ก.แรงงาน ใช้โอกาสยอดผู้ติดเชื้อโควิดลดเปิดฝึกทั่วประเทศ สร้างแรงงานฝีมือป้อนสถานประกอบกิจการ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกเมษายน 2564 เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ศบค.ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ปกติมากยิ่งขึ้น รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและกำลังแรงงาน ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานโดยการกำกับดูแลของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มุ่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รักษาสภาพการจ้างงาน เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งการเปิดรับนักท่องเที่ยวและนโยบาย แฟคตอรีแซนด์บ็อกซ์ ส่งผลให้สถานประกอบกิจการหลายแห่งเริ่มฟื้นและเดินหน้าธุรกิจเต็มรูปแบบอีกครั้ง จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มุ่งพัฒนายกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพ สร้างอาชีพสร้างรายได้ ขับเคลื่อนประเทศหลุดพ้นวิกฤตโควิด-19 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ จัดฝึกอบรมเพื่อเร่งพัฒนาทักษะฝีมือทั้งหลักสูตร Upskill และ Reskill และ New Skill ให้แก่กำลังแรงงาน ทั่วประเทศ โดยเน้นให้สามารถทำงาน สร้างรายได้ ตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้แก่กำลังแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และประชาชนทั่วไปนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้จัดหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมระหว่าง 3- 8 เดือน แบ่งเป็นฝึกอบรมในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน และฝากฝึกในสถานประกอบกิจการเพื่อเรียนรู้สร้างประสบการณ์ในการทำงาน ในแต่ละจังหวัดจะมีหลักสูตรการฝึกอบรมที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมและความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง เปิดฝึกอบรมช่างประกอบโครงอะลูมิเนียม ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี ช่างกลึงชิ้นส่วนเครื่องกล ช่างควบคุมหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพิจิตร เปิดฝึกอบรมช่างซ่อมและบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ ช่างตรวจเช็คระยะรถยนต์ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานกาฬสินธุ์ เปิดฝึกอบรมช่างสีรถยนต์ ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร พนักงานบันทึกข้อมูลคอมพิวเตอร์ ผู้ประกอบอาหารไทย เป็นต้น ทุกหลักสูตรเรียนฟรี มีบริการหอพักให้สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไป-กลับ โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ผู้ถูกเลิกจ้างหรือว่างงาน และประชาชนทั่วไปที่ต้องการพัฒนาตนเองและพร้อมกลับสู่การทำงาน
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครหลักสูตรเตรียมการเข้าทำงาน จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้ารับฝึกอบรม โดยติดต่อได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือดูรายละเอียดการฝึกอบรมเพิ่มเติมได้ที่ www.dsd.go.th และ Facebook: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือโทรสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 14/10/2564
พิษโควิด ฉุดตัวเลขการจ้างงานคนพิการลด 15-20% เพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง วอนภาครัฐดูแลด่วน หนุนผู้ประกอบการให้งานตาม ม.33
อาจารย์สัมฤทธิ์ ชาภิรมย์ ผู้จัดการ ศูนย์พิทักษ์สิทธิคนพิการ 1479 สายด่วนคนพิการประชารัฐ กล่าวว่า การจ้างงานผู้พิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยมาตรา 33 และกฎกระทรวงที่ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป
ต้องรับคนพิการเข้าทำงานในสัดส่วนคือลูกจ้างที่ไม่ใช่คนพิการ 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน โดยข้อมูลบริษัทธุรกิจเอกชนทั่วประเทศที่ต้องจ้างคนพิการทั้งหมด 5.5 หมื่นคนเท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีการจ้างจริงเพียงประมาณ 3 หมื่นกว่าคนเท่านั้น
โดยนายจ้างส่วนใหญ่เลือกที่จะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมากกว่าจ้างคนพิการเข้าทำงาน ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้พิการ เนื่องจากการจ้างผู้พิการให้มีรายได้ช่วยเหลือตนเองนั้นมิใช่แค่ช่วยแต่ผู้พิการเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อีกด้วย
ดังนั้นมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ จึงต้องการรณรงค์ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั้งเอกชนและหน่วยงานรัฐ พิจารณารับผู้พิการเข้าทำงานในบริษัทของท่าน ตามมาตรา 33 โดยนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการ (เงินเดือน ค่าล่วงเวลา ฯลฯ) ลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า
เรื่องนี้นับเป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการช่วยเหลือการจ้างงานคนพิการให้มีงานทำ ที่ผ่านมาได้ออกกฎหมายกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการฯ ต้องรับเข้าทำงานและจำนวนเงินที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี
ซึ่งเงินที่นำส่งก็คำนวณจากอัตราค่าจ้างต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับครั้งหลังสุดในปีก่อนที่มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ คูณด้วย 365 และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่รับเข้าทำงาน ซึ่งหากไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนฯหรือส่งล่าช้า หรือส่งไม่ครบถ้วน ต้องเสียต้องเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินที่ยังไม่ได้นำส่ง
แต่กรณีที่รับคนพิการเข้าทำงาน หรือนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ได้รับยกเว้นภาษี เป็นร้อยละของจำนวนเงินค่าจ้างที่จ่ายให้แก่คนพิการหรือเงินที่ส่งเข้ากองทุนได้
ปัจจุบันคนพิการจำนวนมากได้ผ่านการเรียนรู้และพัฒนาฝีมือเทียบเท่าคนปกติซึ่งผู้พิการแบ่งได้ 4 กลุ่มคือ (1) ผู้พิการทางด้านการสายตาและการมองเห็น (2) ผู้พิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย (3) ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย และ (4) ผู้พิการที่เป็นออทิสติก
โดยผู้พิการที่ผ่านการเรียนรู้และอบรมวิชาชีพอย่างที่โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาฯ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศล ได้จัดการศึกษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนฝึกอาชีพให้ผู้พิการเหล่านี้มีความชำนาญ สามารถประกอบอาชีพช่วยเหลือตนเอง ฯลฯ ผู้พิการสามารถทำงานได้เกือบทุกประเภทเหมือนคนปกติซึ่งอาชีพที่เหมาะสำหรับผู้พิการมีหลากหลาย
อาทิ พนักงาน call center นักกฎหมาย ศิลปิน นักบัญชี เลขานุการ พนักงานบริการลูกค้า พนักงานในโรงงาน นักวิเคราะห์ทางการเงิน ที่ปรึกษา ครู พ่อครัว พนักงานขาย พนักงานธุรการ คนเขียนแบบ วิศวกร เกษตรกร ชาวสวน บรรณารักษ์ นักสถิติ นักเขียน เป็นต้น รวมถึงคนพิการที่เป็นบุคคลออทิสติกส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จในลักษณะงานทางศิลปะ เช่น การทำเครื่องประดับ ทำงานด้วยดอกไม้และพืช เป็นต้น
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมามีการระบาดของโควิด 19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับการจ้างงานของผู้พิการเป็นอย่างมากสถานประกอบการหลายแห่งต้องปรับลดจำนวนพนักงานลงหรือยิ่งไปกว่านั้นคือต้องปิดตัวอย่างถาวร จึงทำให้อัตราส่วนการจ้างงานคนพิการลดลงตามไปด้วย
จากการสำรวจพบว่าตำแหน่งงานจะหายไป 15 – 20% ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาดูแลแรงงานกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน เนื่องจากคนพิการเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบาง จากที่เคยมีงานทำแล้วกลับมาตกงานจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น นอกเหนือจากเรื่องของเงินเดือนแล้ว เมื่อได้ทำงานคนพิการเหล่านี้มีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นที่พึ่งพิงให้กับครอบครัว รู้สึกมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี
ทั้งนี้ สำหรับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องการจ้างงานคนพิการที่เหมาะสมกับกิจการสามารถติดต่อได้ที่โทร 1479 สายด่วนคนพิการประชารัฐ ซึ่งจะประสานหาบุคลากรคุณภาพที่เหมาะกับความต้องการของบริษัทต่างๆ ในสภาวะวิกฤตินี้ขอปันน้ำใจช่วยเหลือผู้พิการให้ได้งานทำ ให้ชีวิตผู้พิการ ตาม ม.33 ทั้งไม่ใช่แค่ช่วยผู้พิการเท่านั้นแต่จะรวมถึงช่วยครอบครัวของผู้พิการอีกด้วย
ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 13/10/2564
แจงสิทธิของลูกจ้างรับเหมาค่าแรงต้องได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของลูกจ้างรับเหมาค่าแรง เป็นเรื่องที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างกลุ่มนี้ และเน้นย้ำให้ความสำคัญกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างถูกต้องและเป็นธรรม กระทรวงแรงงานจึงได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงสิทธิของลูกจ้างรับเหมาค่าแรงและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยสร้างความเข้าใจถึงข้อกฎหมาย แนวปฏิบัติ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11/1 ที่ผู้ประกอบกิจการต้องรับผิดชอบและดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ต้องได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ หากนายจ้างฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงข้อกฎหมายนี้ว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของ ผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว มาตรา 144/1 ผู้ประกอบกิจการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11/1 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ทั้งนี้ ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากผู้ประกอบกิจการมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดหรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1546 หรือ 1506 กด 3
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 12/10/2564
เปิดประเทศเตรียม 220,000 อัตรา รองรับคนว่างงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลกำหนดเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เชื่อว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยว บริการ การเดินทางและความบันเทิงจะมีสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งได้สั่งการให้กรมการจัดหางานติดตามการรวบรวมตำแหน่งงานทั่วประเทศ และสำรวจความต้องการการจ้างงานจากสถานประกอบการ เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงานโดยเร็ว
“ผลการสำรวจความต้องการจ้างงานแรงงานไทยทั่วประเทศ ณ เดือน ต.ค.2564 พบมีตำแหน่งงานว่าง 222,871 อัตรา”
สำหรับตำแหน่งงานว่าง 5 อันดับแรกที่นายจ้างหรือสถานประกอบการต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานด้านการประกอบ 2.แรงงานบรรจุภัณฑ์ 3.พนักงานขายของหน้าร้าน และสาธิตสินค้า 4.ตัวแทนจัดหาบริการทางธุรกิจและนายหน้าการค้าอื่นๆ และ 5.ตัวแทนฝ่ายขายด้านเทคนิคและการค้า
ประเภทกิจการที่ต้องการจ้างงานมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการผลิต 2.อุตสาหกรรมขายส่ง/ปลีกจักรยานยนต์ และการซ่อมจักรยานยนต์ 3. อุตสาหกรรมก่อสร้าง 4.อุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ และ 5.กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า นอกจากการลงพื้นที่จัดหางานเชิงรุกแล้ว กรมการจัดหางานยังได้ร่วมมือกับสถานประกอบการ 42 แห่งใน 16 จังหวัด ที่มีความต้องการจ้างงานแรงงานไทยทดแทนแรงงานข้ามชาติ ในการจัดทำคลิปวีดีโอแนะนำสถานประกอบการฯ ตำแหน่งงาน รายได้ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจและเพิ่มโอกาสในการเข้าทำงาน ให้กับกลุ่มผู้สมัครงานคนไทยที่มีระดับการศึกษาไม่เกินชั้น ม.6 ด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมคลิปวีดีโอแนะนำสถานประกอบการฯ ได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือติดต่อขอรับบริการจัดหางาน ณ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสมัครงานผ่านช่องทางการให้บริการจัดหางานรูปแบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th
ที่มา: Thai PBS, 12/10/2564
ครม.มีมติเยียวยาวิน จยย.-แท็กซี่ 29 จว.แดงเข้ม คนละ 5 พันบาท 2 เดือน
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง หรือ รถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือวินมอเตอร์ไซด์ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ และไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด แบ่งเป็น รถแท็กซี่ 12,918 คน และวินมอเตอร์ไซด์ 3,776 คน รวม 16,694 คน โดยจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ คนละ 5,000 บาทต่อเดือน ภายใต้กรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นระยะเวลา 2 เดือน ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัดเพิ่มเติม สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพระยะเวลา 1 เดือน
สำหรับวิธีการลงทะเบียนร่วมโครงการฯ กรมการขนส่งทางบกจะเปิดให้มีการลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ และดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี จากฐานข้อมูลใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ (รถแท็กซี่) และใบอนุญาตขับ รถจักรยานยนต์สาธารณะ สำหรับกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่เช่าที่ไม่สามารถตรวจสอบพื้นที่ให้บริการได้ จะต้องทำการตรวจสอบยืนยันตัวตนก่อน เช่น ให้นิติบุคคลรถเช่า/สหกรณ์แท็กซี่เป็นผู้รับรอง เป็นต้น ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะจ่ายเงินด้วยวิธีการโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (Promptpay) เฉพาะการผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามวิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คาดว่าจะจ่ายเงินรอบแรกระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย. และจ่ายเงินรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย.
ที่มา: แนวหน้า, 12/10/2564
รมว.แรงงาน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พร้อมหารือผู้ดูแลให้เกิดความร่วมมือทั้งสองฝ่าย มุ่งปรับปรุงให้เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลด้านแรงงานที่มีคุณค่าในสังคมไทย
11 ต.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางไปพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยตั้งอยู่บนถนนนิคมรถไฟมักกะสัน กรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังบรรยายประวัติและภารกิจทางประวัติศาสตร์แรงงานไทย ตลอดจนรับฟังปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานห้วงที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อผลักดันพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แรงงานไทยและเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อผู้ใช้แรงงานและสาธารณชน สำหรับพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยนั้น ถือเป็นโครงการที่รวบรวมประวัติความเป็นมา ชีวิตความเป็นอยู่ และการทำงานของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลเอกสารและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับแรงงานไทย โดยองค์การแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการด้านแรงงาน นักประวัติศาสตร์ และนักจดหมายเหตุ มีมติร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2534 เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานไทย ปัจจุบันมีห้องแสดง จำนวน 7 ห้อง ได้แก่ ห้องแสดงที่ 1 แรงงานบังคับ ไพร่-ทาส และการเปิดประเทศ ห้องแสดงที่ 2 กุลีจีน บอกเล่าเรื่องราวของแรงงานจีน ซึ่งถือเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรกสุดของสังคมไทย ห้องแสดงที่ 3 การปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญช่วงหนึ่งของสังคมไทยกระบวนการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัยนั้น ห้องแสดงที่ 4 กรรมกรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ห้องแสดงที่ 5 จากสงครามโลกถึงสงครามเย็น ห้องแสดงที่ 6 ห้องศิลปวัฒนธรรมกรรมกรสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ จิตร ภูมิศักดิ์ และห้องแสดงที่ 7 จากยุค 14 ตุลา ถึงยุควิกฤตเศรษฐกิจ เป็นห้องใหญ่จัดแสดงประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแรงงานไทย ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 2516 จนถึงยุควิกฤตเศรษฐกิจที่คนงานจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง
รมว.สุชาติ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะคุณค่าของผู้ใช้แรงงาน คือผู้ที่สร้างชาติ สร้างผลงานให้กับการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะต้องเชิดชูแรงงานเหล่านี้ที่สามารถช่วยสร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับประเทศชาติ โดยกิจกรรมใดที่มีคำว่าแรงงานเข้าไปเกี่ยวข้อง กระทรวงแรงงานจะเข้าไปพัฒนาและดูแลให้ความสำคัญเพื่อให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดความมั่นคงยั่งยืนต่อไป
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จะขอร่วมสานต่อแนวคิดท่านสุชาติ ในการฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และสนับสนุนให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ต่อไป
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 11/10/2564
ศบค.จี้สอบแรงงานเถื่อนล็อตใหม่ หวั่นระบาดเพิ่ม
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงตอนหนึ่งว่า ในที่ประชุมศปก.ศบค. มีการรายงานคลัสเตอร์อื่นๆ ได้แก่ ที่จ.เชียงใหม่นอกจากที่ตลาดแล้ว ยังมีงานเลี้ยง ร้านอาหาร ร้านหมูกระทะ โรงเรียน ที่จ.พิษณุโลก มีโรงงานไก่ โรงงานเสื้อผ้า ค่ายทหาร และมีการระบาดแพร่กระจายไปที่จ.ตาก นครสวรรค์เป็นคนในพื้นที่อื่นเดินทางมารับการรักษาและทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่กระจายไปในชุมชนเป็นวงกว้าง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรีและอ่างทอง หลายจังหวัดเหล่านี้มีคลัสเตอร์คล้าย ๆ กัน
ที่ ศบค.ชุดเล็กเน้นย้ำเสมอ เป็นคลัสเตอร์โรงงาน ตลาด งานศพ ร้านอาหาร ทำให้เกิดการแพร่ระบาดข้ามพื้นที่ ข้ามไปยังอำเภออื่น จังหวัดอื่น เช่น จ.สุราษฎร์ธานีก็แพร่ระบาดไปยังนครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต ชุมพร ส่วนที่จ.พัทลุง มีการติดเชื้อในแคมป์คนงาน และแพร่กระจายไปยังจ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส นอกจากนี้การแพร่ระบาดในกลุ่มก้อนยังมีอยู่ที่จ.กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตราด ขอนแก่น อุดรธานี ส่วนจ.อุบลราชธานี เป็นวงไพ่ ธนาคาร
จากรายละเอียดของการติดเชื้อนี้ ผอ.ศปก.ศบค. ขอฝากเน้นย้ำ เนื่องจากมีรายงานว่าแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สิ่งสำคัญที่ได้จากการสอบสวนรายงานที่ทำผิดกฏหมายนั้น พบว่าเป็นแรงงานที่มาล็อตใหม่ เพิ่งเข้ามาใหม่ๆ รองรับการเปิดประเทศ ดังนั้น ต้องไปดูว่าเป็นจังหวัดไหน พื้นที่ไหน ผู้ประกอบการรายไหน กิจการใด ที่พยายามทำผิดกฏหมาย
ขอฝากไปยังทุกจังหวัด ศปม. ผู้ว่าฯ หน่วยงานกระทรวงมหาดไทย ช่วยกันเน้นย้ำด้วย เนื่องจากเรากำลังเตรียมความพร้อม และการผ่อนคลายกำลังจะเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน อาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่กระทำความผิดและทำให้เกิดการแพร่กระจาย ระบาดเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นคลัสเตอร์ ขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ สามารถรายงานเข้ามาที่สายด่วนของแต่ละหน่วยงานได้
นอกจากรายงานผู้ที่กระทำผิดแล้วขอให้รายงานผู้ที่กระทำได้ถูกต้อง ดำเนินมาตรการโควิดฟรีเซ็ตติ้งได้อย่างถูกต้อง ขอให้รายงานเข้ามาเพื่อเป็นกำลังใจกันด้วย
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ส่วนการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค.นี้ จะเป็นเรื่องของจังหวัดที่มีการผ่อนคลาย สิ่งสำคัญคือจะมีการหารือ เรื่องจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวระยะที่หนึ่งที่จะเกิดขึ้น เช่น สมุย จะเปิดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ จากตัวเลขผู้ติดเชื้อ อาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทางสาธารณสุขจะพิจารณา
หากมีรายงานผู้ติดเชื้อสูงจริง แต่มีมาตรการที่สามารถเข้าไปดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัยได้ มีการจัดการผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำได้อย่างเหมาะสม ศบค.อาจจะพิจารณาผ่อนคลายต่อไปได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ที่ภูเก็ต ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ กว่า 4 หมื่นกว่าราย และมีรายงานผู้ติดเชื้อแค่ 100 ราย คิดเป็น 3% และภูเก็ตสามารถควบคุมการแพร่ระบาด ในชุมชนคนไทยของภูเก็ตได้ดี สะท้อนว่าถึงแม้จะมีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่ถ้าเรามีมาตรการที่จัดการได้ดี ก็สามารถผ่อนคลายได้อย่างแน่นอน
ที่มา: ข่าวสด, 11/10/2564
ก.แรงงาน ออกกฎคุ้มครองคนงานประมง ระงับพิพาท-มีเสรีภาพต่อรอง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่าได้ลงนามออกกฎกระทรวงการระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การปิดงาน การนัดหยุดงาน และการกระทำอันไม่เป็นธรรม ที่เกี่ยวข้องกับคนประจำเรือและเจ้าของเรือ พ.ศ. 2564 ฉบับลงวันที่ 17 ก.ย. 2564 และราชกิจจานุเบกษาประกาศเผยแพร่ เล่ม 138 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2564 กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้
ซึ่งกำหนดให้มีขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การแจ้งข้อเรียกร้อง การตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาท และมีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้ ยังได้กำหนดห้ามเจ้าของเรือปิดงาน หรือคนประจำเรือนัดหยุดงานในระหว่างที่มีการเดินเรือทางทะเล อีกทั้งคนประจำเรือมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการกระทำอันไม่เป็นธรรมได้
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดของกฎกระทรวงดังกล่าวว่า ข้อพิพาทแรงงานทางทะเลจะเกิดขึ้นเมื่อมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือ และไม่มีการเจรจากัน หรือเจรจากันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด
ให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อเรียกร้อง หากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องอาจตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานทางทะเลพิจารณาข้อพิพาทฯ นั้น
ต้องส่งคำชี้ขาดข้อพิพาทฯ ให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องทราบภายใน 3 วัน พร้อมทั้งแจ้ง คำชี้ขาดข้อพิพาทฯ ต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ทำคำชี้ขาดหรือเสนอข้อพิพาทฯ ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งจะพิจารณาชี้ขาดภายใน 90 วัน โดยคำชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด มีผลใช้บังคับตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
และให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องต้องปฏิบัติตาม หรือจะปิดงานหรือนัดหยุดงานตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยห้ามเจ้าของเรือปิดงานหรือคนประจำเรือนัดหยุดงานในระหว่างที่มีการเดินเรือทางทะเล และการปิดงานหรือการนัดหยุดงาน ให้เจ้าของเรือซึ่งประสงค์จะปิดงาน หรือคนประจำเรือซึ่งประสงค์จะนัดหยุดงาน แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าหน้าที่และอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 48 ชั่วโมงก่อนการปิดงาน หรือการนัดหยุดงาน
ในเรื่องของการพิจารณาการกระทำอันไม่เป็นธรรม กรณีเจ้าของเรือกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 94 ให้คนประจำเรือผู้เสียหายเนื่องจากการฝ่าฝืนดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการฝ่าฝืน และเมื่อได้รับคำร้องให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง กรณีที่คนประจำเรือหรือเจ้าของเรือไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง มีสิทธิที่จะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน และหากไม่ได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด
การแจ้งข้อพิพาทแรงงานทางทะเลผู้แจ้งสามารถยื่นคำร้องโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสามารถยื่นด้วยตนเองได้ที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด โดยหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1546 หรือ 1506 กด 3
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 10/10/2564
เครือข่ายสิทธิเพื่อแรงงานข้ามชาติเรียกร้องให้ลาป่วยกรณีโควิด เป็นวันลากรณีพิเศษ ไม่นับวันลาป่วยทั่วไป ที่กฏหมายคุ้มครองให้ลาป่วยได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้าง
นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายสิทธิเพื่อแรงานข้ามชาติ แถลงการณ์ข้อเรียกร้องเนื่องใน Decent Work Day ต่อรัฐบาลว่าสถานการณ์โควิดที่เกิดผลกระทบต่อคนงานอย่างกว้างขวาง ซึ่งแรงงานข้ามชาติยิ่งมีความยากลำบาก ที่งานและรายได้ลดลงอย่างมาก ไม่ต่างจากแรงงานไทยและดูเหมือนจะยากลำบากยิ่งกว่า ด้วยอุปสรรคด้านภาษาจึงเข้าไม่ถึงข้อมูลความช่วยเหลือด้านต่างๆโดยเฉพาะการรับตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีน ที่นายจ้างใช้เป็นเงื่อนไขกับกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ให้หยุดทำงานชั่วคราว โดยให้ไปรับวัคซีนและมีหนังสือรับรองจึงจะรับให้ทำงาน
นางสาวสุธาสินี กล่าวอีกว่าเราได้รับการร้องเรียนจากแรงงาน หลายโรงงาน หลายอุตสาหกรรมเช่นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า นายจ้างให้ลูกจ้างที่หยุดงานเนื่องจากติดเชื้อโควิด ให้ใช้วันลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง 30 วันตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน ที่การกักตัวรักษาก็แทบจะใช้หมด หากเจ็บป่วยเนื่องจากสาเหตุอื่นก็จะไม่เหลือวันลาป่วย อีกทั้งนายจ้างบางรายจ่ายเงินเพียง 50% ด้วย
ดังนั้นจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีการตรวจและบังคับให้อย่างจริงจัง เพื่อให้ลูกจ้างที่ติดเชื้อโควิด ที่เข้ารับการรักษาหรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ที่เข้ารับการกักตัวที่ต้องหยุดงาน ให้เป็นการลาป่วยกรณีพิเศษ โดยได้รับค่าจ้างเต็ม 100% โดยไม่นับรวมกับสิทธิวันลาป่วย ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานที่ให้สิทธิลา 30 วันต่อปี โดยได้รับค่าจ้าง
นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลมีมาตรการชัดเจนให้แรงงานข้ามชาติทุกคนทั้งที่เป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังและนอกระบบประกันสังคม ได้รับวัคซีนโควิดทุกคน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิเยียวยาต่างๆในโครงการของรัฐบาลที่ให้การช่วยเหลือกับแรงงานไทยไม่ว่าจะเป็นโครงการ มาตรา33 เรารักกัน โครงการคนละครึ่ง ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติมีส่วนในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจไทยและมีส่วนในการเสียภาษี จึงควรได้รับสิทธิ
อีกทั้งให้มีการเผยแพร่ข้อมูล ที่เป็นภาษาถิ่นให้แรงงานข้ามชาติ กลุ่มต่างๆได้รับรู้ เข้าใจถึงมาตรการต่างๆ เท่าเทียมกับคนทั่วไป เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดและไม่ทำให้แรงงานข้ามชาติตื่นกล้ว
นางธนวรรณ ลูกจ้างโรงงานแห่งหนึ่งในย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ เปิดเผยว่าตนติดเชื้อโควิด ทำให้ต้องรักษาตัวเป็นระยะเวลา 16 วัน และกลับมารักษาตัวที่บ้านอีก 4 วัน เป็นระยะเวลา20 วัน จึงขอสนับสนุนแนวทางให้การหยุดเพื่อกักตัว รักษาตัวเนื่องจากโควิด ต้องเป็นการหยุดเป็นกรณีพิเศษ ไม่นับรวมกับวันลาป่วย ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน เนื่องจากสถานการณ์โควิด ไม่รู้จะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด
ทั้งนี้หากโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงานก็จะไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างให้ปฎิบัติตามคำสั่งของกระทรวงแรงงาน ที่กำหนดให้การลาป่วย กรณีโควิด ไม่ให้นับรวมกับวันลาป่วย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 10/10/2564
ผู้ว่าฯ สมุทรสาครสั่งยกเลิก ตั้ง FAI รพ.สนามในโรงงาน หลังป่วยโควิดลด
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร และผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสมุทรสาครได้ลงนามคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ที่ 3234/2564 เรื่องแนวทางการยกเลิกการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงาน หรือสถานประกอบการ (Factory Accommodation Isolation : FAI) ตามคำสั่งจังหวัดสมุทราสาครที่ 2013/2564 ลงนามเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564
เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมีแนวโน้มที่ดีขึ้น พบผู้ติดเชื้อทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวเป็นกลุ่มก้อนในโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการในอัตราที่น้อยลง อีกทั้งอัตราการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มมีอัตราเตียงว่างเพิ่มขึ้นทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน จึงทำให้มีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เข้าสู่กระบวนการรักษาในสถานพยาบาลมากขึ้น
ดังนั้น จึงได้กำหนดแนวทางการยกเลิกการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงานหรือสถานประกอบการ (Factory Accommodation Isolation : FAI) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร จึงมีคำสั่งดังนี้
1.โรงงานหรือสถานประกอบการใด ที่ประสงค์จะยกเลิกโรงพยาบาลสนามสำหรับแยกกักผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานหรือสถานประกอบการให้ดำเนินการภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
1.1 ต้องมีการสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพนักงานด้วยวิธี ATK ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
1.2 ผลตรวจตามข้อ 1.1 ต้องมีผลบวกไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานที่เข้ารับการตรวจ หากผลการตรวจตามข้อ 1.1 มีผลบวกเกินร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานที่เข้ารับการตรวจ ให้โรงงานหรือสถานประกอบการนั้น ๆ ยังคงต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงานหรือสถานประกอบการ (FAI) ต่อไป
1.3 ให้โรงงานหรือสถานประกอบการที่มีความประสงค์จะยกเลิกโรงพยาบาลสนามสำหรับแยกกักผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายงานผลการตรวจตามข้อ 1 ให้แรงงานจังหวัดสมุทรสาครทราบ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรค
เมื่อโรงงานหรือสถานประกอบการได้ดำเนินการตรวจเชื้อโควิด-19 ให้พนักงานแล้ว ให้รายงานผลต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร และโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ติดเชื้อทุกครั้ง เพื่อให้สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร และโรงพยาบาลของผู้ติดเชื้อ รายงานต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
1.4 ให้แรงงานจังหวัดสมุทรสาครเสนอรายงานตามข้อ 1.3 แก่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทราบต่อไป
2. แนวทางการดำเนินงานของโรงงานหรือสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ Factory Sandbox ให้ดำเนินการตามมาตรการของโครงการ Factory Sandbox
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามนัยมาตรา 51 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการได้เห็นชอบร่วมกันในการยกเลิก FAI เนื่องจากตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา พบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเรื่อยๆ โดยแต่ละโรงงานยังคงใช้ ATK สุ่มตรวจพนักงานหาเชื้อโควิด-19 เป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าหากพบการระบาดรอบใหม่อีกก็ค่อยตั้ง FAI กันขึ้นใหม่
รายงานข่าวจากจังหวัดสมุทรสาคร ระบุสถานการณ์ผู้ติดโควิด-19 วันที่ 8 ต.ค. 2564 เวลา 24.00 น. ระลอก เม.ย. 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 99 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 90,828 ราย หายป่วย/จำหน่ายแล้ว 85,949 ราย เสียชีวิตสะสม 1,110 ราย รับวัคซีนแล้ว 1,076,680 โด๊ส
อนึ่ง คำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ที่บังคับให้โรงงานหรือสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปหรือมีกำลังเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไปเกือบ 7,000 แห่ง ต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกกักผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในโรงงาน (Factory Accommodation Isolation : FAI) โดยจะต้องมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานทั้งบริษัทภายใน 7 วัน หากใครทำไม่ได้ “สั่งปิดทันที” ลงนามโดยนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่จังหวัดสมุทรสาคร พบตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นระดับเกินกว่า 1,000 คน ตลอดช่วง 7 วันที่ผ่านมา
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/10/2564
ราชทัณฑ์ชู ‘สมุทรปราการโมเดล’ ส่งผู้ต้องขังพักโทษทำงาน
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงมาตการสร้างอาชีพให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษเพื่อคืนสู่สังคม ลดความแออัดในเรือนจำและลดการกระทำผิดซ้ำ ว่า ในวันจันทร์ที่ 11 ต.ค.นี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะเป็นประธานเริ่มโครงการส่งผู้ต้องขังพักโทษเข้าทำงานตามแนวทางนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ โดยนำร่องสมุทรปราการโมเดลคัดเลือกผู้ต้องขังจากทุกประเภทคดีที่รับโทษในเรือนจำแล้ว 1ใน 3 ของโทษทั้งหมด และเหลือโทษไม่เกิน 5 ปี ผ่านการอบรมพัฒนาพฤตินิสัย อาชีวะบำบัด ฝึกฝีมือแรงงาน และทักษะการทำงานยุคโควิด เข้าทำงานที่บริษัทเดลต้า อิเลคทรอนิกส์ ผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์ เพื่อให้ผู้ต้องขัง ได้พักโทษใส่กำไลอีเอ็ม ออกสู่เรือนจำได้ปรับตัวสร้างอาชีพ โดยระหว่างทำงานจะต้องเข้าสู่ระบบคุมประพฤติ ใส่กำไลอิเลคทรอนิกส์ และรายงานตัวจนกว่าจะครบกำหนดพ้นโทษ โดยมีเป้าหมายนำผู้ต้องขังพักโทษเข้าสู่งานนิคมอุตสาหกรรม 500-1,000คน
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า ผู้ต้องขังที่ไปทำงานจะติดกำไลอีเอ็ม ได้รับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและตามทักษะการทำงาน มีผู้ประกอบการเป็นผู้อุปการะ ตลอดระยะ เวลาที่ทำงาน พร้อมจัดหาที่พักให้ หากพ้นคุมประพฤติก็สามารถสมัครเข้าทำงานต่อได้ ส่วนผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีและเป็นส่วนหนึ่งในการคืนคนดีสู่สังคม
นายอายุตม์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษพบสาเหตุเรื่องอาชีพและรายได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำผิดซ้ำ จากสถิติพบว่าปีแรกหลังพ้นโทษ มีการทำผิดซ้ำ 15% พ้นโทษปีที่ 2 ทำผิดซ้ำ 25% และปีที่ 3 ทำผิดซ้ำมากถึง 35% การสร้างอาชีพให้ผู้ต้องขังจึงเป็นเรื่องสำคัญและพบว่าหากติดตามให้ผู้พ้นโทษมีงานทำ มีผลอย่างชัดเจนที่ทำผิดซ้ำลดลงมากกว่า 6% ซึ่งการพักโทษ ใส่กำไลอีเอ็ม สร้างอาชีพให้ นอกจากช่วยลดความแออัดแล้วยังลดค่าใช่จ่ายของภาครัฐในค่าเลี้ยงดูต่อวัน เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังจากกว่า 300,000 คน ให้เหลือกว่า 200,000คน เพื่อปฏิบัติดูแลผู้ต้องขังให้เป็นตามมาตรฐานสากลซึ่งปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ ได้เปลี่ยนการจัดพื้นที่นอนให้มีพื้นที่กว้างขึ้นเป็น 1.6 ตารางเมตรต่อคนแล้ว
ที่มา: สำนักข่าวไทย, 8/10/2564
แรงงานไทย กลับจากเก็บผลไม้ป่าที่ สวีเดน-ฟินแลนด์ เหลือกักตัว 7 หรือ 10 วัน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) มีมาตรการการปรับลดระยะเวลาการกักกันตัว
สำหรับผู้เดินทางทางมาจากต่างประเทศจากเดิม 14 วัน เป็น 7 วันหรือ 10 วัน แล้วแต่กรณี โดยมีมติให้ “แรงงานไทย” ที่กลับจากการทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ที่เดินทางถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64 เป็นต้นไป เข้ารับการกักกันตัวตามเงื่อนไข ดังนี้
1. กลุ่มแรงงานไทยที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate) ครบ 2 เข็มก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย 14 วัน ลดเวลาการกักกันตัวเหลือ 7 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ในวันแรกที่มาถึง (วันที่ 0-1) และครั้งที่สอง (วันที่ 6-7) ก่อนออกจากสถานที่กักกันตัว
2. กลุ่มแรงงานไทยที่ได้รับการฉีดวัคซีนยังไม่ครบ 2 เข็ม ให้กักกันตัว 10 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ในวันแรกที่มาถึง (วันที่ 0-1) และครั้งที่สอง (วันที่ 8-9) ก่อนออกจากสถานที่กักกันตัว
นอกจากนี้ ยังปรับลดราคาการกักกันตัวในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine: OQ) ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบห้องพักเดี่ยว และห้องพักคู่ มีค่าใช้จ่ายสำหรับการบริการแบบครบวงจรตลอดระยะเวลาการกักตัว 7 วัน สำหรับห้องพักเดี่ยว ราคา 13,500 บาท/ห้อง และห้องพักคู่ 23,500 บาท/ห้อง
สำหรับระยะเวลากักตัว 10 วัน ห้องพักเดี่ยว ราคา 18,857 บาท/ห้อง และห้องพักคู่ 32,714 บาท/ห้อง ซึ่งการลดระยะเวลาการกักตัวในครั้งนี้ จะช่วยให้แรงงานไทยประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ก็กำชับกระทรวงแรงงานให้ดูแลแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากการทำงานต่างประเทศให้ดีมาโดยตลอด ให้คำนึงถึงความคุ้มค่าด้านค่าใช้จ่าย พร้อมกับได้ใช้บริการสถานที่กักกันที่มีมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคตามที่สาธารณสุขกำหนด
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเก็บผลไม้ป่าปี 2021 จะมีแรงงานเดินทางกลับประเทศไทยระหว่างวันที่ 21 ก.ย. -28 ต.ค. 64 รวม 8,153 คน จากประเทศฟินแลนด์ จำนวน 3,081 คน และประเทศสวีเดน จำนวน 5,072 คน
โดยทุกคนที่เข้ารับการกักกันตัวในโรงแรมที่พักซึ่งเป็นสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (OQ) หากตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทางโรงแรมจะแจ้งโรงพยาบาลคู่สัญญาเพื่อรับตัวไปรักษา โดยบริษัทประกันที่แรงงานไทยทำประกันไว้ก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศตามที่กรมการจัดหางานกำหนด จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
ทั้งนี้ คนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/10/2564
กสร. ชี้ลูกจ้างทดลองงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างลาป่วย
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึง กรณีโพสต์ข้อความหนึ่งในสื่อออนไลน์ ระบุว่าลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างทดลองงานหากใช้สิทธิลาป่วยจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างลาป่วย โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ตรวจสอบและขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวเท็จทั้งนี้ขอให้ประชาชนอย่าแชร์ข้อมูลออกไปอันจะก่อให้เกิดการความเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับมายัง กสร. ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ให้ดำเนินการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งกรมขอชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้างปีหนึ่งไม่เกิน 30 วัน โดยลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างตามผลงาน หรือลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างทดลองงาน ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างทดลองงานมักมีความเข้าใจผิดว่า หากลูกจ้างไม่มาทำงานก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง โดยความจริงแล้วไม่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นว่าลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างทดลองงานลาป่วยไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ดังนั้นลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างทดลองงานจึงมีสิทธิลาป่วยและมีสิทธิได้รับค่าจ้างปีละไม่เกิน 30 วันทำงาน เช่นเดียวกับลูกจ้างประเภทอื่น นอกจากนี้นายจ้างจะออกระเบียบหรือทำข้อตกลงให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไม่ได้ เช่น ตกลงให้ค่าจ้างวันลาป่วยปีละไม่เกิน 20 วัน หรือลูกจ้างทดลองงานไม่มีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็น เป็นต้น ถือว่าข้อตกลงเช่นนี้ตกเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้มีข่าวเท็จหรือข่าวปลอมในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและความเข้าใจผิดขึ้น และกรณีนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายแรงงาน สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1546 หรือ 1506 กด 3
ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 8/10/2564