลกใจว่า ทำไมทั้งเซียนหุ้น และ เซียนพระจึงได้พากันเทขาย JMT อย่างหนัก ก็ในเมื่อ JMT เหลือความสามารถในการทำกำไรแค่เพียง 30% จากเดิมที่เคยทำได้ ก็มาแบบนี้…แค่นับนิ้วก็คงจะรู้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร ก็เท่านั้นเอง

*** ว่ากันว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทกลุ่มประกันภัย มาจากผลตอบแทนของพันธบัตร และเมื่อราคาหุ้นของ TLI เคยได้อานิสงส์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับผลตอบแทนพันธบัตรให้เพิ่มขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว และเมื่อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาจชะลอลงก็กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นของ TLI ได้รับผลกระทบจากการเก็งกำไรที่ลดน้อยลงเช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเจ๊เมาธ์ เจ๊กลับมองว่านี่เป็นจังหวะที่ควรจะหาโอกาสแบ่งไม้เก็บหุ้นตัวนี้เอาไว้ได้บ้าง อย่างแรกคือ เจ๊เมาธ์มองว่าผลตอบแทนพันธบัตรเป็นเพียงแค่ปัจจัยทางจิตวิทยา ที่แทบจะไม่ส่งผลกับรายได้และกำไรได้จริง ส่วนอย่างที่สอง ก็เป็นของผลการดำเนินงานงวดปี 65 ที่กำลังจะออกมา ถึงแม้ว่าจะไม่ดีมาก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้กำไรของ TLI สามารถสร้างสถิติที่ดีได้อีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ TLI ก็คือ สามารถคาดเดาผลงานล่วงหน้าได้ ทำให้ TLI กลายเป็นหุ้นที่ไม่มีเสน่ห์ เพราะไม่มีอะไรให้ลุ้นตามปกติวิสัยของนักลงทุนไทย ทำให้ราคาหุ้นอาจจะยังไม่ไปไหนไกลนัก เพียงแต่จาก 13 บาทกว่าๆ ขึ้นไปวนเวียนอยู่ที่ราคาไอพีโอ (16 บาท)  ก็ถือว่าไม่แย่จนเกินไปเช่นกัน

*** แม้จะมีข่าวทั้งออกมาว่า SIRI จะโตแบบโดดเด่นทั้งรายได้ และกำไรในปี 66 จนผลักดันให้ราคาหุ้นปรับราคาขึ้นมาเกือบเท่าตัว ในเวลาเพียง 5 เดือน แต่หากมองกลับไปในช่วงก่อนโควิด จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าทั้งรายได้และกำไรจะดีกว่าตอนนี้ซะด้วย …แต่ตอนนั้นราคาหุ้นก็ยังมาได้ไม่ไกลขนาดนี้ ขณะช่วงเวลาที่ราคาหุ้นของ SIRI เริ่มจุดกระแสได้ติด กลับเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ชื่อของ  “เศรษฐา ทวีสิน” เริ่มเข้ามามีส่วนรวมบนถนนการเมือง ในรูปแบบของการเปิดตัวและเปิดหน้า ด้วยการสร้างวาทะกรรม “บริษัทใหญ่ อย่าง OR และ BCP ไม่ควรมาทำร้านกาแฟแข่งกับรายย่อย” จนเลยไปถึงข่าวลือที่ว่า “เศรษฐา” ก้าวขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองบางพรรค อย่างไรก็ตาม เจ๊เมาธ์เองก็ไม่แน่ใจว่า เรื่องของราคาหุ้น กับเรื่องของการระดมทุน เพื่อเตรียมใช้ในการเลือกตั้ง มันจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เจ๊เมาธ์ก็เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตเอาให้คิดก็เท่านั้นเอง…ไม่มีอะไรมาก

*** มีแนวโน้มว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดลงมาเป็น 0.25% ซึ่งอาจเป็นผลให้กระแสดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันทางจิตวิทยา ที่กดดันหุ้นกลุ่มนอนแบงก์อย่าง MTC SAWAD TIDLOR KTC AEONTS รวมถึงนอนแบงก์อีกหลายตัวมาตั้งแต่ปีที่ ทั้งปีเริ่มเข้าสู่ภาวะคลี่คลาย โดยเฉพาะ MTC SAWAD และ TIDLOR ซึ่งราคาหุ้นต่างก็ปรับราคาลงมามาก ก็น่าจะถึงจุดที่น่าจะต้องจับตามอง ซึ่งอาจส่งผลให้เริ่มกลับมามีการเล่นเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มนี้อีกครั้ง อย่าลืมว่า แต่ละบริษัทต่างก็มีจุดเด่นจุดขายที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของ MTC มีพอร์ตจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ใหญ่สุด ขณะที่ TIDLOR เป็นผู้นำตลาดจำนำทะเบียนรถยนต์ ส่วนทางด้านของ SAWAD ก็มีจุดเด่นในพอร์ตจำนำโฉนดที่ดินใหญ่สุดเช่นกัน เอาเป็นว่าหุ้นลีสซิ่งยังน่าสนใจสำหรับเจ๊เมาธ์ค่ะ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,858 วันที่ 2 – 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566