“เงินเฟ้อ” มหาศึกฉุดรั้งเศรษฐกิจฟื้นตัว TESLA บุกทำอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซาลง มาตรการคุมเข้มเริ่มผ่อนคลาย สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นแม้มีปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทั้งจากเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลพวงความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ได้แต่หวังว่าท่องเที่ยวและส่งออกจะช่วยหนุนจีดีพีปี 2565 ขยายตัว

ข่าวดีๆ ที่เริ่มมา ทำให้ขาใหญ่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกอย่าง  เทสลา  ของ อีลอน มัสก์  เข้ามาหยั่งเชิงขอตั้งบริษัทประกอบธุรกิจในไทย ประเดิมทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท แม้จะน้อยนิดแต่ก็ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยคึกคักขึ้นมาอักโข

ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะขาลงร่วมสองปีกว่าเริ่มกระเตื้อง ภาคเอกชนเริ่มมีความหวัง ฟังจากถ้อยแถลงของ  นายสนั่น อังอุบลกุล  ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร. ) หลังการประชุมเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัว 2.5- 4.0% ตามกรอบเดิม และคงประมาณการการส่งออกขยายตัว 3.0-5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวในกรอบ 3.5-5.5% แม้ต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน แต่การท่องเที่ยวและส่งออกจะเป็นแรงหนุนส่งที่สำคัญ

ทว่า แม้ว่าการส่งออกจะเป็นความหวัง แต่ต้องดูว่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ การขาดแคลนอาหาร และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การขาดแคลนสินค้าสำคัญใน supply chain ภาคอุตสาหกรรม การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ฯลฯ จะกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีมากน้อยแค่ไหน โดยมีสัญญาณเตือนจากตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังจีนและญี่ปุ่นในเดือนเม.ย. 2565 ที่หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ส่วนการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แม้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะฉุดรั้งกำลังซื้อและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งการเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ค. เป็นต้นมา ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นชัดเจน และคาดว่าจะได้ตามเป้าหมายปีนี้ที่ตั้งไว้ 6-8 ล้านคน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศ ฟื้นตัวแล้วถึงระดับ 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ดีกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 70%

กกร.ยังวาดหวังว่าวิกฤตอาหารโลกรุนแรงขึ้นจนหลายประเทศระงับการส่งออก จะทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มเติม แต่ต้องมีการติดตามและบริหารจัดการสต็อกสินค้าเกษตรและอาหารให้ดี รวมถึงบริหารจัดการไม่ให้เกิดการขาดแคลนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์

ขณะเดียวกัน  น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทั้งปัญหาค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามสถานการณ์การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว การผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเร็วกว่าที่คาดไว้ ทำให้ตั้งแต่ต้นปีถึงบัดนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วประมาณ 7.9 แสนคน

แบงก์ชาติ คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 8 มิ.ย. 2565 จะมีการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ และอาจจะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยตามสถานการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการประชุม กนง. ครั้งล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2565 ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่าจะขยายตัวได้ 3.2% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4.9% มูลค่าการส่งออกขยายตัว 7% ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 6 พันล้านดอลลาร์ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.6 ล้านคน

เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในเวลานี้ถือเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญในการฟื้นตัวเศรษฐกิจของทั้งโลก และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ธนาคารกลางของหลายประเทศ ต่างปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเงินเฟ้อให้ต่ำลดลงและไม่ผันผวน เช่น สหรัฐอเมริกา ที่เผชิญปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนักหน่วงในรอบสิบปี

ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคมีลุ้นหนุนเศรษฐกิจฟื้น ส่วนความเคลื่อนไหวในภาคเอกชนมีข่าวคราวฮือฮาในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อบริษัท เทสลา ยักษ์ใหญ่ในวงการผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก สัญชาติอเมริกัน ที่มีมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ เป็นซีอีโอ เข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทในไทย วันที่ 25 เมษายน 2565 ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท ตั้งชื่อบริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน โดยคณะผู้บริหารระดับสูงที่เทสลา สหรัฐฯ ส่งมาเป็นคณะกรรมการบริษัทเทสลา (ประเทศไทย) ประกอบด้วย นายเดวิด จอน ไฟน์สไตน์, นายไวภา ตเนชา และนายยารอน ไคลน์

วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างจับตาว่า การเข้ามของเทสลา จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้คึกคัก และทำให้ราคาขายของเทสลาในไทยต่ำลงหรือไม่ โดยปัจจุบันกลุ่มเกรย์มาร์เก็ตต้องนำเข้าเทสลาจากอังกฤษหรือฮ่องกงที่ใช้พวงมาลัยขวาแบบไทย โดยเสียภาษีนำเข้าประมาณ 80% เมื่อเทสลาเข้ามาทำตลาดเองสามารถผลิตและนำเข้าจากจีนและอินโดนีเซีย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาตั้งโรงงาน ทั้งสองประเทศนี้มีข้อตกลง FTA และเขตการค้าเสรีอาเซียน คิดภาษีในอัตรา 0% น่าจะทำให้ราคาถูกลงประมาณ 7-8 แสนบาท ส่งผลสะเทือนต่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่นๆ รวมทั้งรถยนต์สันดาป ที่นอกจากจะเจอรถ EV รุกคืบแล้ว ยังจะเจออีกเด้งจากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่จะเพิ่มอัตราภาษีกลุ่มรถสันดาป เพื่อส่งเสริมการใช้รถ EV ให้มากขึ้น

ขณะนี้ กรมสรรพสามิต มีมาตรการสนับสนุนรถ EV ตามนโยบายของรัฐบาลที่อุดหนุนส่วนลด 18,000 – 150, 000 บาท/คัน โดยกรมอยู่ระหว่างหารือร่วมกับค่ายรถยนต์ 3-4 ค่าย ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้อีวี ทั้งค่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ คาดว่าจะตกลงกันได้ในปลายเดือน มิ.ย. 65 หลังจากก่อนหน้านี้ มีค่ายรถยนต์ 5 รายเข้าร่วม

อย่างไรก็ดี KKP Research โดย เกียรตินาคินภัทร ประเมินในภาพรวมว่า ประเทศไทยอาจไม่ใช่แหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเหมือนที่เคยเป็นแหล่งผลิตยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน สาเหตุเพราะการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไปเป็นการผลิตรถยนต์ EV ยังมีอุปสรรคมากและประสบความสำเร็จได้ยาก ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีการผลิตโดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยไม่มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรีลิเทียมไอออน อีกทั้งค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่า และทรัพยากรแร่ธาตุที่จำเป็นเช่น นิเกล ไม่อาจสู้อินโดนีเซียที่มีแหล่งนิเกิลใหญ่ที่สุดในโลกมากถึง 30% จากแหล่งแร่สำรองทั้งหมด ดังนั้นไทยจึงไม่ดึงดูดพอสำหรับการเข้ามาลงทุน แม้จะมีกระแสการที่เทสลาเข้ามาตั้งบริษัทในไทยเป็นใบเบิกทางสำหรับการลงทุนจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตก็ตาม

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics มองในทิศทางเดียวกันว่า แม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะโตเร็ว แต่โอกาสที่จะกลายเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือ BEV ของภูมิภาคยังค่อนข้างยาก เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันจากค่ายรถยนต์จากจีนมากขึ้น ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยยังค่อนข้างเล็ก และบริษัทผู้ผลิตหลักจากประเทศญี่ปุ่น ยังไม่เดินหน้ารุกตลาด BEV อย่างเต็มที่ จึงทำให้จีนเร่งรุกตลาดสร้างฐานลูกค้าใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รถยนต์ BEV ที่วิ่งบนท้องถนนในปัจจุบันเกิน 80% เป็นผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีนทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี การตั้งฐานผลิตรถยนต์ BEV ของค่ายรถจีนนอกประเทศก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่คุ้มค่านัก เนื่องจากปริมาณการผลิตรถยนต์ BEV ในโรงงานประเทศจีนมีขนาดใหญ่ จึงมีการผลิตสินค้าจำนวนมากในครั้งเดียวจนได้ต้นทุนที่ต่ำ หรือที่เรียกว่า การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อคันถูกกว่าไทยค่อนข้างมาก อีกทั้งผู้ผลิตยังสามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมาขายในไทยโดยตรงผ่านสิทธิประโยชน์ด้านเขตการค้าเสรีไทย-จีน (FTA) แทนที่จะเข้าร่วมโครงการสนับสนุนจากภาครัฐที่ผู้ผลิตมีภาระผูกพันที่จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอีกด้วย

แต่ถึงกระนั้น อานิสงส์จากมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตามกระแสความนิยมยานยนต์ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลกในด้านราคา และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้ ttb analytics ประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ BEV ในไทยปี 2565 จะสูงถึง 10,203 คัน ส่วนยอดขายแบบ Hybrid และ PHEV จะอยู่ที่ 41,927 คัน และ 11,469 คัน ตามลำดับ เห็นได้จากตัวเลขยอดจองรถยนต์ BEV ในงานมหกรรมมอเตอร์โชว์ล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ที่สูงเกิน 3.1 พันคัน หรือคิดเป็นกว่า 10% ของยอดจองรถ 33,936 คัน ประกอบกับแรงส่งในช่วงปลายปีนี้ ที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่นจะส่งรถยนต์ BEV เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอีก