ศบค.ได้พิจารณารายละเอียดของคู่มือจัดการแข่งขัน 15 ชนิดกีฬากลับมาแข่งขันได้แล้ว โดยมี 9 ชนิด ที่ไม่ต้องตรวจโควิดก่อนคัมแบ็ก
วันที่ 6 ก.ค.63 ตามที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงนามในประกาศของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อนุญาตให้ 14 ชนิดกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล ตะกร้อ กอล์ฟ เทนนิส จักรยานยนต์ รถยนต์ แบดมินตัน สนุกเกอร์ เจ็ตสกี จักรยาน โบว์ลิ่ง และมวย จัดการแข่งขัน โดยไม่มีผู้ชมเข้าชมในสนาม ได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้พิจารณารายละเอียดของคู่มือจัดการแข่งขัน ดังกล่าว เป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคู่มือจัดการแข่งขันโดยไม่มีผู้ชม ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานั้น มีการระบุว่า 5 ชนิดกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล ตะกร้อ และมวย นักกีฬาต้องผ่านการตรวจไวรัสโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการแบบบุคคล หรือแบบรวมตัวอย่าง (Pooled Sample Testing) ส่วนอีก 9 ชนิดกีฬา ได้แก่ กอล์ฟ เทนนิส จักรยานยนต์ รถยนต์ แบดมินตัน สนุกเกอร์ เจ็ตสกี จักรยาน และโบว์ลิ่ง ไม่ต้องตรวจแต่อย่างใด
ในส่วนของวอลเลย์บอล โดย เรืออากาศเอก จักรสุวรรณ โตเจริญ เลขาธิการสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สมาคมฯ ได้เตรียมที่จะทำเรื่องเสนอรัฐบาล ให้ช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจไวรัสโควิด-19 กับนักตบลูกยางของทั้ง 8 สโมสร ชายและหญิง ที่จะทำศึกวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก รอบไฟนอลส์ วันที่ 21-30 ก.ค.นี้
“แน่นอนว่า สำหรับการจัดการแข่งขัน สมาคมฯ พร้อมเดินหน้าเต็มที่ แต่งบประมาณในส่วนของการตรวจไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องที่เร่งด่วนเข้ามา จึงจำเป็นที่จะต้องปรึกษาหน่วยงานรัฐก่อนว่า ควรมีทางออกอย่างไร เพราะหากเป็นระดับหน่วยงานรัฐประสานกัน ในเรื่องการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 น่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายไม่แพงจนเกินไป” เรืออากาศเอกจักรสุวรรณ กล่าว
ด้าน “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า หลังมีการปลดล็อกให้กีฬาอาชีพสามารถกลับมาจัดการแข่งขันได้ โดยไม่มีผู้ชม ซึ่งทุกกีฬา ต้องปฏิบัติตามคู่มือการจัดการแข่งขันกีฬาอย่างเคร่งคัด โดยในคู่มือระบุให้มีการตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อนแข่งขัน ซึ่งยอมรับว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกชนิดกีฬาจำเป็นต้องทำ และได้เน้นไปที่กีฬาประเภททีมเป็นหลัก เพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด อีกทั้งค่าใช่จ่ายในการตรวจก็ลดลงกว่าเดิมมากแล้ว
“เรื่องค่าใช่จ่ายที่เพิ่มขึ้นมานั้น กีฬาที่ได้รับอนุญาตแข่งขัน ล้วนเป็นกีฬาอาชีพ ซึ่งมีรายได้จัดการแข่งขัน มีผู้สนับสนุนอยู่แล้ว ดังนั้น ควรจะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้เองทั้งหมด ไม่ควรให้เป็นภาระของภาครัฐ เพียงฝ่ายเดียว แต่ทั้งนี้ ไม่ได้ปิดกั้น หากชนิดกีฬาใดติดขัด ก็ให้เข้ามาปรึกษา กกท. ได้ ซึ่ง กกท.ก็จะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ว่าจะสามารถช่วยในส่วนใดได้บ้าง” ดร.ก้องศักด กล่าว.
As part of their spo…
This website uses cookies.