กฟผ. ร่วมมือ สวทช. ผลักดัน EV Ecosystem แบบครบวงจรในประเทศไทย อัพเกรดแล็บทดสอบอุปกรณ์อัดประจุรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) กำลังสูง 150 kW ของศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือ PTEC เพื่อรองรับผู้ประกอบการหัวชร์จไฟฟ้าในไทย ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในระบบขนส่งสาธารณะ สู้ราคาน้ำมัน พร้อมเปิดให้บริการทดสอบ 15 กรกฎาคม นี้
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นางเกศวรงค์ หงส์ลดารมภ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ด้านกิจการพิเศษ (สวทช.) และ ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ทดสอบอุปกรณ์อัดประจุรถยนต์ไฟฟ้ากำลังสูงตามมาตรฐาน IEC 61851 ณ ห้องทดสอบสถานีชาร์จ (PTEC) อาคารแชมเบอร์ 10 เมตร อุทยานวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
นายวฤต รัตนชื่น เปิดเผยว่า การร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการผลักดัน EV Ecosystem ในประเทศไทย โดยทั้งสองหน่วยงานภาครัฐที่มีเป้าหมายเดียวกันได้ร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไทยในการสร้างบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยของระบบชาร์จสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยสารสาธารณะ ทั้งบนถนนและแม่น้ำให้ได้ระดับมาตรฐานสากล สถานีชาร์จจัดเป็นองค์ประกอบหลักของ EV Ecosystem นอกจากต้องมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ปลอดภัย ครอบคลุมพื้นที่การเดินทางแล้ว สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ “มาตรฐาน” ของสถานีชาร์จที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไป และยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง
“กฟผ. จึงได้ร่วมมือกับ สวทช. สร้างความมั่นใจ พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตหัวชาร์จไฟฟ้าในประเทศ
โดยการพัฒนาแล็บทดสอบหัวชาร์จไฟฟ้า ที่มีมาตรฐานสากลรองรับ ณ ห้องทดสอบสถานีชาร์จ (PTEC) อาคารแชมเบอร์ 10 เมตร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จากเดิมที่สามารถทดสอบได้เพียง 60 กิโลวัตต์ ขยายการทดสอบเพิ่มเป็น 150 กิโลวัตต์ เพื่อให้ผู้สนใจผลิตหัวชาร์จไฟฟ้าสามารถนำมาทดสอบเพื่อให้ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้การทดสอบเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย โดยจะเปิดให้บริการทดสอบ 15 กรกฎาคม 2565 นี้ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะมีประโยชน์ในวงกว้างต่อประเทศชาติ และเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” นายวฤต ย้ำในตอนท้าย
ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ กล่าวเสริมว่า จากนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานในการผลิตยานยนต์แบบเดิมและยานยนต์ไฟฟ้าของโลกนั้น หลายหน่วยงานได้ระดมสรรพกำลัง ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งการผลิตแบตเตอรี่ การประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการนำยานยนต์ไฟฟ้าไปใช้ขนส่งในระบบสาธารณะ PTEC เห็นถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของ กฟผ. ในการสร้างระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาแล็บทดสอบดังกล่าวขึ้น โดยเน้นไปที่การทดสอบหัวชาร์จไฟฟ้าแบบกระแสตรงขนาดใหญ่ 150 กิโลวัตต์ สำหรับการใช้งานของรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า หัวรถลากไฟฟ้า และ เรือเฟอร์รี มุ่งหวังลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการในการส่งหัวชาร์จไปรับรองมาตรฐานที่ต่างประเทศ ลดต้นทุนในการผลิต ลดระยะเวลาในการพัฒนา ส่งผลให้ราคาของหัวชาร์จไฟฟ้าไม่สูงมาก สามารถแข่งขันในตลาดได้
นอกจากนี้ สวทช. โดย PTEC ยังให้บริการทดสอบชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานสากลอีกหลายชนิด ทั้งเซลล์แบตเตอรี่ลิเธียม โมดูลแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบตเตอรี่แพ็กของยานยนต์ไฟฟ้า การทดสอบประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเบอร์ 5 การทดสอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงการทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EV) สำหรับยานยนต์ทั้งคัน PTEC และ กฟผ. พร้อมสนับสนุน EV Ecosystem ของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับ การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนต่อไป
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่