ขาดการออกกำลัง อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญสู่ภาวะ หัวใจวาย !
วานนี้ (30 ต.ค. 65) หมอดื้อ หรือ นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา โพสต์บทความเตือนภัย อีกสาเหตุสำคัญสู่ภาวะ หัวใจวาย นอกจากโรคเมตาบอลิกที่สะสมมานานทั้ง อ้วนลงพุง ความดันสูง ไขมัน และมลพิษทั้งหลาย จนเกิดมีเส้นเลือดตีบในอวัยวะต่างๆ รวมทั้งหัวใจและสมอง ก็คือ ขาดการออกกำลังกาย
ขอบคุณภาพจาก: Hfocus.org
โดยหมอดื้อเผย เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 65 มีรายงานจาก วารสารของวิทยาลัยโรคหัวใจของอเมริกา (Journal of the American College of Cardiology) ซึ่งจัดทำโดยผู้รายงานจาก สถาบันวิจัยทางหัวใจของออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นประเด็นของหัวใจวายอีกกลุ่มที่ดูเหมือนว่า การบีบตัวของหัวใจห้องล่างทางด้านซ้ายจะยังดูปกติ แต่ขนาดของหัวใจเล็กลง!
ดังนั้น เมื่อหัวใจเล็กลง แต่ละครั้งที่หัวใจบีบตัว ก็จะส่งเลือดได้น้อยลงมาก เช่น เหลืออยู่เพียง 60 ซีซี ซึ่งการที่จะทำให้ได้ปริมาณถึงนาทีละ 9 ลิตร เพื่อทำให้ทั้งมีชีวิตอยู่ได้และต้องสามารถออกกำลังได้ไม่หอบมาก หัวใจดวงนั้น ก็ต้องเต้นเร็วขึ้นมาก กลายเป็นเต้นนาทีละ 150 ครั้ง แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี
เปรียบเสมือนกับรถบรรทุก แต่ใช้เครื่องมอเตอร์ไซค์ขนาด 50 ซีซี จึงไม่ทนงานนั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก: โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์
ประเด็นสำคัญก็คือ การที่มีหัวใจเล็ก เกิดจาก การขาดการออกกำลังเรื้อรัง หรือ ที่เรียกว่า chronic exercise deficiency และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกลุ่ม หัวใจวาย ที่สัดส่วนของการบีบตัว ของหัวใจห้องล่าง ยังดูเหมือนปกติ และทำให้ความฟิตความอึด เวลาที่ออกแรงหรือออกกำลังกาย เริ่มน้อยถอยลงตามลำดับ
จากการศึกษาในปี1968 ที่ชื่อว่า Dallas Bed Rest Studies ได้ทำการทดสอบผลของการที่นอนอยู่บนเตียงเป็นส่วนใหญ่ 21 วัน หลังจากนั้นตามด้วยการออกกำลังสองเดือน ที่มีรูปแบบและแบบแผนชัดเจน รวมทั้งมีการประเมินความสมบูรณ์ของหัวใจและระบบหายใจในการใช้ออกซิเจนสูงสุด
หลังจากที่ไม่ทำอะไร นอนเฉื่อยอยู่บนเตียง พบว่าส่งผลกระทบ ทำให้การทำงานของหัวใจลดน้อยถอยลง และประสิทธิภาพขณะออกกำลังด้อยลงอย่างน่าใจหาย อย่างไรก็ตาม การออกกำลังแบบแอโรบิก สามารถที่จะทำให้การทำงานในระบบที่กล่าวมาทั้งหมด กลับมาคืนดีได้ภายในระยะเวลา 15 ถึง 30 วัน
โดยเป็นที่สังเกตว่าอาสาสมัครที่ไม่ค่อยจะมีลักษณะของนักกีฬาเท่าไหร่ กลับมีประสิทธิภาพเพิ่มพูนขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ออกแนวนักกีฬาด้วยซ้ำ และต่อมาอีก 30 ปี ได้มีการทดสอบอาสาสมัครเหล่านี้อีก ผลปรากฏว่า ลักษณะการด้อยลงของการใช้ออกซิเจนสูงสุดขณะออกกำลังมีระดับเหมือนกับตอนที่ให้นอนอยู่บนเตียงสามอาทิตย์ แสดงให้เห็นว่าความเฉื่อยแฉะ นิ่งเฉยไม่ค่อยเคลื่อนไหว แม้เป็นเพียง ระยะเวลาสั้นๆ กลับส่งผลอย่างใหญ่หลวง กลุ่มอาการหัวใจเล็กเนื้อหัวใจแข็ง น่าจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมๆกับกลุ่มที่มีหัวใจโต อ่อนตัว ฟลอปปี (floppy)
ทั้งนี้ ไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างมีรากฐานมาจากพฤติกรรมเฉื่อยชา ทอดหุ่ย และเกิดโรคต่างๆ ตามมาอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว และแน่นอน สุขภาพกายที่ย่ำแย่ส่งผลไปอย่างแน่นอน ถึงสมองทำให้สมองเสื่อมเร็วกว่ากำหนดที่เคยเห็นกันที่อายุ 60
ขอบคุณภาพจาก: Journal of the American College of Cardiology
ในปัจจุบัน มีข้อพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า การออกกำลังที่เมื่อมีการเคลื่อนไหว ออกแรง จะเพิ่มความอึดขึ้น (cardiores piratory fitness) โดยที่การออกกำลัง จะทำให้เนื้อเยื่อหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม การบีบตัวแต่ละครั้ง (stroke volume) จะได้ปริมาณเลือดที่ดี และเมื่อคิดปริมาณเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกายในเวลา 1 นาทีก็เพียงพอ และแถมยังมีอัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกายในขณะออกกำลังสูงขึ้น จึงทำให้อึดขึ้น ทนขึ้น เป็นเงาตามตัวไป
และแน่นอนเมื่อขาดการออกกำลังเป็นระยะเวลานาน ผลที่ได้จะเป็นตรงกันข้าม ทั้งนี้ เมื่ออายุมากขึ้น หัวใจจะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมและแข็งขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งไม่ได้ออกกำลังมาเลยตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่วัยกลางคน ยิ่งไปกันใหญ่ แต่ถ้ากลับตัวแต่เนิ่นๆ ก็สามารถปรับสภาพได้
ขอบคุณภาพจาก: FB ธีรวัฒน์ เหมาะจุฑา
อ่านบทความหมอดื้อจบ ก็อยากลุกมาขยับแขนขาออกกำลังกายเลยค่ะ ยิ่งชาวออฟฟิศอย่างเราๆ วันไหนไม่ได้ออกไปวิ่งงานข่าวก็ต้องนั่งเก้าอี้ ตาจ้องคอมฯ มือวางบนคีย์บอร์ดแทบทั้งวัน กว่าจะเลิกงานกลับถึงบ้านก็หมดแรงแล้ว คงต้องแบ่งเวลามาดูแลสุขภาพก่อน ภาวะหัวใจวายจะมาเยือนบ้างแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก: FB ธีรวัฒน์ เหมาะจุฑา
คลิปอีจันแนะนำ
ราชายิม ค่ายมวยไทย ที่สอนมากกว่าคนไทย
This website uses cookies.