Motor Sport Sponsored

‘เอเปก’ออกผลแล้ว เกาหลีใต้ขอแรงงาน

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

ผลพวงเอเปก แรงงานไทยเนื้อหอม “สุชาติ” เผยเกาหลีใต้เพิ่มโควตาแรงงานไทย ทั้งสิ้น 15,000 คน ซึ่งจากเดิม 2,500 คน คิดเป็นกว่า 600 เปอร์เซ็นต์ อนาคตจะเพิ่มขึ้นอีก “ทิพานัน” ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัว นายกฯ บริหารถูกทาง  โชว์ S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือ BBB+  “บีโอไอ” เผยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลกสนใจลงทุนไทย หลังตลาดในประเทศเติบโตชัด

            วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน   เปิดเผยว่า นายมุน ซึงฮย็อน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย  พร้อมกับคณะ ได้เข้ามาพบเพื่อเยี่ยมคารวะเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งและหารือประเด็นด้านแรงงาน ผลพวงจากการประชุมเอเปก (APEC 2022) ที่ผ่านมา ซึ่งการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพได้สร้างความมั่นใจให้กับหลายประเทศ เป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐบาลไทยได้กระชับความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดความร่วมมือตามมาในหลายๆ ด้าน รวมถึงความร่วมมือด้านแรงงานกับประเทศต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของคนไทยที่จะได้ไปทำงานในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนไทยมีงานทำ มีโอกาสพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้น และนำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย

            นายสุชาติกล่าวด้วยว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยมีงานทำ ยกระดับทักษะฝีมือ นำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ

            “ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ผมเป็นตัวแทนไปส่งนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลีภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม APEC 2022 และผมได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันในประเด็นความร่วมมือด้านแรงงาน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยที่เข้าไปพำนักในเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงการขอเพิ่มโควตาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในเกาหลีด้วย”

            จากการหารือในครั้งนี้กับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ได้หารือในประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น คือ

            การขอเพิ่มโควตาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ในปี 2566 ทั้ง 3 กลุ่ม กลุ่มแรก วีซ่าทำงานประเภท E-9 (แรงงานทั่วไป) ที่จัดส่งตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ขอเพิ่มโควตาจากเดิมที่เคยจัดส่งไปปีละ 2,500 คน เป็น 5,000 คน กลุ่มที่ 2 วีซ่าทำงานประเภท E-7 (แรงงานประเภททักษะ/แรงงานฝีมือ) ไปทำงานสาขาช่างเชื่อม ช่างทาสี ในอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ จำนวน 5,000 คน กลุ่มที่ 3 วีซ่าทำงานประเภท E-8 (แรงงานเกษตรตามฤดูกาล) จำนวน 5,000 คน

            รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 15,000 คน ซึ่งจากเดิม 2,500 คน เพิ่มเป็น 15,000 คน คิดเป็นกว่า 600 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ในอนาคตเกาหลียินดีที่จะเพิ่มโควตาให้แรงงานไทยได้เข้าไปทำงานในเกาหลีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบันเกาหลีกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงมีความต้องการนำเข้าแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ที่สำคัญนายจ้างเกาหลีชื่นชอบแรงงานไทยเป็นอย่างมาก เพราะแรงงานไทยขยัน ทำงานเก่ง

            ส่วนประเด็นกรณีคนไทยที่ลักลอบเข้าไปพำนักในเกาหลีอย่างผิดกฎหมายนั้น  รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้ดำเนินการตรวจสอบสืบค้นข้อมูลและดำเนินคดีกับบริษัททัวร์ที่ลักลอบพาคนไทยเข้าไปพำนักในเกาหลีอย่างผิดกฎหมายแล้วจำนวน 37 ราย” นายสุชาติกล่าว

            น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่ได้ภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวโลก และจะดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจาก  S&P ถือเป็นบริษัทในเครือของ S&P Global Inc. สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก

              น.ส.ทิพานันกล่าวว่า โดยจากรายงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ระบุเหตุผลสำคัญที่ S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย มาจากการคลี่คลายของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตลอดจนการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย และการที่ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างทั่วถึง เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดย S&P คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 428,000 คน ในปี 2564 เป็นประมาณ 10 ล้านคนในปี 2565 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ และเศรษฐกิจไทย (Real GDP) จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 2.9 ในปี 2565 เป็นเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2565-2568

            รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ การสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยที่ S&P มองว่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ขณะที่ภาคการคลังมีเสถียรภาพ จากการลดการใช้จ่ายภาคการคลังตามสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย รวมทั้งการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งหนี้ภาครัฐบาลสุทธิและต้นทุนการกู้เงินมีเสถียรภาพ จึงทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น ขาดดุลงบประมาณลดลง และหนี้ภาครัฐบาลจะทยอยลดลงในระยะ 3 ปีข้างหน้า

            ส่วนภาคการเงินต่างประเทศ พบว่าแม้ประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติ ภาคการท่องเที่ยวของประเทศฟื้นตัว อีกทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศและสภาพคล่องของไทยยังอยู่ในระดับสูงและแข็งแกร่ง S&P คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ของ GDP ในปี 2566-2568

            “จากมุมมองของ S&P สะท้อนว่าการดำเนินการมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาถูกทาง ทำให้เศรษกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม และวางรากฐานสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต การเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐบาล อยู่ในสายตาของชาวโลก ซึ่งจะเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ในโครงการหลักๆ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จะนำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายความเจริญและพัฒนาอย่างยั่งยืน” น.ส. ทิพานันกล่าว

             ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลกำหนดนโยบายให้การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ติดตามผลสัมฤทธิ์ของนโยบายอย่างต่อเนื่อง และพอใจกับแนวโน้มการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานว่า ตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า ได้มีผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกให้ความสนใจประเทศไทย ประกอบกับไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ทั้งรถยนต์นั่ง กระบะ จักรยานยนต์ ที่สำคัญของโลกอยู่แล้ว ซึ่งผู้ผลิตหลายราย ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามายังบีโอไอ และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุยกับผู้ผลิตรถยนต์หลายราย จากทั้งจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ที่ให้ความสนใจมาลงทุนในไทยด้วย

            น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ข้อมูลของบีโอไอแสดงให้เห็นว่า นอกจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนแล้ว ความต้องการและตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วในไทย เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า สนใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานผลิตเพื่อขายในไทยและส่งออกไปทั่วโลก ล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้รายงานว่า 10 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) ทั่วประเทศมียานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) จดทะเบียนใหม่ 15,258 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2564 ร้อยละ 230.62 โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง และจักรยานยนต์ ที่ 7,046 คัน และ 7,534 คัน ตามลำดับ ส่วนที่เหลือเป็นรถอื่นๆ เช่น รถโดยสาร รถกระบะ รถบรรทุก รถแวน รถสามล้อ เป็นต้น เมื่อรวมกับส่วนที่ทยอยจดทะเบียนมาตั้งแต่รัฐบาลเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการใช้และผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศแล้ว ณ สิ้นเดือน ต.ค.65 มียานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV จดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 26,527 คัน เพิ่มขึ้นจาก ณ ต.ค.64 ร้อยละ 162.25 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง 11,025 คัน และจักรยานยนต์ 14,170 คัน ส่วนที่เหลือเป็นยานยนต์ประเภทอื่นๆ

            “นายกรัฐมนตรีพอใจกับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้ ซึ่งส่วนสำคัญมาจากมาตรการภาษี และไม่ใช่ภาษีที่รัฐบาลออกเพื่อกระตุ้นความต้องการในประเทศ โดยมีผลตอบรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากกระแสความสนใจของประชาชนต่อยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ ที่ผู้ผลิตเสนอออกสู่ตลาด” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

            น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ตามแผนงานปี 2566 ที่บีโอไอจะมีกิจกรรมชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศทุกรูปแบบและช่องทางรวมกว่า 200 ครั้ง นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เสนออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก เร่งให้ข้อมูลนักลงทุนได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ครอบคลุมทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานผลิตหลักให้ได้

            ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยปัจจุบันอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ EV ซึ่งนโยบายของคณะกรรมการฯ ได้นำไปสู่การออกทั้งมาตรการกระตุ้นความต้องการสร้างตลาดในประเทศ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอเพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิต รถยนต์ รถโดยสาร จักรยานยนต์ เรือไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วน และแบตเตอรี่ รวมถึงมาตรการเสริมของหน่วยงานอื่นๆ เพื่อดึงดูดผู้ผลิตเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างครบวงจร โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ประเทศไทยจะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ในประเทศ.

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.