หยุด “ดอกเบี้ย” โหดธุรกิจผ่อนรถ ใช้กฎใหม่ “คิดจากเงินต้น-คุมเพดาน” “ไฟแนนซ์-ลิสซิ่ง” หมดยุคเสือนอนกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ –  การเข้ามาคุมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ให้คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก และคุมอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ไม่เกิน 10% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วไม่เกิน 15% ต่อปี ส่วนจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ ไม่เกิน 23% ต่อปี มีผลบังคับใช้กลางเดือนมกราคมปี 2566 ถือเป็นผลงานโบแดงในการคุ้มครองผู้บริโภค และแน่นอนย่อมส่งผลสะเทือนถึงธุรกิจเช่าซื้อทั้งแบงก์และนอนแบงก์ที่ทำตัวเป็นเสือนอนกินมานาน  

ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2565 โดยให้มีผลบังคับใช้หลังพ้นประกาศ 90 วัน หรือวันที่ 11 มกราคม 2566

ประกาศดังกล่าว มีสาระสำคัญหลักๆ คือ ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ คิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) หรือในลักษณะแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่แบบเดิม พร้อมกับกำหนดเพดานดอกเบี้ยกรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในทุก 3 ปี

ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อหรือผู้กู้ จะขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ โดยไม่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายงวดตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดโดยให้คิดคำนวณตามมาตรฐานที่ระบุไว้ตามขั้น ดังนี้ กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่เกิน 1 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 60% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 70% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ส่วนกรณีชำระค่างวดมาแล้วเกินกว่า 2 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดทั้งหมดของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระนอกจากนั้น กระบวนการซื้อคืนหลังกระบวนการยึดและขายทอดตลาดต้องแจ้งให้สิทธิภายใน 30 วัน

 ผลงานโบแดงชิ้นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอเก็บแต้มแจ้งข่าวดีนี้กับพี่น้องประชาชน เพราะการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ไม่ใช่การคิดดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่แบบเดิมที่ทำให้ลูกค้าหรือผู้ที่เช่าซื้อเสียเปรียบบริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง  

อีกทั้งยังโอ่ด้วยว่า รัฐบาลพยายามช่วยเหลือประชาชนที่มีหนี้สินให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ผลักดันการเปลี่ยน  “ฐานคำนวณดอกเบี้ย”  จากเดิมคิดจากยอด  “เงินต้นคงค้างทั้งหมด” มาเป็นการคิดดอกเบี้ยจาก “เงินต้นเฉพาะเดือนที่ผิดนัดชำระ”  เท่านั้น หลักการนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การคิดดอกเบี้ยในประเทศไทย เป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” เพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือนให้ประชาชน สามารถลดปัญหาหนี้สินประชาชน กว่า 200,000 ราย มูลหนี้มากกว่า 30,000 ล้านบาท และต่อยอดจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอีกครั้ง ซึ่ง ณ วันที่ 14 ต.ค. 2565 มีคำขอแก้หนี้เข้ามาแล้ว 158,539 รายการ จากลูกหนี้ 62,595 ราย เฉลี่ยคนละ 2-3 รายการ ส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

 แน่นอนว่า ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาข้างต้น กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ก็คือลูกหนี้ที่แบกดอกเบี้ยสูงโด่งมานมนาน ส่วนผู้ที่ได้ผลกระทบหนักคงเป็นธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยสินเชื่อรถจักรยานยนต์เฉลี่ยอยู่ที่ 30-32% ต่อปี เรียกว่าทำรายได้ดีมากๆ 

มิหนำซ้ำที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเลยคือ ยังไม่มีหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับควบคุมดูแลโดยตรงในการคิดอัตราดอกเบี้ยของไฟแนนซ์ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อนี้อีกต่างหาก

สำหรับผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อมีมากน้อยแค่ไหนนั้น นายมงคล เพียรพิทักษ์กิ  นายกสมาคมธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย ประเมินเบื้องต้นว่า การคุมอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ จะทำให้ทั้งยอดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ และยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งระบบลดลงราว 20-30% จากปัจจุบันยอดสินเชื่อรถจักรยานยนต์เฉลี่ยอยู่ที่ 90,000-100,000 ล้านบาท และยอดขายรถจักรยานยนต์ 1.6 ล้านคัน โดยซื้อแบบผ่อนชำระ 80% และอีก 20% ซื้อเงินสด

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการคุมเข้มอัตราดอกเบี้ย และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดลดต้นลดดอกให้ลูกค้า เรื่องที่จะตามมาก็คือ ผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อหรือไฟแนนซ์ ต้องทบทวนการปล่อยกู้ใหม่ ต้องสกรีนลูกค้ามากขึ้น อาจจะเพิ่มเงินดาวน์ขึ้นเป็น 10-30% เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้หรือเกิดหนี้เสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มฐานราก กลุ่มอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ เช่น พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร วินมอเตอร์ไซด์ ไรเดอร์ หรือเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประวัติผ่อนชำระสินเชื่อมาก่อนก็ต้องมีเงินดาวน์ก่อนออกรถ

ก่อนหน้าสมาคมฯ เสนอเพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 30% จากเพดานเดิม 32-33% ซึ่งนายมงคล บอกว่าผู้ประกอบการมีกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยราว 5-6% แต่สุดท้ายสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ เคาะเพดานดอกเบี้ยรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 23% หรือเท่ากับว่าดอกเบี้ยหดหายไปถึง 10%

 นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์  ประธานสมาคมเช่าซื้อไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด ประเมินในทำนองเดียวกันว่า กลุ่มรถจักรยานยนต์จะกระทบหนักสุด จากอัตราดอกเบี้ยเดิมที่คิดอยู่ที่ 32-36% มาอยู่ที่ 23% ต่อปี และเดิมปล่อยสินเชื่อทุกสาขาอาชีพก็ต้องพิจารณาใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการสินเชื่อหรือไฟแนนซ์ต้องปรับตัวเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยคาดว่าธุรกิจไฟแนนซ์ท้องถิ่น จะได้รับกระทบมากกว่าธุรกิจของแบงก์และนอนแบงก์

ส่วนกลุ่มรถยนต์ใช้แล้วที่มีอายุ 13-15 ปีขึ้นไป จะได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากการคำนวนอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันแบบกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แต่ปริมาณของรถยนต์กลุ่มดังกล่าวมีไม่มาก ซึ่งกลุ่มรถยนต์ใช้แล้วปกติจะต่ำกว่า 12 ปีเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลุ่มรถยนต์ใหม่ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการแข่งขันเรื่องอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างรุนแรงและต่ำกว่าเพดานใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้อยู่แล้ว

 นายกรกช เสวตร์ครุตมัต  ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่น่าสูงนัก เพราะกลุ่มนี้เป็นรายใหญ่ที่ถูกกำกับโดย ธปท. มาบ้างแล้วบนสินเชื่อชนิดอื่นๆ แต่คาดว่าผลกระทบน่าจะอยู่กับลิสซิ่งท้องถิ่นมากกว่าที่ต้องทำระบบและปรับแก้ข้อกำหนดต่างๆ เพิ่มเติมและอาจเสียเปรียบรายใหญ่ ส่วนเรื่องการคุมเพดานดอกเบี้ยมองว่าเหมาะสมขึ้น

ความเห็นจากผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อ  นายวิชิต พยุหนาวีชัย  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด มั่นใจว่า จะกระทบรายได้จากการประกอบธุรกิจเพียงเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทได้วางแผนเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ในการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยใหม่ และใช้การทบทวนคะแนนเครดิตลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อควบคุมระดับเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับเหมาะสม แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ต่อไปจะมีการทบทวนกระบวนการทางเครดิตมากขึ้น และเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ประชาชนซื้อรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ได้ยากขึ้น กระทบทั้งระบบเป็นห่วงโซ่ตั้งแต่ภาคประชาชนยันภาคธุรกิจ

ขณะที่ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส หรือ ASPS ประเมินว่า ประกาศดังกล่าวจะกระทบต่อผู้ประกอบการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เป็นหลัก เนื่องจากคิดเป็นดอกเบี้ยจากลูกค้าสูงกว่า 23% เช่น บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) (TK) บริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (s11) บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (NCAP) เป็นต้น

ส่วนผู้ประกอบการกลุ่มจำนำทะเบียน คือบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD จะได้รับผลกระทบบ้าง ปัจจุบันมีสัดส่วนสินเชื่อจากธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ราว 23% ของสินเชื่อสุทธิ และคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อเฉลี่ยราว 30% โดย SAWAD ประเมินว่าการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จะทำให้ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยอยู่ไม่ได้ ซึ่งคิดเป็นราว 25-30% ของอุตสาหกรรมฯ ส่งผลให้ลูกค้าบางส่วนจะหันมาหา SAWAD และผู้ประกอบการรายใหญ่มากขึ้น หนุนการเติบโตสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของบริษัทในระยะยาว

นอกจากนั้น ประเด็นดังกล่าวจะทำให้แนวโน้มยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วงที่เหลือของปี 2565 ชะลอตัวลงบ้าง เพราะผู้ซื้อรถบางส่วนจะชะลอการซื้อออกไปก่อน

สำหรับหลักเกณฑ์กรณีการคืนรถหรือปิดบัญชีก่อนกำหนดนั้น ฝ่ายวิจัย เอเซียพลัส ประเมินว่า จะกระทบต่อผู้ประกอบการกลุ่มเช่าซื้อจำกัด เพราะเดิมกรณีที่ผู้เช่าซื้อต้องการปิดบัญชีก่อนกำหนด จะได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ครบกำหนดชำระอยู่แล้ว อีกทั้งผู้ขอสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ก็ไม่ปิดบัญชีก่อนกำหนดอยู่แล้ว



 อย่างไรก็ตาม เอเซียพลัส คงประมาณการคาดกำไรสุทธิปี 2565-66 ของกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อจะเติบโต 10.5% จากปีก่อน และ 15.6% จากปีก่อน ตามลำดับ จากแนวโน้มสินเชื่อกลุ่มฯ ปี 2565-66 จะเติบโต 19.5% จากปีก่อน และ 15.3% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาท และ 5.3 แสนล้านบาท ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

ขณะที่ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า ประกาศคุมเพดานดอกเบี้ยดังกล่าว จะกระทบการปล่อยสินเชื่อ-ยอดขายรถทั้งระบบลดลง 20-30% จากปัจจุบันปล่อยกู้เฉลี่ยที่ 1 แสนล้าน ยอดขายรถ 1.6 ล้านคัน โดยมองว่าส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่จะทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อลดลง และทำให้สินเชื่อจะขยายตัวต่ำกว่าเป้า จากเกณฑ์การควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่จะเข้มงวดขึ้น, มีการวางเงินดาวน์เพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งคาดว่าจะกระทบกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ไม่ประจำหรืออาชีพอิสระ โดยประเมินว่าจะส่งผลกระทบเรียงจากมากไปหาน้อยอิงสัดส่วนสินเชื่อเช่ารถจักรยานยนต์ ได้แก่ TK, NCAP, S11, SAWAD, บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) หรือ SCAP, บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC และ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO

 นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 23% จะทำให้กลุ่มคนฐานรากที่มีรายได้หรือเอกสารทางการเงินไม่ชัดเจน และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น ผู้ประกอบการก็จะต้องปรับกระบวนการในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น และกำหนดให้วางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 20-30% ถือว่าค่อนข้างเยอะสำหรับกลุ่มลูกค้าฐานราก เช่น วงเงินรถจักรยานยนต์เฉลี่ย 4-5 หมื่นบาท ลูกค้าจะต้องมีเงินดาวน์ประมาณ 1-1.5 หมื่นบาท ถือเป็นวงเงินก้อนใหญ่สำหรับลูกค้าเช่นกัน และเมื่อเข้าไม่ถึงก็อาจออกไปพึ่งสินเชื่อนอกระบบได้

นอกจากนั้น การปล่อยสินเชื่อจักรยานยนต์จะต้องมีประวัติในเครดิตบูโร ดาวน์สูง มีรายได้แน่นอน ถึงจะได้รับบริการสินเชื่อ แต่คนที่ไม่มีประวัติและผ่อนชำระกระท่อนกระแท่น ไม่มีรายได้ประจำ จะเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น ส่งผลต่อให้ยอด rejection rate เพิ่มขึ้นแน่นอน โดยปัจจุบันสัดส่วนซื้อรถประมาณ 80% จะเป็นการผ่อนชำระ และอีก 20% จะซื้อเงินสด อาจเห็นสัดส่วนคนซื้อเงินผ่อนน้อยลงได้ในปีนี้

ส่วนตลาดรถยนต์ใช้แล้วนั้น  นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ตลาดรถใช้แล้วมีโอกาสได้รับผลกระทบ ยิ่งไฟแนนซ์ปล่อยสินเชื่อไม่ได้ และคนที่ไม่มีกำลังซื้อรถใหม่ที่เคยเข้าถึงรถใช้แล้วในต้นทุนที่ถูกกว่ารถใหม่ กลับเข้าไม่ถึงสินเชื่อได้เหมือนเดิม เมื่อจำนวนรถเท่าเดิม แต่ความต้องการใช้หายไป ทำให้ราคารถใช้แล้วในตลาดมีแนวโน้มร่วงแน่นอน

การประกาศคุมเพดานดอกเบี้ยและการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเพียงก๊อกแรกในการเข้ามากำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ยังมีก๊อกสองต่ออีก ซึ่งขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างสรุปผลการรับฟังความเห็นร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะมีประกาศลงราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ธ.ค.2565 ให้มีผลภายใน 180 วัน นับจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือมีผลประมาณกลางปี 2566

การยกร่างพระราชกฤษฎีกาคุมธุรกิจเช่าซื้อ-ลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของแบงก์ชาติ เป็นการทำงานควบคู่ไปกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อคุ้มครองดูแลผู้บริโภคที่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยแพงและไม่เป็นธรรมจากผู้ให้บริการเงินกู้

 ประเด็นสำคัญที่ทำให้แบงก์ชาติต้องเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และจักรยานยนต์ให้บริการแก่ประชาชนเป็นวงกว้าง และมีอัตราการขยายตัวสูงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณธุรกรรมมีนัยสำคัญทั้งในระดับเศรษฐกิจและระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย โดยสิ้นปี 2564 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับ 90% ต่อจีดีพี ยอดหนี้รวม 14.6 ล้านล้านบาท โดยเป็นยอดคงค้างของการให้เช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1.8 ล้านล้านบาท หรือ 12.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และเป็นส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและไม่ใช่บริษัทลูกธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) สัดส่วนถึง 31.6% 

 ทั้งนี้ ธุรกิจเช่าซื้อและลิสซิ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ ขณะที่ธุรกิจนี้มีการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยสูง และมีปริมาณเรื่องร้องเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากข้อมูลสถิติผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ระหว่างปี 2562-2565 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเช่าซื้อรวม 489 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถึง 82% 

สำหรับแรงผลักดันมีการออกกฎหมายควบคุมธุรกิจเช่าซื้อและลิสซิ่ง มาจากคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่งตั้งขึ้น โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ ตามวาระปี 2565 ปีแห่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยคณะกรรมการฯ เห็นชอบในหลักการให้มีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งเป็นการเฉพาะเพื่อยกระดับการประกอบธุรกิจให้มีมาตรฐาน

ต่อมา กระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พิจารณาร่วมกับ ธปท.ร่วมกันยก (ร่าง) “พระราชกฤษฎีกากำหนดการประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. ….”

การยกร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ เป็นการขยายขอบเขตของ ธปท. เพื่อให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจให้บริการเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ให้ครอบคลุมทั่วถึง เพราะเดิม ธปท.กำกับได้เฉพาะลีสซิ่งที่เป็นบริษัทลูกของแบงก์เท่านั้น โดยกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ ธปท. มีอำนาจการกำกับดูแลผู้ให้บริการเช่าซื้อ-ลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในกลุ่มนอนแบงก์หรือที่ไม่ใช่แบงก์ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกลุ่มแคปทีฟ ไฟแนนซ์ ของค่ายรถอย่าง โตโยต้า ลีสซิ่ง, ฮอนด้า ลีสซิ่ง, เป็นต้น รวมถึงกลุ่มดีลเลอร์จักรยานยนต์ที่ให้บริการลีสซิ่งกับลูกค้าควบคู่ไปด้วย ซึ่งทั่วประเทศมีจำนวนหลายพันราย

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเช่าซื้อและลีสซิ่ง จะอยู่ภายใต้กฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งการกำกับดูแลจะเป็นเรื่องของสัญญา ส่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งจะดูแลในเรื่องความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และจะมีการตรวจสอบก็ต่อเมื่อผู้บริโภคร้องเรียน แต่ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 จะเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการ และเป็นการกำกับดูแลไม่ให้มีความเสี่ยงเชิงระบบของผู้ประกอบการและทำให้แบงก์ชาติมีฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนครอบคลุมมากขึ้น

 นับเป็นข่าวดีของลูกหนี้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมานาน และการรีดดอกเบี้ยไม่เป็นธรรมได้รับการแก้ไขในระดับเชิงโครงสร้าง