3 ผู้พิพากษาโต้พันสินบนโตโยต้า “ไสลเกษ”อดีตประธานศาลฎีกา ลั่นพร้อมให้ตรวจสอบ ชี้คดีเข้าองค์ประกอบอนุญาตให้ฎีกา คู่ความไม่จำเป็นต้องวิ่งเคลียร์ วอนสำนักงานศาลเร่งไขความจริง เหตุกระทบกระบวนการยุติธรรมร้ายแรง มุ่งทำลายศาลไทย จี้ดึงแบงก์ชาติ-ปปง.-ปปช.”ตรวจเส้นทางการเงินผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะที่ประธานสอบวินัยถกนัดแรก 7 มิ.ย.นี้
กรณีที่มีข้อกล่าวหาว่าอดีตประธานศาลฎีกา 2 คน และ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ 1 คน ปรากฎชื่อเป็น 3 คนในผู้พิพากษาของศาลฎีกา ที่เว็บ Law360 รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกา กล่าวอ้างถึงในผลการสอบสวนภายในของบริษัท โตโยต้า คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น ระบุว่าเข้าไปเกี่ยวพันกับการจ่ายสินบนก้อนโตจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์(ประเทศไทย) ที่จ่ายผ่านบริษัทสำนักงานกฎหมาย เพื่อให้ศาลมีคำตัดสินในทางที่เป็นคุณในเรื่องข้อพิพาททางภาษีจากการนำเข้ารถโตโยต้า พรีอุส ระหว่างปี 2555-2558 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โตโยต้า (ประเทศไทย) จ่ายภาษีและค่าปรับกว่า 11,000 ล้านบาท เมื่อประมาณปี 2563
เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ขณะที่ผู้พิพากษา 3 คน ที่ถูกดึงไปเกี่ยวข้องนั้นแต่ละท่านล้วนเป็นบรมครูและเป็นผู้ที่มีวัตรปฏิบัติที่ดีงาม ผ่านการคัดกรอง ผ่านการพิจารณาคัดสรรมาจากกระบวนการยุติธรรมของประเทศอย่างเข้มข้นจนก้าวขึ้นมาเป็น ”ประธานศาลฎีกา” 2 คน และเป็น “ประธานศาลอุทธรณ์” 1 คน
โดยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นายดิเรก อิงคนินันท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อดีตประธานศาลฎีกา คนที่ 42 ช่วงปี 2556-2558 พร้อมด้วย นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อดีตประธานศาลอุทธรณ์ 2 ผู้พิพากษาผู้ถูกพาดพิงจากเว็บไซต์ต่างประเทศ (www.law360.com) ซึ่งติดตามการสอบสวนในต่างประเทศเกี่ยวกับคดีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้า กล่าวหาว่ามีการจ่ายสินบนผ่านสำนักงานกฎหมายเเละปรากฎรายชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ได้เดินทางมาเเจ้งความต่อกองบังคับการกองปราบปราม เพื่อให้ทำการสอบสวนหาผู้กระทำผิดแล้ว เพราะเป็นข่าวที่ ”ทำลายความเชื่อถือศรัทธาศาลสถิตยุติธรรมไทย”
นายดิเรก กล่าวว่า คดีดังกล่าวจะมอบหมายให้พนักงานสอบสวน บก.ป. พิจารณาเรื่องการดำเนินคดีและข้อหาต่างๆ เบื้องต้นมองว่า เป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และขอปฏิเสธข่าวกรณีถูกพาดพิงว่าเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับสินบนโตโยต้า โดยยืนยันว่าคดีดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ เพราะพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่คดีดังกล่าวจะมีคำพิพากษาทั้ง 2 ศาล โดยขณะนั้นตนอยู่ในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และไม่ได้พิจารณาหรือเกี่ยวข้องกับคดี หรือวิ่งเต้นต่าง ๆ ข่าวดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะไม่ได้ทำผิดและรับสินบน
ขณะที่ศ.พิเศษ ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า “ผมเป็นผู้อภิปรายว่าบริษัทโตโยต้าควรจะเป็นฝ่ายแพ้คดี และเมื่ออภิปรายจบที่ประชุมใหญ่ของศาลฯจึงลงคะแนนหลังจากพิจารณาจากสำนวนคดีจากทั้งหมดประมาณ 70 คน ในจำนวนนี้ 60 คนเห็นด้วยให้บริษัทโตโยต้าแพ้คดี และเสียงส่วนน้อยจำนวน 10 เสียงเห็นว่าควรจะให้บริษัทโตโยต้าชนะคดีในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์”
“ไสลเกษ”ลั่นต้องเร่งสอบ
ด้าน นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา คนที่ 45 ช่วงปี 2562-2563 และเป็น 1 ในผู้ที่มีรายชื่อที่เตรียมจะเข้าแจ้งความกับเวบไซด์ที่เผยแพร่ดังกล่าว ให้สัมภาษณ์“กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ข้อกล่าวหาในคดีนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของศาลสูงของไทย และไม่เคยปรากฏมาก่อนในกระบวนการยุติธรรมว่าจะมีบริษัทเอกชนจ้างสำนักงานกฎหมายเอกชนมาจ่ายสินบนผู้บริหารศาลในระดับสูงถึง 3 คน ซึ่งถือว่ากระเทือนต่อภาพลักษณ์ ความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนและต่างประเทศ
“ผมจึงเสนอว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เกี่ยวพันกับผู้พิพากษาที่เกี่ยวพันเท่านั้น หากแต่สำนักงานศาลยุติธรรมต้องไปพิจารณาว่าจะมีกระบวนการอย่างไรในการพิจารณาสอบสวนเรื่องนี้และทำความจริงออกมาให้ปรากฎ ที่สำคัญสำนักงานศาลยุติธรรม จะต้องทำการเปิดเผยเกี่ยวกับคดีนี้ออกมาว่าเป็นอย่างไรให้สังคมไทยรับทราบ ส่วนว่าใครจะร่วมพิจารณาในองค์คณะสอบสวนไม่ใช่ปัญหา สาธารณชนแยกแยะ แต่ต้องหาข้อเท็จจริงออกมาให้ได้ว่ามันเข้าตรงไหน ถ้าเกี่ยวพันกับใครก็สอบไปเลยไม่ต้องวิตกเพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันทั้งองค์กร”
จี้ดึงปปง.-ปปช.สอบเส้นทางการเงิน
นอกจากนี้ สำนักงานศาลยุติธรรม ควรดึงเอาหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งหมดมาบูรณาการในการสอบสวนทางคดี เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งน่าจะช่วยในการสอบเส้นทางการเงินว่ามีการจ่ายจริงให้ใครหรือไม่ จะได้เคลียร์ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม
นายไสลเกษ กล่าวว่า การกล่าวหาว่าผู้พิพากษาถูกยัดสินบน 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ราว 590 ล้านบาท) และ จ่ายอีก 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ราว 927 ล้านบาท) ตามข่าวนั้นไม่น่าเป็นจริง ไม่น่าจะมีใครในระบบศาลสูงจะทำได้ และตนก็ไม่รู้ว่าใครจะบ้องตื้นมาจ่ายเงินให้ก่อนที่จะรู้ว่าคำตัดสินชั้นอุทรณ์จะออกมาแบบไหน
“ผมมองอีกมุมหนึ่งในฐานคนที่ทำงานด้านการพิจารณาตัดสินคดีความและกระบวนการยุติธรรมมาทั้งชีวิต ข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน คนไหนที่เข้าไปเกี่ยวพันกับคดีแบบนี้ล้วนเข้าข่ายที่จะต้องถูกตรวจสอบได้หมด ผมคนหนึ่งด้วย ผมยอมรับการตรวจสอบ และผมก็อยากรู้ว่าถ้าไม่มีมูลนั้นคุณทำเพราะอะไร สังคมจะได้เข้าใจ เพราะนี่คือการทำลายล้างศาลยุติธรรมไทย”
นายไสลเกษ เสนออีกว่า ในกระบวนการทำงานนั้นสำนักงานศาลยุติธรรม สามารถขอความเห็นชอบในการดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อให้มีอำนาจเต็มจากสำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลก็ได้ และในวิธีการทำงานก็ควรเปลี่ยนจากปกติที่ศาลจะใช้อำนาจแบบเงียบๆ ทำอะไรไปไม่ค่อยจะพูดมากในการพิจารณาคดี ปล่อยให้ผลของการพิจารณาคดีเป็นตัวอธิบายต่อสังคม
“แต่กรณีนี้ใช้แบบนั้นไม่ได้ ผู้คนในประเทศมีความสงสัย ผมก็สงสัย ต่างประเทศก็สงสัย จึงต้องเปิดเผยในการทำคดีแบบนี้ให้สังคมทราบ ผมเห็นว่าคดีสาธารณะแบบนี้ เปิดเผยให้ทุกคนทราบได้ ผมเห็นว่าไม่ขัดกฏ”
แจงเข้าหลักเกณฑ์อนุญาตฎีกา
สำหรับเรื่องข้อเท็จจริงแห่งคดีนั้น นายไสลเกษ บอกว่า ประเด็นแห่งคดีได้รับทราบจากสาธารณะ และเมื่อปรากฏเป็นข่าว แต่ได้ผ่านตามา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีความเห็นแตกต่างในการตัดสินคดีของ 2 ศาล ซึ่งบททั่วไปในคดีแพ่งให้จบที่ 2 ศาล ยกเว้นคู่ความขออนุญาตต่อศาลฎีกาอีกครั้ง ศาลฎีกาจะอนุญาตไม่อนุญาตก็มีเงื่อนไข หลักเกณฑ์บังคับไว้เป็นหลักการชัดเจนว่าเข้าข่ายอะไรบ้าง และสาธารณะชนก็รับรู้ เช่น 1.การพิจารณาของ 2 ศาลไม่เหมือนกัน ก็เข้าหลักเกณฑ์
2.ความสำคัญของเรื่องที่จะต้องพิจารณาในคดีนั้น เคยมีคดีที่เป็นบรรทัดฐานการพิจารณาแล้วหรือไม่ ถ้ามีก็ตกไป ถ้าไม่มีก็ต้องนำมาพิจารณา ปรากฏว่าเรื่องนี้ไม่เคยมีบรรทัดฐานปมปัญหาข้อตกลงทางการค้า JTEPA ไม่เคยมีข้อตัดสินแม้เคยมีข้อพิพาทแต่ไม่เคยเข้าสู่การพิจาณาของศาลสูง
“ผมเข้าไปเกี่ยวพันในตอนนี้โดยตรง เพราะเรื่องมาที่ประธานศาลฎีกาให้สั่งจ่ายคดีในคดีภาษีอากร คดีล้มละลาย คดีทรัพย์สิน ผมก็ใช้ดุลพินิจจ่ายคดีตามหลักเกณฑ์ หลังจากนั้นคดีนี้ก็หลุดไปจากมือผม ไปสู่แผนกภาษีอากรพิจารณา ซึ่งผมจ่ายคดีนี้แหละน่าจะถูกต้อง แต่ถ้าไม่จ่ายคดีสิ ผมน่าจะมีมลทินมากกว่า เพราะความแห่งการพิจารณาของศาลฎีกามันครบหลักเกณฑ์ อีกกรณีหนึ่งที่อยากให้สังคมพิจารณากันคือ ตามวัตรปฏิบัติของระบบศาลนั้นมันเข้มมาก หากมีใครสักคนไปแอบอ้างว่าต้องสั่งผู้พิพากษาคนนี้คนนั้น เพราะคนนี้รู้จักมันไม่ได้ ผู้พิพากษาแต่ละคนจะไม่รู้ จะรู้แต่เฉพาะคดีที่เราทำ ถ้าใครไปสอดรู้สอดเห็นเรื่องคนอื่นจะมีปัญหาในหน้าที่การงาน พวกเราในศาลจึงระมัดระวังในวัตรปฏิบัติมาก”