เช็คอีกที “วิธีป้องกันโควิด” ของประชากรกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มประชาชนทั่วไป, ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยเรื้อรัง, หญิงให้นมบุตร ทำยังไงถึงจะปลอดภัยจาก “โควิด-19” ได้มากที่สุด แล้วแบบไหนป้องกันโควิดได้ชัวร์?
ชวนคนไทยรู้จัก “วิธีป้องกันโควิด” ที่ถูกต้องและได้ผลปลอดภัยที่สุด ซึ่งหลักๆ เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้จาก “องค์การอนามัยโลก (WHO)” และส่วนหนึ่งมาจาก “กรมควบคุมโรค” กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้เผยแพร่เป็นความรู้และวิธีปฏิบัติสู่ประชาชนไทย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมมาให้เช็คลิสต์กันอีกครั้ง ล้อมวงมาอ่านตรงนี้..
- เช็ค “วิธีป้องกันโควิด” จากองค์การอนามัยโลก
WHO แนะนำวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อปกป้องตนเองและคนรอบตัว ดังนี้
1. ล้างมือบ่อยๆ โดยใช้สบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70%
2. รักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากผู้ที่ไอหรือจาม ประมาณ 2 เมตร
3. สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเว้นระยะห่างไม่ได้
ข้อควรรู้: หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ที่สวมแพร่กระจายไวรัสไปยังผู้อื่น อย่างไรก็ตามหน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ จึงควรรักษาระยะห่างและหมั่นล้างมือบ่อยๆ ร่วมด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รวม ‘วิธีรักษาโควิด’ ตามอาการ
- วิธีป้องกันการติดเชื้อ ‘โควิด 19’ ในเด็กและครอบครัว
- 5 แนวทาง ‘สถานบันเทิง’ ป้องกันโควิด-19 ต้องรู้!
- เช็คประกาศ-คำสั่ง กทม.- 76 จังหวัด กำหนดมาตรการป้องกัน ‘โควิด’
4. ไม่ใช้มือสัมผัสตา จมูก หรือปาก
5. เมื่อไอหรือจาม ให้ปิดจมูกและปากด้วยข้อพับด้านในข้อศอกหรือกระดาษชำระ จากนั้นทิ้งกระดาษชำระในถังขยะมีฝาปิด
6. เก็บตัวอยู่บ้านเมื่อรู้สึกไม่สบาย
7. หากมีไข้ ไอ และหายใจลำบากโปรดไปพบแพทย์
ข้อควรรู้: โปรดติดต่อล่วงหน้าเพื่อที่ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ จะได้แนะนำให้คุณไปยังสถานพยาบาลที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยปกป้องคุณ รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสและการติดเชื้ออื่นๆ
- “วิธีป้องกันโควิด” สำหรับประชาชนทั่วไป
มีข้อมูลจาก “กรมควบคุมโรค” กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย เปิดเผยถึงแนวทางการปฏิบัติเพื่อ “ป้องกันโควิด” สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ช่วยลดการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยมีคำแนะนำดังนี้
1. ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น หากออกนอกบ้านให้เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด
2. เมื่ออยู่นอกบ้าน ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา
3. ใช้รถสาธารณะเมื่อจำเป็นเท่านั้น และหลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วน หากต้องซ้อนมอเตอร์ไซด์ควร “นั่งหันข้าง”
4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม หรือหลังจากไอ จาม
5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น
6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้ใช้งานร่วมกันในที่สาธารณะ เช่น กลอนประตู ลูกบิดประตู ราวจับหรือ ราวบันได เป็นต้น หากสัมผัสแล้วต้องล้างมือทันที
7. แยกของใช้ส่วนตัว ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
8. เลือกทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ควรทานอาหารแยกสำรับ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ
9. หากเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ควรกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน และปฏิบัติตามมาตรการรัฐให้เคร่งครัด
10. หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้รีบพบแพทย์ทันที
- “วิธีป้องกันโควิด” กลุ่มผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุถือเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มวัยอื่น การอยู่รวมกันเป็นครอบครัวที่มีสมาชิก ในบ้านมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง อาจทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อได้ ดังนั้นผู้สูงอายุและบุคคลในครอบครัว ควรป้องกันการรับสัมผัสและแพร่กระจายเชื้อโรค ดังนี้
1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าส้วม หรือเมื่อสัมผัสสิ่งของร่วมกับผู้อื่น
2. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก
3. เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ๆ ควรทานอาหารแยกสำรับ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
4. หากไอ จาม ให้ใช้ข้อศอกปิดปากจมูกหรือกระดาษทิชชู่ จากนั้นทำความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ทันที
5. ให้สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการหวัด มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก
6. งดออกจากบ้านหรือเข้าไปในบริเวณที่มีคนแออัด หากจำเป็นให้ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ใช้เวลาน้อยที่สุด รักษาระยะห่างจากบุคคลอื่น 1 – 2 เมตร หลีกเลี่ยงการสวมกอด หรือพูดคุยในระยะใกล้ชิดกับบุคคลอื่น
7. หากมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็ง ควรจัดเตรียมยาสำรองโรคประจำตัวของผู้สูงอายุไว้ ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ หากถึงกำหนดตรวจตามนัดให้ติดต่อขอคำแนะนำจากแพทย์ และให้ญาติไปรับยาแทน
8. ดูแลสภาพจิตใจไม่ให้เครียดเกินไป หาวิธีคลายเครียด เช่น การออกกำลังกาย (รำมวยจีน โยคะ) ฟังเพลง เล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ ทำสวน จัดห้อง ตกแต่งบ้าน เล่นกับสัตว์เลี้ยง สวดมนต์ นั่งสมาธิ การฝึกหายใจคลายเครียด เป็นต้น
- “วิธีป้องกันโควิด” กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
อีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังป้องกันโควิดให้มากที่สุด ก็คือ กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคระบบทางเดินหายใจ(หอบหืด, ปอดอุดกั้น, โรคปอด) โรคอ้วน หากมีการติดเชื้อโควิด-19 จะมีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อหรือป่วยรุนแรง จึงมีคำแนะนำดังนี้
1. ให้อยู่ในที่พักอาศัย งดใกล้ชิดกับบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ดูแล รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร
2. หากต้องออกไปในพื้นที่ที่มีคนแออัด หรือโดยสารรถสาธารณะ ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา
3. งดใช้ของหรือเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
4. มีหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อของสถานพยาบาลที่รักษาประจำ เพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพ
5. ติดต่อสถานพยาบาลที่รักษาประจำก่อนกำหนดนัด เพื่อรับทราบข้อปฏิบัติ เช่น ให้ญาติหรือผู้อื่นไปรับยาแทน หรือเปลี่ยนเป็น รพ.ใกล้บ้าน
6. รับประทานยาสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพตนเอง เช่น วัดความดันโลหิต หรือวัดระดับ น้ำตาลในเลือดเองที่บ้าน (หากมีอาการป่วยฉุกเฉิน ให้โทรเรียก 1669, 1668, 1330)
- “วิธีป้องกันโควิด” กลุ่มหญิงตั้งครรภ์/ให้นมบุตร
คำแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด หญิงให้นมบุตร เนื่องจากเชื้อโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ ยังไม่มีข้อมูลว่าหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ จึงมีคำแนะนำ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีไข้ หรือป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง
2. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70%
3. หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร
4. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา ปาก และจมูก
5. รับประทานอาหารร้อนที่ปรุงสุกใหม่เสมอ แยกสำรับอาหาร งดใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
6. เฝ้าระวังอาการ โดยเฉพาะอาการไข้ ไอ จาม หากมีอาการป่วยเล็กน้อยควรพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ถ้ามีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย ควรรีบไปพบแพทย์
7. หญิงตั้งครรภ์ที่ถึงกำหนดนัดฝากครรภ์ สามารถติดต่อขอคำแนะนำกับแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อพิจารณาความจำเป็นในการไปตรวจตามนัด
8. หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กรณีเจ็บครรภ์คลอดต้องไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่าง การเฝ้าระวัง 14 วัน
9. หญิงหลังคลอดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ให้แยกตนเองจากครอบครัว 14 วัน งดออกไปในที่ชุมชนโดยไม่จําเป็น อยู่ห่างจากผู้อื่น ในระยะ 1-2 เมตร
10. กรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อหรือติดเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่อาการไม่มาก สามารถให้นมลูกจากเต้าได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแม่และครอบครัว ต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
11. กรณีแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการชัดเจน หากยังสามารถบีบน้ำนมได้ ให้ใช้วิธีบีบน้ำนม และให้ผู้ช่วยเป็นผู้ป้อนนมแก่ลูก หากไม่สามารถบีบน้ำนมเองได้ อาจพิจารณาใช้นมผงแทน
*หมายเหตุ : หากพบผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคเบาหวาน มีอาการทางเดิน หายใจ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย มีน้ำมูก มีผื่น ตาแดง ให้รีบไป รพ. ใกล้บ้านทันที หากมาช้าเกิน 48 ชั่วโมง จะมีโอกาสเสียชีวิตได้
—————————-
อ้างอิง :
who.int
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข