วันจันทร์ ที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 19.12 น.
วันที่ 2 พ.ค.2565 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 4 ร่วมพูดคุยปัญหาจากผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ กับ อริยะพงษ์ เจริญสุข พิธีกรรายการรถจักรยานยนต์หลายรายการ เจ้าของเพจ จอห์น ไรเดอร์ – John Rider ซึ่ง “เอ้ สุชัชวีร์” ได้รับฟังมุมมองและปัญหาจากทั้งผู้ประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ และไรเดอร์ดิลิเวอรี่ รับส่งอาหาร-พัสดุ ตั้งแต่ ปัญหาคนจรจัด ปัญหาความปลอดภัยเนื่องจากไม่มีกล้องวงจรปิด ไปจนถึงฝาท่อ และถนนไม่เรียบเสมอ
“เอ้ สุชัชวีร์” กล่าวว่า ตนตั้งใจให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีอินเทอร์เน็ตฟรี 150,000 จุด มีกล้องวงจรปิดไร้สายเชื่อมโยงกัน และมีแสงสว่าง เดี๋ยวนี้หลอดไฟ LED มีราคาไม่แพง ดังนั้นเมื่อมีเหตุร้ายก็ตามจับได้ ส่วนปัญหาฝาท่อระบายน้ำซึ่งเป็นเรื่องทุกข์ใจกันมาก เพราะงานกรุงเทพฯ แบบนี้ ในต่างประเทศเวลาเขาทำงานโยธาจะมีมาตรฐาน ถ้า กทม. ทำตามมาตรฐานสากล ปัญหาก็จะไม่มี ทั้งปัญหาถนนและระดับการวางฝาท่อ แต่ที่ผ่านมา กทม. ละเลยเรื่องมาตรฐาน เพราะฉะนั้นผู้ว่าฯ จะต้องเข้าไปดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะทำให้ไม่ต้องมาปะผุ ไม่ต้องมีความเสี่ยงอุบัติเหตุ
ส่วนที่ นายอริยะพงษ์ ได้ถามถึงปัญหาที่เกิดจากการก่อสร้างที่ผู้รับเหมาทิ้งงาน ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดนั้น “เอ้ สุชัชวีร์” กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ กทม. เพราะกรุงเทพมหานครทั้งหมดเป็นพื้นที่ของ กทม. ต่อให้เป็น การไฟฟ้า การประปา แม้ไม่อยู่ในอำนาจ กทม. แต่ถ้าจะมาดำเนินการฝังท่อ เดินสายไฟ ก็ต้องมาขออนุญาต กทม. ก่อน และระหว่างที่กำลังดำเนินการหากไปกีดขวางจราจร มีของหล่น กทม. ก็สามารถดำเนินการเอาผิดได้ ภายใต้กฎหมายเรื่องความปลอดภัย กฎหมายความสะอาด และ กทม. ก็ได้ให้อำนาจผู้อำนวยการเขตเป็นตัวแทนผู้ว่าฯ กทม. ให้สามารถดำเนินการได้
“ต่อไป ถ้ามีเหตุแบบนี้ผมไม่ยอม เพราะมันเสียหายกันหมด และเวลาทำงานเสร็จจะส่งมอบ กทม. ก็ต้องเป็นคนเซ็นรับ ไม่อย่างนั้นผู้รับเหมาจะรับค่าจ้างไม่ได้ ซึ่งการเซ็นรับมอบงานความจริงแล้วควรจะต้องดีเท่าเดิม หรือดีกว่าเดิม แต่ก็เห็นมันกลับแย่กว่า เรื่องนี้จึงต้องเป็นหน้าที่ของ กทม. ที่ต้องเข้าไปดูแลไม่ให้เสียเหลี่ยม เพราะพี่เอ้ จบโยธามา ทำงานด้านนี้มา ถ้างานโยธา กทม. ไม่เรียบร้อย มีปัญหามันเสียท่าเลยนะ”
ส่วนที่มีการแสดงความเป็นห่วงในเรื่องการบริหารงานใน กทม. ที่แม้ผู้บริหารระดับสูงจะมีวิสัยทัศน์ และระบบการทำงานยังละเลยอยู่นั้น “เอ้ สุชัชวีร์” กล่าวว่า จากคำพูดที่ว่า หัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก ดังนั้นถ้าผู้ว่าฯ กทม. เอาจริงเอาจังที่เหลือก็ดี พร้อมกับยืนยันว่า หากตนได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะไม่นั่งประจำอยู่ที่ศาลาว่าการ แต่จะไปดูงานด้วยตัวเอง เพื่อวางมาตรฐานให้เหมือนกัน
ตัวแทนวินมอเตอร์ไซด์ได้สอบถามถึงแนวคิดเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล เนื่องจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุบ่อย การรักษาพยาบาลมีราคาแพง พร้อมกับสะท้อนปัญหาการรับการรักษากรณีติดโควิดในช่วงที่ผ่านมาว่าตัวเองไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษา และต้องรักษาด้วยตัวเอง ในเรื่องนี้ “เอ้ สุชัชวีร์” กล่าวว่า มี 2 เรื่องที่ กทม. มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ คือเรื่องการศึกษา และสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุข กทม. มีคณะแพทย์ของตัวเอง มีโรงพยาบาล 11 แห่ง มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และมีศูนย์ย่อยที่อยู่ใกล้บ้านอีก 78 แห่ง แต่ศูนย์ย่อยเหล่านี้ไม่มีห้องปลอดเชื้อ ขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ จากปัญหาเหล่านี้ ตนจึงมีนโยบาย “หมอมี สาธารณสุขดี ใกล้บ้าน” เพื่อเติมกำลังหมอพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกเขตต้องมีห้องปลอดเชื้อ และมีอุปกรณ์การแพทย์ดูแลอุบัติเหตุได้
นายอริยะพงษ์ ได้สอบถามถึงปัญหาการขับขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศร ตลอดจนปัญหาจุดกลับรถอยู่ไกล ซึ่ง “เอ้ สุชัชวีร์” กล่าวว่า ถึงวันนี้ตั้งใจจะอัพเดทเกาะกลางถนน กับจุดกลับรถให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเรื่องความปลอดภัย ลดปัญหาการจราจร ลดปัญหาการขับขี่ย้อนศร รวมไปถึงการขับขี่บนฟุตบาทด้วย ที่เรียกว่าอัพเดทเกาะกลางถนน เพราะสมัยก่อนมันอยู่ตรงนั้นเพราะไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีตลาด แต่วันนี้การพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่เกาะกลางถนนไม่ได้รับการอัพเดท หรือปรับปรุงให้สมเหตุสมผล
พร้อมกับเพิ่มเติมอีกว่า ผิวทางในกรุงเทพฯ มีน้อยมาก มีไม่ถึง 7% ขณะที่โตเกียวมี 20% ปารีสมี 40% แล้วยิ่งมีการก่อสร้างทำให้พื้นผิวจราจรหายไป 2-3 เลน และมีการกองวัสดุก่อสร้างกีดขวาง ทำให้รถที่มีอยู่ใช้งานไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ทำได้ก็คือ เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วผู้รับเหมาจะต้องรีบคืนพื้นผิวจราจรให้กับ กทม. โดยเร็ว
นอกจากนี้ นายอริยะพงษ์ ยังสอบถามถึงการห้ามรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพาน หรือลงอุโมงค์ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ขนส่ง ปี 2522 ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ “เอ้ สุชัชวีร์” กล่าวว่า กฎจราจรยึดถือเรื่องความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง และไม่ใช่เรื่องเฉพาะกับคน และยานพาหนะเท่านั้น แต่เป็นเรื่องกายภาพ ที่ต้องมีแสงสว่างอย่างเพียงพอ สโลปทางขึ้น-ลงอุโมงค์ เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้กฎหมายมีความทันสมัย
“2 ล้อ จะได้สิทธิเท่าเทียมเหมือนคนอื่น และชีวิตของ 2 ล้อ มันจะต้องเป็นชีวิตที่ดีขึ้น ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และครอบครัวพี่เอ้ก็ตั้งใจจะดูแล ผู้ว่าฯ ต้องรู้งานวิศวกรรม และต้องจ้ำจี้จ้ำไช มาร่วมเปลี่ยนกรุงเทพฯ #เราทำได้”
This website uses cookies.