Motor Sport Sponsored

มุมมองคนทำ “เบียร์”แล้วถูกจับ! ดันร่าง “พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” (ตอนที่ 1) – เดลีนีวส์

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

“ผมเคยทำคราฟต์เบียร์ตั้งแต่ปี 58 โดยศึกษาวิธีทำมาจากกูเกิล และยูทูบ ใช้เงินลงทุนประมาณ 200,000 บาท ต้องเปิดห้องแอร์เพื่อเลี้ยงยีสต์ เลี้ยงเบียร์ เรียกว่าต้องหมักให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อผลิตคราฟต์เบียร์ออกมาวันละ 80 ลิตร แต่บางวันเบิ้ลไปเป็น 160 ลิตร และ 240 ลิตร เอาใส่ขวด ใส่ถัง วางท้ายรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งตามร้าน ส่งขายทางออนไลน์บ้าง ในราคา 20 ลิตร 4,000 บาท ถือว่ากำไรดีพอสมควร สามารถเลี้ยงลูกน้องได้ 3-4 คน  แต่การทำเบียร์แบบนี้บางวันมันก็เสีย บางวันก็ดี เพราะเราทำหลายสูตร บางสูตรลูกค้าติชมบ้าง เรียกว่าเรียนรู้ไปพร้อมกับความผิดพลาด ทำให้เราต้องพัฒนาเรื่องคุณภาพควบคู่ไปกับการทำตลาด ถ้าไม่ถูกจับตอนนั้นปี 62 ธุรกิจถือว่าพอไปได้ แต่เมื่อถูกจับปรับ 5,500 บาท แต่ตอนนี้ถ้าถูกจับต้องโดนปรับ 50,000 บาท แล้วนะ”

นี่คือเสี้ยวชีวิตหนึ่งของ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ที่พยายามผลักดันให้มีการผลิตสุรา เบียร์ ได้อย่างเสรีและถูกกฎหมาย ผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ … พ.ศ. …. หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” เข้าสู่วาระประชุมสภา หลังจากเขาเคยถูกจับคดีผลิตคราฟต์เบียร์เมื่อปี 60 โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจ่อเข้าสู่วาระประชุมสภา เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 65 แต่สภาล่ม! ทำให้ต้องเลื่อนมาเข้าสู่การประชุมสภาอีกครั้งในวันที่ 9 ก.พ. 65

ถ้าร่าง พ.ร.บ.ผ่าน! ช่วยสร้างงานและรายได้
นายเท่าพิภพ กล่าวกับทีมข่าว Special Report ว่าหลังจากถูกจับเมื่อปี 60 ก็ไม่รู้จะหางานอะไรให้ลูกน้องทำ สุดท้ายจึงต้องเปิดบาร์ และหันไปผลิตเบียร์ในประเทศกัมพูชา แล้วส่งเข้ามาขายในเมืองไทย ผลิตวันละ 1,500 ลิตร ใส่ขวดเสียภาษีนำเข้าอย่างถูกต้องเหมือนเบียร์นอก ส่งเข้ามาขายตามร้านในกรุงเทพฯ แต่ในระยะยาวมันไปไม่ไหว เพราะเราต้องเดินทางไปดูการผลิตที่กัมพูชาบ่อย ๆ ต้องเสียค่าขนส่ง ต้องเสียภาษีในอัตราสูงเท่ากับเบียร์ของอเมริกา

ในขณะที่เบียร์อเมริกามีคุณภาพดีกว่า ต้นทุนถูกกว่า และอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ สุดท้ายจึงไปไม่รอด ต้องเลิกไปในที่สุด ทั้งที่คนไทยมีฝีมือ และมีเป็น 100 แบรนด์ ออกไปทำเบียร์อยู่ในต่างประเทศ แต่สำหรับที่กัมพูชา เนื่องจากต้นทุนเราสูง จึงสู้เบียร์นอกจากอเมริกาไม่ได้

นี่คือเหตุหลักที่พยายามผลักดันให้คนไทยสามารถผลิตสุรา เบียร์ ได้อย่างเสรีและถูกกฎหมาย อย่าเอาข้อจำกัดในเรื่อง 5 แรงม้า 7 แรงคน รวมทั้งเรื่องทุนจดทะเบียน และกำลังการผลิตต่อปีมาปิดกั้นการผลิตสุรา เบียร์อย่างเสรีและถูกกฎหมายอีกเลย!

อย่าลืมว่าปัจจุบันตลาดสุรา เบียร์ในประเทศไทย รวมกันมีมูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าคิดในแง่ของปริมาณการผลิตน่าจะอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่ถึง 80% อีก 20% เป็นของรายย่อย รายเล็ก วิสาหกิจชุมชน และพวกใต้ดินที่ไม่มีแสตมป์ แต่ถ้าร่าง พ.ร.บ.ตัวนี้ผ่าน โดยส่วนตัวเชื่อว่าปริมาณการผลิตจะไม่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่นัก แต่คุณภาพและมูลค่าจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ช่วยกระตุ้นให้มีการจ้างงาน ทำให้พ่อแก่ แม่เฒ่ารวยขึ้นได้ เพราะสามารถทำสุราขาวแบบคราฟต์ขวดละ 1,000 บาท ออกมาขายได้ ไม่ใช่มัดถุงขายแค่ 50 บาท

อันนี้คือช่องทางที่จะลืมตาอ้าปาก ทั้งที่ไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณเยอะ ๆ ใช้วัตถุดิบเท่าเดิม แต่ของที่ผลิตมีคุณภาพและมีมูลค่ามากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่จะขยับชนชั้นได้ สำคัญที่สุดคือเมื่อไม่มีข้อจำกัดอะไรมาปิดกั้น ทุกคนอยากทำอะไรให้ถูกกฎหมาย พร้อมเสียภาษีเข้ารัฐกันทั้งนั้น ถ้าผลิตออกมาแล้วมีตลาดขายได้ ไม่มีใครอยากอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ หรอก

ถึงเวลารัฐต้องยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ
“แต่วันนี้ภาครัฐต้องเลิกเถอะ เรื่องข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการผลิต ถ้าเกิน 5 แรงม้า 7 แรงคน ต้องขออนุญาตเหมือนเป็นโรงงาน ซึ่งคงไม่ใช่แล้ว เพราะพัดลม 1 ตัว และเตาแก๊ส 1 เตา คงจะเกิน 5 แรงม้า รวมทั้งข้อจำกัดเรื่องทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ต้องผลิต 100,000 ลิตรต่อปี ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ต้องยกเลิกให้หมด ถ้าใครผลิตสุรา เบียร์ เพื่อดื่มอยู่ที่บ้าน ไม่ใช่ผลิตเพื่อการค้า ก็ไม่ต้องขอใบอนุญาต วันไหนโชคร้ายผลิตเบียร์ออกมาไม่สะอาด หรือมีแบคทีเรียก็เรื่องของคุณ แต่ถ้าจะผลิตเพื่อการค้า ต้องขอใบอนุญาต ต้องเสียภาษี ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และต้องพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตเข้าไปตรวจได้ทุกเวลา ซึ่งทุกวันนี้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตก็ออกไปสุ่มตรวจการผลิตสุราชุมชนรายย่อย รายเล็ก เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว”

นายเท่าพิภพ กล่าวต่อไปว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่าน! ตนถือว่าเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ของสภาชุดนี้เลยนะ ไม่ใช่ผลงานของตน หรือผลงานของพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น เนื่องจากถ้าร่าง พ.ร.บ.ตัวนี้ผ่าน จะทำให้อีกหลายคนสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ โดยไม่ต้องมีเงินลงทุนเป็นพัน ๆ ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตสุรา เบียร์ เด็กที่เรียนจบใหม่ ๆ สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ โดยไม่ต้องไปทำงานเป็นลูกจ้างคนอื่น การเป็นเจ้านายตัวเองถือเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับมนุษย์

ดังนั้นประเทศที่ดี ประเทศที่ให้เกียรติประชาชนต้องมองไปในจุดนี้ อย่ามองเรื่องผลประโยชน์ของนายทุนเพียงไม่กี่ตระกูล แต่เรากำลังจะเปิดโอกาสให้กับคนไทยอีกจำนวนมากได้มีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการ โดยไม่ต้องมีเงินทุนระดับพันล้านบาท ซึ่งพวกเราลืมกันไปแล้วหรือ เกี่ยวกับภูมิปัญญาในอดีตของพ่อแก่ แม่เฒ่าเคยต้มสุราดื่มกัน แล้วทุกวันนี้หายไปไหนหมด นี่คือคำถาม?

ยิ่งถ้าคุณเป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เรื่องนี้ต้องผ่านสภา ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะไม่ผ่านสภา หรือหลายคนอาจจะเป็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัย ก็ต้องไปว่ากันในอีกประเด็นของข้อกฎหมาย แต่สำหรับคนทำเบียร์ต้องการผลิตเบียร์ที่มีคุณภาพ ลูกค้าดื่มแล้วชอบและปลอดภัยด้วยกันทั้งนั้น เพราะการทำเบียร์ไม่ว่าจะกำลังผลิตขนาด 100-1,000 ลิตร ต้องใช้เงินลงทุน แล้วใครอยากจะฆ่าตัวเองด้วยการผลิตของที่ไม่มีคุณภาพและไม่ปลอดภัยออกมา

“การทำสุรา เบียร์ เหมือนการทำหนัง ทำซีรีส์เรื่องหนึ่ง ผมต้องการให้สุรา และเบียร์ไทยที่มีหลากหลายแบรนด์ กระจายไปวางตามร้านอาหารไทยในต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งน่าจะมีจำนวนหลายพันร้านอาหาร ที่สามารถช่วยสร้างตลาด และสร้างมูลค่าได้มากเลยทีเดียว คนต่างชาติที่ดื่มเบียร์หรือสุราที่ผลิตมาจากจังหวัดไหน แล้วรู้สึกว่าชอบ เขาอาจจะเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดนั้นด้วยก็ได้” นายเท่าพิภพ กล่าว.

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.