Mitsubishi Outlander PHEV เป็นการควบรวม DNA และเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า รวมถึงการทำตัวเป็นรถออฟโรดด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Super All Wheel Control (SAWC) เมื่อมองจากรูปลักษณ์ภายนอก Outlander PHEV มีหน้าตาคล้ายกับรถยนต์ Mitsubishi ยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Pajero Sport / Expender / Triton ต่างก็มีหน้าตาที่คล้ายกัน โดยเฉพาะการออกแบบหน้ากระจังที่เชื่อมโยงกับไฟหน้า กันชนหน้าดีไซน์เฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ที่มองเพียงแค่ครั้งเดียวก็รู้เลยว่านี่คือรถยนต์ของแบรนด์ Mitsubishi ไฟหน้า LED แบบโปรเจคเตอร์ มีไฟหรี่กลางวัน LED Daytime Running Light ไฟตัดหมอกหน้าแบบฮาโลเจน ไฟท้าย LED Tail Lights ฝากระโปรงหน้า แปะตัวอักษร Outlander สีดำ ชุดกระจังที่ซับซ้อน ออกแบบเป็นรูพรุน เพื่อนำลมไประบายความร้อนในห้องเครื่องยนต์ พลาสติกโครเมียมและเปียโนแบล็กประดับประดาอยู่ทั่วทั้งชุดกระจังหน้า
ด้านข้างที่มีมุมมองคล้ายกับรถแวน หรือรถสเตชั่นแวกอน แต่ถูกนำมายกความสูงเพิ่มเล็กน้อยเพื่อประสิทธิภาพในการลุยทางวิบาก Outlander PHEV ล้อมกรอบกระจกด้วยชิ้นงานโลหะสีเงินยวง มือจับที่เปิดประตูสีเงินโครเมียม แรคหลังคาสีเงิน ชายล่างของบานประตู เดินเส้นพลาสติกโครเมียมสีเงินเพื่อเพิ่มความหรูหรา ส่วนของเสาท้าย หรือเสา C ออกแบบได้ดี เชื่อมโยงผืนหลังคากับส่วนท้ายของรถได้อย่างลงตัว Outlander PHEV ใส่ล้ออัลลอยลายซี่ถี่ ที่ล้างทำความสะอาดภายในขอบล้อค่อนข้างยาก ล้อขอบ 18 นิ้ว ยัดยาง Dunlop SP Sport 5000 ไซล์ 225/55R18 ทั้งสี่ล้อ
การออกแบบจุดเติมเชื้อเพลิงและจุดชาร์จไฟฟ้าถูกแยกออกจากกันแบบคนละฝั่ง ฝาถังเชื้อเพลิงอยู่ด้านซ้าย ส่วนฝาปิดจุดชาร์จไฟอยู่ด้านขวา กรอบกระจกมองข้างสีเดียวกับตัวถังโดยมีเลนส์ไฟเลี้ยว LED อยู่ภายใน แก้มข้างแปะตราสัญลักษณ์ Outlander PHEV สำหรับไฟท้ายทรงแปลกตา เชื่อมโยงไฟท้ายทั้งสองฝั่งด้วยพลาสติกโครเมี่ยม ไฟท้ายใช้หลอด LED เพื่อความคมชัดและทนทาน รวมถึงไฟเบรกดวงที่สาม ติดอยู่ด้านบนตรงกึ่งกลางของสปอยเลอร์หลังคา เสาอากาศทรงครีบฉลาม ฝาท้ายเปิดออกได้ด้วยมุมที่กว้างมากกว่ารถคู่แข่ง แต่การทำงานด้วยการเปิด-ปิดจากระบบไฟฟ้า ช้าไปนิด กันชนหลังเรียบง่าย มีพลาสติกมัลติรีเฟคเตอร์ พร้อมเซนเซอร์ 4 ตำแหน่ง และกล้องมองหลังที่อยู่มุมบนด้านซ้ายของกรอบป้ายทะเบียน
มิติตัวถังของ Mitsubishi Outlander PHEV มีขนาดความยาว 4,695 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,710 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,670 มิลลิเมตร ระยะห่างล้อคู่หน้า 1,539 มิลลิเมตร ระยะห่างล้อคู่หลัง 1,539 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 190 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,930 กิโลกรัม ความจุถังเชื้อเพลิง 45 ลิตร
ภายในของ Mitsubishi Outlander PHEV ดูสูงวัยไม่ไปหน่อย เนื่องจากออกมาขายนานแล้ว ภายในของมันให้อารมณ์และมุมมองอยู่ในช่วงของรถยนต์ที่ผลิตในปี 2016 แทนที่จะเป็นปี 2021 งานตกแต่งที่เน้นความชอบของคนสูงวัยเหมือนกำลังทำตัวให้แก่เกินวัยอยู่พอสมควร จุดที่ชอบก็คือ เบาะปรับไฟฟ้าคู่หน้า สมราคาค่าตัว 1.74ล้าน ให้มาครบทั้งเบาะคนนั่งหน้าและเบาะคนขับ เบาะทุกตำแหน่งหุ้มหนังสีดำ เย็บเดินตะเข็บด้วยด้ายสีขาวตัดกันแบบไดมอนคัต เบาะคู่หน้านั่งได้พอดีตัว แต่ตำแหน่งของเบาะสูงไปนิด เมื่อพยายามปรับเบาะโดยลดความสูงลงมาจนสุด แต่เบาะก็ยังให้ความรู้สึกแบบเอสยูวี นั่นก็คือยังคงสูงอยู่ดี เบาะหลังแข็งไปนิด แต่นั่งโดยสารได้ดีทั้งทางใกล้และทางไกล แม้จะเป็นเอสยูวีแบบ 5 ที่นั่ง แต่ถ้าจะเอาสบายตัวนั่งกันยาวๆ เดินทางไกลข้ามจังหวัด ไป 4 คนนี่กำลังเหมาะ เพราะถ้ามีคนที่ 5 มานั่งอยู่ตรงกลางเบาะแถวหลัง ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัดนั่งไม่สบายเท่าที่ควร เบาะหลัง มีพื้นที่มากพอ ทั้งการวางเท้าและพื้นที่เหนือศีรษะ ขอบอกเลยว่า เหลือเฟือ เบาะหลังสามารถปรับพับแบบ 40:60:40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับห้องเก็บสัมภาระส่วนท้ายได้อีกเพียบ!
แดชบอร์ดและคอนโซลดูโบราณย้อนยุค เพราะออกมาขายนานแล้ว แดชบอร์ดบางจุดหุ้มด้วยไวนิล บางจุดก็เป็นพลาสติกทั้งชิ้น Outlander PHEV ตกแต่งห้องโดยสารด้วยพลาสติกที่ทำออกมาคล้ายกับลวดลายคาร์บอนเคฟล่าร์ เดินเส้นตกแต่งตรงแผงคอนโซลและแผงประตู สำหรับแผงประตูแบบซอฟต์ทัช ยังคงมีการเย็บเดินตะเข็บด้วยด้ายสีขาวแบบไดมอนคัต แดชบอร์ดมีจอภาพมอนิเตอร์กลาง ขนาด 8 นิ้ว สั่งงานด้วยระบบสัมผัสที่หน้าจอภาพ สำหรับฟังก์ชั่นที่ควบรวมมาให้ใช้งาน ประกอบด้วย การแจ้งเตือนการใช้พลังงาน ทั้งจากเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า การชาร์จไฟและการใช้เชื้อเพลิง คำนวนอัตราสิ้นเปลืองไฟฟ้า เมื่อเดินทางด้วยโหมด EV คำนวนอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ระบบอินโฟเทรเมนท์ เช่น วิทยุ AM FM การเชื่อมต่อกับ USB iPOD Bluetooth Audio สำหรับการเสียบ USB สามารถเล่นได้ทั้งเสียงและภาพเคลื่อนไหวแบบ VDO (แต่รถต้องจอดนิ่งอยู่กับที่เพื่อความปลอดภัย) กล้องมองรอบคัน การปรับตั้งค่าต่างๆ การเชื่อมต่อโทรศัพท์
ที่ชอบก็คือ เซนเซอร์ อินฟราเรดภายในห้องโดยสาร เมื่อมีการเคลื่อนไหวในรถ จะมีการส่งสัญญาณเสียงเพื่อแจ้งเตือนทันที มีไว้เพื่อป้องกันการถูกโจรกรรม หรือลืมเด็กเอาไว้ในรถ เซนเซอร์ของระบบอินฟราเรด จะคอยตรวจจับความเคลื่อนไหวภายในห้องโดยสารหลังจาการล็อกรถแล้ว และจะส่งสัญญาณเสียงแจ้งเตือนทันทีที่พบการเคลื่อนไหวในรถแบบผิดปกติขณะที่รถมีการล็อกประตูทุกบานเรียบร้อยแล้ว
มาตรวัดความเร็วและการทำงานของเครื่องยนต์ ระบบไฮบริด การชาร์จกระแสไฟ รวมไปถึงการแจ้งเตือนต่างๆ ถูกควบรวมอยู่ภายในกรอบหน้าปัดมาตรวัดแบบเข็มที่อ่านค่าได้ง่าย แต่มีรูปแบบที่ไม่ค่อยจะล้ำอนาคตเท่าใดนัก มาตรวัดความเร็วด้านขวา ใช้ตัวเลขและเข็มวัดสีขาวที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนทำให้อ่านค่าความเร็วได้ง่าย ส่วนด้านซ้ายเป็นมาตรวัดของสเกลการใช้พลังงานสองส่วนรวมถึงการชาร์จไฟที่ออกแบบให้อยู่ในมาตรวัดทรงกลม สัญลักษณ์ ตัวอักษร และขีดต่างๆ บ่งบอกถึงการใช้พลังงานในขณะนั้นซึ่งมีทั้งการแสดงผลการวิ่งด้วยไฟฟ้า เครื่องยนต์ และการชาร์จไฟ กึ่งกลางมาตรวัดทั้งสอง เป็นจอภาพ mid multi information display แจ้งเตือนระบบการทำงานต่างๆของรถ เช่น บานประตูทุกบาน ระดับแบตเตอรี่และน้ำมันในถังแบบแยกส่วน ตำแหน่งเกียร์ ทริปมิเตอร์ A-B อุณหภูมิภายนอกห้องโดยสาร โหมดการขับเคลื่อนในขณะนั้น การชาร์จไฟฯ
นอกจากบริเวณใต้ช่องแอร์ของผู้โดยสารตอนหลัง ซึ่งมีช่องเสียบ USB ติดมาให้ใช้งานสำหรับผู้โดยสารด้านหลังแล้ว Outlander PHEV ยังให้ช่องเชื่อมต่อต่างๆ รวมถึงช่องปล่อยกระแสไฟฟ้า สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เกิน 1,500 วัตต์ เริ่มจากใต้ชุดควบคุมอุณหภูมิ เป็นที่อยู่ของสวิตช์ควบคุมการทำงานของฝาท้าย ซึ่งปรับตั้งค่าการตอบสนองได้สองระดับ ช่องเก็บกุญแจรีโมต และปุ่ม ECO ช่องเสียบ USB ปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า AC 1,500W สามารถเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าพวกเตาปิ้งย่าง หรือคอมพิวเตอร์ได้ที่ปลั๊กสามตา บริเวณพื้นที่เก็บสัมภาระส่วนท้าย
พวงมาลัย 4 ก้าน หน้าตาสูงวัย คล้ายกับพวงมาลัยใน Pajero Sport มาพร้อมสวิตช์ปรับตั้งต่างๆ เช่น ด้านซ้าย เป็นที่อยู่ของสวิตช์ปรับแต่งระบบอินโฟเทนเมนท์ การเลือกฟังก์ชันเล่นเพลงต่างๆ ปุ่มสั่งงานด้วยเสียง ปุ่มรับหรือวางสายโทรศัพท์บลูทูธ ส่วนด้านขวามือเป็นสวิชท์ปรับตั้งระบบปรับความเร็วอัตโนมัติ Adaptive Cruise Control พร้อมฟังก์ชัน Stop & Go (เบรก หยุดแล้ว เร่งออกตัวตามรถคันข้างหน้าแบบอัตโนมัติ) หลังวงพวงมาลัย ติดตั้งแป้นเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ Paddle Shift แต่เป็นแป้น Paddle ที่แตกต่างจากแบรนด์รถยนต์ยี่ห้ออื่น นั่นก็คือ การติดตั้งแบบตายตัวเอาไว้ที่คอพวงมาลัย แทนท่ีจะติดเอาไว้หลังก้านวงพวงมาลัยแบบค่ายอื่น!
Mitsubishi Outlander PHEV ยังคงมีปุ่มและสวิตช์รอบห้องโดยสาร โดยเฉพาะในตำแหน่งคนขับที่มีสวิตช์รองรับการใช้งานของระบบต่างๆ อยู่เพียบ เช่น บริเวณซุ้มเกียร์อัตโนมัติ หน้าตาของคันเกียร์และการทำงานในการโยกเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งเกียร์ N D R B2-B3 ออกแบบคล้ายจอยสติ๊ก รวมถึงสวิตช์ที่เชื่อมโยงโหมดขับเคลื่อนข้างคันเกียร์ เช่น
SAVE ปุ่มนี้ จะสั่งงานให้ระบบไฮบริดทำงานเฉพาะเครื่องยนต์เพื่อเป็นการประหยัดกระแสไฟในแบตเตอรี่
CHRG ปุ่มชาร์จไฟใส่แบตฯ เมื่อกดใช้งาน เครื่องยนต์จะแปลงสภาพการทำงานเป็นเจนเนอเรเตอร์ในตัว ทำหน้าที่ปั่นกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งไปเก็บในแบตเตอรี่ แปลกใจพอสมควร เมื่อใช้ความเร็วต่อเนื่องในโหมดชาร์จ กระแสไฟที่ชาร์จกลับถูกส่งไปเลี้ยงมอเตอร์ไฟฟ้ามากกว่าจะถูกนำมาเก็บในแบตฯ แต่เมื่อกลับมาใช้ความเร็วต่ำ ไม่เกิน 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือบางครั้งต้องจอดนิ่งๆ อยู่กับที่เพื่อรอการเคลื่อนตัว การชาร์จไฟใส่แบตฯรวดเร็วกว่าวิ่งชาร์จด้วยความเร็วสูง
EV ปุ่มด้านขวาของคันเกียร์ เมื่อชาร์จไฟจนเต็มแบตฯ คุณสามารถวิ่งด้วยมอเตอร์เพียวๆ โดยไม่ติดเครื่องยนต์แบบรถ Electric Car ได้ไกลประมาณ 35 กิโลเมตร และเร่งความเร็วได้ถึง 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าโดยไม่มีเครื่องยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใดทั้งสิ้น อย่าลืมว่า การใช้ความเร็วสูงในรถยนต์ Plug in Hybrid นั้น กินกระแสไฟในแบตเตอรี่แบบเอาเรื่อง ทางที่ดี หากอยากวิ่งด้วยมอเตอร์โดยไม่ติดเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษในเมือง เมื่อแบตเตอรี่มีไฟมากพอ ก็ขอให้ใช้ความเร็วต่ำในการขับเคลื่อน คุณจะไปได้ไกลเกือบเท่ากับระยะที่เคลมมาจากโรงงาน (50 กิโลเมตร) วิ่งจริงจังในความเร็ว 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในโหมด EV ลากเจ้า Outlander PHEV ได้ไกล 35 กิโลเมตร
Twin Motor 4WD โหมดนี้จะเป็นการขับเคลื่อน 4 ล้อ ทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า หน้า-หลัง จะร่วมกันทำงานเพื่อเทแรงบิดลงไปยังล้อทั้งสี่ มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งสองตัว ตัวแรก วางอยู่บนเพลาหน้า ส่วนอีกตัว วางคล่อมอยู่บนเพลาหลัง การทำงานใช้ซอฟต์แวร์ควบคุมแรงบิดแบบอิสระทั้งสี่ล้อ พร้อมชุดควบคุมเสถียรภาพของตัวรถ การยึดเกาะที่ดีมีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจและทำให้ Outlander เป็นรถที่ขับเคลื่อนได้อย่างง่ายดาย ระบบ Super All Wheel Control ทำงานร่วมกับโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อ ประกอบด้วยโหมด Lock ให้ประสิทธิภาพการขับเคลื่อนแบบ 4WD เต็มที่ ส่วนโหมด Snow เหมาะกับการขับในสภาวะที่ผิวถนนเปียกลื่น มีฝนตกและน้ำฝนปกคลุมผิวถนน ส่วน Normal Mode ซอฟต์แวร์สั่งงานในระบบขับเคลื่อนทุกล้อ จะทำหน้าที่ควบคุมแรงบิดของล้อแต่ละข้าง เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพการขับทั้งไหลไปเรื่อยๆ หรือหวดหนักแบบกดไม่เลี้ยง
Sport Mode เป็นโหมดที่คนขับต้องการความกระฉับกระเฉง หรือไปได้เร็วขึ้น คันเร่ง พวงมาลัย ระบบควมคุมการทรงตัว และการตอบสนองของเครื่องยนต์กับมอเตอร์อยู่ในเกณฑ์สูงสุด ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเร่งความเร็ว ด้วยการยึดเกาะที่ดี รักษาเสถียรภาพขณะเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง และปรับการตอบสนองของพวงมาลัยไปตามความเร็วในขณะนั้น
หัวใจในการขับเคลื่อนของ Outlander PHEV แบ่งออกเป็นสองส่วนหลักคือ เครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตำแหน่ง ที่ด้านหน้าและด้านหลัง แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดความจุ 13.8 กิโลวัตต์ วางอยู่ใต้พื้นห้องโดยสารเพื่อการเฉลี่ยน้ำหนัก ความจุของแบตฯ เคลมมาจากโรงงานว่า เมื่อชาร์จไฟจนเต็มจะวิ่งได้ไกล 55 กิโลเมตร เมื่อลองวิ่งจริงทำได้ประมาณ 35 กิโลเมตร มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งสองตัว สามารถทำความเร็วสูงสุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นรถปลั๊กอินไฮบริดที่เงียบ เร็วและนิ่มนวล ส่วนจะประหยัดหรือไม่ก็อยู่ที่เท้าคนขับเป็นสำคัญ กดมากก็กินไฟมาก ไฟเหลือน้อยเครื่องยนต์ติดก็กลับมากินน้ำมัน เหมือนรถยนต์สันดาปทั่วไป ข้อดีของมันก็คือ เมื่อมีไฟมากพอ การวิ่งด้วยโหมด EV จะไม่มีการปล่อย Co2 ออกมาแม้แต่กรัมเดียว แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ออกแบบให้สามารถชาร์จได้อย่างสะดวก แต่หัวเสียบชาร์จแบบเฉพาะทางทำให้เจ้าของต้องติดตั้ง Wall Box charger เมื่อชาร์จไฟบ้านด้วยการชาร์จแบบปกติต่ำสุด Outlander PHEV ที่ชาร์จผ่าน Wall box charger จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง เป็นการปล่อยกระแสไฟเข้าไปเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป แบตเตอรี่ที่อยู่ในสถานะชาร์จมีอุณหภูมิไม่สูงมากจนเกินไป ส่วนการชาร์จเร็วตามสถานีชาร์จ ได้ไฟ 80% ด้วยการชาร์จเร็วประมาณ 25 นาที
เปิดฝากระโปรงดู เจ้า Outlander PHEV มีฝาครอบพลาสติกสีเงินของ front mcu generation control unit แปะอยู่ด้านบน มันวางเครื่องยนต์เบนซินแถวเรียงแบบ 4 กระบอกสูบ DOHC MIVEC ECI-Multi 4B12 16 วาล์ว (4 วาล์วต่อสูบ) เครื่องยนต์มีปริมาตรความจุ 2,360 ซีซี ขนาดความกว้างกระบอกสูบ 88.0 มิลลิเมตร ช่วงชัก 97.0 มิลลิเมตร ระบบวาล์วแปรผัน MIVEC มีอัตราส่วนกำลังอัด 12.0:1 เครื่องยนต์มีกำลังสูงสุด 128 แรงม้า ที่ 4,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 199 นิวตันเมตร ที่ 4,500 รอบต่อนาที ชุดมอเตอร์ไฟฟ้า AC Synchronous Permanent Magnetic Motor 2 ตัว ด้านหน้า มอเตอร์มีกำลังสูงสุด 82 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 137 นิวตันเมตร ด้านหลัง มอเตอร์ขับเคลื่อนล้อหลัง มีกำลังสูงสุด 95 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 195 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน แรงดันไฟฟ้า 300 โวลต์ ความจุไฟฟ้า 13.8 กิโลวัตต์/ชั่วโมง ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ Super All Wheel Control (S-AWC) ระบบบังคับเลี้ยว ใช้พวงมาลัยไฟฟ้าแรคแอนพีเนียน ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท สปริง โช้คอัพและเหล็กกันโคลง ช่วงล่างด้านหลังแบบมัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง ระบบเบรก ดิสเบรกทั้งสี่ล้อพร้อมระบบสะสมพลังงานจากการเบรก regenerative braking เทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพ ในการเปลี่ยนแปลงพลังงานที่สูญเสียเชิงกลในขณะใช้เบรกให้กลายเป็นไฟฟ้า กลับไปเก็บในแบตเตอรี่ เทคโนโลยี Regenerative braking เป็นการใช้เบรกช่วยชาร์จไฟ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของการใช้งานในรถยนต์พลังงานผสม หรือรถยนต์ไฟฟ้า 100% ด้วยการเพิ่มการชาร์จไฟ โดยแปลงพลังงานจากการเบรกให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าแล้วนำไปเก็บในแบตฯ
ลองขับเจ้า PHEV ลำล่าสุดของค่าย Mitsubishi อย่าลืมว่านี่คือรถที่ส่งออกไปขายทั่วโลก การเซตอัพองคาพยพในด้านไดนามิกส์จึงมีความสำคัญสูงสุด ช่วงล่างของ Mitsubishi Outlander PHEV รุ่นแพงสุด GT Premium ราคา 1,749,000 บาท เน้นความนุ่มนวล หนึบบ้างในบางจังหวะที่ต้องการแต่ไม่ถึงกับแน่นเหมือนรถยุโรป ช่วงล่างและยาง รวมถึงการเก็บเสียงที่ดี (มาก) ทำให้สัมผัสของ Outlander PHEV ออกมาในแนว นุ่มและสบาย พวงมาลัยแม่นใช้ได้แต่ไม่ถึงกับคมกริบ จุดที่ทำออกมาได้ดีก็คือ ท่านั่งที่สูงโด่ง มองเห็นได้ไกลกว่าการขับรถเก๋ง อาจไม่สูงเท่า Pajero Sport แต่ก็มากพอที่คุณจะสังเกตการณ์รอบตัวได้อย่างครอบคลุมและเหนือกว่าเก๋งทั่วไป กระจกบานหน้าขนาดใหญ่ทำให้มองเห็นได้ดีขึ้น เสาหน้าถูกออกแบบให้เล็กเรียวบาง ช่วยเพิ่มมุมมองในการกะระยะเมื่อจะเลี้ยวมุมแคบได้ดี และถ้ามีแบตฯเต็ม รวมถึงบ้านและที่ทำงานอยู่ห่างกันไม่เกิน 20 กิโลเมตร คุณก็แทบจะไม่ได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเลยแม้แต่นิดเดียว การวิ่งที่เงียบเชียบของมอเตอร์ไฟฟ้า หน้า-หลัง เมื่อใช้คันเร่งแบบค่อยเป็นค่อยไป จะไปได้ไกลเฉียดๆ 35 กิโลเมตร และเมื่อใช้คันเร่งอย่างต่อเนื่อง จนความเร็วทะยานผ่าน 140 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง หรือเมื่อแบตฯมีไฟเหลือน้อย เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร วางตามขวาง ขับเคลื่อนล้อหน้า ก็จะเข้ามาช่วยรับหน้าที่ในการขับเคลื่อนแทนมอเตอร์ไฟฟ้า จนกว่าไฟจะถูกชาร์จ และมีกระแสไฟมากพอที่แบตฯจะปล่อยไฟไปเลี้ยงมอเตอร์ได้อีกครั้ง ระบบขับเคลื่อนใน Outlander จะทำงานแบบอัตโนมัติ ในการขับเคลื่อนซึ่งจะมีการผสมผสานกันระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา มันเนียนจนคุณไม่มีวันรู้เลยว่า อะไรที่กำลังขับเคลื่อนรถอยู่ในขณะนี้ หากไม่สังเกตมาตรวัดสเกลการใช้พลังงานด้านซ้าย ก็แทบจะไม่รู้เลยว่า นี่เครื่องยนต์ หรือมอเตอร์ หรือทั้งสองระบบ ที่กำลังดันน้ำหนัก 1.9 ตันให้ปลิวไปตามสายลม?
เมื่ออยากไปให้เร็วขึ้นหรือต้องการกำลังในการเร่งแซงรถช้า ลองกดคันเร่งแบบเต็มเหนี่ยวในโหมด Sport ทันทีที่ Twin Electric Motor ซึ่งวางอยู่บนเพลาขับทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ถูกเซนเซอร์สั่งงานให้ทำหน้าที่อย่างรวดเร็วในการหมุนด้วยรอบสูงเพื่อสร้างแรงบิดร่วมกับเครื่องยนต์ Outlander ก็จะสำแดงประสิทธิภาพทันที แรงดึงไม่อาจเทียบได้กับรถปลั๊กอินฯของค่ายยุโรปก็จริงอยู่ แต่ Outlander เป็นเอสยูวีที่มีฝีเท้าจัดใช้ได้ และมีการทรงตัวในย่านความเร็วสูงดีเอาเรื่อง เนื่องจากใช้ระบบขับเคลื่อนทุกล้อในการเทแรงบิด รวมถึงยังมีระบบเฉลี่ยแรงบิดที่ช่วยทำให้เกิดความสมดุลสูงสุด ระบบจะคำนวนและปรับโหมดการขับแบบอัตโนมัติ เมื่อเชื้อเพลิงและมอเตอร์ทำงานร่วมกัน มันจะมีกำลังมากถึง 305 แรงม้า โดยมีแรงบิดลงพื้นประมาณ 300 นิวตันเมตร
เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร MIVEC กินเชื้อเพลิง E20 หรือ 91 ได้อย่างสบายๆ ทำให้ช่วยประหยัดค่าน้ำมันได้พอสมควร หากรู้จักใช้คันเร่งให้มีความเหมาะสม Mitsubishi เคลมว่า อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยของ Outlander PHEV ทำได้ถึง 52.6 กิโลเมตรต่อลิตร (เมื่อมีกระแสไฟในแบตฯมากพอ) หรือ 1.9 ลิตร ต่อระยะทาง 100 กิโลเมตร เมื่อลองขับทดสอบ โดยจับอัตราสิ้นเปลืองด้วยการวิ่งแบบปกติผ่านการขับเคลื่อนของเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าแบบผสมผสาน ในย่านความเร็ว 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง Outlander ทำอัตราสิ้นเปลืองได้ 12.3 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนการวิ่งไป ชาร์จไป ที่ย่านความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันจะกินเชื้อเพลิงมากขึ้นประมาณ 9.8 กิโลเมตรต่อลิตร โดยใช้ระยะทางเฉียดๆ 25-30 กิโลเมตร กว่าที่แบตฯจะเต็ม ถือว่าประหยัดแค่พอใช้ได้ หากใช้โหมดชาร์จขณะขับใช้งานก็จะกินเชื้อเพลิงมากกว่าโหมดผสมผสานแบบ Normal
เทคนิคการปรับเปลี่ยนโหมดขับเคลื่อนอัตโนมัติ โหมดการขับ 3 รูปแบบ คือ EV ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% โหมด Series Hybrid ขับเคลื่อนหลักด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยมีเครื่องยนต์รับหน้าที่เป็นเจนเนอเรเตอร์คอยชาร์จไฟใส่แบตฯ รวมถึงโหมด parallel Hybrid เครื่องยนต์และมอเตอร์รับหน้าที่ร่วมกัน โหมดการขับทั้งสามรูปแบบจะถูก ECU เลือกใช้งานในสภาวะของการขับที่มีความเหมาะสมกับโหมดนั้นๆ จุดเด่นของมัน นอกจากความสบายในยามขับใช้งาน โดยเฉพาะการขับทางไกล Outlander ยังมีกำลังมากพอในการทำความเร็วหากคุณไม่สนใจเรื่องอัตราสิ้นเปลืองก็นับว่าเป็นรถเอสยูวีที่วิ่งในย่านความเร็วสูงได้อย่างมั่นคง แม้สัมผัสของระบบเบรกแบบสะสมพลังงาน จะมีความแตกต่างจากน้ำหนักและการตอบสนองของแป้นเบรกทั่วไป แต่ใช้เวลาปรับตัวให้คุ้นชินกับระยะเบรกและการตอบสนองของเบรกไม่นานนัก น้ำหนักรถเฉียด 2 ตัน เมื่อใช้ความเร็วสูงก็ควรที่จะเผื่อระยะเบรกเพื่อความปลอดภัยเอาไว้ด้วย
การเข้าโค้งออกมาในลักษณะที่อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง อาการโคลงตัวไม่มาก นิ่งใช้ได้เมื่อขับเร็วและมีการถ่ายเทน้ำหนักดีพอใช้เมื่อลองกดเบรกหนักๆ มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Twin AC synchronous permanent magnet motor S61 จำนวนสองตัว (หน้าและหลัง) มอเตอร์ด้านหน้าให้กำลังสูงสุด 60 กิโลวัตต์ แรงบิดสูงสุด 137 นิวตัน-เมตร ส่วนมอเตอร์หลังแบบ Y61 กำลัง 60 กิโลวัตต์ หรือ 95 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 195 นิวตัน-เมตร เทแรงบิดผ่านระบบส่งกำลัง single speed drive mode switchable reduction gearbox / single speed fixed reduction gearbox โดยมีการปรับเปลี่ยนแปรผันอัตราทดผ่านแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานบนเส้นทางที่คดเคี้ยวหรือเส้นทางภูเขา เกียร์ single speed ให้ความรู้สึกคล้ายกับเกียร์ CVT มีความไหลลื่นใช้ได้ ในบางจังหวะที่ผมต้องการดีดเพื่อไต่ระดับความเร็วจากการออกตัว เกียร์ซิงเกิ้ลสปีดให้สัมผัสที่แน่นและกระชับส่งผลต่อการเร่งความเร็วที่มีความฉับไว เกิดจากการเซตอัพเกียร์ single speed เพื่อความนวลและการตอบสนองด้านกลไกไฟฟ้าในการเร่งความเร็วมากเป็นพิเศษ กลายเป็นสมรรถนะที่ดีของระบบส่งกำลังแบบไฟฟ้าที่ต้องต่อเชื่อมกับมอเตอร์ขับเคลื่อน
เทคนิคใหม่ๆ ที่ใส่เข้ามาให้ใช้งานใน Outlander ก็คือ Mitsubishi remote control เชื่อมต่อและสั่งการด้วยระบบปฏิบัติการณ์ IOS และแอนดรอยด์ เพื่อทำให้รถมีความพร้อมก่อนการใช้งาน สามารถสั่งเปิด-ปิดระบบปรับอากาศภายในรถจากระยะไกล การตรวจสอบสถานะของรถ การล็อกและปลดล็อก การเปิด-ปิดไฟในห้องโดยสาร การเปิด-ปิดฝาท้ายไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ การหาตำแหน่งรถในเวลากลางคืนด้วยการสั่งเปิดไฟหน้าหรือไฟหรี่
เทคโนโลยีระบบความปลอดภัยแบบจัดเต็ม มีบางอย่างทำงานแบบฉุกเฉินและเร็วจนคุณตกใจ นั่นก็คือ ระบบเบรกฉุกเฉินแบบอัตโนมัติที่สามารถปิดการทำงานได้ นอกจากนั้นก็เป็นระบบความปลอดภัยหลักที่ควรมี เช่น สัญญาณแจ้งเตือนขณะขับถอยหลัง RCTA ระบบเตือนการชนด้านหน้าตรง พร้อมระบบช่วยชะลอความเร็ว FCM ระบบเตือนจุดอับสายตา BSW ระบบแจ้งเตือนขณะเปลี่ยนช่องทางจราจร LCA ระบบควบคุมไฟสูงอัตโนมัติ AHB ระบบล็อกความเร็วแบบแปรผันอัตโนมัติ ACC พร้อมฟังก์ชัน Stop & Go ทำหน้าที่รักษาระดับความเร็ว ตรวจจับท้ายรถคันหน้า พร้อมควบคุมความเร็วและรักษาระยะห่างที่มีความปลอดภัย จนกว่ารถคันหน้าจะหยุดแล้วออกตัว ระบบจะหยุดรถโดยเว้นระยะห่างไว้ และทำการออกตัวตามแบบอัตโนมัติ
โดยภาพรวม Outlander PHEV เน้นใช้งานในเมืองที่มีการเน้นเรื่องมลภาวะได้ทั้งโหมดไฟฟ้า (EV) และยังสามารถเป็นรถยนต์แบบไฮบริด (HEV) สำหรับการเดินทางระยะไกล ไม่ต้องกังวลเรื่องการหาสถานีชาร์จไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ ทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ซูเปอร์-ออลวิลล์คอนโทรล (S-AWC) ช่วยเพิ่มเสถียรภาพของการยึดเกาะและการทรงตัวให้ดีขึ้น Outlander PHEV จ่ายกระแสไฟฟ้าจากตัวรถมาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่มีขนาดไม่เกิน 1,500 วัตต์ ด้วยการเสียบปลั๊กเข้ากับช่องจ่ายกระแสไฟฟ้าภายในตัวรถ 2 ตำแหน่ง เพื่อใช้ไฟฟ้าในการออกเดินทางเพื่อพักผ่อนแบบแคมปิ้ง หรือไลฟ์สไตล์กลางแจ้งรูปแบบใหม่ เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เอง และยังจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ที่พักอาศัยด้วยเทคโนโลยีระบบพลังงานแบบ Vehicle-to-Home (V2H) ได้นานถึง 10 วัน สำหรับครัวเรือนทั่วไป โดยแบตเตอรี่ต้องถูกชาร์จไฟเต็มและมีน้ำมันเต็มถัง
Mitsubishi Outlander PHEV ครองอันดับหนึ่งรถยนต์ประเภทปลั๊กอินไฮบริดที่ขายดีที่สุด เมื่อสิ้นสุดเดือนธันวาคมปี 2561 พร้อมกันนี้ ยังครองอันดับหนึ่งรถยนต์ประเภทปลั๊กอินไฮบริดที่ขายดีที่สุดในยุโรป ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี (ปี 2558–2561) สำหรับเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนใน Mitsubishi Outlander PHEV พัฒนาขึ้นเพื่อการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ผสมผสานกับการทำงานของเครื่องยนต์เบนซิน มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวที่ติดตั้งบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของตัวรถ จึงไม่ต้องใช้ระบบส่งกำลัง ซึ่งส่งผลให้การใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียแรงบิดหรือทอร์คได้ดีกว่าเกียร์ CVT เป็นรถครอบครัว 4 ที่นั่ง (แม้จะมี 5 ที่นั่ง) ที่เหมาะกับการเดินทางระยะไกล ไม่ต้องกังวนว่าไฟในแบตฯจะหมดลงเมื่อไหร่เนื่องจากมีเครื่องยนต์ที่สามารถทำระยะทางร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าได้ไกลถึง 520 กิโลเมตร น้ำมันใกล้หมดก็หาปั๊มเติมได้อย่างสะดวก ขับแบบวิ่งไปชาร์จไป ในย่านความเร็วต่ำ ก็จะได้พลังงานไฟฟ้ากลับคืนมา หรือจอดนิ่งๆ อยู่กับที่แล้วติดเครื่องยนต์ โดยให้ขุมกำลังของมัน ทำหน้าที่เป็นเครื่องปั่นกระแสไฟ และใช้ไฟฟ้าในการแคมปิ้งกับครอบครัวไม่ว่าจะปิ้งย่าง ย่างเนย บาร์บีคิว หรือใช้ไฟในการส่องสว่างเต้นท์พักแรมเพื่อความปลอดภัยในตอนกลางคืน นับเป็นรถยนต์ Plug in Hybrid แบรนด์แรกของญี่ปุ่นที่หาญกล้าเข้ามาประกอบและขายในประเทศ เมื่อเทียบกับรถ Plug in Hybrid ของฝั่งยุโรป แม้ Outlander PHEV จะมีสมรรถนะที่ด้อยกว่าในเรื่องของความหรูหราและการทำความเร็ว แต่เรื่องที่ Outlander สามารถต่อสู้ได้ก็คือ ราคาค่าตัวที่ถูกกว่านั่นเอง!
Mitsubishi Outlander PHEV มีสีให้เลือก 3 สี ได้แก่
สีขาว White Diamond (เพิ่มเงิน 15,000) (คันทดสอบ)
สีเงิน Sterling Silver
สีดำ Jet Black Mica
Mitsubishi Outlander PHEV รุ่นเริ่มต้น GT ราคา 1,640,000 บาท
Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium ราคา 1,749,000 บาท (คันทดสอบ)
ทั้ง 2 รุ่น มาพร้อมแพ็กเกจ วอรี่ ฟรี (worry-free) รับประกันแบตเตอรี่ 10 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร Mitsubishi Service Package 5 ปี, ช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชม. นาน 5 ปี ประกันภัยชั้นหนึ่ง 1 ปี, รับประกันคุณภาพพร้อมค่าแรงเช็กระยะ 5 ปี.
Technical Specification All Outlander PHEV passenger models
PERFORMANCE
Engine type 2.4L 16-valve inline 4 cylinder DOHC MIVEC ECI-Multi
Fuel type Unleaded
Displacement 2,360 cc
Max. output kW (PS) at rpm 135 PS @ 4,500
Max. torque Nm (lb.ft) at rpm 211 Nm @ 4,500
Acceleration 0-62 mph secs 10.5
Maximum speed mph (km/h) 106 (170)
Main traction battery type Lithium-ion
Main traction battery volts 300
Main traction battery energy kWh 13.8
13amp supply charging time (approx) 13amp supply 5 hours
16amp supply charging time (approx) 16amp supply 3.5 hours
Rapid charging time (to 80% – approx) rapid charge to 80% 25 minutes
Equivalent All Electric Range (EAER) miles 28
EMISSIONS/ECONOMY
WLTP – CO2 – Weighted Combined g/km 46
WLTP – MPG – Weighted Combined lts/100km (mpg) 2.0 (139.7)
WEIGHTS/VOLUMES
Seating capacity 5
Fuel tank capacity lts 43
Gross vehicle weight kgs 2,390
Kerb weight kgs 1,890
Max payload capacity Gross kgs 500
Braked towing capacity kgs 1,500
Unbraked towing capacity kgs 750
Roof loading capacity kgs 80
Wading depth mm 400
DIMENSIONS
Exterior
length 4695 mm width 1800 mm height 1710 mm
Ground clearance (unladen) 190 mm
Track Front / Rear 1540 mm / 1540 mm
Approach angle degrees 21
Departure angle degrees 22.5
Ramp breakover degrees 19
TRANSMISSION
Transmission Automatic
Automatic type Single Gear
SUSPENSION/STEERING
Drivetrain, type 4WD
Min. turning circle m (ft) 10.6 (35)
Wheels 18” x 6.5J alloy
Tyres 225/55R18 Dunlop SP Sport 5000
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358
As part of their spo…
This website uses cookies.