ไทยพร้อมแค่ไหน? กับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ยนตรกรรมสมัยใหม่ที่กำลังถูกจับตามองและยังเป็นอนาคตของยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นคือ “ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV” ที่ในหลายๆ ประเทศได้ผลักดันส่งเสริมให้เกิดการผลิต และการใช้งานกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายทางด้านภาษีของภาครัฐเพื่อจูงใจทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีความตื่นตัวและกระโดดเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่และค่ายรถยนต์หน้าใหม่ทั้งฝั่งตะวันออก และตะวันตก จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นี้ กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว แล้วประเทศไทยล่ะ! พร้อมแค่ไหน “ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (NEIC)” จะสรุปให้เข้าใจ
– เป้าหมายยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นอย่างไร และสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพียงพอไหม?
ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน รัฐบาลไทยจึงได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้กำหนดเป้าหมายการส่งเสริมให้มียอดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภททั้งสิ้น 603,500 คัน ภายในปี 2568 แบ่งเป็น 1. รถจักรยานยนต์ จำนวน 360,000 คัน 2. รถยนต์นั่งและรถกระบะ จำนวน 225,000 คัน 3. รถบัสและรถบรรทุก จำนวน 18,000 คัน และ 4. รถสามล้อ จำนวน 500 คัน ขณะที่เป้าหมายในปี 2578 จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 3,039,800 คัน แบ่งเป็น 1. รถจักรยานยนต์ จำนวน 1,800,000 คัน 2. รถยนต์นั่งและรถกระบะ จำนวน 1,154,000 คัน 3. รถบัสและรถบรรทุก จำนวน 83,000 คัน และ4. รถสามล้อ จำนวน 2,800 คัน
หากดูจากข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ประเทศไทยมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมภายใต้ พรบ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พรบ. ว่าด้วยการขนส่งทางบก รวมทั้งสิ้น 20,087 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 7,747 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 11,637 คัน รถสามล้อ 398 คัน รถบัสและรถบรรทุก 305 คัน เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ที่มียอดยานยนต์ไฟฟ้าสะสมรวมทั้งหมด 11,382 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 4,132 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 6,749 คัน รถสามล้อ 263 คัน รถบัสและรถบรรทุก 238 คัน ซึ่งคิดเป็นจำนวนรวมที่มากขึ้นถึง 8,705 คัน
ทั้งนี้ จากความนิยมยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมากทั้งในประเทศไทยและตลาดโลก รวมทั้งผลต่อเนื่องจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทุกประเทศ ทำให้มีความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากการแข่งขันพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะทำให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าลดลงจนถึงระดับที่มีราคาเท่ากับรถยนต์สันดาปได้ในระยะเวลาอันใกล้
ในส่วนของการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้น จากข้อมูลล่าสุดในเดือนมีนาคม 2565 มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั่วประเทศจำนวน 944 สถานี แบ่งเป็นกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ 473 สถานี ภาคกลาง 152 สถานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 95 สถานี ภาคเหนือ 109 สถานี และภาคใต้ 115 สถานี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้ศึกษาจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เหมาะสมเพื่อรองรับการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายให้มีจำนวนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะแบบชาร์จเร็วหรือ Fast Charge จำนวน 2,200-4,400 เครื่องภายในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 เครื่อง ภายในปี 2573 ครอบคลุมทั้งเมืองใหญ่ พื้นที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก และพื้นที่ชุมชน และจากการศึกษา ยังระบุอีกว่าในปี 2573 ประเทศไทยควรมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วในหัวเมืองใหญ่ จำนวน 8,227 เครื่อง และการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในเขตพื้นที่ทางหลวง (Highway) จำนวน 5,024 เครื่อง รวมถึงติดตั้งเครื่องสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั่วประเทศอีก 8,291 เครื่องด้วย
– คำนวณค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
การคำนวณค่าไฟฟ้าต่อการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 1 ครั้งอย่างคร่าว สามารถทำได้โดยนำความจุแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า คูณด้วยอัตราค่าไฟฟ้า ณ ขณะนั้น ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าคันหนึ่งมีความจุของแบตเตอรี่ 50kWh เมื่อชาร์จไฟฟ้าเต็ม 100% จะขับขี่ได้ระยะทางสูงสุด 400 กม. และในขณะนั้นอัตรา ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.42 บาท/หน่วย เท่ากับว่าจะมีค่าไฟฟ้า 221 บาทต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เฉลี่ยแล้วมีต้นทุนค่าไฟฟ้า อยู่ที่ 0.55 บาท/กม. เป็นต้น และหากเทียบกับรถยนต์สันดาปภายในที่มีอัตราราคาน้ำมันอยู่ที่ 40 บาท/ลิตร ขับขี่ได้ 10 กม./ลิตร จะมีต้นทุนค่าน้ำมันอยู่ที่ 4 บาท/กม. เท่ากับว่ารถยนต์สันดาปมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงประมาณ 7 เท่าของรถยนต์ไฟฟ้า
– การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าช่วยลดการปล่อยมลภาวะได้ขนาดไหน?
จากการสำรวจปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อ้างอิงข้อมูลในปี 2564 พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่งมีปริมาณถึง 69.1 ล้านตัน โดยเป็นรองกลุ่มโรงงานผลิตไฟฟ้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดที่ 88.3 ล้านตัน และภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 76.5 ล้านตัน จากตัวเลขนี้จะเห็นว่ารถยนต์สันดาปภายในเป็นส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกที่สำคัญในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ โดยยานยนต์ไฟฟ้า 1 คัน จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เนื่องจากไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงภายใน และไม่มีท่อไอเสียที่ส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยลดมลพิษ ในตัวเมืองได้อย่างมหาศาล และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ