เมื่อเวลา 11.40 น.วันที่ 14 มิถุนายน ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) สั่งการให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมแถลงชี้แจงหลังเกิดปัญหาความขัดแย้งการกระจายวัคซีนโควิด-19 ระหว่างกทม. และ สธ.
นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.ดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดในการจัดหาวัคซีน โควิด-19 ให้กับประเทศไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชาชนที่อยู่ในแผ่นดินไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2564 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาได้นำเข้าวัคซีนจำนวน 8.1 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา 2.1 ล้านโดส และบริษัทซิโนแวก 6 ล้านโดส ปัจจุบันได้ฉีดสะสมแล้วทั้งหมด 6,188,124 โดส นับถึงวันที่ 13 มิถุนายน โดยจำนวนฉีดสูงสุดอยู่ที่ กทม. 1,716,394 โดส คิดเป็น 27.7% ของวัคซีนที่มีทั้งหมดที่มีอยู่ แบ่งเป็นเข็มที่หนึ่ง 1,346,993 โดส และเข็มที่สอง 369,401 โดส ทำให้ประชากรในกรุงเทพมหานคร ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม 17.5% อย่างที่เราทราบโดยธรรมชาติของการผลิตวัคซีน ที่เป็นชีววัตถุ จะมีความไม่แน่นอนในการผลิตค่อนข้างสูง ไม่เหมือนกับยาที่ใช้สารเคมีตั้งต้น พวกนั้นจะสามารถควบคุมได้ดีกว่า ฉะนั้น การผลิต การตรวจสอบคุณภาพของวัคซีน จะมีมาตรฐานสากลที่เราต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะหน่วยงานที่ควบคุมคุณภาพ ที่เรียกว่า Quality Assurance ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นพ.โอภาสกล่าวว่า การจัดสรรวัคซีน เราจะพิจารณาถึงข้อมูลวิชาการ พื้นที่ จำนวนประชากร สถานการณ์การระบาด และแบ่งเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด รวมถึงการคำนึงถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมากำหนด การจัดการลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย เราจะเน้นที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องดำเนินการในการสอบสวนควบคุมโรค ซึ่งขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขได้รับการฉีดวัคซีนเกือบครบครบ 100% แล้ว นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มตำรวจ ทหาร อสม. ที่ต้องลงไปในพื้นที่กักกันโรค ก็จะได้รับการฉีดและจัดสรรต่อไป
นพ.โอภาสกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติด้านการฉีดวัคซีน โควิด-19 ได้มีการเน้นให้ฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนก่อน สอดคล้องกับหลักการทางวิชาการด้านการแพทย์ และสาธารณสุข โดยสธ. ได้เปิดการจองวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม มาล่วงหน้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ เนื่องจากวัคซีน โควิด-19 เป็นวัคซีนที่เรายังใช้ในภาวะฉุกเฉินอยู่ ไม่ได้เป็นวัคซีนที่มีอยู่ในท้องตลาด แล้วเราไปสั่งซื้อ ฉะนั้นการสั่งซื้อ และการจอง จะต้องมีการผลิตและสั่งจองทันที เพื่อให้วัคซีนถึงพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด ฉะนั้นบริษัทวัคซีนที่เรามีการกำหนดทำสัญญากัน ก็จะทยอยส่งเป็นงวดๆ เป็นไปตามสัญญาที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นมา ยังมีการฉีดให้กลุ่มอื่นๆ ด้วย ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น กลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมการเปิดเทอมสำหรับเด็กนักเรียน กลุ่มคนทำงานขนส่งสาธารณะ เป็นกลุ่มสำคัญที่จะทำให้ระบบการดำรงชีวิตของประชาชนขับเคลื่อนได้ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มรถเมล์ รถตู้ วินมอเตอร์ไซด์ ต่างๆ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังมีการฉีดให้กับเป้าหมายอื่น เช่น กลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ที่เราต้องฉีดวัคซีน เพื่อให้ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไปได้
นพ.โอภาสกล่าวว่า โดยเดือนมิถุนายน จะมีการกระจายวัคซีน ซึ่งเราวางแผนไว้ อย่างน้อยจะต้องเป็น 2 งวด ครอบคลุมการฉีดระยะ 2 สัปดาห์ โดยงวดแรกที่เรามีการฉีดตั้งแต่วันที่ 7-20 มิถุนายนที่จะถึง จะมีการส่งวัคซีนไปประมาณ 3 ล้านโดส ประกอบด้วย วัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดส และแอสตร้าเซเนก้า 2 ล้านโดส ได้จัดส่งไปยัง กทม. แล้ว 5 แสนโดส ประกอบด้วยแอสตราเซเนกา 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส นอกจากนี้ยังได้ส่งไปให้สำนักงานประกันสังคมอีก 3 แสนโดส ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะฉีดใน กทม. เป็นหลัก รวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่ง ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อีก 1.5 แสนโดส ซึ่งจะฉีดใน กทม. เป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อมใน 76 จังหวัด จะมีการส่งวัคซีนไป 1.1 ล้านโดส จุดฉีดต่างๆ สำหรับองค์กรภาครัฐ เช่น กลุ่มขนส่งสาธารณะ กลุ่มทหาร ตำรวจ ที่ต้องดำเนินการในการกักกันผู้ป่วย ที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ และครู อีก 1 แสนโดส นอกจากนี้ ยังเตรียมวัคซีนไว้สำหรับรองรับสถานการณ์การระบาดซึ่งมีอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น เพชรบุรี เป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้กระจายไปในงวดแรก ส่วนงวดที่สอง ซึ่งตามกำหนดจะต้องกระจายไปอย่างช้าที่สุด วันที่ 21 มิถุนายน-2 กรกฎาคม อีก 3.5 ล้านโดส ก็จะเป็นวัคซีนของซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซเนก้า อีก 1.5 ล้านโดส ซึ่งทั้งหมดที่เราจะกระจาย เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเดือนมิถุนายน จะต้องรวมได้ประมาณ คือ 6 ล้านโดส
เมื่อถามว่า ปัจจุบันเหลือวัคซีนที่ยังไม่ฉีดในประเทศอีกจำนวนเท่าใด และจะมีเพิ่มเติมมาวันใด นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาพรวมปัจจุบันวัคซีนได้กระจายไปตามจุดต่างๆ และจังหวัดต่างๆ ประมาณ 7 ล้านโดส เกือบ 8 ล้านโดส ซึ่งฉีดไปแล้ว 6 ล้านกว่าโดส และภายในสัปดาห์นี้ก็จะทยอยฉีด ตามเป้าหมายและวัคซีนที่เรามี ก็คาดว่าเดือนมิถุนายนนี้ เป้าหมายเราน่าจะฉีดได้ประมาณ 10 ล้านโดสในภาพรวมของประเทศไทย และขอย้ำว่า วัคซีนนี้ถือเป็นชีววัตถุ ไม่ใช่ว่ามีของแล้วเดินไปซื้อได้เลย พอผลิตปุ๊ปต้องส่งทันที และฉีดทันที เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด ยืนยันว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามเป้าหมายว่า เดือนนี้จะต้องมีวัคซีนเข้ามาทั้งหมด 6 ล้านโดส โดยสัปดาห์แรกเรากระจายไปแล้ว 3 ล้านโดส อีกครั้งเดือนที่เหลือของเดือนนี้เราก็จะกระจายไปอีก อย่างน้อยอีก 3 ล้านโดส
นพ.โอกาสย้ำว่า “เมื่อผลิตวัคซีน และตรวจสอบแล้ว เราก็จะรีบจัดส่งไปทันที ซึ่งขณะนี้มีวัคซีนหลายบริษัท หลายล้านโดส กำลังรอตรวจสอบคุณภาพ เชื่อว่าอีกไม่นาน แต่ขอไม่ระบุวัน ที่จะเข้ามาในประเทศ เพราะการตรวจสอบคุณภาพ เป็นสิ่งที่เราผ่อนปรนไม่ได้ เราจะไม่ยอมให้วัคซีนที่ไม่มีคุณภาพ นำมาฉีดให้พี่น้องประชาชนคนไทย แต่ถ้าการตรวจสอบคุณภาพไม่เสร็จ ก็อาจจะไม่ได้อย่างนั้น แต่ตามเป้าหมาย 6 ล้านโดสก็ยังเป็นไปตามเป้าหมายเหมือนเดิม”