วันเสาร์ ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 10.01 น.
วันที่ 29 ต.ค.2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีคนยากจนจำนวนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนยากจนที่ร้อยละ 6.32 ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วนคนยากจนร้อยละ 6.83 ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจำนวนครัวเรือนยากจนก็พบว่าในปี 2564 ครัวเรือนยากจนมีจำนวนทั้งสิ้น 1.24 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.79 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ที่มีจำนวนครัวเรือนยากจนประมาณ 1.40 ล้านครัวเรือน
สาเหตุสำคัญที่สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่เน้นพุ่งเป้าให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุชัดว่า หากรัฐบาลไม่มีโครงการช่วยเหลือเยียวยา จำนวนคนจนจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 11 ล้านคน
นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังเผยให้เห็นว่า สถานการณ์การว่างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อยู่ที่ 5.5 แสนคน ปรับตัวลดลงจาก 6.08 แสนคนในไตรมาส 1 ของปี 2565 หรือลดลงประมาณ 5.8 หมื่นคน โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยยกเว้นการกักตัวของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในบางสาขาเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงร้อยละ 0.1 จากไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.5 ของกำลังแรงงานรวม
ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการแก้ไขปัญหาทั้งในแบบภาพรวม และแบบเจาะจงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยได้แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นต้นตอของความยากจน 8 เรื่องสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ (เน้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ SMEs) การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะครูและตำรวจ การแก้ไขปัญหาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินการนโยบาย “การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป้าหมายคือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน โดยได้วางกลไกครอบคลุมตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ ซึ่งในระดับปฏิบัติ หรือในระดับพื้นที่ จะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจนในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัวมีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือนให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัว ทีมพี่เลี้ยงก็จะมีมาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาในแต่ละมิติที่แตกต่างกันไปตามแต่ละครอบครัว เช่น มิติสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปี การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง มิติความเป็นอยู่ ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มิติการศึกษา ฝึกอาชีพ มิติด้านรายได้ การจัดหาที่ดินทำกิน วิสาหกิจชุมชน เกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรม รัฐวิสาหกิจและสำนักงานจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านระบบ Video Conference โดยได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นแม่ทัพในการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกับขุนพลในทุกจังหวัด อำเภอ ซึ่งนิยามของคำว่า “ความยากจน” คือ ทุกเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ซึ่งจากผลการสำรวจการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยในแพลตฟอร์ม ThaiQM ภาพรวมประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ต.ค. 65) พบว่า มีจำนวนครัวเรือนที่ประสบปัญหา จำนวน 3,810,466 ครัวเรือน และสามารถแก้ไขปัญหาแล้ว 1,908,619 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 50.09 โดยเมื่อจำแนกตามจำนวนปัญหา มีจำนวน 12,143,656 เรื่อง แก้ไขแล้ว 5,159,142 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 55.48
หนี้ครัวเรือนลดลง 2 ไตรมาส ทำไมมองไปข้างหน้ายังน่ากังวล
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2022 (พ.ศ.2565) อยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.5%YOY มีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องหลายไตรมาส โดยขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดวิกฤติโควิดและเพิ่มช้าสุดในรอบ 18 ปี จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 88.2%
นอกจากนี้ ยังเป็นผลจาก Nominal GDP ที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังผ่อนคลายนโยบายควบคุมโรคและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงผลด้านราคาที่ปรับสูงขึ้นมากในปีนี้
หากพิจารณาการขยายตัวของสินเชื่อครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 พบว่าชะลอลงเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลแม้จะชะลอลงบ้าง แต่ถือว่ายังขยายตัวสูง ส่วนหนึ่งสะท้อนแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายทดแทนการขาดสภาพคล่อง ในภาวะรายได้ฟื้นตัวไม่ทันรายจ่าย ในขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเร่งขึ้นจากการใช้จ่ายที่ฟื้นตัว
ขณะที่รายได้ฟื้นช้ากว่ารายจ่าย จะเป็นปัจจัยกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในระยะถัดไป โดยผลสำรวจจาก EIC Consumer survey 2022 พบว่า (1) ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ค่าครองชีพคนไทยสูงขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับรายได้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังไม่เพิ่มขึ้น (ผู้บริโภคเกือบ 2 ใน 3 ยังมีรายได้ไม่เท่ากับก่อนเกิดวิกฤติโควิด โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยที่รายได้ฟื้นช้ากว่ากลุ่มคนรายได้สูง)
และ (2) ในช่วง 6 เดือนข้างหน้าผู้บริโภค 43.8% คาดว่ารายได้จะโตไม่ทันรายจ่าย ส่งผลให้ต้องเผชิญปัญหา 3 ด้าน ได้แก่ ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ปัญหาเงินออมลดลง และปัญหาการชำระหนี้ ทำให้ครัวเรือนเหล่านี้มีสภาพคล่องรองรับค่อนข้างน้อย และมีความเสี่ยงที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต
EIC ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP จะปรับลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 86-87% ณ สิ้นปี 2022 ตามการเติบโตของ Nominal GDP ที่เป็นผลจากแนวโน้มเงินเฟ้อสูงเป็นหลัก อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่มีแนวโน้มลดลง จะไม่สะท้อนปัญหายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในภาพรวมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้าได้ ท่ามกลางภาวะรายได้โตช้ากว่ารายจ่ายของครัวเรือนบางกลุ่มและวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น
EIC มองว่า มาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนยังเป็นเรื่องท้าทาย โดยหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาหยั่งรากลึกในเศรษฐกิจไทยยาวนาน นับเป็นความท้าทายสำหรับภาครัฐที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืนและสามารถลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ได้สำเร็จในระยะข้างหน้า
ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน รวมถึงครัวเรือน มุ่งจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งระบบตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้จนถึงการชำระหนี้ค้าง โดยยึดหลัก “ลดก่อ (หนี้) ชะลอรายจ่าย สร้างรายได้ยั่งยืน” เริ่มตั้งแต่นโยบายปัจจุบันที่ภาครัฐสนับสนุนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสรายได้ในอนาคตของลูกหนี้
นโยบายระยะปานกลางมุ่งส่งเสริมวินัยการเงินและสร้างความรู้ทางการเงิน เพื่อลดการก่อหนี้เกินตัวในอนาคต ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงหนี้ในระบบ รวมถึงนโยบายระยะยาวส่งเสริมทักษะและโอกาสในการแข่งขันของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่สูงขึ้น
As part of their spo…
This website uses cookies.