HoonSmart.com>>“สมชาย เลิศขจรกิตติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ (“PACO”) และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ PACO น้องใหม่ป้ายแดง ที่จะเข้าซื้อขายในตลาด MAI วันที่ 22 มี.ค.นี้
มาถึงวันนี้ นับเป็นความภูมิใจของเด็กหนุ่มลูกจ้างโรงกลึง ที่หารายได้เสริมหลังเลิกเรียน กระทั่งคิดการใหญ่ จากโรงกลึงห้องแถว สู่โรงงานผลิตอะไหล่ทดแทนแผงแอร์รถยนต์ ที่ส่งขายไปทั่วโลก ทั้งแบรนด์ของ PACO และรับจ้างผลิต (OEM) ยอดส่งออก 53% ของการขายและส่งขายตัวแทนจำหน่ายในประเทศ 47%
กว่า “สมชาย” และ PACO จะขึ้นมาเป็นแถวหน้าตลาดอะไหล่แผงแอร์ของไทย ที่ขายไปทั่วโลก ไม่ใช่เรื่องได้มาง่าย ๆ แต่มาด้วยสมองและสองมือของ “สมชาย”
ด้วยความขยัน หมั่นหาความรู้ในอาชีพ การรับจ้างกลึงงาน เติบโตขึ้นตามลำดับ จากการรับกลึงหัวน็อต สกรู แตกขยายผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น ที่พักเท้ารถมอเตอร์ไซด์ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ ลูกค้าเริ่มขยับขายเข้าสู่ค่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ชื่อดังของไทย
เงินลงทุนหลักหมื่น ที่ได้จากการขึ้นแชร์ของแม่ จำนวน 25,000 บาท “สมชาย” กำเงินก้อนนี้ไปซื้อเครื่องกลึง เครื่องแรก กระทั่งต่อยอดเครื่องกลึง 40 -50 เครื่อง กิจการเริ่มเติบโต
” เมื่องานรับจ้างกลึงชิ้นงานอะไหล่รถยนต์ ส่งขายร้านค้าแถว วรจักร และสวนมะลิ ซึ่งเป็นย่านค้าส่งอะไหล่รถยนต์ ผมมองว่า งานรับจ้างไม่มีโอกาสเติบโต ถูกกดราคา ผมจึงเริ่มคิดว่า ต้องผลิตสินค้าขายในแบรนด์ตัวเองให้ได้ และได้เริ่มผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองช่วงอายุ 22 ปี เป็นต้นมา ”
มาถึงปี 1985 หรือ 36 ปีที่ผ่านมา จุดเปลี่ยนสำคัญของ “สมชาย” พัฒนามาถึงจุดที่เขาเจอเพื่อน ทำโรงงานคอนเดนเซอร์รถยนต์ เสนอขายโรงงานให้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นทำคอนเดนเซอร์ ตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาปี 1988 เริ่มส่งออกคอยล์แอร์รถยนต์ไปสิงคโปร์ รวมทั้งนำเข้าอะไหล่แอร์จากสิงคโปร์ เข้ามาขาย พัฒนาไปถึงการซื้อเครื่องจักรทำคอนเดนเซอร์ แผง Parallel Flow ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ถึงปัจจุบัน เป็นแผงที่ใช้เหล็กแป๊บแบน ระบบเชื่อมติดกัน ใช้นำยาแอร์ 134 A ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
เมื่อถามถึงส่วนแบ่งการตลาดชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน โดยเฉพาะแผงคอยล์แอร์ร้อน-เย็น “สมชาย” บอกว่า PACO มีมาร์เก็ตแชร์ 20% ไม่นับรวม OEM ให้รายใหญ่ชื่อดัง
สิ่งที่ PA กำลังจะเดินไปข้างหน้าจากนี้ หลังได้รับเงินจากการระดมทุน คือ การขยายโรงงานรองรับการเติบโตปีนี้ 15-20% , การชำระคืนเงินกู้บางสว่น เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน รุกการขยาย ” PACO AUTOHUB” หรือศูนย์กระจายสินค้า ที่เริ่มเมื่อต้นปีแล้ว 150 แห่ง เป้าหมายปีนี้ 300 แห่ง
” พาโก้ ออโต้ฮับ” เป็นความร่วมมือของ PACO กับร้านค้า ที่ทำตลาดไปในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนการตลาดและสินค้าแบรนด์ PACO เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ความน่าเชื่อถือ ซึ่งเดือนมิ.ย.นี้จะครบ 200 แห่ง เป้าหมายปีนี้ดันไปให้ถึง 300 แห่ง แค่คลิกพาโก้ จะพาไปสาขาที่ใกล้ เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า” สมชายกล่าวและให้คำนิยามหุ้น PACO เป็นหุ้นเติบโตสูง มีปันผล
ทั้งนี้ ภายหลังการขาย IPO กลุ่มครอบครัวนายสมชาย เลิศขจรกิตติ จะถือหุ้นสัดส่วน 44.4% กลุ่มครอบครัวนายสมศักดิ์ เลิศขจรกิตติ 29.6% , ผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 26% และมีนักลงทุนขายออนไลน์อะไหล่รถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐ ให้ความสนใจหุ้น PACO ด้วย
สำหรับ PACO มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิระดับสูง ปี 2563 PACO มีกำไรสุทธิ 76.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.19 ล้านบาท คิดเป็น 150.63% เมื่อเทียบกับปี 2562 เป็นผลจากการนำ เครื่องจักรอัตโนมัติ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น ลดต้นทุนค่าแรงและค่าล่วงเวลาได้อย่างมีนัยสำคัญ
ด้านราคาเสนอขาย PACO ที่ 1.40 บาท พี/อี 18 เท่า เทียบกลุ่มอะไหล่รถยนต์แอร์ทั่วโลก 21-20 เท่า หลังเพิ่มทุน PACO มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท
บริษัทฯ มีโรงงานผลิต 3 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร และศูนย์กระจายสินค้า 1 แห่ง ตั้งอยู่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร บริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO 9001:2015
จำนวนผู้ชม
0