เมทัลเล็กซ์ เปิดเวทีรวมพลังขับเคลื่อนดันนวัตกรรม“ยานยนต์ไร้คนขับไทย” สู่สากล
“เมทัลเล็กซ์” รวม 6 กูรูอุตสาหกรรมยานยนต์ จัดสัมมนา หัวข้อ “Smart Move รวมพลังขับเคลื่อนและพัฒนายานยนต์ไทย” ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมานานกว่า 5 ทศวรรษ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลก แม้ว่าจะมีความผันผวนทางธุรกิจและทำให้อุตสาหกรรมมีการชะลอตัวเป็นบางช่วง ซึ่งปัจจุบันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์เมื่อภาครัฐให้การสนับสนุนในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับ ทำให้เกิดการตื่นตัวในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งฝั่งผู้บริโภคและค่ายรถยนต์ผู้ผลิต รวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง
นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทย ในงานสัมมนา “การขับเคลื่อนและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทยสู่สากล” ซึ่งจัดขึ้นในงาน METALEX 2022 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ว่า ในฐานะหน่วยงานรัฐจะต้องให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างไรเพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์บรรลุเป้าหมาย ซึ่งการมีคณะกรรมการที่มาดำเนินการขับเคลื่อน จะต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์เดินหน้าต่อไปได้ การเปลี่ยนผ่านยานยนต์แบบเดิมมายังยานยนต์รุ่นใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป
รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ในเชิงนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น มีความชัดเจน ประกอบกับยานยนต์ไฟฟ้าสามารถตอบโจทย์เรื่อง carbon zero ที่กำลังเป็นประเด็นทั่วโลกได้ดี ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย มีการเติบโตขึ้น แต่ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการเชื่อมกันของธุรกิจที่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีในอนาคต เช่น ยานยนต์ไร้คนขับจะรับบัตรจอดรถจากเครื่องจ่ายบัตรอัตโนมัติในลานจอดรถอย่างไร นอกจากนี้ การเข้ามาสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หากมีผู้ประกอบการลงมือผลิตได้จริงก็จะทำให้ต้นทุนของแบตเตอรี่มีราคาถูกลง รวมถึงเรื่องของยานยนต์ไร้คนขับที่ประเด็นสำคัญคือการลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ความท้าทายของเรื่องนี้คือสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่มาจากรถจักรยานยนต์มากกว่าในขณะที่ยานยนต์ไร้คนขับนั้น ผู้ประกอบการหลายรายให้ความสนใจประเภทรถเก๋งมากกว่า โจทย์ก็คือยานยนต์ไร้คนขับจะช่วยลดความสูญเสียได้จริงหรือไม่
ผศ.ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ เลขานุการ และ co-founder ศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart MOBI) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการโตแบบก้าวกระโดด และน่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในระยะยาว เพราะมีปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการส่งเสริมคือเรื่องของ Carbon Zero สำหรับยานยนต์แบบไร้คนขับที่ปัจจุบันเริ่มมีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ในลักษณะต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อยานยนต์ไร้คนขับสามารถทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ เชื่อว่าจะเกิด business model ใหม่ ๆ ขึ้นอีกจำนวนมาก รวมถึงสิ่งสำคัญคือการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยให้มีความรู้ความสามารถควบคู่กันไปด้วย เพราะหากไม่ได้ฝึกฝนคนไว้รองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ก็จะเป็นได้แค่ผู้ประกอบ
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ที่ทุกคนทั่วโลกมองเห็นถึงศักยภาพในเรื่องนี้ สำหรับทางบริษัทเลือกจับตลาดรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ที่แม้ว่าจะไม่ใช่ตลาดใหญ่ แต่เนื่องจากยังมีคู่แข่งน้อยอยู่ และเหมาะสำหรับโมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพ ซึ่งตลาดรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์คนไม่ค่อยให้ความสนใจเนื่องจากหลายคนมองว่า รถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ใช้พลังงานมากกว่า ใช้แบตเตอรี่จำนวนมาก และใช้เวลาชาร์ตนานกว่าปกติ ทางบริษัทก็ได้ศึกษาเรื่องแบตเตอรี่ว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เวลาในการชาร์ตไม่นาน เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจให้ครบวงจร ซึ่งเรื่องยานยนต์ไฟฟ้านั้น ส่วนตัวแล้วอยากให้ภาครัฐให้การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับตลาดเชิงพาณิชย์ด้วย สำหรับยานยนต์ไร้คนขับนั้น ตนมองว่าเมื่อการทดสอบออกมาเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน จะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาอีกจำนวนมาก เพราะยานยนต์ไร้คนขับจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนและเปลี่ยนต้นทุนการดำเนินการ
นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเรื่องยานยนต์ไฟฟ้านั้น หากมองตลาดรถโดยสารส่วนบุคคล จะมีการแข่งขันสูง แต่หากมองตลาดเชิงพาณิชย์ ที่แม้ว่าไซส์ตลาดจะเล็กลง แต่ก็ใหญ่สำหรับสตาร์ทอัพ ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าเซ็กเมนต์การดัดแปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้า ที่เมื่อดัดแปลงแล้วจะเกือบเหมือนรถใหม่ แต่ราคาต่ำกว่าซื้อรถใหม่ ที่จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นในธุรกิจได้ แต่จะต้องทำซัพพลายเชนให้แข็งแกร่ง ทั้งการให้ความรู้และการพัฒนาทักษะของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีสกิลมากเพียงพอ จะสามารถขยายตลาดไปยังยานยนต์ในกลุ่มเฉพาะได้ด้วย เช่น รถไถ รถที่ใช้ในสนามบิน ฯลฯ
ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด ผู้ให้บริการ Muv Mi ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า กล่าวว่า ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการรถตุ๊กตุ๊ก muvmi มีกว่า 3 ล้านคน ซึ่งแนวคิดหลักคือเน้นการเดินทางในเมือง ที่เป็นรถตุ๊กตุ๊กเพราะวิ่งเข้าซอกซอยได้และกลับรถในถนนแคบได้สะดวก โดยมีการปรับภายในห้องโดยสารให้กว้างขึ้น และใช้คอนเซ็ปต์การเดินทางร่วมไปในเส้นทางเดียวกัน โดยมีแอปพลิเคชันเป็นตัวสื่อสารเชื่อมระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ซึ่งกว่าจะทำได้ประสบความสำเร็จ ต้องผ่านหลายเรื่องหลายขั้นตอน เพราะการเปลี่ยนมาเป็นระบบไฟฟ้ามันคือการเปลี่ยนทั้งระบบ ที่แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุน แต่การสนับสนุนจากแต่ละหน่วยงานนั้นมีให้ไม่เท่ากัน
โดยจะเห็นได้ว่าทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ต่างก็พยายามที่จะร่วมมือกันผลักดันให้การดำเนินการในเรื่องของ Carbon Zero ผ่านยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับ เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแม้ว่าจะเริ่มมีผลผลิตในท้องตลาดออกมาบ้างแล้ว แต่ก็อาจจะยังต้องปรับปรุงเพิ่มต่อในเรื่องของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องของสถานีชาร์ตประจุไฟฟ้าที่จะต้องมีการเปิดกว้างในการจัดตั้ง และเพิ่มจุดบริการให้มีมากกว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ให้ได้รับความสะดวกมากขึ้นต่อไป