12 พ.ค.64 – ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,983 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,974 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,328 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 646 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ข้ามแดนมาจากกัมพูชาและลาว ประเทศละ 2 ราย ที่เป็นการข้ามแดนแบบผิดกฎหมาย ฝ่ายความมั่นคงมีการลาดตระเวนเข้มงวด และมีข้อมูลว่ามีการข้ามแดนลักษณะนี้วันละ 100 ราย จึงฝากประชาชนเป็นหูเป็นตา เมื่อภาครัฐเข้มงวดสูงสุด ขอให้ภาคประชาชนและชุมชนให้ความร่วมมือด้วย
อย่างไรก็ตาม ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 88,907 ราย หายป่วยสะสม 59,043 ราย อยู่ระหว่างรักษา 29,378 ราย อาการหนัก 1,226 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 401 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 34 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุด เป็นชาย 16 ราย หญิง 18 ราย อยู่ในสมุทรปราการ 13 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขสะสมตลอดสัปดาห์ กทม. 10 ราย นครปฐม ปทุมธานี จังหวัดละ 2 ราย สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบูรณ์ ชลบุรี นครนายก สระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย ส่วนปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว มีภาวะอ้วน และเป็นผู้สูงอายุ รวมถึงโรคปอดเรื้อรัง โดยมีข้อมูลว่าผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนปกติถึง 14 เท่า ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 486 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 160,322,840 ราย เสียชีวิตสะสม 3,331,127 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ป่วยที่มีอาการหนักตั้งแต่วันที่ 1 -11 พ.ค. จะเห็นว่า ตัวเลขไม่ลดลงเลย มีทิศทางพุ่งขึ้นตลอด แม้จะไม่ชันแต่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และจากตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มขึ้นก็จะสะท้อนไปที่ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจและผู้เสียชีวิต ที่จะเป็นเส้นขนานกันไป ดังนั้น คนที่ทราบว่าตัวเองใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงอย่ารอจนกระทั่งมีอาการ เมื่อทราบแล้วให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน ไปรายงานประวัติความเสี่ยงเพื่อจะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลผู้ติดเชื้อวันนี้ จะเห็นว่า กทม.และปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อรวมกันถึง 3 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ ขณะที่ 5 เขตในกทม.ที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ วัฒนา ดินแดง ห้วยขวาง คลองเตย และบางเขน โดยในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก สำนักอนามัย กทม. ได้รายงานว่า ได้มีการวางมาตรการเพิ่มเติมในระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น เนื่องจากพบว่าบุคลากรในขนส่งสาธารณะ ทั้งพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซด์ รวมถึงเจ้าหน้าที่รถไฟฟ้า พบการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง จึงเสนอให้มีการฉีดวีคซีนให้กับคนเหล่านี้ ซึ่ง กทม.ได้ดำเนินการแล้ว ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว