ตลาดเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์สะดุดโควิดระลอก 3 ฉุดภาพรวมทั้งปีนี้ส่อไม่โต “ฐิติกร” เน้นประคองลูกค้า ลุ้นครึ่งปีหลังกำลังซื้อกลับมา หนุนพอร์ตสินเชื่อพลิกบวก จากปีที่แล้วหดตัวหนัก -38% ขณะที่ “กรุงศรี” ตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างปีนี้แตะ 3.76 หมื่นล้านบาท ชี้ตลาดรถบิ๊กไบก์ยังโตดี ฟาก “อิออน” หน้าใหม่เช่าซื้อ เน้นเจาะกลุ่มมนุษยเงินเดือน-รักษาคุณภาพสินเชื่อ
นายประพล พรประภา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวมากกว่า 1% หรือยอดขายราว 1.5 ล้านคัน แต่ภายหลังจากเกิดโควิด-19 ระลอก 3 คาดว่าอัตราการขยายตัวอาจจะทรงตัว หรือปรับลดลงเล็กน้อย โดยคาดว่าตลาดน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นในครึ่งหลัง
ของปี
จากแนวโน้มดังกล่าว บริษัทจึงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อและไม่เร่งการเติบโตมากนัก เพื่อรอดูสถานการณ์ ซึ่งระหว่างทางจะเน้นประคองธุรกิจและลูกค้าไว้ก่อน หากลูกค้ามีสัญญาณความสามารถในการชำระหนี้ถดถอย บริษัทจะพิจารณาช่วยเหลือลูกค้าเป็นรายกรณี อาทิ การพักชำระเงินต้น หรือปรับมาตรการให้สอดคล้องกับลูกค้าเป็นหลัก
“เราคงไม่เร่งการเติบโต โดยต้องดูตามสัญญาณการบริโภค คาดว่าปลายปีน่าจะกลับมาได้ โดยพอร์ตสินเชื่อของบริษัท อาจจะกลับมาเป็นบวกหรือทรงตัวได้ หลังจากในปี 2563 พอร์ตสินเชื่อหดตัวไป -38% อยู่ที่ 4,590 ล้านบาท เมื่อเทียบปี 2562 เพราะพอร์ตรถพอครบ 2 ปีแล้ว หากเราชะลอการปล่อยสินเชื่อ ก็จะทำให้พอร์ตลดลง 50% เป็นไปตามปกติ” นายประพลกล่าว
นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ประเมินว่า ปีนี้ตลาดสินเชื่อรถภาพรวมจะมียอดสินเชื่อใหม่ทั้งระบบอยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยส่วนหนึ่งมาจากยอดขายรถจักรยานยนต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งกรุงศรี มอเตอร์ไซค์ ตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปีนี้อยู่ที่ 3.76 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 5.5% จากปีก่อน
ทั้งนี้ กรุงศรียังเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อจักรยานยนต์ต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลเชิงลึกและนวัตกรรม โดยใช้ฐานข้อมูลลูกค้าในการออกแบบแคมเปญที่ตอบโจทย์ลูกค้าและผู้แทนจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ (localization) นอกจากนี้ ยังนำนวัตกรรม กรุงศรี ออโต้ พร้อมสตาร์ต มาพัฒนาและสนับสนุนการขาย
โดยรถบิ๊กไบก์และจักรยานยนต์ขนาดเล็กเซ็กเมนต์พรีเมี่ยมที่ได้รับความนิยมสูง ซึ่งกรุงศรี ออโต้ พร้อมสตาร์ต ช่วยให้ลูกค้าสามารถประเมินวงเงินสินเชื่อได้ด้วยตนเองและรู้ผลภายใน 3 นาที ทำให้สามารถตัดสินใจเลือกซื้อรถที่เหมาะสมได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน กรุงศรียังมีจุดแข็งด้านสาขา จากกรุงศรี ออโต้ 51 สาขา และสาขาธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีกกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ
“การแข่งขันในตลาดถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยแต่ละผู้ให้บริการก็จะมีกลุ่มลูกค้าและจุดแข็งที่แตกต่างกันไป ในส่วนของกรุงศรี มอเตอร์ไซค์ เรามีความแข็งแกร่งในเรื่องผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่ครบวงจร ทั้งแบบโอนเล่มทะเบียน และไม่โอนเล่มทะเบียน ซึ่งจะช่วยรักษาความสมดุลของพอร์ตสินเชื่อ” นางกฤติยากล่าว
นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า หลังจากบริษัทเริ่มเปิดให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และบิ๊กไบก์ ก็ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี แม้ว่าสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อจะยังอยู่ไม่ถึง 5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม เนื่องจากเพิ่งเริ่มทดลองตลาด โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำ หรือมนุษย์เงินเดือน ส่วนกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ขับขี่ดีลิเวอรี่ (rider) มีปล่อยสินเชื่อไม่มากนัก เพราะยังมีรายได้ไม่ค่อยแน่นอน
ทั้งนี้ มองว่าภาพรวมตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ยังเติบโต แต่จากภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ตลาดไม่ได้ขยายตัวสูงมากนัก โดยกลยุทธ์ของอิออนจะเน้นคัดกรองกลุ่มลูกค้า ดูจังหวะและโอกาสในการแข่งขัน โดยจะเน้นแข่งขันด้านราคา แต่ให้อยู่ในจุดที่สมดุล ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรถจักรยานยนต์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.39-1.59% ต่อปี ส่วนด้านคุณภาพพอร์ตสินเชื่อตอนนี้ บริษัทยังสามารถควบคุมได้ค่อนข้างดี ประกอบกับพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของอิออนยังไม่ใหญ่มาก และการหมุนของสินเชื่อทำได้ค่อนข้างเร็ว ขณะที่ลูกค้าที่เข้าโครงการรับความช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ปัจจุบันประมาณ 80-90% สามารถกลับมาชำระได้ปกติแล้ว ส่วนลูกค้าที่เหลือบริษัทปรับโครงสร้างหนี้ โดยการปรับเทอมการชำระหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาว
“เราเพิ่งทดลองทำตลาดเช่าซื้อ แต่ก็ถือว่าได้ผลตอบรับค่อนข้างดี แต่ยอมรับว่าเราคงไม่แข่งขันแบบตะลุมบอนแย่งชิงตลาด แต่จะเน้นดูจังหวะและโอกาสในการเติบโต และเลือกกลุ่มลูกค้าโต ส่งผลให้คุณภาพพอร์ตสินเชื่อค่อนข้างดี”
ทั้งนี้ จากรายงานผลการดำเนินงานปีบัญชี 2563 บริษัทมีรายได้สินเชื่อเช่าซื้อรวมอยู่ที่ 1,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 260 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 754 ล้านบาท หรือเติบโต 35%
กสิกร มอง “แฮร์คัตหนี้รายย่อย” หุ้นแบงก์ได้ประโยชน์
ศบค. ผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้(13 พ.ค.) พุ่งกระฉูด 4,887 ราย ตายเพิ่ม 32 คน
As part of their spo…
This website uses cookies.