- ภาพและเรื่องโดย เริงปอย แดนจำปา*
- หญิงไทยในเวียงจันทน์
รถไฟฟ้าความเร็วสูงลาว – จีน ได้ฤกษ์เปิดบริการเมื่อ 3 ธ.ค. 2564 ไม่ถึงเดือน มีผู้มาใช้บริการในฝั่งจีนแล้วกว่า 300,00 คน ตามข้อมูลของสื่อทางการจีน ส่วนสื่อของรัฐบาลลาวรายงานว่าฝั่งลาวมีผู้ใช้บริการไปกว่า 5,000 คน ในช่วง 5 วันแรก
การเปิดให้บริการของรถไฟความเร็วปานกลางมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาทนี้ เกิดขึ้นในขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวยังไม่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจากภายนอกเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทว่าก็สร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับชาวลาวและชาวไทยในลาวอย่างฉัน สื่อท้องถิ่นและภาพจากโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ทำให้ประชาชนและตัวฉันอยากทดลองนั่งรถไฟสายประวัติศาสตร์นี้สักครั้งก่อนคริสต์มาส
เส้นทางรถไฟลาว-จีนมีทั้งหมด 32 สถานีทั้งสถานีรับส่งผู้โดยสารและสถานีขนส่งสินค้า ปัจจุบันเปิดบริการรับส่งผู้โดยสารในฝั่งลาวแล้ว 6 สถานี ได้แก่ บ่อเต็น เมืองไซ หลวงพระบาง วังเวียง โพนโฮง และนครหลวงเวียงจันทน์ ระยะเวลาเดินทางยาวสุดคือ 4 ชั่วโมง 20 นาทีจากเวียงจันทน์ถึงบ่อเต็น หากเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถโดยสารแล้วต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 13 ชั่วโมงบนระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร
ความตั้งใจแรกของฉันคือจะนั่งรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปจนถึงสถานีปลายทางที่บ่อเต็น เมืองชายแดนติดกับจีน แต่การระบาดของโควิดทำให้การเดินทางเข้าพื้นที่มีความยุ่งยากและหากมีการปรับมาตรการให้เข้มงวดขึ้นก็เสี่ยงที่จะติดอยู่ที่บ่อเต็นจนกว่าทางรัฐบาลจะผ่อนคลายนโยบายซึ่งก็ใช้เวลาขั้นต่ำประมาณ 15 วันจึงจะสามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ ด้วยเหตุนี้หลวงพระบางน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพราะปกติการไปหลวงพระบาง หากเดินทางโดยเครื่องบิน ใช้เวลา 40 นาที หากเป็นรถโดยสารก็ 7-8 ชั่วโมง ส่วนวังเวียงก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ รองจากหลวงพระบางซึ่งสามารถเดินทางโดยรถไฟได้ในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมง แต่ปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดใช้ทางด่วนนครหลวงเวียงจันทน์ – วังเวียงทำให้การเดินทางสะดวกสบายและรวดเร็วขึ้นและใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 1 ชั่วโมง
เที่ยวไป
การเดินทางเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อนวันออกเดินทางจริง 1 วัน เพราะระบบการซื้อตั๋วออนไลน์ยังไม่เปิดให้บริการ ผู้โดยสารจึงต้องไปซื้อตั๋วรถไฟล่วงหน้าก่อนหนึ่งวัน เราออกเดินทางจากประตูชัย กลางเมืองหลวง เพื่อไปยังสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านดอนหนูน เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ใช้เส้นทางถนนหมายเลข 13 และเลี้ยวขวาไปทางถนน 450 ปีประมาณ 5 กิโลเมตรและเลี้ยวซ้ายตามป้ายภาษาลาวและภาษาจีนไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร จากนั้นจะมีป้ายภาษาลาวและภาษาจีนให้เลี้ยวซ้ายไปยังสถานี ปัจจุบันยังไม่มีรถโดยสารสาธารณะให้บริการไปยังสถานีจึงต้องเดินทางด้วยพาหานะส่วนบุคคล รถตุ๊กตุ๊ก (รถมอเตอร์ไซค์พ่วงมีหลังคา) หรือรถแท็กซี่เท่านั้น ค่าบริการประมาณ 100,000 กีบ (ราว 286 บาท) อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้แล้วแต่ผู้ให้บริการและความสามารถในการต่อราคา
การซื้อตั๋วรถไฟจะต้องใช้บัตรประจำตัวที่มีรูปพร้อมทั้งเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ครบ 2 เข็ม สามารถใช้สำเนาและให้บุคคลอื่นไปซื้อแทนได้ แต่ในวันเดินทางจริงจะต้องใช้เอกสารฉบับจริงเท่านั้น
ห้องขายตั๋วรถไฟเปิดให้บริการ 3 ช่วงคือ 7.00 – 10.00 น. 14.00 – 16.30 น. และ 20.00 – 20.40 น. ประตูจะเปิดให้เข้าไปในสถานีตามเวลาที่ระบุเท่านั้น และบริเวณโดยรอบไม่มีร่มเงาต้นไม้ให้อาศัยหลบร้อนมากนัก ดังนั้นการซื้อตั๋วในช่วงเช้าน่าจะเหมาะสมที่สุด ถ้าไม่อยากอาบแดดช่วงรอคิวซื้อตั๋วในช่วงบ่าย
ตู้โดยสารรถไฟแบ่งเป็น 3 ชั้น ราคาแตกต่างกัน ดังนี้ สำหรับจุดหมาย เวียงจันทน์-หลวงพระบาง ระยะเวลา 2 ชั่วโมง ราคาชั้น 1 อยู่ที่ 313,000 กีบ (ประมาณ 894 บาท) ชั้น 2 อยู่ที่ 198,000 กีบ (ประมาณ 566 บาท) และชั้น 3 อยู่ที่ 140,000 กีบ (ประมาณ 400 บาท) ต่อเที่ยว แต่เนื่องจากปัจจุบันรถไฟเพิ่งเปิดดำเนินการ การโดยสารในชั้น 3 จึงยังไม่เปิดให้บริการ
ถ้าเทียบราคาและระยะเวลากับการเดินทางด้วยเครื่องบินและรถโดยสารสาธารณะ มีความต่าง คือ ค่าโดยสารเครื่องบินเริ่มต้นที่ราว 400,000 กีบต่อเที่ยวบิน (1,143 บาท) ใช้เวลาราว 40 นาที ส่วนรถโดยสารสาธารณะใช้เวลา 7 – 8 ชั่วโมงกับระยะทาง 354 กิโลเมตรและค่าเดินทางประมาณ 180,000 – 200,000 กีบต่อเที่ยว
เมื่อไปถึงยังบริเวณสถานี มีลานจอดรถและลานเอนกประสงค์ที่กว้างขวางจนทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ต่างประเทศ เรียกได้ว่าเหมือนสถานีรถไฟในเมืองใหญ่ของจีนเพราะเคยไปซื้อตั๋วรถไฟที่สถานีรถไฟปักกิ่งเมื่อครั้งที่มีโอกาสเดินทางจากปักกิ่งผ่านเข้ามองโกเลียไปยังจุดหมายปลายทางที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย สภาพภายนอกอาคารดูสะอาดสะอ้าน เมื่อไปถึงประตูทางเข้าห้องขายตั๋วโดยสารก็มีคนมาต่อแถวรอแล้วประมาณ 30 คนโดยทางสถานีมีเต็นท์บังแดดให้ แต่ยาวไม่พอจำนวนผู้โดยสารที่มายืนรอซื้อตั๋ว ทำให้บางส่วนต้องยืนกลางแดด ก่อนเข้าไปในอาคาร เจ้าหน้าที่ในชุด PPE ได้ตรวจบัตรประจำตัวที่มีรูปและเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 ครบ 2 เข็มและทุกคนจะต้องสวมหน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิและล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ก่อนที่จะอนุญาตให้เข้าไปในอาคารได้
เมื่อเข้าไปในอาคารแล้วก็ไปยืนต่อแถวเพื่อซื้อตั๋ว ช่องจำหน่ายตั๋วเปิดให้บริการแค่บางช่องแต่คาดว่าในอนาคตเมื่อมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศแล้วน่าจะเปิดให้บริการครบทุกช่อง รวมระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่ยืนรอหน้าประตูจนถึงซื้อตั๋วเดินทางใช้เวลาประมาณ 25 นาที
จากการสอบถามผู้ที่รอซื้อตั๋วส่วนใหญ่อยากทดลองนั่งรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวและไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่เมืองอื่น ๆ ส่วนชายหนุ่มชาวฝรั่งเศส นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสเดินทางมาฝึกงานในบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์เป็นเวลา 3 เดือน เขาอยากสัมผัสประสบการณ์การนั่งรถไฟไปหลวงพระบางสักครั้งก่อนเดินทางกลับฝรั่งเศสในช่วงคริสต์มาส
“โดยภาพรวมผมคิดว่าการจัดการต่าง ๆ ถือว่าดีทีเดียวถ้าเทียบว่ารถไฟเพิ่งเปิดให้บริการมาไม่ถึงเดือน” เขากล่าว
“ผมเคยมาติดต่อขอซื้อตั๋วตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว แต่ถูกปฏิเสธเพราะเงื่อนไขก็คือต้องซื้อตั๋วล่วงหน้า 1 วันหรือซื้อในวันเดินทางเท่านั้น ตอนนั้นผมยังไม่ทราบเงื่อนไขเลยทำให้เสียเวลา หวังว่าในอนาคตผู้โดยสารจะสามารถซื้อตั๋วล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกได้มาก”
ปัจจุบันบริษัทนำเที่ยวได้โฆษณาขายบริการแพ็คเกจตั๋วรถไฟพร้อมที่พักแล้ว และมีคนหัวใสรับบริการซื้อตั๋วรถไฟให้โดยคิดค่าบริการ 20,000 กีบต่อใบ ซึ่งก็ช่วยประหยัดเวลาและค่าเดินทางได้ดีทีเดียว
ความผิดหวังบังเกิดขึ้น เมื่อฉันมาไม่ทันซื้อตั๋วชั้น 1 ที่มีอยู่อย่างจำกัด และจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว จึงต้องเดินทางขาไปด้วยรถไฟชั้น 2 สำหรับเวลาในการเดินทางคือ 15.44 น.
ออกเดินทาง
การเดินทางไปหลวงพระบางก็เริ่มต้นขึ้นในตอนบ่ายของวันศุกร์ เมื่อไปถึงสถานี คิวไม่ยาวมาก ในการเข้าไปในอาคารผู้โดยสารจะต้องแสดงตั๋วรถไฟ บัตรประจำตัวที่มีรูปฉบับจริง และบัตรฉีดวัคซีนป้องกันโควิดพร้อมทั้งต้องสวมหน้ากากอนามัยวัดอุณหภูมิและล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ใส่ชุด PPE คอยแจ้งผู้โดยสารเป็นระยะ จากนั้นต้องนำสัมภาระผ่านเครื่องสแกนและมีเจ้าหน้าที่ตรวจอาวุธและสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ เมื่อผ่านระบบตรวจความปลอดภัยแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ไปยืนเข้าแถวรอเพื่อไปยังชานชาลาตามที่ระบุในตั๋วโดยสาร
และแล้วรถไฟฟ้าสีขาวแดงน้ำเงิน สีของธงชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็เคลื่อนที่เข้ามายังสถานี ประชาชนที่รออยู่ในอาคารผู้โดยสารต่างตื่นเต้นในการมาถึงของรถไฟขบวนนี้ เมื่อใกล้ถึงเวลารถออก เจ้าหน้าที่ได้บอกให้ผู้โดยสารเดินไปขึ้นรถไฟตามขบวนต่าง ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยกำชับเรื่องความปลอดภัย แน่นอนที่ทุกคนต่างฮือฮาเมื่อได้เห็นรถไฟฟ้าและได้ถ่ายรูปและคลิปวีดีโอกันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้เข้าไปใกล้หัวรถไฟและจะเตือนผู้ปกครองให้ระมัดระวังบุตรหลาน
เมื่อเข้าไปในตู้รถไฟแล้วทุกอย่างดูใหม่สะอาดสะอ้าน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของขบวนรถไฟคอยบอกให้ผู้โดยสารไปยังที่นั่งของตนและเก็บสัมภาระไว้บนชั้นวางของเหนือศีรษะ สำหรับสัมภาระขนาดใหญ่สามารถนำไปเก็บไว้บริเวณที่กำหนด โดยผู้โดยสารแต่ละคนสามารถนำสัมภาระน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัมขึ้นรถไฟได้ ที่นั่งเป็นเบาะผ้ากำมะหยี่ปรับได้และนั่งสบาย พร้อมถาดวางอาหาร มีพื้นที่วางเท้าที่กว้างขวางและมีปลั๊กสำหรับชาร์จโทรศัพท์ได้ แต่ไม่มีไวไฟ ภายในตู้โดยสารทุกคนสามารถนำอาหารและเครื่องดื่มมารับประทานได้ ในขณะนี้ยังไม่มีบริการอาหารและเครื่องดื่มบนรถไฟ ทั้งนี้มีตู้กดน้ำร้อนและน้ำเย็นไว้บริการ ผู้โดยสามารถน้ำแก้วน้ำหรือขวดน้ำมากดน้ำได้ฟรี ห้องน้ำมีทั้งแบบคอห่าน และชักโครก และมีอ่างล้างมือด้านนอก
เมื่อถึงเวลา 15.44 น. ตามเวลาที่ระบุไว้ รถไฟก็เคลื่อนตัวออกจากสถานีไปยังจุดหมายปลายทางสถานีหลวงพระบาง โดยรถไฟวิ่งผ่านสองสถานีคือสถานีโพนโฮง และสถานีวังเวียง โดยใช้เวลาในการเดินทาง 2 ชั่วโมง ความเร็วในการเดินรถคือ 155 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับสถานีวังเวียงและสถานีโพนโฮงนั้นได้เปิดให้บริการแล้วแต่รถไฟขบวนนี้จะไม่จอดที่สถานีดังกล่าว ดังนั้นในการซื้อตั๋วรถไฟจะต้องเลือกตั๋วที่ระบุว่าจะไปสถานีไหนเท่านั้น
ระหว่างรถวิ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงที่คอยตรวจตราความเรียบร้อยกล่าวด้วยความเป็นมิตรและชี้ไปยังจุดกดน้ำ ห้องน้ำทั้งสองแบบและอนุญาตให้เดินไปถ่ายรูปในตู้โดยสารที่อยู่ติดกันได้ ตราบใดที่ไม่ไปรบกวนผู้โดยสารท่านอื่น เธอกล่าวว่าเพิ่งมาเริ่มงานบนรถไฟ โดยเจ้าหน้าที่เกือบทั้งหมดเป็นคนลาวที่สื่อสารภาษาจีนได้ ส่วนตัวเธอไม่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ เมื่อสอบถามว่าจะเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ เธอกล่าวว่าหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจพูดภาษาจีนได้และตัวเธอเองก็กำลังเรียนภาษาจีนอยู่
รถไฟวิ่งผ่านชุมชน พื้นที่ทำการเกษตรเลี้ยงสัตว์ และป่าเขา วิวธรรมชาติและชนบทของประเทศลาวสองข้างทางช่างสวยงามและแตกต่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งแค่เพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมงจากสถานีนครหลวงก็กลายเป็นชนบทที่ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรมทั้งปลูกข้าว มันสำปะหลัง สับปะรด ยางพารา แต่ไม่ค่อยมีข้าวโพดมากนัก เลี้ยงวัว ควาย แพะ และก็มีฟาร์มเลี้ยงเป็ด ไก่ และบ่อปลา
ในมุมมองของผู้โดยสาร การเดินทางผ่านชนบทช่างเป็นภาพที่สวยงาม แต่ก็ค่อนข้างขัดแย้งกับความทันสมัยของรถไฟที่แล่นผ่านพื้นที่ดังกล่าว หากทางรถไฟแล่นผ่านพื้นที่ทางการเกษตรแล้วต้องแบ่งเป็น 2 ฝั่งชาวบ้านอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควรจากที่เคยเดินไปมาหาสู่กันหรือไปทุ่งนาไร่สวนได้อย่างง่ายดาย แต่เมื่อมีรถไฟแล่นผ่านแล้วการเดินทางไปอีกฝั่งก็กลายเป็นความยุ่งยากและใช้เวลา ยังไม่นับเรื่องการเวนคืนที่ดิน การย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ การจ่ายค่าชดเชย และอื่น ๆ
หลังจากรถไฟแล่นผ่านสถานีวังเวียงแล้ว ในช่วงนี้ภูมิประเทศเริ่มเป็นป่าและภูเขาสูงทำให้ผ่านอุโมงค์หลายแห่ง ทำให้ย้อนนึกถึงเมื่อนั่งรถไฟจากสถานีหัวลำโพงเพื่อขึ้นเหนือจะต้องผ่านอุโมงค์ขุนตาล ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ตอนนั้นก็พยายามเตือนตัวเองให้ตื่นก่อนที่รถไฟจะเคลื่อนผ่านอุโมงค์จะได้สัมผัสประสบการณ์อุโมงค์ที่ยาวนับ 1 กิโลเมตร
ช่วงแรก ๆ ที่รถไฟเคลื่อนผ่านอุโมงค์แถวเมืองกาสี ผู้โดยสารต่างรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ลอดอุโมงค์ แต่เนื่องจากภูมิประเทศที่มีภูเขาจำนวนมากจากเวียงจันทน์ถึงหลวงพระบางต้องผ่านอุโมงค์ทั้งสั้นและยาวมากกว่า 30 อุโมงค์ นับคร่าว ๆ ได้ประมาณ 33 อุโมงค์ ความตื่นเต้นเริ่มหมดไปเพราะหูอื้อเมื่อรถไฟแล่นผ่านอุโมงค์ที่มีระยะยาว
เมื่อใกล้ถึง 2 ชั่วโมงเจ้าหน้าที่ก็ประกาศว่ารถไฟได้เดินทางเข้าสู่สถานีหลวงพระบางแล้วให้ผู้โดยสารปรับที่นั่งให้ตรงที่เดิมและปรับม่านหน้าต่าง เหมือนประกาศบนเครื่องบินก่อนที่เครื่องจะลงจอด เมื่อมาถึงสถานีหลวงพระบางเจ้าหน้าที่ประกาศให้แสดงตั๋วโดยสารให้กับเจ้าหน้าที่ที่สถานีอีกครั้งเมื่อออกจากรถไฟ
เที่ยวกลับ
แผนการเดินทางในครั้งนี้คือ 2 วัน 1 คืนทำให้ต้องไปซื้อตั๋วขากลับในวันรุ่งขึ้นทันที เมื่อไปถึงห้องขายตั๋วที่อยู่มุมขวาสุดเมื่อหันหน้าเข้าสถานี ขั้นตอนต่าง ๆ ก็เหมือนกับสถานีนครหลวงเวียงจันทน์เพียงแต่เจ้าหน้าที่จะไม่หยิบหรือจับเอกสารต่าง ๆ ที่นำมาแสดง แต่เจ้าหน้าที่จะบอกให้กางออกให้ดู
ตามแผนการเดินทางคือนั่งรถไฟชั้น 1 กลับ แต่ปรากฏว่าตั๋วชั้น 1จากหลวงพระบางในวันเสาร์รอบ 13.24 น. ก็ถูกจำหน่ายไปหมดแล้วเลยจำเป็นต้องซื้อตั๋วชั้น 2 กลับ พลาดโอกาสประสบการณ์การนั่งรถไฟชั้น 1 ค่อนข้างผิดหวังและแปลกใจที่ตั๋วรถไฟชั้น 1 เป็นที่นิยมอย่างสูงแต่ก็คิดว่าช่วงนี้คนกำลังเห่อ ไว้ค่อยนั่งโอกาสหน้าก็ได้ จากนั้นก็เดินออกมายังลานจอดรถซึ่งจะมีรถตู้ให้บริการเข้าเมือง ทั้งนี้แล้วแต่จังหวะ เพราะถ้ามาช้ารถเต็มต้องรอรถคันใหม่ หรือถ้าไม่มีรอบรถแล้วก็ต้องเหมารถเข้าเมือง โดยราคาค่าโดยสารรถตู้แบบนั่งรวมคนละ 35,000 กีบ ถ้าเหมาจะอยู่ที่คันละ 100,000 – 150,000 กีบนั่งได้ไม่เกิน 3 คน มากกว่านั้นราคาจะเพิ่มขึ้น
ในวันเดินทางกลับ ตามเวลาที่กำหนดผู้โดยสารจะต้องเดินทางมาถึงสถานี 1 ชั่วโมงก่อนรถไฟออกเพื่อผ่านกระบวนการตรวจเอกสารและการรักษาความปลอดภัย โชคร้ายที่เพื่อนร่วมเดินทางทำตั๋วโดยสารขากลับหายเลยต้องรีบไปซื้อตั๋วใหม่และกังวลว่าตั๋วอาจจะเต็ม แต่โชคดีที่เพื่อนได้ตั๋วโดยสาร และโชคดียิ่งกว่าที่ได้ตั๋วโดยสารชั้น 1 ในตอนนั้นคิดว่าคงมีคนยกเลิกตั๋วเลยว่าง แต่ปรากฏว่าเมื่อขึ้นไปบนรถไฟ มีที่นั่งชั้น 1ว่างเป็นจำนวนมาก เลยทำให้ชวนสงสัยว่าสรุปแล้วทางบริษัทต้องการกันตั๋วไว้ขายเฉพาะวันเดินทางเท่านั้น หรือมีการกันตั๋วไว้สำหรับบริษัททัวร์ หรือระบบจำหน่ายตั๋วมีปัญหา คำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบ แต่ก็ดีใจที่เพื่อนได้เดินทางกลับพร้อมกันและได้สัมผัสประสบการณ์รถไฟชั้น 1
เมื่อผ่านกระบวนการคัดกรองต่าง ๆ ในการเข้าสู่ตัวอาคารผู้โดยสารแล้ว ที่หลวงพระบางจะต่างจากนครหลวงเวียงจันทน์คือหลังจากยืนรอแถวเพื่อรอไปยังชานชาลาแล้ว ผู้โดยสารจะต้องไปยืนรอเพื่อขึ้นรถไฟตามที่กำหนด โดยชั้น 2 จะเริ่มที่ตู้หมายเลข 1 ในขณะที่รถไฟชั้น 1 จะอยู่ที่ตู้สุดท้ายหมายเลข 8 คิดกันเล่น ๆ ว่าหรือเพราะเลข 8 เป็นเลขมงคลสำหรับชาวจีนที่หมายถึงความรุ่งโรจน์หรือความร่ำรวย ตู้ชั้น 1 จึงเป็นตู้ที่ 8
เจ้าหน้าที่ตรงชานชาลาแจ้งให้ผู้โดยสารให้ขึ้นรถไฟให้เร็วที่สุดเพราะรถไฟจอดเพียง 5 นาทีเท่านั้น โดยได้ให้ผู้สูงอายุขึ้นก่อน ทั้งนี้จะต้องรอผู้โดยสารจากสถานีอื่นลงให้หมดก่อนถึงจะขึ้นไปได้ เมื่อผู้โดยสารขึ้นรถไฟหมดแล้ว เท่าที่สังเกตผู้โดยสารบางส่วนไม่นั่งตามที่นั่งของตนและไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบว่าทุกคนนั่งถูกที่หรือไม่ เลยทำให้มีผู้โดยสารบางส่วนยืนออเพื่อรอให้คนที่นั่งในที่ของตนย้ายออก บางส่วนเข้าไปบอก บางส่วนเลือกที่จะแยกย้ายไปนั่งตรงที่นั่งว่าง เมื่อมีคนมาขอนั่งที่นั่งว่างข้าง ๆ เลยถามไปว่าทำไมไม่ไปนั่งที่นั่งของตนเอง ชายหนุ่มตอบว่าที่นั่งของมีชายสูงอายุนั่งอยู่และรู้สึกลำบากใจที่จะบอกให้เขาย้ายที่ เลยแนะนำให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อให้ไปบอกชายสูงอายุคนนั้น แต่ชายหนุ่มคนยืนยันว่าไม่อยากมีปัญหา
แล้วรถไฟก็ออกตรงตามเวลาที่กำหนดคือ 13.24 น. และมาถึงสถานีนครหลวงเวียงจันทน์อีก 2 ชั่วโมงต่อมา การเดินทางเป็นไปด้วยความราบรื่นและวิวทิวทัศน์สวยงามสองข้างทางทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน ถึงแม้จะรู้สึกง่วงแต่ก็ไม่อยากงีบเพราะเดี๋ยวจะพลาดโอกาสในการชมวิว
ชั้น 1
สำหรับความพิเศษของรถไฟชั้น 1 คือที่นั่งที่กว้างกว่าชั้น 2 และมีที่วางเท้า แต่ชั้น 2 ไม่มี พื้นที่ระหว่างเบาะหน้ากับเบาะหลังเท่ากัน มีที่ชาร์จแบตเตอรี่ใต้เบาะ แต่ไม่มีไวไฟ ห้องน้ำชั้น 1 ในขบวนจากหลวงพระบางมานครหลวงเวียงจันทน์มีแบบเดียวคือแบบคอห่าน และไม่มีชักโครก เพื่อนชาวออสเตรเลียซึ่งนั่งรถไฟชั้น 2 ขาไปและชั้น 1 ขากลับกล่าวว่า “เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากถ้าเทียบกับราคาตั๋วที่แพงกว่า แค่มีเบาะที่กว้างขึ้นและมีที่วางเท้า และห้องน้ำก็มีแบบนั่งยอง ๆ เท่านั้น หรือว่าฉันคาดหวังไว้สูงไป” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างผิดหวัง
ข้อคิดหลังนั่ง
จากประสบการณ์ในการนั่งรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนในครั้งนี้โดยภาพรวมแล้วประทับใจในเรื่องการจัดการ ความตรงต่อเวลา ความสะอาดสะอ้าน และการให้บริการของเจ้าหน้าที่ ถ้าเทียบว่ารถไฟเพิ่งเปิดให้บริการเพียง 2 อาทิตย์ การดำเนินการต่าง ๆ เรียบร้อยดี แต่หวังว่าในอนาคตจะมีการบริการจองตั๋วออนไลน์ได้ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางมายังสถานีที่ค่อนข้างไกลจากตัวเมือง ซึ่งยังไม่มีรถโดยสารสาธารณะให้บริการ
ในด้านความคุ้มค่าถ้าเทียบกับเวลาและประสิทธิภาพถือว่าคุ้มค่ามากสำหรับตั๋วชั้น 2 ที่ราคาถูกกว่าการเดินทางโดยเครื่องบินเกือบครึ่งหนึ่งและใช้เวลาใกล้เคียงกัน ยิ่งถ้าเทียบกับการเดินทางโดยรถโดยสารแล้วถือว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง ถ้าต้องนั่งบนถนนขรุขระคดเคี้ยวลาดชันกว่า 7 – 8 ชั่วโมง สำหรับการเดินทางชั้น 1 ถ้าเทียบกับชั้น 2 หรือเครื่องบินแล้วถือว่าไม่คุ้ม เพราะไม่ได้เพิ่มความพิเศษเข้าไปมากถ้าเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มถึง 40% ของตั๋วชั้น 2
หากมองในแง่การขนส่งและการพัฒนาระบบคมนาคม การมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อเมืองสำคัญ ในลาวนับเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนและการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีระยะเวลาสั้น เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง การขนส่ง ประหยัดเวลาและค่าโดยสารที่ไม่ได้สูงมากแบบจับต้องยาก ทั้งนี้สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ขั้นต่ำประมาณ 4,000 บาทต่อเดือนค่าตั๋วโดยสาร 400 – 894 บาท นับว่าเป็นราคาค่อนข้างสูง แต่ก็ต้องกลับมาพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ว่ารถไฟขบวนนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับผู้โดยสารเป็นหลักหรือเพื่อการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ ทั้งนี้หากมีการเพิ่มการบริการรถรับส่งสาธารณะจากตัวเมืองมายังสถานี และจากสถานีกลับเข้าเมืองจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เนื่องจากค่าแท็กซี่เที่ยวละ 100,000 – 150,000 กีบ รวมกับค่าตั๋วก็พอกับค่าเครื่องบินพอดี
ในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพียงแค่การบริการภายในประเทศในระยะเวลา 5 วันที่เปิดดำเนินการและมีผู้โดยสารใช้บริการไปแล้วกว่า 5,000 คน (ข้อมูลจากสื่อท้องถิ่น) ถือว่ารถไฟช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากทีเดียว เมื่อลาวเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในปี 2022 ตามที่รัฐบาลได้ประกาศแผนไว้ คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพราะสะดวกรวดเร็วและราคาสมเหตุสมผล โดยเส้นทางยอดนิยมน่าจะเป็นวังเวียงและหลวงพระบาง สำหรับอุดมไซนั้น ผู้นิยมการเดินป่าและสัมผัสธรรมชาติสามารถเที่ยวในเมืองอุดมไซได้
การเดินทางไปวังเวียงเนื่องจากมีทางด่วน ตัวเลือกในการนั่งรถไฟสำหรับคนท้องถิ่นอาจจะเป็นอันดับรอง นอกจากไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล รถไฟก็เป็นทางเลือกที่ดีเพราะรถโดยสารไม่สามารถแล่นบนทางด่วนได้จึงทำให้การเดินทางใช้เวลา 4 ชั่วโมงและสภาพถนนคดเคี้ยวลาดชันบางช่วงและขรุขระ ปัจจุบันเศรษฐกิจในวังเวียงค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาแต่ก็ไม่มากเหมือนก่อนการระบาดของโควิด หลายกิจการต้องปิดตัวลงหรือประกาศขายทอดกิจการ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมในวังเวียง อาทิ การพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ พายเรือคายัก นั่งบอลลูนชมวิว หรือปีนเขา ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมจากคนท้องถิ่นมากนักทำให้เศรษฐกิจในวังเวียงยังไม่กระเตื้องเท่าที่ควร
สำหรับหลวงพระบาง ตั้งแต่รถไฟเริ่มเปิดดำเนินการ การท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งโดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่บางร้านขายดิบขายดีจนไม่มีเวลาพักผ่อน
“ผมดีใจที่ตอนนี้การเดินทางและขนส่งในประเทศลาวสะดวกสบายยิ่งขึ้น ตั้งแต่รถไฟเริ่มเปิดให้บริการก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาหลวงพระบางมากขึ้น จากที่หลายกิจการต้องปิดชั่วคราวและปิดตัวลงรวมถึงตลาดค่ำ ที่ตอนนี้เพิ่งกลับมาเปิดอีกครั้ง” คนขับรถชาวท้องถิ่นกล่าว
“ผมก็อยากให้ประเทศเปิดเร็ว ๆ จะได้กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนโควิดผมก็กลัวแต่เราก็ต้องป้องกันตัวเอง”
* เริงปอย แดนจำปา เป็นนามแฝงของหญิงไทยที่ทำงานในนครหลวงเวียงจันทน์