Motor Sport Sponsored

เปิดหลักออกแบบ-เกณฑ์สร้าง ‘ทางเท้า’ พื้นที่สาธารณะประโยชน์มากกว่ามีไว้แค่เดิน – สำนักข่าวอิศรา

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

เขียนวันที่

วันอาทิตย์ ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 18:53 น.

“..ปัจจุบัน ทางเท้ามีการวางอะไรระเกระกะไปหมด เพราะฉะนั้นทำให้ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ฉะนั้นควรจะกำหนดเลยว่า ขนาดถนนเท่านี้ ควรจะมีทางเท้าเท่าไหร่ แต่ถ้าทางเท้ากว้างไป ก็จะไปรบกวนผิวจราจร คนขับรถลำบาก จึงต้องมีการศึกษาปริมาณจราจรที่เหมาะสม ควรจะมีกี่ช่องทาง ทางเท้าที่เหมาะสมควรจะมีขนาดเท่าไหร่..”


‘ทางเท้า’ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับถนนในเมือง ซึ่ง ‘ทางเท้าของถนน’ มีความแตกต่างจาก ‘ทางเดินเท้า’ ที่เป็นเส้นทางสัญจรอีกประเภทหนึ่ง

สำหรับทางเท้าของถนนเป็นพื้นที่รองรับอุปกรณ์สาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งด้านบน และด้านใต้ทางเท้า เช่น ที่พักนั่ง ที่จอดรถสาธารณะ ป้ายสัญญาณจราจร ป้ายประกาศ เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ ต้นไม้ ท่อแก๊ส ท่อระบายน้ำ ท่อประปา ท่อดับเพลิง เป็นต้น

นายสายชล ชอบประดิษ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงหลักเกณฑ์และมาตรฐานทางเท้าว่า การสร้างทางเท้าควรมีกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานการสร้างที่ชัดเจน เหมาะสมกับพื้นที่ สำหรับพื้นที่เขตเมือง ย่านธุรกิจมีผู้คนพลุกพล่าน จำเป็นจะต้องมีทางเท้าที่กว้างมากพอสมควร นอกเหนือจากเพื่อความสะดวกในการสัญจรของคนเดินเท้าแล้ว แต่จะต้องรองรับสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ถนนสายหลักที่มีปริมาณน้ำจำนวนมาก ทางเท้าก็ควรจะกว้าง เพราะจำเป็นจะต้องมีการวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ เป็นต้น

สาธารณูปโภคด้านบนดิน บริเวณผิวสัญจร เช่น เสาไฟ ต้นไม้ ป้ายจราจร ตู้ไปรษณีย์ ศาลาที่จอดรถประจำทาง ฯลฯ ต้องมีการจัดระเบียบวางตำแหน่งให้เหมาะสม ถ้าหากไม่มีการจัดระเบียบทางเท้า ทุกคนวางมั่วซั่วไปหมด ก็จะไม่มีทางเดิน โดยการจัดวางสาธารณูปโภคควรวางในฝั่งที่ชิดรั้ว เว้นทางเดินประมาณ 75 เซนติเมตรไว้สำหรับคนเดินเท้า ก็จะเป็นทางเท้าที่เมหาะสมสำหรับการจราจร ใช้ร่วมกับชุมชนได้ด้วย ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นจะต้องมีอารยสถาปัตย์สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เช่น คนพิการ คนชรา

“ปัจจุบัน ทางเท้ามีการวางอะไรระเกระกะไปหมด เพราะฉะนั้นทำให้ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ฉะนั้นควรจะกำหนดเลยว่า ขนาดถนนเท่านี้ ควรจะมีทางเท้าเท่าไหร่ แต่ถ้าทางเท้ากว้างไป ก็จะไปรบกวนผิวจราจร คนขับรถลำบาก จึงต้องมีการศึกษาปริมาณจราจรที่เหมาะสม ควรจะมีกี่ช่องทาง ทางเท้าที่เหมาะสมควรจะมีขนาดเท่าไหร่” นายสายชล กล่าว

สำหรับมาตรฐานทางเท้า ในเกณฑ์และมาตรฐานผังเมืองรวม พ.ศ.2549 ที่จัดทำโดย สำนักพัฒนามาตรฐาน กรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า มาตรฐานความกว้างของทางเท้าไม่ควรต่ำกว่า 3 เมตร เพื่อรองรับส่วนประกอบของถนนได้อย่างครบถ้วนเพียงพอ และยังสามารถรองรับการใช้เป็นจุดหลีกสำหรับรถเข็นเด็ก รถเข็นคนพิการ และรถเข็นสินค้าได้ด้วย และควรเพิ่มขนาดทางเท้าอีก 1 เมตร หากต้องการปลูกตันไม้ หรือต้องการใช้ทางเท้าตามเทศกาลหรือช่วงเวลาในบางย่าน เช่น รถเข็นขายสินค้า การก่อสร้างชั่วคราว เป็นต้น ความลาดชันของทางเท้าด้านยาวควรเป็นร้อยละ 0-3 ด้านกว้าง ร้อยละ 2

บริเวณที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีความหนาแน่น เช่น ย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากย่านธุรกิจการค้า เป็นต้น หรือบริเวณที่ต้องการให้มีมุมมองเปิดกว้างเพื่อความปลอดภัย ความกว้างของทางเท้าควรอยู่ระหว่าง 3 – 5 เมตร ไม่มีส่วนของอาคารหรือสิ่งอื่นใดยื่นออกมาในทางเท้าในระยะที่ต่ำกว่า 2.1 เมตร

หลักการกำหนดความกว้างของทางเท้า ต้องคำนึงถึงจำนวนผู้เดินเท้า และการใช้ประโยชน์บนทางเท้า ปกติคนเดินเท้า 1 คน ต้องการพื้นที่ 0.6 เมตร สำหรับการเดินแถวเรียงหนึ่งของแต่ละแถว ถ้าเดินเรียงคู่ต้องการดนละ 0.75 เมตร

นายสายชล กล่าวถึงการแก้ปัญหาทางเท้าว่า สำหรับถนนที่มีการก่อสร้างมานานแล้ว การปรับปรุงนั้น อาจจะทำได้ยาก เนื่องจากจะต้องมีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนตามมาอีก แต่สำหรับถนนที่สร้างใหม่นั้น ควรจะต้องมีการวางหลักเกณฑ์มาตรฐาน และข้อกำหนดที่เหมาะสมเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง โดยการออกแบบ จะต้องมีข้อมูลประกอบการพิจารณาหลายประการ เช่น ปริมาณการจราจร ประเภทของผิวจราจร ความกว้างของผิวจราจร ความกว้างของไหล่ทางซึ่งจะสอดคล้องกับความกว้างของทางเดินและทางเท้า ความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุก ความลาดชัน ความสูงของยานพาหนะที่จะเป็นข้อจํากัดความสูงของสิ่งก่อสร้างเหนือผิวจราจรของถนน

นายสายชล กล่าวด้วยว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นบทเรียนให้กับหน่วยงานส่วนที่รับผิดชอบต่างๆ ในการสร้างทางเท้าครั้งต่อไป จะต้องมีการสำรวจความต้องการสาธารณูปโภคต่างๆ ว่าควรจะจัดวางอย่างไร ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปก่อสร้างทางเท้า ก็สร้างทางเท้าขึ้น รวมถึงการกำหนดขนาด ความสูงของป้ายต่างๆ ด้วย เพราะป้ายบางป้าย บางทีก็ต่ำไป ไม่เหมาะสมกับคนเดินต่างๆ หรือบางทีก็ยื่นออกมามากออกไป

เช่นเดียวกับ ป้อมตำรวจบริเวณทางแยกต่างๆ ถ้ากำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการสร้างใหม่ ควรจะมีการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น ขยายทางเลี้ยวให้กว้างขึ้น เพื่อกำหนดเขตทางรวมถึงป้อมตำรวจด้วย แต่ทั้งนี้ ตนมีความคิดเห็นว่า การควบคุมสัญญาณไฟจราจรในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมการจราจรโดยบุคคล แต่น่าจะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยประยุกต์ใช้ในส่วนนี้

“กรมโยธาฯ และผังเมือง เวลาเราทำถนนตามการจัดรูปที่ดิน ก็จะมีการกำหนดเขตทางที่เหมาะสมในการสร้างใหม่ เช่น ถนนเขตทางเมือง ทางสายหลัก กว้าง 30 เมตร ก็ควรที่จะมีทางเท้าข้างละ 3 เมตร เพื่อที่จะรองรับสาธารณูปโภคต่างๆ แต่ถ้าเป็นถนนที่มีการก่อสร้างมาก่อนแล้วในเมือง ก็จะต้องมีปัญหาเรื่องการเวนคืน มันก็จะมีปัญหาที่ซับซ้อนตามมาอีก รวมถึงอาจจะกระทบต่อการจราจร ดังนั้นการปรับปรุงจะต้องขึ้นอยู่กับสภาพจราจรในถนนเส้นนั้นๆ ด้วย ทั้งนี้การแก้ปัญหาจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันของหลายๆ หน่วยงาน” นายสายชล กล่าว

ตัวอย่างเช่น พื้นที่ทางเท้าในกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่ดูแล คือ กทม. ฉะนั้น กทม.ควรจะมีการกำหนดข้อกำหนดของ กทม.ว่า ทางเท้าควรจะกว้างเท่าไหร่ สาธารณูปโภคควรจะวางในส่วนไหนของทางเท้า เพราะถ้าไปดูป้ายของกี่หน่วยงานก็วางทับซ้อนกันระเกะระกะ อีกทั้งป้ายโฆษณาด้วย ซึ่งทางเท้าเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ของคนสัญจรควรกำหนดเป็นเขตสาธารณะ ไม่ให้คนวางของ เช่น บางบ้านนำต้นไม้มาปลูกหน้าบ้านล้ำเข้าสู่ทางเท้า วางเครื่องไม้เครื่องมือกินพื้นที่เขตทางเท้า

ทั้งนี้ เนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกหลักเกณฑ์ข้อกำหนดต่างๆ เพียงเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดและการบังคับใช้ จะต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่

สำนักข่าวอิศรา ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปรับปรุง กวดขันข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อกับทางเท้าของ กทม. มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เปรียบเทียบทางเท้าบริเวณถนนพระรามที่ 1 (ย่านสยาม) ที่มีคนสัญจรแต่ละวันหนาแน่น โดยทางกรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงใหม่ พร้อมแจ้งว่า ‘ที่นี่คือต้นแบบทางเท้าของกรุงเทพฯ’

โดยระบุว่า ‘ทางเท้าเดินไม่ได้’ เป็นปัญหาที่ กทม. พยายามแก้ไขมานาน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน แต่ในอดีตที่ผ่านมา ทางเท้าในกรุงเทพฯ นั้น ‘เดินไม่ได้’ เพราะมีสิ่งกีดขวางมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฝาท่อ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา กระถางต้นไม้ รวมถึงร้านค้าต่างๆ ที่ตั้งแผงขายของบนทางเท้า

หนึ่งในทางเท้าที่มีปัญหามากคือทางเท้าบริเวณถนนพระรามที่ 1 (ย่านสยาม) ที่มีคนสัญจรไปมาจำนวนมาก แต่ภาพที่คุ้นตาใครหลาย ๆ คน จะเห็นพ่อค้าแม่ค้าขายของเต็มทางเท้า จนทำให้คนเดินเท้าต้องไปเดินบนถนน กทม.จึงขอความร่วมมือคืนพื้นที่บริเวณนี้ และ ‘ปรับปรุง’ ระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคทั้งใต้ดินและบนดินใหม่ทั้งหมด เพื่อเป็นต้นแบบทางเท้าของกรุงเทพฯ

ตอนนี้ทางเท้าพระรามที่ 1 ที่เป็นโมเดลทางเท้าของกรุงเทพฯ ปรับปรุงพัฒนาใกล้เสร็จแล้ว และจะต่อยอดปรับปรุงทางเท้าในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้มีทางเท้าที่ทุกคนเดินได้สะดวก เหมาะกับวิถีของคนเมืองในปัจจุบัน

ขณะที่เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกทม. โพสต์เฟซบุ๊ก สกลธี ภัททิยกุล ระบุ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กทม.กวดขันการขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าที่่ก่อความเดือดร้อน โดยได้เงินค่าปรับรวมกว่า 44 ล้านบาท พร้อมเข้มงวดต่อเนื่อง โดยระบุว่า

ตลอด 3 ปีที่ผ่านกรุงเทพมหานครได้กวดขันการขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรบนทางเท้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งตั้งจุดตรวจ ซุ่มจับการฝ่าฝืนมากมาย ได้เงินค่าปรับตกเป็นของแผ่นดินถึง 44,000,000 บาทครับ แต่การฝ่าฝืนก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ศ.2535 ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปรับได้สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท แต่นโยบายเริ่มต้นปรับ 500 บาทในช่วงแรกและเพิ่มเป็น 2,000 บาทในปัจจุบัน

มีหลายท่านท้วงติงมาว่าปรับแพงเกินไปแต่ตนเชื่อว่าถ้ากวดขันจริงจัง ปรับให้แพงและต่อเนื่องมันจะค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของคนใช้รถมอเตอร์ไซค์ไปเรื่อย ๆ เพราะหลัง ๆ ตนเริ่มเห็นคนเข็นรถแทนการขี่มากขึ้นเมื่อจำเป็นจะต้องขึ้นบนทางเท้า

แต่จะมีกรณีบางกรณีเช่นผู้กระทำผิดทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือคนที่แจ้งเบาะแส หรือทำร้ายคนที่เดินสัญจรบนทางเท้านโยบายจะให้ปรับสูงสุด 5,000 บาททุกกรณีครับ

กรณีล่าสุดที่เกิดที่สายไหมที่คนขับขี่มอเตอร์ไซค์ทำร้ายคนเดินสัญจรบนทางเท้าที่มีทั้งข่าวและคลิปออกมามากมาย หลังเกิดเหตุได้ให้หัวหน้าฝ่ายเทศกิจเขตสายไหมเชิญตัวผู้กระทำผิดมาเปรียบเทียบปรับด้วยโทษสูงสุด 5,000 บาท ยืนยันว่าจะพยายามกวดขันและจับกุมอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนใช้รถมอเตอร์ไซค์เพื่อให้คนเดินสัญจรทางเท้าได้อย่างปลอดภัย

ทั้งหมดนี้ คือหลักเกณฑ์มาตรฐานข้อกำหนดการสร้างทางเท้า ที่แม้ว่าหน่วยงานผู้จะรับผิดชอบดูแลออกแบบจะดีมากเพียงใด หากหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลบังคับใช้ ไม่ปฏิบัติด้วยก็จะไม่มีประโยชน์ใดๆ และปัญหาก็จะตกมาอยู่ที่ประชาชน ต้องติดตามต่อไปว่าการแก้ปัญหาของหน่วยงานภาครัฐในส่วนต่างๆ จะเป็นอย่างไร และจะประสบผลสำเร็จหรือไม่

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.