14 พฤษภาคม 2564 | โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
67
ปัญหากวนใจอย่างหนึ่งของหนุ่มสาวยุคโควิด ที่อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่จริงๆ แล้วกลับสร้างความกังวลให้หลายคน นั่นคือปัญหา “สิวผด” และ “สิวอุดตัน” ที่เชื่อมโยงกับลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันแบบ New Normal จากการที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกวันและใส่เป็ฯเวลานานๆ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปเจาะลึกปัญหาสิวๆ โดยเฉพาะ “สิวผด” และ “สิวอุดตัน” ที่เห่อขึ้นบนใบหน้าโดยเฉพาะบริเวณที่สวม “หน้ากากอนามัย” เช่น แก้ม แนวกราม และคาง สิวทั้งสองชนิดนี้เหมืนอหรือต่างกันอย่างไร? มีสาเหตุจากการใช้หน้ากากอนามัยจริงไหม? มีวิธีรักษาสิวยังไง? ตามมาหาคำตอบทางนี้
1. “สิวอุดตัน” – “สิวผด” ไม่ใช่สิวชนิดเดียวกัน
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจลักษณะของสิวทั้ง 2 ชนิดนี้ เนื่องจากเป็นสิวคนละชนิดกัน (แม้จะดูคล้ายกัน) สาเหตุการเกิดสิวและวิธีการรักษาก็แตกต่างกัน แต่มีปัจจัยร่วม 1 อย่าง ที่กระตุ้นให้เกิดสิวทั้งสองชนิดนี้ได้เหมือนกัน นั่นคือ การสวมหน้ากากอนามัยที่นานเกินไปจนอับชื้นหรือใช้ซ้ำ หรือใช้หน้ากากผ้าแล้วไม่ซักบ่อยๆ ก็ทำให้มีเชื้อโรคสะสมบนหน้ากากได้ ก่อให้เกิดสิวเหล่านี้ตามมาได้
2. “สิวอุดตัน” คืออะไร? เกิดจากอะไร?
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เคยให้ข้อมูลไว้ว่า สิวเป็นโรคของรูขุมขนและต่อมไขมันที่พบได้บ่อย โดยกลไกของการเกิดสิว คือ เมื่อผิวเกิดมีลักษณะหนาตัวขึ้นของรูขุมขน ต่อมไขมันจะผลิตซีบัม (sebum) ที่บริเวณนั้นมากขึ้นส่งผลให้รูขุมขนอุดตัน หรือเกิดการอักเสบของผิว หรือติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Cutibacterium acnes ร่วมด้วย โดยมีปัจจัยทางด้านกรรมพันธุ์และฮอร์โมนมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเกิดได้ทั้งสิวอุดตันและสิวอักเสบ
สำหรับสิวอุดตัน จะเป็นสิวที่เกิดจากไขมันอุดตันในรูขุมขนและไม่มีการอักเสบ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ระบุว่า สิวอุดตันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
– สิวอุดตันหัวเปิด (สิวหัวดำ) : เป็นจุดสีดำขึ้นบริเวณรอบๆ จมูกและใบหน้า เกิดจากการอุดตันของขน เนื้อเยื่อ และไขมันภายในรูขุมขน สารเหล่านั้นโผล่พ้นขึ้นมาสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ เกิดการทำปฏิกิริยาจนเปลี่ยนเป็นจุดสีดำ
– สิวอุดตันหัวปิด (สิวหัวขาว) : เป็นตุ่มเล็กๆ สีขาวบนผิวหนัง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อุดตันอยู่ภายในรูขุมขน แต่รูขุมขนที่อุดตันนั้นไม่ได้สัมผัสอากาศ ไม่มีการเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจน จึงเห็นเป็นจุดสีขาว
3. “สิวผด” คืออะไร? เกิดจากอะไร?
มีข้อมูลจาก เภสัชกรสุรศักดิ์ วิชัยโย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยอธิบายในบทความวิชาการเอาไว้ว่า สิวผด หรือสิวเชื้อรา หรือสิวยีสต์ เป็นลักษณะอาการของอาการ “รูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา” มีลักษณะเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคันบริเวณที่เป็นผื่นหรือสิวยีสต์ ซึ่งแตกต่างจากสิวทั่วไปที่ไม่ค่อยมีอาการคัน
สาเหตุเกิดจาก เซลล์ผิวติดเชื้อราประเภทยีสต์ในกลุ่ม “มาลาสซีเซีย (Malassezia species)” โดยทั่วไปจะพบเชื้อชนิดนี้ที่ผิวหนังของทุกคน แต่หากเชื้อมีการเจริญเติบโตมากผิดปกติ จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรครูขุมขนอักเสบได้
สำหรับผู้ที่มีผิวมัน เหงื่อออกง่าย ผู้ที่อาศัยในสภาพอากาศร้อนและอับชื้น หรือใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางชนิดที่ก่ออาการแพ้ เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดรูขุมขนอักเสบจากเชื้อราได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจส่งเสริมการเกิดรูขุมขนอักเสบจากเชื้อราได้ง่าย
4. สิวจากอาการ “แพ้แมสก์” มีจริง!
มีหลายคนเกิดอาการ “แพ้แมสก์” ในการใช้ชีวิตยุคโควิด ทำให้เกิดสิว ผดผื่น และอาการคัน เนื่องจากเกิดการเสียดสีของของหน้ากากอนามัยบนผิวหน้าทุกวัน โดยเฉพาะเวลาที่เราพูดคุยจะมีการขยับของใบหน้า หรือการจับหน้ากากอนามัยขยับอยู่บ่อยๆ ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดสิวได้
สำหรับกลไกการเกิดสิวที่มาจากหน้ากากอนามัย จะคล้ายกับในกลุ่มนักกีฬาบางชนิดหรือคนขับรถมอเตอร์ไซด์ที่ต้องสวมหมวก/หมวกกันน็อค ตลอดเวลา ก็มักจะเกิดสิวบริเวณหน้าผาก/สายรัดคาง ซึ่งเป็นบริเวณที่เสียดสีนั่นเอง หากอากาศร้อนมากๆ ก็ยิ่งทำให้เหงื่อและน้ำมันถูกผลิตออกมาที่ผิวมากขึ้น เกิดความอับชื้น ฝุ่นละอองเกาะง่ายขึ้น แบคทีเรียก็จะเพิ่มจำนวนและเติบโตขึ้นที่รูขุมขนมากขึ้น ทำให้เกิดสิวอุดตัน สิวอักเสบ และสิวผดผื่น
5. วิธีลด “สิวอุดตัน” “สิวผด” จากหน้ากากอนามัย
– ขณะสวมหน้ากากอนามัย ไม่ควรพูดคุยหรือขยับหน้ากากอนามัยบ่อยๆ พยายามอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นสบาย หลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนอบอ้าว
– การรักษาความสะอาดของหน้ากาก หากใช้หน้ากากผ้า ก็ควรซักหน้ากากทุกวัน ด้วยสบู่ที่ไม่ก่อการระคายเคืองต่อผิว / หากใช้หน้ากากอนามัย ก็ควรเปลี่ยนทุกวัน
– ล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับใบหน้าที่อ่อนโยน และไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน ให้สังเกตบนฉลากจะมีคำว่า “non-comedogenic, non-acnegenic, oil free”
– งดแต่งหน้าโดยไม่จำเป็น ลดการใช้รองพื้น หรืองดแต่งหน้าบริเวณที่ใส่หน้ากากอนามัย อาจจะแต่งแค่คิ้วหรือตาก็พอ
6. วิธี “รักษาสิว” จากแพทย์/เภสัชกร
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ไม่ควรกำจัดสิวแบบผิดวิธี เช่น ซื้อยามาใช้เอง ขัดถูใบหน้าแรงๆ การแกะหรือบีบสิว เพราะจะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาผิวตามมาได้ เช่น อาจจะทำให้สิวมีการอุดตันหรืออักเสบติดเชื้อมากยิ่งขึ้น มีโอกาสเกิดรอยแดง รอยคล้ำ รอยแผลเป็น เพิ่มมากขึ้น วิธีรักษาสิวที่ถูกต้องคือต้องไปพบแพทย์ผิวหนัง แล้วแพทย์จะสั่งจ่ายยารักษาสิวตามดุลยพินิจ มีหลายชนิดทั้งยาทาและยารับประทาน
ส่วนการรักษาสิวผดหรือสิวเชื้อรานั้น เภสัชกรสุรศักดิ์ ระบุว่า ยาที่เหมาะสมคือยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาทาผิวหนัง และยารับประทาน โดยหากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา หรือสิวเชื้อรา การรักษามักเริ่มด้วยยารับประทาน เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาทา และตัวยาสามารถแพร่กระจายไปยังรูขุมขนที่อยู่ลึกลงไปในชั้นหนังแท้ได้ดีกว่า
—————————–
อ้างอิง :
pharmacy.mahidol.ac.th
pobpad.com
ศูนย์เลเซอร์ผิวหนังกรุงเทพ
medparkhospital.com
As part of their spo…
This website uses cookies.