‘รถยนต์ EV’ อาจทำคนตกงาน-ได้รับผลกระทบจำนวนมาก หากไม่มี ‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม’ – ไทยรัฐ

คุณสามารถอ่านได้อีก

5

บทความ

Summary
  • จากเทรนด์การมุ่งสู่ ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ (Green Economy) ส่งผลให้ ‘อุตสาหกรรมยานยนต์’ กำลังจะเปลี่ยนยุคจาก ‘รถยนต์สันดาปขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง’ (ICE) ไปสู่ ‘รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า’ (EV) ซึ่งในการเปลี่ยนผ่านนี้ ชิ้นส่วนรถยนต์จะลดลงจาก 30,000 ชิ้นต่อคัน เหลือเพียงประมาณ 1,500-3,000 ชิ้นต่อคัน
  • ยุโรป ตั้งเป้ายกเลิกขายรถใช้น้ำมันปี 2035 อาจมีการเลิกจ้าง 14.6 ล้านตำแหน่ง สหรัฐฯ อาจมีการเลิกจ้าง 75,000 ตำแหน่ง หากสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 50% ส่วนที่ญี่ปุ่นคาดว่าจะมีคนตกงาน 300,000 คน หากมุ่งไปผลิต EV เต็มตัว ธุรกิจท้องถิ่นได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะที่จังหวัดชิซูโอกะ ซึ่งเป็นศูนย์กลางผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปที่สำคัญ
  • ไทย มีคนทำงานในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบเก่าที่จะไม่ถูกใช้ในรถไฟฟ้าประมาณ 326,400 คน ซึ่งมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างหากเกิดการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า
  • ‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม’ (Just Transition) ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่จะไม่ทิ้งคนทำงานในอุตสาหกรรมเก่าไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านที่มีผลต่อการจ้างงาน จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเจรจาต่อรองร่วมกันระหว่างนายจ้างกับคนทำงานและสหภาพแรงงาน

จากเทรนด์การมุ่งสู่ ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ (Green Economy) ที่นอกจากจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อคนทำงานเบื้องหลังในบางอุตสาหกรรมหากไม่มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้ดีขึ้น (อ่านย้อนหลังได้ใน: เบื้องหลัง ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ ยังมีคนทำงานหนัก เสี่ยงอันตราย และได้ค่าแรงต่ำ) การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวนี้ จะส่งผลให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมแบบเก่าที่ไม่สามารถปรับตัวตามได้ด้วยเช่นกัน

ในบทความชิ้นนี้จะขอยกตัวอย่างผลกระทบต่อคนทำงานใน ‘อุตสาหกรรมยานยนต์’ ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากยุค ‘รถยนต์สันดาปขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง’ (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่ยุค ‘รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า’ (Electric Vehicle: EV) ซึ่งในการเปลี่ยนผ่านนี้ เบื้องต้นจะทำให้ชิ้นส่วนรถยนต์ลดลงไปอย่างมาก จากประมาณ 30,000 ชิ้นต่อคัน เหลือเพียงประมาณ 1,500 – 3,000 ชิ้นต่อคัน เท่านั้น โดยชิ้นส่วนที่จะหายไปได้แก่ เครื่องยนต์ ระบบไอเสีย หม้อน้ำ ถังน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อคนทำงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบเก่าเหล่านี้เป็นอย่างมาก

ยุโรป ตั้งเป้ายกเลิกขายรถใช้น้ำมันปี 2035 ส่งผลให้อาจมีการเลิกจ้างถึง 14.6 ล้านตำแหน่ง

สหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นภูมิภาคที่จริงจังในการลดการปล่อยมลพิษมากที่สุด โดยกำหนดเป้าหมายยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงภายในปี 2035 แล้วมุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้าแทน

คาดการณ์ว่า คนทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเก่าจะลดลงและอาจจะหายไปหากรถยนต์ไฟฟ้ามาแทนที่ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะจ้างคนทำงานที่มีทักษะทางเทคนิคสูงกว่าเดิม สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ยุโรป (ACEA) ประเมินว่าจะมีการเลิกจ้างจำนวนมากในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งทางตรงและทางอ้อมประมาณ 14.6 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7% ของกำลังแรงงานในยุโรปเลยทีเดียว

แม้จะมีความคาดหวังที่ว่าจะมีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่ โดยจากผลการศึกษาของ Boston Consulting Group คาดการณ์ว่าโรงงานแห่งใหม่ที่ผลิตเซลล์แบตเตอรี่เพื่อใช้เป็นพลังงานให้กับรถยนต์ไฟฟ้าจะถูกสร้างขึ้นในยุโรป และอาจจะมีการสร้างงานใหม่มากกว่า 100,000 ตำแหน่ง ในการผลิต ติดตั้ง และงานเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า 

แต่กลุ่มสหภาพแรงงานระบุว่าอาจเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะคนทำงานที่ถูกเลิกจ้างอาจจะไม่ได้ไปต่อในอุตสาหกรรมใหม่นี้ทั้งหมดทุกคน ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของบริษัท Bosch ในเยอรมนี สหภาพแรงงานประเมินว่าพนักงานกว่าครึ่งจาก 3,700 คน จะถูกเลิกจ้าง ซึ่งการผลิตชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ดีเซลนั้นใช้คนทำงานมากกว่าการผลิตเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้าถึง 10 เท่า ทั้งนี้ หากไม่ให้คนทำงานเปลี่ยนไปทำงานลักษณะอื่น หรือให้โอกาสในการฝึกอบรมให้มีความชำนาญในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า คนทำงานที่ผลิตรถยนต์แบบเดิมก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

สำหรับในเยอรมนี คาดการณ์ว่าจะมีการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเก่าถึง 75,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2025 และอาจมากถึง 178,000 ตำแหน่ง หากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมถูกยกระดับขึ้นไปอีก สถาบัน Ifo ในเครือสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมัน ชี้ว่าตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมรถยนต์จะลดลงไปอีกเรื่อยๆ บริษัทต่างๆ จึงควรเตรียมความพร้อมและพัฒนาแรงงานไว้เสียเนิ่นๆ 

สหรัฐฯ แบรนด์ยักษ์ใหญ่มุ่งสู่ EV คนทำงานเก่าที่ไม่ได้ไปต่อก็ต้องถูกเลิกจ้าง

ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2018-2019 พบว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกันรายใหญ่ต่างประกาศทยอยเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก โดยสาเหตุหนึ่งก็คือการปรับองค์กรเพื่อรับมือการเปลี่ยนรูปของอุตสาหกรรมนี้ ที่มุ่งไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ตัวอย่างเช่น GM ที่ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานถึง 14,000 ตำแหน่ง เมื่อช่วงปลายปี 2018 รวมทั้ง Ford ที่ประกาศลดพนักงานทั่วโลกถึง 10% ในช่วงปี 2019

ตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าของ GM ที่โรงงาน Detroit-Hamtramck ในดีทรอยต์ ได้ยุติสายการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอย่างถาวรเมื่อปี 2020 แม้ว่าตลอดเวลากว่า 35 ปี โรงงานแห่งนี้จะประกอบรถยนต์ไปแล้วกว่า 4 ล้านคัน มีทั้งรถเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ที่ใช้น้ำมันและไฟฟ้าควบคู่กัน แต่การปรับปรุงโรงงานใหม่จะผลิตแค่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น และมีการเลิกจ้างพนักงานเดิมถึง 800 คน ทั้งนี้ GM มีแผนจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ 20 รุ่นทั่วโลกภายในปี 2023 โดยมีการลงทุนเพิ่มกว่า 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ด้านฟอร์ด (Ford) อีกหนึ่งค่ายรถยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 40-50% ของยอดขายทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2030 โดยในช่วงเดือนกันยายน 2020 ฟอร์ดแถลงว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงาน 1,400 ตำแหน่ง ในสหรัฐฯ เพื่อปรับโครงสร้างบริษัทที่จะมุ่งสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2021 ก็เริ่มประกาศโครงการเลิกจ้างพนักงาน 1,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป้าหมายของโครงการเลิกจ้างนี้ มุ่งไปที่พนักงานที่มีอายุงานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้คาดว่าคนทำงานประมาณ 75,000 ตำแหน่ง ในสหรัฐฯ อาจต้องตกงาน หากสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 50% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2030

ญี่ปุ่น คาดคนทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเก่าจะตกงาน 3 แสนคน หากมุ่งไปผลิต EV เต็มตัว ธุรกิจท้องถิ่นได้รับผลกระทบ

รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ให้ได้ ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นจะต้องเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไปสู่ไฟฟ้าครั้งใหญ่ เพราะปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีสัดส่วนใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพียง 1% เท่านั้น และคาดการณ์ว่างานในอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเก่า (ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง) จะหายไป 300,000 ตำแหน่ง หากมีการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

ท้องถิ่นที่มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนแบบเก่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วยเช่นกัน อย่างเช่นที่จังหวัดชิซูโอกะ อันเป็นที่ตั้งของบริษัทซัพพลายเออร์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนมาก และถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปที่สำคัญของญี่ปุ่น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชิซูโอกะก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ถือเป็นบ้านเกิดของผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในตำนานอย่าง Yamaha Motor, Honda Motor และ Suzuki Motor ซึ่งชิซูโอกะเคยสร้างสถิติเป็นเมืองที่ผลิตรถมอเตอร์ไซค์มากที่สุดในโลกมาแล้ว

นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปอีกจำนวนมากในชิซูโอกะ ที่ต้องเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ ตัวอย่างเช่นบริษัท Fuji Oozx ผู้ผลิต ‘วาล์วไอดี’ มายาวนานกว่า 70 ปี ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ที่ควบคุมการไหลของก๊าซเข้า-ออกจากกระบอกสูบของเครื่องยนต์ ในการผลิตวาล์วไอดีนี้ใช้เทคโนโลยีเก่าที่มีอายุหลายสิบปีและชิ้นส่วนนี้ก็ไม่ได้จำเป็นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอีกต่อไป ทำให้ Fuji Oozx ต้องเริ่มหันมาผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์แทน

ก่อนหน้านี้ท้องถิ่นของชิซูโอกะก็ตระหนักถึงการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดขึ้น ในปี 2018 มีการก่อตั้ง ‘สถาบันวิจัยรถยนต์แห่งอนาคต’ เพื่อช่วยผู้ผลิตชิ้นส่วนแบบเดิมพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า สถาบันนี้ได้รับเงินทุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เพื่อให้ความช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี

แต่ถึงอย่างนั้น ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยรถยนต์แห่งอนาคตระบุว่า บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนในชิซูโอกะต่างมีความกังวลใจมาก่อนที่รัฐบาลจะประกาศตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์อยู่แล้ว ซึ่งมีเพียงบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่เริ่มจะปรับตัว แต่บริษัทเล็กๆ กลับยัง ‘หลับใหลอยู่’ 

ไทย มีคนทำงานผลิตชิ้นส่วนแบบเก่าถึง 3 แสนคน ที่มีความเสี่ยงจะตกงาน

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้วางเป้าหมายผลักดันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เพิ่มขึ้นอีก 30% หรือประมาณ 700,000 คัน ภายในปี พ.ศ. 2573

ดังที่กล่าวไปในขั้นต้นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้านั้น ชิ้นส่วนรถยนต์จะลดลงไปอย่างมาก จากประมาณ 30,000 ชิ้นต่อคัน เหลือเพียงประมาณ 1,500-3,000 ชิ้นต่อคัน โดยชิ้นส่วนที่จะหายไปได้แก่ เครื่องยนต์ ระบบไอเสียหม้อน้ำ ถังน้ำมัน เป็นต้นนั้น จากงานวิจัย ‘ผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์’ โดย รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ, ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ระบุว่าจากข้อมูลในปี พ.ศ.2562 พบว่าประเทศไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้จำนวน 816 แห่ง จากผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งหมดประมาณ 2,500 แห่ง บริษัทเหล่านี้จ้างแรงงานจำนวน 326,400 คน คิด 47% ของกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่จะได้รับผลกระทบหากมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าอีกจำนวน 183 แห่ง ที่มีการจ้างงานจำนวนมาก

กลุ่มสหภาพแรงงานได้ให้ข้อมูลกับงานวิจัยของ รศ.ดร.กิริยา ไว้ว่าอย่างที่ทราบกันว่าบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นได้ยึดครองเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไปทั่วโลก ซึ่งก่อนหน้านี้มีการลงทุนด้วยจำนวนเงินมหาศาล ทำให้ยากที่จะเปลี่ยนไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในทันที และทางนายจ้างก็ไม่ได้กล่าวถึงการรองรับคนทำงานจากการเปลี่ยนเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอนาคต ทำให้ฝ่ายคนทำงานค่อนข้างอึดอัดใจต่อทิศทางในอนาคต และเกิดคำถามต่ออนาคตของพวกเขา

ต้องมี ‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม’ (Just Transition) ในอุตสาหกรรมยานยนต์

จากรายงาน Just Transition – Where are we now and what’s next? A Guide to National Policies and International Climate Governance โดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation – ITUC), 2017 ระบุว่า ‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม’ (Just Transition) คือข้อเรียกร้องสำคัญที่ปรากฏใน ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และได้รับคำจำกัดความเพิ่มเติมในแนวปฏิบัติแรงงานสากลโดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ITUC ชี้ว่า ในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมนั้น จะต้องมีกระบวนการที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสถานประกอบการ ในการวางแผนและดำเนินงานเกี่ยวกับความพยายามในการมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว ที่ต้องมีการ ‘เจรจาทางสังคม-เจรจาต่อรองร่วม’ ระหว่าง ‘คนทำงาน’ และ ‘ผู้จ้างงาน’ 

โดยผู้เขียนได้ลองปรับใช้หลักการของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้ดังนี้

  • ให้ความเคารพในผลงานของคนทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเก่า ซึ่งอยู่เบื้องหลังความเจริญรุ่งเรืองในทุกวันนี้ และสนับสนุนพวกเขาเรื่องค่าจ้าง การคงการจ้างงาน การฝึกอบรมให้มีทักษะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรือมอบโอกาสการจ้างงานใหม่แก่พวกเขา
  • มีการฝึกอบรมทักษะสำหรับอาชีพใหม่ ถ้าหากคนทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเก่าที่ไม่มีศักยภาพหรือไม่อยากทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าต่อไป
  • ให้การรับรองว่าคนทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเก่า จะได้ความคุ้มครองทางสังคมและได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน
  • การเปลี่ยนผ่านที่มีผลต่อการจ้างงาน จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเจรจาต่อรองร่วมกันระหว่างนายจ้างกับคนทำงานและสหภาพแรงงาน.

อ้างอิง:

  • ผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ, ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES), August 2019)
  • The last gas cars roll off GM’s Detroit-Hamtramck plant this week (Bradley Berman, Electrek, 24 February 2020)
  • คาด ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ กระทบอุตสาหกรรมแบบเก่า-คนตกงาน (TCIJ, 29 March 2020)
  • Ford Aims to Cut 1,000 U.S. Jobs Through Voluntary Buyout Plan (Yueqi Yang, Bloomberg, 6 August 2021)
  • Europe’s electric car revolution risks job loss backlash, unions warn (Arthur Neslen, Thomson Reuters Foundation, 6 September 2021)
  • How the EV boom is crushing Japan’s small towns supplying automotive parts (Shiho Takezawa, Bloomberg, 25 October 2021)

creator

Author

วิทย์ บุญ

‘แรงงานรับจ้างอิสระ’ สนใจประเด็นแรงงาน และทำงานเรื่องนี้ร่วมกับสื่อ องค์กรพัฒนาเอกชน สถานศึกษา ฯลฯ มาตั้งแต่ปี 2549 จวบจนปัจจุบัน

Follow