• ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

Pattaya

ที่มาของภาพ, Getty Images

พัทยามีสถานะเป็นเขตปกครองพิเศษคล้ายกับกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่เพียง 54 ตารางกิโลเมตร ได้งบบริหารปีละ 2,000 ล้านบาท ทำให้พัทยาเต็มไปด้วยโครงการพัฒนาต่าง ๆ อยู่แทบทั้งปี แต่หลายโครงการที่ผ่านมาถูกวิจารณ์อย่างหนักจากคนในพื้นที่ว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

น้ำท่วม เป็นหนึ่งในปัญหาที่ชาวพัทยาหยิบมาพูดมากที่สุด คำชี้แจงจากพ่อเมืองในแต่ละครั้งที่เกิดเหตุขึ้น มักออกมาว่า “เป็นน้ำท่วมขังรอระบาย” และน้ำจะลดลงใน 3-4 ชั่วโมง แต่สำหรับผู้อาศัยของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ น้ำท่วมขังเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงก็ส่งผลกระทบต่อทั้งภาพลักษณ์และเศรษฐกิจ

การแก้ปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค การขนส่งสาธารณะ การจัดโซนนิ่งสถานที่ท่องเที่ยวภาคกลางคืน และการให้ความสำคัญกับชาวประมงพื้นบ้าน ล้วนเป็นเรื่องที่ชาวพัทยาอยากเห็นจากพ่อเมืองคนใหม่

แต่ปัญหาที่มีอยู่กับอำนาจของนายกเมืองพัทยาจะไปด้วยกันได้ไหม บีบีซีไทยร่วมพูดคุยกับชาวพัทยาถึงความคาดหวังของพวกเขา

ที่มาของภาพ, Getty Images

ปัญหาของชาวเกาะล้าน

เกาะล้านมีประชากรตามทะเบียนราษฎร์อยู่ประมาณ 3,000 คน และมีประชากรแฝงอีก 6,000 คน มีผู้สิทธิ์เลือกตั้งได้อยู่ราว 1,800 คน ประชากรกว่า 80% มีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว และอีก 20% มาจากการทำประมง

ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งของเกาะล้านคือ การฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยว หลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปิดเกาะไปกว่า 2 ปี เกาะล้านเพิ่งมาเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบเต็มที่ไม่เกิน 2 เดือนที่ผ่านมานี้

เรื่องขยะเป็นอีกปัญหาใหญ่ของเกาะล้าน เพราะตั้งแต่ปี 2557 เกาะล้านเป็นสถานที่ฝังกลบขยะที่มีสะสมอยู่กว่า 50,000 ตัน ในภาวะปกติขยะที่เกิดขึ้นบนเกาะเองมีไม่ต่ำกว่า 30-40 ตันต่อวัน แต่ลดลงกว่าครึ่งในช่วงปิดเกาะ

นายบุญเชิด บุญยิ่ง ประธานชุมชนเกาะล้าน เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เมืองพัทยาใช้งบประมาณสำหรับการจัดการขยะอยู่ที่ 192 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 12% ของงบประมาณเมืองพัทยา

“ทางเมืองพัทยาก็พยายามแก้ไขปัญหานี้โดยการสั่งห้ามไม่ให้เอาขยะจากฝั่งพัทยามาฝังกลบเพิ่มบนเกาะ และกำลังทำโครงการสร้างเตาเผาขยะบนเกาะล้านเพื่อกำจัดขยะที่สะสมอยู่และขยะของเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายบุญเชิดอธิบาย

“มีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลิ่นขยะบ้างในบ้างช่วง แต่ถ้าเมืองอนุมัติงบประมาณสร้างเตาเผาขยะ สถานการณ์ก็คงดีขึ้น”

ถึงแม้ขยะเป็นปัญหาเรื้อรังของชุมชนชาวเกาะล้าน แต่สิ่งที่ชาวบ้านมองว่าเป็นปัญหาใหญ่กว่าขยะและต้องการให้นายกเมืองพัทยาคนใหม่เข้ามาแก้ไขคือเรื่อง น้ำจืด ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของคนทั้งเกาะ

“ทุกวันนี้เราใช้น้ำจากบริษัทเอกชนที่มาตั้งโรงผลิตน้ำอยู่บนเกาะ ซึ่งราคาแพงและผลิตน้ำได้ไม่ถึงครึ่งต่อความต้องการของประชากรกว่า 500 หลังคาเรือนบนเกาะล้าน นอกจากนี้ราคายังสูงมากอีกด้วย” นายบุญเชิดกล่าว

“อยากให้เมืองพัทยาเข้ามาช่วงแก้ปัญหานี้เพราะการท่องเที่ยวกำลังจะกลับมา และความต้องการใช้น้ำจะมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว ทุกวันนี้ประชากรหลายคนรวมถึงผมต้องอาศัยน้ำฝนหรือน้ำบาดาลที่เก็บสะสมเอาไว้ใช้เพื่อลดต้นทุนจากน้ำประปาเอกชนที่มีราคาแพงตกอยู่ที่หน่วยละ 70-120 บาท”

ที่มาของภาพ, Napat Wesshasartar

น้ำท่วมซ้ำซาก

นอกจากจุดท่องเที่ยวหลักตามชายหาดของพัทยาและชายหาดจอมเทียนแล้ว ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ภายในเขตปกครองของเมืองพัทยาก็พบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่พวกเขาบอกว่าไม่เคยมีใครเข้ามาดูแลเช่นกัน

นายหลอม และนางอุทุมพร สมใจเพ็ง สองสามีภรรยาที่อาศัยในบริเวณชุมชนวัดธรรมสามัคคี ซึ่งตังอยู่อีกฝั่งหนึ่งของ ถ.สุขุมวิท มากว่า 30 ปี ตัดพ้อว่าปัญหาน้ำท่วมเริ่มเกิดขึ้นหลังปี 2554 และไม่เคยมีใครเหลียวแลเลย

“จุดที่เราอยู่เป็นเหมือนแอ่งกระทะ ทุกครั้งที่ฝนตกหนัก ๆ จะมีน้ำไหลจากภูเขาและต้องผ่านชุมชนก่อนไปลงทะเล พอน้ำมาและมีตึกมาถนนขวาง มันก็ท่วมขังสูงระดับอกอยู่เต็มหมู่บ้านซึ่งบ้านป้าโดนท่วมปีละไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง” นางอุทุมพรบอกบีบีซีไทย

ในบริเวณชุมชนวัดธรรม ซอย 8 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสองสามีภรรยาและชาวบ้านอีกนับร้อยหลังคาเรือน แต่จากการสังเกตและคำบอกเล่าของชาวบ้านจะเห็นว่าบ้านหลายหลังมีป้ายประกาศขายหรือให้เช่าเกินกว่าครึ่ง

คำบรรยายภาพ,

นายหลอม และนางอุทุมพร สมใจเพ็ง สองสามีภรรยาที่อาศัยในบริเวณชุมชนวัดธรรมสามัคคี ตัดพ้อว่าปัญหาน้ำท่วมไม่เคยมีใครเหลียวแล

“น้ำท่วมทีก็ต้องขนของหนีที ตอนนี้ไม่กล้าซ่อมแซมบ้านเพราะเดี๋ยวน้ำก็มาอีก” นายหลอมบ่น

“ที่บ้านทำร้านซักรีด น้ำท่วมมาทีถ้าขนของไม่ทัน เครื่องซักผ้าก็พัง นี่ผมเอารถมอเตอร์ไซค์ไปจอดหนีน้ำอยู่บนเนินเขาใกล้ ๆ หมู่บ้าน ก็โดนขโมย ผมไม่มีปัญญาไปอยู่ที่อื่นหรอก ก็ต้องทนเอา”

ชาวบ้านหลาย ๆ คนไม่ได้ตั้งตารอกับการเลือกตั้งผู้ว่าเมืองพัทยาที่จะถึงนี้เพราะพวกเขาไม่คิดว่าจะมีใครทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาให้พวกเขาได้

“ไม่เชื่อหรอกว่าจะมีใครทำอะไร เป็นไปไม่ได้เลย เลือกตั้งไปก็เท่านั้น พวกเราไม่เคยได้รับการเหลียวแลอะไรจากใครเลย” นางอุทุมพรตัดพ้อ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ชาวประมงพื้นบ้านที่ไร้ตัวตน

นอกจากพื้นที่ท่องเที่ยวหลักที่มีชื่อเสียงของพัทยาอย่างเกาะ ชายหาด หรือสถานบริการภาคกลางคืนแล้ว อีกหนึ่งชุมชนที่อยู่คู่กับเมืองพัทยามากว่า 100 ปีก็คือชุมชนบ้านนาเกลือ ซึ่งเป็นชุมชนของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ชื่นชอบอาหารทะเลสด ราคาที่ย่อมเยา

บ้านนาเกลือเป็นชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่กันมากกว่า 100 หลังคาเรือน และได้รับรางวัลเป็นชุมชนชาวประมงพื้นบ้านต้นแบบที่มีทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาขอดูงานและการทำประมงของคนในชุมชน

ถึงแม้ชุมชนจะมีความสำคัญมากระดับชาติ แต่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนที่บ้านนาเกลือจะถูกควบรวมให้มาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองพัทยาไม่รู้สึกว่านายกเมืองไม่ว่าจะคนไหน ให้ความสำคัญหรือสนใจฟังเสียงของพวกเขามากเท่าที่ควร

“นายกฯ ให้ความสำคัญแต่ภาคท่องเที่ยว ในขณะที่พวกผมอยู่พัทยาเหมือนประชาชนชั้นสอง” สัญญา ผาติเสนา ชาวประมงพื้นบ้านจากบ้านนาเกลือกล่าว

“เขาอนุญาตให้เรือเร็ววิ่งกันเต็มอ่าว ทำให้อวนที่เราเคยวางไว้จับปลาใกล้ ๆ ชายฝั่งหายหมด แล้วพวกเราเป็นชาวประมงพื้นบ้าน เพราะฉะนั้นเรือของเราไม่สามารถออกไปได้ไกลจากชายฝั่งมากเพราะมันอันตราย”

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายธงชัย ผาติเนะ ชาวประมงวัย 42 ปีจากชุมชนเดียวกันบอกกับบีบีซีไทยว่า เมืองพัทยาเข้ามาในชุมชนพร้อมโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ไม่เคยรับฟังเสียงจากชาวบ้านเลย และพวกเขาไม่ได้ประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ เหล่านั้น

“เหมือนเมืองพัทยาจะสนใจแต่ภาคการท่องเที่ยวและไม่เห็นหัวพวกเราเลย เราเหมือนไม่มีตัวตนในสายตาเมืองเพราะเราเป็นแค่ชาวประมง ผมอยากได้นายกเมืองที่ฟังเสียงพวกเราบ้าง และเห็นเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเหมือนคนอื่น ๆ” นายธงชัยกล่าว

ภาคกลางคืนอยากกลับมาอย่างเต็มรูปแบบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจบันเทิงภาคกลางคืนเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเมืองพัทยา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำสถานบริการภาคกลางคืนทั่วประเทศต้องปิดให้บริการชั่วคราว ก่อนจะกลับมาให้บริการได้อย่างมีข้อจำกัดหลายประการ

ลำพึง แฮมิลตัน ประธานชมรมผู้ประกอบการกลางคืนเมืองพัทยา และเจ้าของร้านอาหารย่านหาดจอมเทียนบอกกับบีบีซีไทยว่าข้อจำกัดต่าง ๆ ด้านโควิดทำให้สถานบริการภาคกลางคืนหลายที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจ เพราะผับ บาร์ ยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ

ที่มาของภาพ, Getty Images

“บาร์เบียร์หลาย ๆ ที่ต้องปรับมาเป็นร้านอาหารถึงจะเปิดให้บริการได้ ถึงแม้ภาครัฐจะผ่อนคลายให้มากขึ้น แต่ พรก.ฉุกเฉิน ยังทำให้พวกเรากลับมาได้อย่างไม่เต็มรูปแบบโดยเฉพาะเรื่องของเวลาเปิด-ปิด และรายได้ก็หายไปเยอะ” ลำพึงอธิบาย

“บ้านเราเป็นเมืองปกครองพิเศษ ไม่ใช่แค่มีแต่ชื่อ เพราะฉะนั้นเราต้องพิเศษจริง ๆ ใครก็ตามที่เข้ามาเป็นนายกเมืองคนใหม่ต้องดูแลแก้กฎหมายเกี่ยวกับการขยายเวลาการให้บริการสถานประกอบการต่าง ๆ และมีการขยายโซนนิ่งของผับบาร์ให้เป็นพื้นที่ไปอย่างชัดเจน เพราะไม่อย่างนั้นก็เปิดช่องให้เกิดการคอรัปชั่นได้”

ถึงทุกวันนี้พัทยาจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นปกติแล้ว แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของพัทยาในปัจจุบัน ไม่ได้เข้ามาใช้บริการจากสถานบริการภาคกลางคืนเหล่านี้

“เราต้องทำให้การท่องเที่ยวกลับมาโดยไวที่สุด อยากให้เมืองกระจายการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ไปยังพื้นที่อื่น ๆ บ้าง เพราะที่ผ่านมา พัทยาเป็นจุดศูนย์กลาง แต่สถานประกอบการในพื้นที่อื่น ๆ เช่นจอมเทียนหรือหนองปรือไม่เคยได้รับประโยชน์อะไรจากงานเหล่านั้นเลย”

คำบรรยายวิดีโอ,

เสียงจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศถึงผู้ว่าพัทยา

ภาพลักษณ์ของการค้าประเวณีแบบเตร็ดเตร่บนชายหาดเป็นภาพลักษณ์ที่ทำให้พัทยากลายเป็นเมืองที่ไม่เหมาะกับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว ลำพึงคิดว่านายกเมืองพัทยาคนใหม่ควรจัดพื้นที่ที่เป็นสถานประกอบการประเภทนี้ให้อยู่เป็นขอบเขตและพื้นที่ที่ไม่โจ่งแจ้งจนเกินไป

“เราต้องจัดการทำโซนนิ่งในช่วงก่อนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเต็มรูปแบบ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะคุมไม่อยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นนายกคนใหม่จะต้องเร่งแก้ไขเรื่องภาพลักษณ์การท่องเที่ยวหลังโควิดก่อนที่จะสายเกินแก้” ลำพึงกล่าว

“เราอยากเห็นน้อง ๆ ที่ทำงานร้านอาหารและบาร์ต่าง ๆ ได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีทะเบียนบ้านอยู่ที่นี่หรือไม่ และเมืองควรดูแลคนเหล่านี้ให้ดูกว่านี้เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนนำรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวเข้าเมืองพัทยา นายกเมืองพัทยาคนใหม่ต้องให้ความสำคัญกับคนภาคกลางคืนให้มากกว่านี้ และเข้าถึงง่ายกว่านี้”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ความหวังจากภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวของเมืองพัทยาเป็นภาคธุรกิจหลักและสร้างรายได้เข้าเมือง ในตอนนี้เจ้าของธุรกิจและโรงแรมต่าง ๆ ในพัทยาต่างก็เตรียมตัวกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากที่ปิดไปเป็นเวลานาน

ถึงแม้ว่าปัญหาที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังกลับมาไม่เท่าเดิมเหมือนช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นปัญหาสำคัญ แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าของผู้ประกอบการก็คือเรื่องของการขาดแรงงาน เพราะพนักงานที่เคยเป็นแรงงานหลักต่างกลับถิ่นฐานไปจนแทบหมด และการค่อย ๆ กลับมาของธุรกิจก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้แรงงานกลับเข้ามาหางานทำ นอกจากยังไม่แน่ใจกับสถานการณ์

“คนงานกว่า 80% หายไปและไม่กลับมา สิ่งที่เราลงทุนเทรนไปกว่า 10 ปีหายไปเลย เราต้องหาเด็กจบใหม่มาเทรนใหม่ และค่าแรงก็สูงขึ้นกว่าเดิมกว่าเท่าตัว นอกจากนี้ยังมีการแย่งชิงพนักงานกัน และพนักงานที่มีอยู่เป็นพาร์ทไทม์เกือบทั้งหมด” บุญอนันต์ พัฒนสิน นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยาอธิบาย

“สิ่งที่เมืองพัทยาจะช่วยได้ก็คือการจัดให้มีงานเทศกาลต่าง ๆ ในทุกสัปดาห์ เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้น เพื่อนำทั้งนักท่องเที่ยวและแรงงานกลับมาสู่พัทยาอีกครั้ง”

ที่มาของภาพ, บุญอนันต์ พัฒนสิน

คำบรรยายภาพ,

บุญอนันต์ พัฒนสิน คิดเห็นว่านายกเมืองพัทยาคนต่อไปจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถทำงานร่วมกันได้และฟังเสียงประชาชน

บุญอนันต์เห็นว่าช่วงนี้ที่การท่องเที่ยวพัทยายังกลับมาแบบไม่เต็มรูปแบบ เปรียบเมือนการ “เซ็ตซีโร่” ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่เมืองพัทยาจะเร่งแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาของภาคการท่องเที่ยว

“เรื่องสาธารณูปโภคเป็นประเด็นเร่งด่วนที่นายกเมืองพัทยาคนต่อไปต้องเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขุดเจาะถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งมันต้องดีและเพียงพอต่อการเปิดเมืองแบบ 100%” บุญอนันต์กล่าว

“เราชอบขายของถูก ไม่ได้ขายของดี เอาแต่จำนวน ช่วงที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวไทยที่มีกำลังซื้อเข้ามาในพัทยา ซึ่งเราอยากรักษานักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไว้ เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอื่น จึงอยากทำให้พัทยาเป็นสถานที่ที่เหมาะกับคนทุกกลุ่มจริง ๆ ไม่ใช่แค่ชาวต่างชาติหรือเป็นเมืองทางผ่านของคนไทย”

พัชร์ศณัสม์ อัศวชัยโสภณ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย ภาคตะวันออก และผู้ประกอบการโรงแรมหลายแห่งในพัทยา อยากเห็นพัทยาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่ เพราะถ้าการท่องเที่ยวรอด ร้านอาหาร โรงแรม และภาคธุรกิจต่าง ๆ ในเมืองก็จะรอดด้วย

“เราควรต้องทำให้การเดินทางมาที่นี่สะดวกทั้งภายในพื้นที่และมาจากต่างพื้นที่ เมืองเรายังไม่สามารถตอบโจทย์การท่องเที่ยวได้ครบทุกลุ่มนอกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ถ้าเราอยากเปิดตลาดใหม่ให้เหมาะกับคนไทยมากขึ้น เมืองต้องช่วยเราด้วย” พัชร์ศณัสม์กล่าว

ที่มาของภาพ, พัชร์ศณัสม์ อัศวชัยโสภณ

คำบรรยายภาพ,

พัชร์ศณัสม์ อัศวชัยโสภณ อยากเห็นพัทยาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

“นากยกเมืองพัทยาคนต่อไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเขารู้ว่าต้องประสานกับใครเพื่อให้ปัญหานั้นได้รับการแก้ไขสำคัญกว่า นายกฯ คนใหม่ต้องสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้และสามารถประสานงานระหว่างผู้ประกอบการต่าง ๆ กับทางราชการได้”

บุญอนันต์ บอกกับบีบีซีไทย ว่านายกเมืองพัทยาคนต่อไปจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถทำงานร่วมกันได้และฟังเสียงประชาชน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือชาวพัทยาต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงกับการเมืองที่สร้างสรรค์ขึ้นกว่าเดิมที่ยโยบายมีประโยชน์ต่อประชาชนที่แท้จริง

“เราอยากเห็นการเมืองที่ไร้การคอรัปชั่น ประชาชนได้ประโยชน์ และอยากเห็นการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่าฉับไวกว่าภาคเอกชน เพราะพวกเขามีข้อมูลอยู่ในมืออยู่แล้ว อย่างเช่นเรื่องโรคระบาด การขึ้นราคาน้ำมัน” บุญอนันต์ตั้งความหวัง

“ที่สำคัญที่สุดคือเวลาเกิดปัญหา นายกเมืองพัทยาสามารถเข้าถึงประชาชนได้ไว สามารถให้ทำงานลงมาแก้ไขได้ทันท่วงที มีการเยียวยาที่ถูกต้องเหมาะสมกับปัญหา และถึงแม้มีปัญหาที่ไม่สามารถหาวิธีการแก้ไขได้ ต้องมีวิธีการสื่อสารให้ได้ว่าจะมีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพัทยา

ประชากรของเมืองพัทยา รวม 4 ตำบล มีจำนวน 116,546 ราย

จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีขึ้นไป) รวม 83,183 ราย

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (นิวโหวตเตอร์) จำนวน 1,718 ราย แบ่งตามตำบลได้ดังนี้

ต.หนองปรือ

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 49,935 ราย

  • ชาย 21,098 ราย
  • หญิง 28,837 ราย
  • นิวโหวตเตอร์ 982 ราย

ต. หนองปลาไหล

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,684 ราย

  • ชาย 1,684 ราย
  • หญิง 935 ราย
  • นิวโหวตเตอร์ 43 ราย

ต.ห้วยใหญ่

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 108 ราย

  • ชาย 45 ราย
  • หญิง 63 ราย
  • นิวโหวตเตอร์ 0

ต. นาเกลือ

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 31,456 ราย

  • ชาย 14,203 ราย
  • หญิง 17,253 ราย
  • นิวโหวตเตอร์ 693 ราย