หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนอยู่บนท้องถนน จะมี “บุรุษกั๊กน้ำเงิน” มาคอยให้ความช่วยเหลือ จนปัจจุบันเป็นภาพที่คุ้นชินของคนใช้รถใช้ถนนในเมืองกรุงไปแล้ว พวกเขาเหล่านั้นคือ “ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ” ที่ออกปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือ ควบสองล้อคู่ใจ นำส่ง “หัวใจ-คนเจ็บ-คนท้อง” ให้ถึงมือหมอแข่งกับเวลา หรือแม้แต่อำนวยความสะดวกแก้ปัญหารถติด-รถเสีย ให้แก่ประชาชนในทุกสถานการณ์ ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชดำริอย่างสุดความสามารถ จนผู้คนต่างยกย่อง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเห็นความเดือดร้อนของปวงชนชาวไทย และเพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันพ่อแห่งชาติ รวมถึงวันชาติไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ขออาสาพาไปรู้จัก “บุรุษกั๊กน้ำเงิน” อีกหนึ่งน้ำพระทัยที่มีต่อคนไทยให้มากขึ้น
พ.ต.ท.ประพันธ์ พิสมัย รอง ผกก.6 บก.จร.ในฐานะหัวหน้าหน่วยตำรวจจราจรในโครงการพระราชดำริ เปิดเผยว่า โครงการตำรวจจราจรในพระราชดำริเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 จากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร จึงมอบหมายให้ พล.อ.เทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์ในเวลานั้น เป็นผู้ดำเนินการ โดยการแต่งตั้ง พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในเวลานั้น เป็นผู้อำนวยการ และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 8,000,000 บาท แก่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการจัดตั้งโครงการโดยใช้ชื่อว่า ตำรวจจราจรในโครงการพระราชดำริ และนำทุนที่ได้รับไปซื้อเครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลจัดฝึกอบรมตำรวจเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามแนวพระราชดำริ เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การอำนวยการจราจร รวมถึงเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงอื่นๆ ภายใต้ภารกิจที่ได้พระราชทานแนวทางไว้ 5 ประการ คือ 1. แสวงหาแนวทางให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเคารพกฎจราจรและมีมารยาท 2. ใช้รถจักรยานยนต์เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วแก้ปัญหาจุดที่รถติดเสมือนรถนำขบวน โดยรถจักรยานยนต์จะเข้าไปแก้ไขปัญหาทำให้ขบวนรถเคลื่อนที่ไปได้ 3. ใช้รถจักรยานยนต์ดูแลการจราจรบนถนนให้รถเคลื่อนตัวไปได้ตามความเหมาะสม 4. ถนนที่เป็นคอขวด ให้รถจักรยานยนต์เข้าไปแก้ไขให้เคลื่อนตัวได้เสมือนเทน้ำออกจากขวด 5. ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการจราจร
ปัจจุบันตำรวจโครงการพระราชดำริ มีหน้าที่ในการบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัด และช่วยเหลือประชาชนในกรณีพิเศษด้วย เช่น การช่วยเหลือหญิงที่ท้องแก่ใกล้คลอด หรือผู้ป่วย และการนำส่งหัวใจหรืออวัยวะคนเป็นภารกิจเสริมที่เพิ่มเข้ามาทีหลัง จากข้อมูลพบว่า เดือนสิงหาคม 2565 มีการปฏิบัติภารกิจนำส่งหัวใจไปแล้ว 54 ครั้ง เท่ากับช่วยชีวิตคนโดยการเปลี่ยนหัวใจไปแล้วไม่น้อยกว่า 54 ดวง
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ตำรวจจราจรในโครงการพระราชดำริ ได้ปฏิบัติภารกิจตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และปฏิบัติตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยแบ่งโครงการออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.หมอคน คือการจัดชุดเคลื่อนที่เร็วโดยตำรวจที่ผ่านการฝึกอบรมด้านการปฐมพยาบาล การช่วยชีวิตและช่วยเหลือผู้ป่วยเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น เช่น รถชน ตำรวจสามารถเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนำส่งโรงพยาบาลได้ ซึ่งกรณีที่สร้างชื่อเสียงให้กับโครงการคือ การช่วยทำคลอดฉุกเฉินโดยตำรวจที่ได้รับการฝึกฝนมา 2.หมอรถ คือการจัดชุดตำรวจช่าง โดยตำรวจที่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ทั้งระบบ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่รถเสียกีดขวางการจราจรให้สามารถขับขี่ต่อไปได้ และให้สภาพการจราจรสามารถเคลื่อนตัวได้ต่อไป 3.หมอถนน คือการจัดชุดจราจรไปโบกรถตามจุดที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น บริเวณใกล้อนุสาวรีย์และโรงเรียนต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และบริเวณคอขวดสะพานกรุงธนบุรี เป็นต้น
รวมถึงภารกิจที่เพิ่มขึ้นมา คือการนำส่งอวัยวะที่ผู้บริจาคส่งต่อไปยังผู้รับบริจาค เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือตามที่สภากาชาดประสานมาว่ามีผู้บริจาคอยู่ต่างจังหวัด และผู้รับบริจาคอยู่กรุงเทพมหานคร ส่วนมากมาส่งที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ จึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและชุดช่างเพื่อนำทางให้รถพยาบาลในเวลาไม่เกิน 4-5 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มผ่าหัวใจหรืออวัยวะจนถึงผู้รับ ภารกิจนี้มีความเสี่ยง ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ซึ่งการช่วยเหลือไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่รับสินน้ำใจใดๆ จากประชาชนทั้งสิ้น จุดประสงค์คือส่งต่อน้ำพระทัยของในหลวงสู่พี่น้องประชาชน นี่คือความภาคภูมิใจของเรา
ในปัจจุบัน กำลังเจ้าหน้าที่รุ่นเก่าเริ่มโรยราลง บางคนเกษียณอายุราชการ จึงต้องสร้างเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน เพื่อผลัดเปลี่ยนกำลังเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง โดยเน้นการฝึกเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถถ่ายทอดให้รุ่นต่อไปได้ ทั้งเรื่องการช่วยชีวิตคน การปั้มหัวใจ(CPR) การใช้เครื่องกระตุกหัวใจ(AED) การทำคลอดเบื้องต้น ซึ่งต้องทำได้ในสถานการณ์จริง ณ จุดเกิดเหตุ โดยชุดเคลื่อนที่เร็วและชุดช่างจะได้รับแจ้งเหตุจาก 3 แหล่งหลัก ได้แก่ เบอร์ 02-354-6089 จส.100 และศูนย์กู้ชีพนเรนทร ถึงกรณีมีผู้เจ็บป่วยต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน และรถเสียกีดขวางการจราจร ดังนั้น ความรู้ที่ถูกฝึกฝนมาต้องพร้อมใช้งานจริงเสมอ เนื่องจาก ปัจจุบันมีผู้แจ้งขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ด้าน นางสาวลักษมีลาวัลย์ หาญพาณิชย์ เปิดเผยประสบการณ์ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการว่า ขณะพาแม่ไปส่งโรงพยาบาลหลังจากประสบอุบัติเหตุล้ม ได้โทรติดต่อศูนย์ช่วยเหลือรถพยาบาล เนื่องจากรถติดมาก เจ้าหน้าที่แนะนำให้ติดต่อ 1197 ไปพร้อมกัน อาจจะถึงเร็วกว่า จึงได้โทรประสานจุดนัดพบกับตำรวจจราจรในพระราชดำริ เจ้าหน้าที่แนะนำให้เปิดไฟกระพริบเป็นสัญลักษณ์ฉุกเฉินขณะขับรถไปเรื่อยๆ ส่วนเจ้าหน้าที่จะไปดักรอข้างหน้า จนกระทั่งตนขับไปพบเจ้าหน้าที่ 6 คน พร้อมมอเตอร์ไซค์คันใหญ่กำลังรออยู่ และได้ช่วยนำทางต่อไป โดยแบ่งกำลังกันปิดแยกทีละแยกสลับกัน พร้อมโบกกั้นรถ ประคับประคองให้รถตนเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความแออัดบนท้องถนน แม่ของตนถึงโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย ซึ่งตนมองว่า ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออาจต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ทำงานมีระเบียบ รวดเร็ว ด้วยมอเตอร์ไซค์ที่คล่องตัว โดยก่อนหน้านี้ตนไม่คิดว่าจะช่วยได้จริง พร้อมขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ตนคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ต่อประชาชนไว้จนถึงปัจจุบัน
ขอขอบคุณภาพจากเพจตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร
As part of their spo…
This website uses cookies.