Submitted on Wed, 2022-10-19 17:24
วงเสวนา ถกปัญหาแรงงานนอกกระบบ จี้ถามรัฐข้าวของแพงแต่ค่าแรงถูก จะอยู่รอดอย่างไร ด้าน ประธานกรรมาธิการการแรงงาน ชี้แรงงานนอกระบบควรได้รับสิทธิในการรวมตัวกันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ควรถูกปิดกั้น และแรงงานทุกคนควรมีประกันสังคมที่เท่าเทียมกัน และต้องไปให้ถึงรัฐสวัสดิการ
19 ต.ค.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่าเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และ มูลนิธิ Friedrich-Ebert-Stiftung จัดเวทีเสวนา “วิกฤตข้าวของแพง ค่าแรงต่ำ แรงงานนอกระบบจะก้าวพ้นอย่างไร” ที่โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค
รายงานระบุว่า กชพร กลักทองคำ ตัวแทนผู้รับงานไปทำที่บ้าน กล่าวว่า จากสภาพปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นะตอนนี้ทำให้หลายคนยังไม่มีออเดอร์ ต้องขายจักรเย็บผ้าที่เป็นของรักเพื่อนำเงินมาซื้อข้าวกิน หลายคนต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นเพื่อให้มีรายได้ ส่วนคนที่ยังเย็บผ้าอยู่ก็ต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งด้าย กระดุม ซิป ที่มีราคาสูงขึ้น แต่แรงงานนอกระบบก็ไม่สามารถขอขึ้นค่าแรงจากผู้ว่าจ้างได้ จากที่เคยเย็บกางเกงตัวละ4บาท ตอนนี้เหลือตัวละ3บาท ก็ต้องยอมทำ ดีกว่าที่จะไม่ได้งาน และไม่มีรายได้ ตอนนี้ทุกคนต้องเพิ่มชั่วโมงทำงานเพื่อให้พอกิน
มาลี สอบเหล็ก จากเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงโควิดลูกจ้างทำงานบ้านมีทั้งถูกเลิกจ้าง และถูกลดชั่วโมงทำงานเพราะนายจ้างไม่มีเงิน ที่หนักหนาคือ ลูกจ้างทำงานบ้านไม่เคยได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง และไม่เคยได้รับสิทธิประกันการว่างงาน เพราะไม่ได้อยู่ใน ม.33 ของระบบประกันสังคม ถึงตอนนี้หลายคนได้งานกลับคืนมา แต่ก็มีหลายคนที่นายจ้างเลือกที่จะจ้างคนใหม่เพราะอายุมากกว่า45ปี แล้วทำงานหนักไม่ได้เหมือนเดิม ดูเหมือนชีวิตของลูกจ้างทำงานบ้านจะขึ้นอยู่กับโชคชะตาว่าจะได้เจอนายจ้างแบบไหน มากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับกฎหมาย หรือการคุ้มครองจากภาครัฐ
เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงที่โควิดระบาดหนักมีรายได้เป็นศูนย์ ต้องกู้เงินนอกระบบมาใช้ ทุกวันนี้ถึงจะมีรายได้วันละ500-600 บาท แต่ก็ยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายขั้นต้นที่มีค่ากิน3มื้อ วันละ200 ค่าน้ำมันรถวันละ150 บาท ไม่รวมค่าผ่อนรถ ผ่อนเสื้อวิน ค่าเช่าบ้าน ถ้ารัฐจะช่วยมอเตอร์ไซด์รับจ้าง จะต้องแก้ปัญหาการแข่งขันกับมอเตอร์ไซด์ในระบบแพลตฟอร์มโดยแบ่งพื้นที่กันให้ชัดเจน อาจให้ระบบแพลตฟอร์มส่งแค่ของ และอาหาร ไม่รับผู้โดยสาร รวมทั้งรัฐควรมีนโยบายลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ เช่น มีเงินกู้ดอกเบี้ยถูกเพื่อกู้ซื้อมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดต้นทุน และช่วยลดมลภาวะ นอกจากนั้นยังต้องควบคุมราคาน้ำมันด้วย
ปรีชา ไทยสงเคราะห์ ประธานสหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กรุงเทพฯ กล่าวว่าสิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าต้องการคือพื้นที่ขายของ อาชีพ หาบเร่ แผงลอย นอกจากดูแลครอบครัวที่อยู่ข้างหลังอีกหลายชีวิต ยังเป็นข้อต่อเชื่อมระหว่างผู้ผลิตวัตถุดิบ กับผู้บริโภค และช่วยให้คนจนได้กินของดี ราคาถูก อยากให้ภาครัฐมองให้เห็นความจริงเหล่านี้ เปิดโอกาสให้เราได้ใช้พื้นที่สาธารณะประกอบชีพ เพราะกฎระเบียบที่แข็งตัว ไม่ได่ช่วยให้คนตัวเล็กตัวน้อยอิ่มท้อง
รายงานยังระบุว่าช่วงบ่ายเป็นเวทีแลกเปลี่ยน “บทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนการฟื้นตัวของแรงงานนอกระบบให้ก้าวพ้นภาวะวิกฤต” โดย นภสร ทุ่งสุกใส ตัวแทนกระทรวงแรงาน กล่าวว่า จากการสำรวจปัญหาของแรงงานนอกระบบเป็นเรื่องค่าตอบแทนต่ำ และงานไม่ต่อเนื่อง ถ้าดูในเรื่องค่าตอบแทนจะพบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานนอกระบบอยู่ที่ 6,800 บาท /เดือน ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และต่ำกว่าแรงงานในระบบอยู่มาก กระทรวงแรงงานมีแผนที่จะแก้ปัญหา คือ1.ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลที่มีให้เป็นฐานเดียว ไม่ซ้ำซ้อนกัน และเพิ่มข้อมูลส่วนที่ขาดให้สมบูรณ์ 2. เร่งรัด พ.ร.บ.ส่งเสรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ให้มีผลบังคับใช้ในปี 2556 และ3.จัดทำแผนบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ 5 ปี
สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวว่า แรงงานนอกระบบควรได้รับสิทธิในการรวมตัวกันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ควรถูกปิดกั้น และแรงงานทุกคนควรมีประกันสังคมที่เท่าเทียมกัน ถ้าจะให้ดีต้องไปให้ถึงรัฐสวัสดิการ
2022-10-19 17:24
2022-10-20 19:44
2022-10-20 18:39
2022-10-20 17:29
2022-10-20 16:08
2022-10-20 14:28
2022-10-20 12:39
2022-10-20 11:18
2022-10-20 03:00
Members of the SWE D…
This website uses cookies.