5 ทายาทตระกูลดังลุยธุรกิจสไตล์ “สานต่อ เติบโต และยั่งยืน” จากรุ่นพ่อ สู่รุ่นลูก

เพราะเริ่มมีการทยอยเปลี่ยนผ่านจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจน 3 ของตระกูล

ถือเป็นเรื่องที่น่าท้าทายของผู้บริหารรุ่นใหม่ในการจะนำพาองค์กรให้ไปฉลุยสมดังที่เจน 1 และเจน 2 ได้กรุยทางสร้างอาณาจักรให้เติบใหญ่และยังฝากความหวังไว้ให้สืบสานกิจการให้แตกหน่อขยายตัวมากขึ้น ภายใต้ระบบนิเวศทางธุรกิจแบบใหม่ ที่มีการแข่งขันรุนแรง และมีนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ

อีกทั้งยังมีความน่าสนใจว่ามีไม่น้อยที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทตระกูลดัง นอกจากจะทำหน้าที่สืบสานการดำเนินธุรกิจของตระกูลแล้ว หลายคนยังได้แตกหน่อขยายธุรกิจหรือสร้างธุรกิจใหม่เป็นของตนเองอีกด้วย

“ทีมเศรษฐกิจ ไทยรัฐ” จึงขอเจาะเคล็ดลับ 5 ทายาทนักธุรกิจตระกูลดังถึงเคล็ดลับการดำเนินธุรกิจที่จะ “สานต่อ เติบโต และยั่งยืน” ให้ประสบความสำเร็จ สมดังที่เจน 1 และ เจน 2 ฝากความหวังไว้

“พรา-พราวพุธ”

ทายาทคนเก่งแห่งตระกูล “ลิปตพัลลภ”

“พราว–พราวพุธ ลิปตพัลลภ” ทายาทคนสุดท้องของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” และ “พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ” ดีกรีปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 2 คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารจาก University of Oxford ปริญญาโทด้านการบริหารจาก London Business School

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนนับหมื่นล้านบาท และผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท พราว และพราว เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)

5 ทายาทตระกูลดังลุยธุรกิจสไตล์

คุณพราวเล่าว่าเป็นการทำธุรกิจต่อจากรุ่นคุณปู่ คุณย่า โดยที่แต่เดิมธุรกิจครอบครัวเป็นการลงทุนภายใต้ กลุ่มบริษัทประยูรวิศว์ ที่เน้นก่อสร้างถนน, ทำทาง และสร้างสะพาน เมื่อถึงเวลาที่พราวเข้ามาทำงานตรงนี้จึงต่อยอดธุรกิจให้เน้นด้านอสังหาฯ มากยิ่งขึ้น

โดยจัดตั้งเป็นบริษัท ภายใต้ชื่อ กลุ่มบริษัท พราว เน้นอสังหาริมทรัพย์เชิงไลฟ์สไตล์ ได้แก่ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท, โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ต วานา นาวา หัวหิน, สวนน้ำวานา นาวา วอเตอร์ จังเกิ้ล หัวหิน, ศูนย์การค้าบลูพอร์ต หัวหิน รีสอร์ท, โครงการอันดามันดา บริเวณกะทู้ และโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ภูเก็ต รีสอร์ท หาดกมลา และ พราว เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นอสังหา ริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยและลงทุน เช่น อินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน, โครงการเวหา และล่าสุดได้เปิดตัวอสังหาริมทรัพย์แนวราบ ย่าน ซ.อารีย์

แนวทางการทำธุรกิจ พราวจะรับฟังแนวคิดในการทำธุรกิจจากคุณย่า (คุณจรัสพิมพ์ ลิปตพัลลภ) มาเสมอ ปรัชญาของท่านคือ “ถ้าทำอะไรต้องให้ทุกคนดีหมด ไม่มองแต่กำไร”

“ดังนั้น ของที่เราทำ ของที่เราผลิต ทุกอย่างต้องดี ทำให้สังคมที่เราไปอยู่ดีขึ้น การทำให้ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจของเรา เมื่อชุมชนแข็งแรงผู้คนจะมีความสุข มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้บรรยากาศของเมืองดีตามไปด้วย ดูน่ามาท่องเที่ยวพักผ่อน นอกจากนี้ในส่วนของลูกค้า และพันธมิตร เราก็ให้ความสำคัญ โดยไม่ทำธุรกิจที่หวังกำไรสูง แต่เน้นความต้องการของลูกค้า ความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดของลูกค้าที่จะได้รับเป็นหลัก โดยยังคงได้รับประสบการณ์ที่ดี และมีความสุข หลังจากที่เข้ามาใช้บริการ”

สำหรับแนวคิดการทำธุรกิจของตนเองคือ การทำสิ่งที่แตกต่าง เพราะการทำอะไรที่คนอื่นทำอยู่แล้ว หรือทำเหมือนเดิม สุดท้ายก็คือเป็นได้แค่ “ค่าเฉลี่ย” หรือ ว่า “ดีเสมอตัว” แต่ถ้าจะทำอะไรที่ดีขึ้นไปกว่าเดิม เราต้องพร้อมที่จะลองเสี่ยงกับการทำอะไรใหม่ๆ ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ดีกว่าเสมอไป แต่อย่างน้อยยังมีโอกาสเจออะไรที่ดีกว่าเดิม

ในส่วนปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบเต็มๆจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมและสวนน้ำในพื้นที่หัวหินและภูเก็ตในไตรมาสแรกช่วงโควิดปี 2020 รายได้แทบเป็นศูนย์ ต้องมีการปรับตัวไปเรื่อยๆ ปรับวิธีการให้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นอย่างสวนน้ำ จำกัดจำนวนคนที่เข้าใช้บริการในแต่ละพื้นที่

ส่วนในโรงแรม พยายามหา Value Added ให้ลูกค้าในลักษณะอื่นๆปรับวิกฤติให้เป็นโอกาส บางช่วงที่ห้ามรับประทานในร้านก็ปรับเป็นรูมเซอร์วิสทั้งหมด บุฟเฟต์ไลน์ที่เคยให้ลูกค้าไปตักเองได้ ก็ปรับเปลี่ยนเป็นการให้พนักงานยืนให้บริการเรายังมีบริการเทกอะเวย์ หรือดีลิเวอรี ที่เริ่มส่งให้คอนโดฯรอบๆ

“ส่วนฝั่งภูเก็ต ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวในประเทศ และกระจายกลุ่มลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการทำมาร์เกตติ้ง หรือด้วยราคา ต้องยอมลดราคาเพื่อให้กลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศเข้าถึงได้”

“กิ๊ก-พิชญา”

ทายาท “รักตพงศ์ไพศาล” กับโครงการหมื่นล้าน

“กิ๊ก-พิชญา รักตพงศ์ไพศาล” บุตรี “เฮียเพ้ง–พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” อดีต รมว.พลังงาน นับเป็นลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นอีกคนหนึ่ง ที่เริ่มฉายแววโดดเด่นเป็นที่ปรากฏในวงสังคมนักธุรกิจรุ่นใหม่

โดยได้เข้าสู่วงการอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวในวัย 27 ปี หลังจากจบการศึกษาคว้าปริญญาตรีด้านจิตวิทยา และการศึกษา จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

5 ทายาทตระกูลดังลุยธุรกิจสไตล์

ปัจจุบันได้เข้าบริหารงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการเรนวูด ปาร์ค อันเป็นโครงการมิกซ์ยูสมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท บนทำเลลำลูกกาคลอง 11 จ.ปทุมธานี

“กิ๊ก พิชญา” เผยว่า การเข้ามาบริหารงานโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แห่งนี้ ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หาที่ไหนไม่ได้ เพราะได้มีโอกาสทำงานที่ได้เกี่ยวข้องกับทุกสาขาอาชีพ ทั้งที่เป็นนักการเงิน ก่อสร้าง วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตย์ บริหาร ที่สำคัญต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะไม่ได้เรียนจบสาขานี้มาโดยตรง

“ทำให้งานใหม่ๆที่เข้ามาในชีวิตมีความหลากหลายที่ยังต้องเรียนรู้และมองว่าเป็นความท้าทาย จึงต้องวางแผนให้ดีในแต่ละขั้นตอน ที่สำคัญ การบริหารงานได้ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบระบบทีม เพราะทุกโครงการไม่อาจไปได้เองแบบลำพังคนเดียว”

การทำงานระบบทีม ต้องให้ความเคารพซึ่งกันและกันซึ่งคุณพ่อในฐานะเป็นต้นแบบ ได้กำชับให้ยึดคำสอน 4 ข้อมาใช้คือ 1.การสื่อสารในการทำงาน ถือเป็นศิลปะในการทำงานร่วมกัน 2.ไม่หยุดพัฒนา ค้นคว้าหาความรู้ให้กับตัวเอง ไม่หยุดนิ่ง แลกเปลี่ยนความคิดกัน 3.การวางระบบที่ดีทำให้เกิดการทำงานราบรื่นและ โปร่งใส และ 4.ให้ความเคารพกันและกัน การใช้อำนาจที่มีให้ถูกที่ถูกเวลา เมื่อเรามีอำนาจต้องมีทั้งพระเดชและพระคุณ

“สำหรับความตั้งใจเดิมหลังจบปริญญาตรี ก่อนกลับมาทำธุรกิจของที่บ้าน ได้ไปหาประสบการณ์ทำงานจากที่อื่น ได้เข้าไปทำงานกับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แผนกพัฒนาธุรกิจ หรือ Business Development จากนั้นก็จะไปต่อปริญญาโทด้าน MBA แต่โครงการนี้เข้ามาก่อน จึงตัดสินใจคว้าโอกาสนี้ไว้”

“ทำงานวันแรกรู้สึกกลัวมาก เพราะอายุยังน้อย เพิ่งเรียนจบ มีประสบการณ์ไม่มาก และในฐานะลูกพ่อ (เฮียเพ้ง) ก็ย่อมเป็นแรงกดดัน จึงพยายามมองในแง่บวก มีใจเปิดกว้างรับฟัง เอาใจเขามาใส่ใจเรา และเราเป็นคนที่อยากเรียนรู้จึงเปลี่ยนแรงกดดันเป็นแรงผลักดัน เป็นความสนุกความท้าทาย ให้เราอยากทำงานให้ประสบความสำเร็จ”

“ในฐานะมือใหม่หัดขับ ขอยืนยันว่าจะดำเนิน โครงการนี้อย่างสุดความสามารถ เพื่อให้เป็นโครงการนำร่องก่อนต่อยอดไปยังโครงการอื่นๆ และก่อนส่งมอบให้ทายาทรักตพงศ์ไพศาลรุ่นต่อๆไป รวมทั้งทำให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสิ่งที่ตอบโจทย์ให้กับคนและสังคมแห่งอนาคตว่าที่นี่คือที่ที่ให้ความสุขและคุณภาพชีวิตที่แท้จริง”

“เป็ก เศรณี”

ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล “ชาญวีรกูล”

“เป็ก เศรณี ชาญวีรกูล” บุตรคนโตของ “อนุทิน ชาญ วีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ซึ่งมีฐานที่มั่นทางธุรกิจคือบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ “บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)”

มีดีกรีไม่ธรรมดา ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ, ปริญญาโท บริหารธุรกิจ Queen Mary University of London แม้เรียนจบเศรษฐศาสตร์ โทบริหาร แต่มีความรักมุ่งมั่นทางด้านการเงิน ก็ลุยวิชาที่เกี่ยวกับการเงินทันที

5 ทายาทตระกูลดังลุยธุรกิจสไตล์

เขาเล่าว่า ถือเป็นความโชคดีที่รู้ตัวเองเร็วว่าชอบการเงินเพราะเป็นแนวทางของเรา ก่อนที่จะกลับมาดูแลต่อยอดธุรกิจของที่บ้าน โดยจบมาใหม่ๆก็เริ่มฝึกงานทำงานที่วาณิชธนกิจ (Investment banking) กับบริษัท ภัทร ทำอยู่ประมาณ 1 ปี รู้สึกเอนจอยกับชีวิตมาก

แต่ชีวิตก็ไม่ได้สวยหรูอย่างที่ใครๆคิด จนกระทั่งต้องไปจับใบดำ ใบแดง เพื่อไปเกณฑ์ทหาร และได้เป็นทหารสมใจ ทำให้ได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้น เพราะการเป็นทหารทำให้เราอยู่นอกคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง เมื่อครบกำหนดเกณฑ์ทหาร 1 ปี คุณพ่อบอกว่าจะไปฝึกงานข้างนอกอีกทำไม บริษัทในเครือก็มีตั้งเยอะตั้งแยะที่ให้ช่วยดู ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญบริหารจัดการธุรกิจต่อ แต่คุณพ่อก็รู้สึกว่าบางทีการบริหารก็ต้องมีคนที่เป็นครอบครัวมาช่วยดู เพื่อเข้ามาลดช่องว่าง ระหว่างผู้บริหารกับครอบครัวที่เป็นเจ้าของกิจการ

ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหม่ที่จะเป็นบทพิสูจน์ในการก้าวเข้ามาทำงานในบริษัท ประกอบกับการเป็นทหารทำให้ได้เรียนรู้และสอนให้มีประสบการณ์ว่าโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการมีสิทธิ์มีเสียงที่จะถามหรือโต้แย้งกลับ แต่ไม่สามารถทำได้นั้นเป็นอย่างไร หรือต่อให้เราคิดอะไรก็ตาม ก็ต้องทำตามคำสั่ง เพราะมีระบบบังคับบัญชา ซึ่งจาก ประสบการณ์ต่างๆทำให้เมื่อวันที่ต้องกลับมาทำงาน ผมจึงมีความพร้อมและตั้งใจที่จะเข้าไปบริหารงานของครอบครัว

สำหรับตำแหน่งที่รับผิดชอบ ต้องบอกว่าผมเป็นทุกอย่างในบริษัท ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นตำแหน่งอะไร บริษัทเรามีบริษัทตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง จนถึงขนาดใหญ่ ดังนั้นการเข้ามาทำงานของผมในการบริหาร จึงไม่มีหัวโขน เพราะรู้สึกว่าการที่เรามีหัวโขนจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพนักงาน กับตัวผู้บริหารห่างกัน เมื่อเราไม่มีหัวโขนก็ทำให้การเรียนรู้งานในบริษัทได้ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะลงไปตรงไหนคนก็เปิดรับ ผมไม่เขินที่จะบอกว่าไม่รู้ เพราะว่างานหลายๆงานไม่ได้อยู่ที่ว่าความรู้ในห้องเรียนใครจบสูงกว่ากัน

“ความรู้สึกที่เข้ามาทำงานแรกๆ ความกดดันมีแน่นอนอยู่แล้ว เพราะการเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ตามความเชื่อของคนจีน เรามักจะได้ยินคำพูดว่า ทุกอย่างจะมาพังในตอนรุ่นที่ 3 ผมเลยตั้งเป้าหมายตั้งแต่เด็กแล้วว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม จะทำเอง หรือรับมรดกมา เราต้องทำให้ดีกว่ารุ่นที่ 1 หรือรุ่นที่ 2 ที่เขาเคยทำ”

ดังนั้น เป้าหมายของการทำงานของผมในฐานะรุ่นที่ 3 จะไม่ทำงานเพื่อให้ตัวเองให้มีฐานะร่ำรวย หรือมั่งมีมากขึ้น เพราะผมโชคดีที่บริษัทเติบโตมาแล้ว ซึ่งแปลว่ารุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ทำไว้ดี หากเราไม่ใช้จ่ายจนเกินตัวและพึงพอใจกับสิ่งที่มี ผมพร้อมที่จะเอาสิ่งที่ควรจะได้ ไปให้กับพนักงานในบริษัทดีกว่า

จะเห็นได้ว่าทายาทรุ่นที่ 3 จะแตกต่างจากรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ที่พนักงานทำงานเพื่อใครคนหนึ่งที่บริษัทเพิ่งก่อตั้ง หรือเพิ่งตั้งไข่ได้ แต่เมื่อเป็นรุ่นที่ 3 พนักงานที่เข้ามาทำงานในบริษัทจะไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการทำเพื่อบริษัทจริงๆ ดังนั้น ผมก็ทำเพื่อบริษัทเหมือนกัน และต้องมองอีกมุมด้วยซ้ำว่าในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น ผมก็มีหน้าที่รับใช้พนักงานทุกคนให้เขากินดีอยู่ดี มีความสุขมากขึ้น

“ที่สำคัญผมบอกกับผู้บริหารทุกคนว่า KPI ของผมไม่ใช่การวัด Key Performance Indicator แต่เป็น keep people interest, keep people inhope และ keep people’sinspy ซึ่งเป็น KPI ของผม ที่มองอย่างไรก็ได้ที่ทำให้พนักงานมีความสุข ผมไม่รู้เป็นหลักการที่ผมคิดถูกหรือผิด แต่ผมบอกได้เลยว่ามันเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผมมีแรงตื่นมาทำงานในทุกๆวัน”

“เป็ก เศรณี” ย้ำว่าแนวคิดของผมล้วนเกิดจากการบ่มเพาะ จากคุณพ่อกับคุณปู่ ซึ่งเป็นไอดอลที่เราเดินตาม คุณพ่อเคย บอกเสมอว่า “ตาเรามองฟ้าได้ แต่เท้าเราต้องติดดิน” คือเป็นสิ่งที่ใช้ได้กับชีวิตจริงในทุกวันนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าที่ของเรามาจากไหน ถ้าไม่มีพนักงาน ก็ไม่มีวันนี้

“ผมบอกกับพนักงานเสมอว่า ผมเป็นหนี้บุญคุณพนักงานทุกคน เพราะถ้าไม่มีพนักงาน บริษัทก็ไม่มีมาถึงวันนี้ได้ คนหนึ่งคนจะไม่สามารถขับเคลื่อนบริษัทมาให้อยู่ถึง 60 ปีได้แน่นอน”

“ภู-กรวัฒน์”

หลานปู่ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์”

“ภู-กรวัฒน์ เจียรวนนท์” บุตรชายคนโตวัย 27 ปีของ “ศุภชัย–บุษดี เจียรวนนท์” ทั้งยังเป็นหลานปู่ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ปัจจุบันนั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอมิตี้ (Amity) จำกัด

เริ่มต้นธุรกิจกับเพื่อนเมื่อปี 2555 ขณะศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลายเกรด 12 ที่สหรัฐอเมริกา โดยใช้เวลาอยู่ 10 ปีในการลองผิดลองถูก พัฒนาบริการแอปพลิเคชันแชตภายในองค์กร เติบโตสู่การเป็นผู้ให้บริการโซเชียลคลาวด์ในนาม Amity Social Cloud (ASC) ปัจจุบันมีลูกค้ากระจายอยู่ทั่วโลกทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย

“ธุรกิจซอฟต์แวร์ในแบบของเราต้องใช้เวลาเติบโต ความสำเร็จของเอมิตี้ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆแบบเดียวกับสตาร์ตอัพที่ให้บริการลูกค้าแบบ B2C (ลูกค้าทั่วไป) ที่เติบโตได้จากจำนวนฐานลูกค้า ธุรกิจเอมิตี้เป็น B2B ลูกค้าของเราเป็นองค์กร มีโมเดลสร้างรายได้ที่ชัดเจนและเป็นจริง แม้ต้องใช้เวลา”

5 ทายาทตระกูลดังลุยธุรกิจสไตล์

เส้นทางของกรวัฒน์ดูเผินๆ เปรียบได้กับลูกไม้หล่นใต้ต้น เพราะเดินตามรอยบิดา (ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอ เรชั่น จำกัด) สู่โลกธุรกิจ แต่เพราะเลือกเดินตามเส้นทางตัวเอง เริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเอง กรวัฒน์จึงน่าจะเป็นลูกไม้ที่หล่นไกลต้นอยู่สักหน่อย

“พอบริษัทเริ่มขยายตัว ระดมทุนได้มากขึ้น ผมจึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเรียนประวัติศาสตร์ปี 2 อยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย เลือกเรียนประวัติศาสตร์เพราะเป็นแขนงที่สนใจ ไม่เลือกธุรกิจหรือซอฟต์แวร์เพราะลงมือทำอยู่แล้ว จึงเลือกสิ่งที่ชอบเป็นหลัก”

จุดตัดสินใจของกรวัฒน์มาจากความสำเร็จในการระดมทุนครั้งสำคัญเมื่อปี 2558 โดยมี Gobi อัดฉีดเงินเข้ามา 5.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงน่าจะถึงเวลาลงมือจริงจัง เพื่อตอบแทนนักลงทุนที่มองเห็นศักยภาพและไว้วางใจ

“เอมิตี้เริ่มต้นจากเงินสนับสนุนเล็กน้อยของครอบครัวเพื่อนฝูง คุณพ่อสอนว่าต้องหัดหาเงินเอง ไม่เช่นนั้นจะหาเงินไม่เป็น เราได้เงินก้อนแรกๆ จากกองทุน 500 Asean มูลค่า 1 ล้านเหรียญฯ ซึ่งทำให้เราเติบโตขึ้นมาได้”

“แต่จะบอกว่าผมไม่ได้ใช้ประโยชน์จากนามสกุล “เจียรวนนท์” ก็คงไม่ถูกต้องนัก นามสกุลนี้ช่วยให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นี่คือสิ่งที่ติดตัวผมมา แต่ผมขอเลือกที่จะเริ่มต้นธุรกิจกับเพื่อนๆด้วยตัวของผมเองมากกว่า”

จากการประเมินมูลค่าล่าสุดเมื่อปี 2564 เอมิตี้มีมูลค่าประมาณ 150 ล้านเหรียญฯ (ราว 4,200 ล้านบาท) หลังผ่านการระดมทุนจำนวน 20 ล้านเหรียญฯในรอบซีรีส์ B ไปเมื่อปี 2562 และมีแผนระดมทุนอีกรอบในปี 2566

ปัจจุบัน เอมิตี้มีลูกค้าองค์กรทั่วโลกราว 70 ราย ได้แก่ Air Asia, Telecom Malaysia, Air Asia Super App, ธนาคารธนชาต, ทรูคอร์ปอเรชั่น, โตโยต้าลีสซิ่ง, ธนาคารกสิกรไทย, Baylor Scott & White Health, Subway, Betano (Kaizen Gaming), Pernod Ricard Group, Marriott, AIA เป็นต้น มีจำนวนผู้ใช้บริการทั่วโลกมากกว่าเดือนละ 10 ล้านคน

ล่าสุด เมื่อเดือน มี.ค.2565 ไฟแนนเชียล ไทม์ จัดให้อยู่ในอันดับบริษัทที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุด 150 บริษัทแรกในยุโรป โดยติดอยู่ในอันดับ 132 และยังติดอันดับ 30 ของ 155 บริษัทในอังกฤษที่ทำอัตราเติบโตสูงกว่า 1,020%

สิ่งที่สะท้อนความสำเร็จของเอมิตี้ในปีนี้อีกประการ คือการถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 5 บริษัทที่ได้ขึ้นพูดบนเวทีหลักของงาน Web Summit 2022 ที่ผ่านมาด้วย

“ป๊อก อัครินทร์”

ทายาทตระกูล “ตั้งทวีสิทธิ์” แห่งอีสานใต้

“ป๊อก อัครินทร์ ตั้งทวีสิทธิ์” ทายาทคนโตแห่งเจน 3 ของตระกูล “ตั้งทวีสิทธิ์” ที่ทำหลากหลายธุรกิจในอีสานใต้ รวมทั้งเแวดวงการเมือง โดยมีฐานใหญ่อยู่ที่ จ.สุรินทร์ และแตกหน่อขยายวงมายัง จ.อุบลราชธานี โดยยังเป็นดีลเลอร์รถเบนซ์อย่างเป็นทางการที่ จ.อุบลราชธานี

จากนั้นได้สร้างความฮือฮาด้วยการโดดข้ามห้วยมากรุงเทพฯ มาดูแลกิจการ “ทีทีซี มอเตอร์” ของ “ดร.ทรงพร จั่นเทศ” 1 ใน 4 บิ๊กดีลเลอร์ผู้จำหน่ายรถเบนซ์เป็นทางการของ บริษัท เมอร์เซเดส–เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

โดย “ป๊อก อัครินทร์ “ในฐานะซีอีโอคนใหม่ได้ทุ่มงบไม่อั้นในการสร้าง “ทีทีซี มอเตอร์” ยุคใหม่ ให้เป็นทั้งผู้จำหน่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ และเมอร์เซเดส-เอเอ็มจี อย่างเป็นทางการ พร้อมศูนย์บริการและศูนย์ซ่อมสีและตัวถัง โดยมี 2 โชว์รูมใหญ่คือที่ถนนพัฒนาการ กรุงเทพฯ และ จ.อุบลราชธานี ครอบคลุมพื้นที่ความรับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์, ศรีสะเกษ,มุกดาหาร, อำนาจเจริญ, ยโสธร และอุบลราชธานี

5 ทายาทตระกูลดังลุยธุรกิจสไตล์

ขณะเดียวกัน “ป๊อก อัครินทร์” ยังได้จับมือกับ “มนูศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ” แห่ง “บ้านซูซูกิ” ซึ่งดูแลตลาดรถจักรยานยนต์ซูซูกิใน 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมจัดตั้ง บริษัท ซูซูกิ โมโตเซลส์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรับผิดชอบงานด้านการขาย การตลาด และการบริการหลังการขายของรถจักรยานยนต์ซูซูกิทั่วทั้งประเทศไทย โดย บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด จะลดบทบาทเหลือเพียงผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ซูซูกิ

“ป๊อก อัครินทร์” กล่าวว่า งานใหม่ๆเหล่านี้ทั้งในส่วนของ “ทีทีซี มอเตอร์” และการทำตลาดรถจักรยานยนต์ซูซูกิทั่วประเทศ ถือเป็นความท้าทาย แต่เมื่อมีโอกาสและมีความมั่นใจว่าทำได้ ที่สำคัญ คือ ผู้ใหญ่ได้แก่พ่อและแม่ รวมทั้งคุณมนูศักดิ์ที่มีความเชื่อมั่น จึงพร้อมเดินหน้าลุยทันที

“ผมได้เริ่มมาทำธุรกิจอย่างจริงจังและเต็มตัวตั้งแต่เมื่ออายุ 24 ปี ตอนนั้นคุณพ่อให้ดูแลกิจการหลากหลายใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งกำลังมีปัญหา โดยหลักการบริหารงานของผมยึดเรื่อง “จริงจัง-จริงใจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อสอนเสมอมา พร้อมลงไปคลุกหน้างานด้วยตนเอง ได้คุยกับพนักงานทุกระดับโดยอาศัยหลักการดังกล่าว พร้อมมีความเชื่อมั่นในพนักงานทุกคนและให้กำลังใจแก่พวกเขา เหมือนเช่นที่พ่อเชื่อมั่นผมและแอบให้กำลังใจอยู่เรื่อยๆ ทำให้ผมสามารถนำพากิจการต่างๆของเราที่ จ.อุบลราชธานีผ่านพ้นวิกฤติ และธุรกิจสามารถหยัดยืนอย่างมั่นคงมาได้จนถึงขณะนี้”

“ผมถือคติการดำเนินธุรกิจและการดำรงชีวิตว่า การดำเนินธุรกิจอะไรก็ตาม เราต้องรู้จักให้ และทุกฝ่ายต้องได้ ทั้งในส่วนของลูกค้า พันธมิตรคู่ค้าทางธุรกิจ พนักงาน และองค์กร ต้องให้ทุกฝ่าย วิน วิน”

“คุณพ่อสอนเสมอว่าต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราในทุกครั้งไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม และต้องมีความเชื่อมั่นในทุกคน และต้องพยายามเข้าใจปัญหาของทุกฝ่าย ถ้าช่วยได้ก็ต้องรีบช่วย รวมทั้งต้องให้กำลังใจกับทีมงาน ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากเมื่อเราได้ใจพนักงานแล้ว จะทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไป”

“พ่อย้ำเสมอว่าจะทำอะไรต้องมาจากใจ จะต้องไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่อง ต้องพร้อมรับฟังคนรอบข้าง ที่สำคัญ ธุรกิจของเรา อย่างรถยนต์ เรื่องบริการคือหัวใจหลัก จึงต้องทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงสุด”

“จากการยึดหลักการบริหารงานเหล่านี้ทำให้เราสามารถผ่านพ้นปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ผ่านมา”

“ที่สำคัญผมเชื่อว่าจนถึงตอนนี้ก็น่าจะทำให้พ่อภูมิใจได้บ้าง!!!”

ทีมเศรษฐกิจ