ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่คนไทยทราบกันดี คือ ท้องถนนของไทยนั้นเลื่องชื่อว่า “อันตรายระดับโลก” ข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย เพราะมันมีหลักฐานอ้างอิงเป็นสถิติ เป็นตัวเลขที่เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก หรือถ้าเอาตามหน้าหนังสือพิมพ์ จะพบว่ามีข่าวที่นักเดินทางรอบโลกเอาชีวิตมาทิ้งบนถนนเมืองไทยแล้วหลายราย แต่ละรายระยะเวลาห่างกันไม่มาก เรียกได้ว่าค่อนข้างถี่ แล้วแบบนี้จะไม่ “อันตรายระดับโลก” ได้อย่างไร คนเหล่านั้นพิชิตทาง มาแล้วครึ่งค่อนโลก แต่สุดท้ายก็ไม่รอดที่ประเทศไทย! จะเห็นได้ว่าโอกาสที่เราจะตายบนถนนในเมืองไทยนั้นมีอยู่สูงมาก ๆ
อุบัติเหตุบนท้องถนนจนทำให้ถึงแก่ความตายของไทยสูงติดอันดับโลก ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบในเอเชียแล้ว ประเทศไทยคือแชมป์ที่ไม่มีชาติไหนสู้ได้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตบนท้องถนนต่อจำนวนประชากรของไทยยืนหนึ่งในเอเชีย จากรายงานสถานะความปลอดภัยบนท้องถนนทั่วโลกประจำปี 2018 ขององค์การอนามัยโลก พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ที่ปีละประมาณ 22,491 ราย คิดเป็น 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยเฉพาะช่วงเทศกาล
นอกจากนี้ ในปี 2019 เดอะนิวยอร์ก ไทม์ส ก็ยังได้ตีแผ่เรื่องราวของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในเมืองไทยว่าเป็นประเทศที่ครองแชมป์การตายจากมอเตอร์ไซค์ลำดับที่หนึ่งของโลก รวมถึงมีสถิติการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนตามรายงานขององค์การอนามัยโลกเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม สถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบสุขและไม่มีกฎหมายคุ้มครองอย่างประเทศลิเบียเท่านั้น แถมถนนในประเทศไทยยังถูกจัดอันดับให้เป็นถนนที่อันตรายที่สุด 10 อันดับแรกในโลก โดยวัดจากจำนวนการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุซึ่งสามารถป้องกันได้มากกว่า 20,000 รายต่อปี
และล่าสุดข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน พบว่าในปี 2564 มีผู้ที่เสียชีวิตบนถนนสูงถึง 13,617 ราย และบาดเจ็บอยู่ที่ 883,314 ราย เฉลี่ยวันละ 36 ราย โดย “คนวัยทำงาน” ที่อายุตั้งแต่ 25-60 ปี ตายมากถึง 54% หรือกว่า 7,000 ราย และสาเหตุหลัก ๆ ก็มาจาก “พฤติกรรมของคน-สภาพของรถ” และแน่นอนว่ากฎหมายที่มีอัตราโทษเบา ก็มีส่วนที่ทำให้จิตสำนึกคนเสื่อม นั่นจึงเป็นที่มาของอัตราโทษตามกฎหมายจราจรฉบับใหม่ที่ถูกบังคับใช้ในวันนี้ (5 ก.ย. 65) โดยการเพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง ดังนี้
ในกรณีที่ “เมาแล้วขับ” กฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ โดยกระทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ พร้อมกับถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มโทษเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง เพิ่มเติม
1. ความผิดฐานพยายามแข่งรถ กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ร่วมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง พร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป หากมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
จะถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทาง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
2. เพิ่มโทษสำหรับผู้จัด และกำหนดโทษใหม่สำหรับผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากอัตราโทษเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ร้านรับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน คือ ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทางระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
การนั่งบริเวณแคปหรือนั่งท้ายกระบะ สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยแต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนดซึ่งประกาศกำหนดอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ธ.ค. 65
และเรื่องของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 ก.ย. 2565 แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำประกาศและลงประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน/ลดอัตราภาษีของที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้เพื่อจัดทำประกาศ เรื่อง การใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายใน 4 ธ.ค. 65
อย่างไรก็ดี คอมเมนต์ตามข่าวในสื่อโซเชียลมีเดียได้ถกเถียงกันว่าการเพิ่มโทษผิดกฎจราจรนั้นจะได้ประโยชน์เท่าที่ควรหรือไม่ ในเมื่อสิ่งที่คนไทย “คุ้นเคย” กันดีก็คือ การใช้รถใช้ถนนในบ้านเราไม่เคยมีความปลอดภัย แม้ว่าจะเกิดเหตุสลดขึ้นติด ๆ กัน เกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความมักง่าย ไร้วินัย ไร้สามัญสำนึก ไร้ความรับผิดชอบของผู้ใช้รถใช้ถนนแบบรายวัน นั่นอาจแปลว่าการเพิ่มโทษคงไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าสุดท้ายแล้วทุกอย่างยังวนเวียนในวังวนเดิม เรื่องที่คนไทย “คุ้นเคย” บนท้องถนน มีอะไรบ้าง
“คุกมีไว้ขังคนจน” เป็นวลีที่โด่งดังกระหึ่มสังคมไทยขึ้นมาอีกครั้ง จากกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” ทายาทผู้บริหารเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นตระกูลมหาเศรษฐีชั้นนำของไทย ในคดีขับรถยนต์หรูชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ประเด็นนี้เรียกได้ว่าจุดกระแสให้สังคมตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายของไทย ว่าเหตุใด “บอส อยู่วิทยา” ถึงได้รอดคุกทั้งที่มีคนตายในคดีนี้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งคดีดังบนท้องถนนที่ตอกย้ำให้คนในสังคมยิ่งเสื่อมศรัทธาในกฎหมาย เพราะคนทำผิดไม่เห็นต้องรับโทษ แล้วจะเพิ่มโทษไปทำไมกัน ยังไงเสียคนที่มันจะรอดมันก็รอดอยู่แล้ว
การเพิ่มโทษผิดกฎจราจรไม่มีประโยชน์หรอก ในเมื่อเราแทบจะไม่เคยรับโทษกันอยู่แล้ว ถ้าท้ายที่สุดมันไม่มีการจับ-ปรับหรือบังคับใช้กันอย่างจริง ๆ จัง ๆ การเพิ่มโทษก็แค่พิธีกรรมหนึ่งที่ไม่มีใครเกรงกลัวด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้ก็ไม่ใช่ว่าสังคมไทยไร้กฎหมายจราจรเสียหน่อย ทว่าหลาย ๆ คนกลับไม่เคยได้รับโทษจากการทำผิดกฎจราจรเลยสักครั้ง ทั้งขับรถเร็ว ฝ่าไฟแดง ย้อนศร ไม่ใส่หมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เชื่อได้เลยว่ามีคนเคยทำมาหมดแล้วและทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่เป็นปกติ เพราะไม่เคยมีการลงโทษจริงจัง และด้วยความที่ไม่เคยต้องรับโทษทั้งที่รู้ว่ามันผิด คนก็เลยทำผิดกฎจราจรกันเป็นปกติธรรมดาเหมือนบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย กฎหมายที่มีแค่ให้มีแต่ไม่ได้ใช้จริง จะมีไปเพื่ออะไร
ก่อนหน้านี้ เคยมีการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อรณรงค์ใน change.org หัวข้อ “ยกเลิกการแบ่งเปอร์เซ็นต์ค่าปรับจราจรให้ตำรวจ” เพื่อให้ค่าปรับจราจรทั้งหมดนำไปใช้เพื่อพัฒนาการคมนาคมและความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ระบุว่าค่าปรับจราจรนั้นจะถูกแบ่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ออกใบสั่งด้วย สิ่งที่ถูกยกตัวอย่างขึ้นมาประกอบ คือ การที่ตำรวจตั้งด่านจับผิดจับปรับคนทำผิดกฎจราจร แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่ได้กระตือรือร้นที่จับโจรผู้ร้ายมากเท่ากับคนใช้รถใช้ถนน เหมือนกับเป็นการหากินที่ง่ายเกินไป พยายามหาลูกเล่นที่จะออกใบสั่งหรือไม่ก็เพื่อรับเงินติดสินบน เพราะตำรวจได้ส่วนแบ่งจากการออกใบสั่งนั่นเอง
แน่นอนว่าจะโทษที่กฎหมายไม่เอาผิดจริงทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือวินัยและจิตสำนึกของผู้ใช้รถใช้ถนน การเพิ่มโทษก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้คนรู้สึกว่าต้องมีวินัยและมีจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนให้มากขึ้นแต่ไม่ทั้งหมด (พวกคนมึนมันมี) แบบว่าเข็ดหลาบที่จะไม่ทำผิดกฎจราจรเพราะต้องได้รับโทษแรงอยู่บ่อย ๆ แต่ถ้าจะให้ยั่งยืนจริง ๆ ก็ควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างวินัยจราจรและปลูกจิตสำนึกให้เกิดขึ้นแก่ตัวบุคคลมากกว่า ทำอย่างไรคนถึงจะไม่กล้าทำผิดกฎจราจรด้วยเหตุผลด้านสำนึกรับผิดชอบที่มีในตัวเอง ไม่ใช่การกลัวที่จะต้องจ่ายค่าปรับมหาศาล ที่คนยังกล้าฝ่าฝืนทุกวันนี้ก็เพราะเอาความมักง่ายของตนเองเป็นที่ตั้ง ยึดความสะดวกส่วนตัวไม่ใช่ส่วนรวม
คนบางกลุ่มก็พยายามจะสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติผิดกฎหมายให้กับตนเอง ตัวเองทำผิดกฎจราจรจริง มีหลักฐานแต่ก็ไม่อยากรับโทษ อ้างนู่นอ้างนี่ไปเรื่อย โดยเฉพาะข้ออ้างคลาสสิคที่สุดแสนจะน่าเห็นใจว่าไม่มีเงินจ่ายค่าปรับเพราะตัวเองจน หยวน ๆ กันบ้างได้หรือไม่ ค่าปรับขนาดนี้มันทำร้ายกันเกินไป บอกเลยว่าคนประเภทนี้มีอยู่ไม่น้อยเลยในสังคม ตัวเองทำผิดกฎหมายชัดเจนแต่ไม่ยอมรับผิด พอถูกตำรวจเรียกก็ชอบคิดว่าตัวเองโดนรังแก ซึ่งมันจะคนละกรณีกับที่ไม่ได้ทำผิดอะไรแต่ยังถูกตำรวจเรียก แล้วเขียนใบสั่งด้วยข้อหาแปลก ๆ ในมุมหนึ่งมันก็สืบเนื่องมาจากการที่ตำรวจได้รับส่วนแบ่งในการออกใบสั่ง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็คือผู้ใช้รถใช้ถนนไม่มีวินัยและจิตสำนึกเลย
ผู้เขียน: กมลวรรณ วิชัยรัตน์
This website uses cookies.