ตลาดมอเตอร์ไซค์มือ 2 ภาคเหนือ-อีสานวูบ แถมตัดราคาขายแข่งเดือด เร่งปรับตัวเปิดบริการอื่นเสริมรายได้ ขณะที่ยอดขายภาคใต้กระเตื้อง ทำยอดขายรถมือ 2 ขาดแคลน ราคาขยับขึ้น ตีตลาดรถมอเตอร์ไซค์มือ 1 ยับ ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์มือ 1 ภาคใต้ยอดขายลดฮวบ 40%
นางอาริยา ขันดี เจ้าของร้านไทยนต์อุดรอ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ผู้ประกอบการขายรถจักรยานยนต์มือ 2 รายใหญ่ใน จ.อุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถจักรยานยนต์มือ 2 ของทางร้านลดลงไปอย่างมาก จากเดิมก่อนเกิดโควิดขายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 30-40 คัน ปัจจุบันยอดขายเหลือไม่ถึง 10 คันต่อเดือน
และรถที่ขายได้ส่วนใหญ่ราคาต่ำกว่า 10,000 บาทต่อคัน ทำให้บริษัทต้องปรับตัวเพื่อหารายได้มาเพิ่มเติมในส่วนที่หายไป ทั้งเปิดบริการล้างอัดฉีด เย็บ-ซ่อมเบาะ
“คนอุดรฯกลับจากกรุงเทพฯมาเยอะ แต่ส่วนใหญ่ตกงานไม่มีรายได้ ทำให้ไม่มีกำลังซื้อ คนส่วนใหญ่ที่พอมีกำลังซื้อจะมาถามหารถมอเตอร์ไซค์มือสองที่ราคาต่ำกว่า 10,000 บาท รถราคาแพงกว่า 10,000 บาท ขายไม่ได้เลย ขณะที่รถราคาต่ำกว่า 10,000 บาท เราก็หารถมาขายให้ลูกค้าไม่ค่อยได้
ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางร้านไทยนต์อุดรจะขายเงินสด ไม่มีระบบผ่อนด้วย ทำให้อาจจะขายยากกว่าร้านคู่แข่งรายอื่น ซึ่งมีระบบผ่อนส่ง แถมยังมีการตัดราคาขายกันมาก อย่างรถจักรยานยนต์สภาพดี เราตั้งราคาไว้ 15,000 บาทต่อคันคู่แข่งซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่นิยมขายผ่านหน้าเพจ จะกดราคาลงมาเหลือประมาณ 7,000-8,000 บาท”
นางอาริยากล่าวต่อไปว่า ตอนนี้กำลังพิจารณาจะทำระบบผ่อนส่ง เพื่อปรับตัวเข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะมาซื้อ ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทจัดไฟแนนซ์เข้ามาเสนอเงื่อนไขกัน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป
นายจำเริญ ยศ เจ้าของร้านลุงเริญมอเตอร์ ตลาดรวมโชค เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ลดลงตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์หนักขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้รายได้ไม่เพียงพอจะจ่ายค่าเช่าที่ต้องนำเงินเก็บที่มีมาประคองธุรกิจไป รอให้ฟื้นตัวกลับมา
“จากภาวะปกติก่อนเกิดโควิดเคยมียอดขายดี ๆ จะอยู่ประมาณ 50 คันต่อเดือนปัจจุบันเงียบมาก นักท่องเที่ยวไม่มี คนในจังหวัดไม่มีกำลังซื้อ นักศึกษาก็เรียนออนไลน์อยู่บ้าน” นายจำเริญกล่าว
นายเอกภัทร ภัทร์รัศมี ประธานกรรมการ บริษัท เอกภัทร สามเอก จำกัด จ.พัทลุง ผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ซูซูกิ ยามาฮ่า เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์มือ 1 ทุกยี่ห้อ
ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ยอดขายหดตัวไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขยอดจดทะเบียน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จ.พัทลุง ช่วงเศรษฐกิจดี ยอดขายรถจักรยานยนต์มือ 1 อยู่ที่ประมาณ 2,000-2,300 คัน/เดือน แต่ตอนนี้ขายได้ประมาณ 700-800 คัน/เดือน คนนิยมหันมาใช้รถจักรยานยนต์มือ 2 กันมาก
โดยผู้ใช้รถจักรยานยนต์มือ 2 กลุ่มใหญ่ มีอาชีพการเกษตรเป็นหลัก เพราะเป็นรถที่เข้าถึงหมู่บ้าน ขณะที่จังหวัดใหญ่ เช่น จ.สงขลา จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ตลาดรถจักรยานยนต์มือ 2 ยังไปได้ดี
“ตอนนี้คนส่วนใหญ่ต่างเก็บเงินเอาไว้ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นชะลอออกไปก่อน ยกตัวอย่าง จ.พัทลุง เคยมียอดขายรถยนต์ใหม่ประมาณ 2,500 คัน/เดือน จากทุกยี่ห้อ
ตอนนี้ขายได้ประมาณ 230 คัน/เดือน เป็นต้น แต่มีแนวโน้มที่ดีจากจำนวนวัคซีนที่เข้ามาเพิ่มขึ้น คาดว่าประมาณเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ 2565 หากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งประเทศสถานการณ์เศรษฐกิจคงจะเริ่มฟื้นกลับมา”
นายเอกภัทรกล่าวต่อไปว่า สำหรับภาพรวมการตลาดรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า เป็นที่นิยมใช้ในตลาดสัดส่วนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ รองลงมายี่ห้อยามาฮ่า 8-10 เปอร์เซ็นต์ และซูซูกิอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เหตุผลที่จักรยานยนต์ฮอนด้าที่นำการตลาดมาตลอดร่วม 10 ปี เพราะความเชื่อมั่นในแบรนด์ความสวยงาม แต่สำหรับคุณภาพประสิทธิภาพไม่ต่างกันกับยี่ห้ออื่น ๆ
นายสัญญา ศรีสมพงศ์ เจ้าของร้านแสงอรุณเซอร์วิส รับซ่อมรับซื้อและจำหน่ายรถจักรยานยนต์มือ 2 และสามล้อพ่วง เทศบาลตำบลควนเสาธง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ขณะนี้รถจักรยานยนต์มือ 2 มีความต้องการในตลาดสูงขึ้นมาก
โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปี 2564 ที่ผ่านมา ขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มร้านแสงอรุณเซอร์วิส และแนวโน้มขยายตัวเติบโตตลอดทั้งปี 2564 โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า จะมีคำสั่งซื้อจองทุก ๆ รุ่น และยังเป็นอันดับต้น ๆ รองลงมาเป็นยี่ห้อซูซูกิ และยามาฮ่าตามลำดับ
“คนส่วนใหญ่ซื้อรถไว้ใช้ในงานเกษตรเป็นหลัก และนำไปทำรถจักรยานยนต์ 3 ล้อพ่วง หรือรถซาเล้ง โดยระดับราคารถที่ต้องการเฉลี่ย ประมาณ 15,000 บาท ส่วนรถราคา 25,000-30,000 บาท มีความต้องการเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่มีรถส่งมอบให้ และทิศทางราคาในครึ่งปี 2564 มีแนวโน้มขยับขึ้นกว่า 50%”
นายสัญญากล่าวอีกว่า ภาพรวมรถจักรยานยนต์ 3 ล้อพ่วง ขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้น ราคาอยู่ที่ 7,500 บาท/คัน โดยผู้ประกอบการบางรายสามารถผลิตรถพ่วงขายตามออร์เดอร์ไม่ต่ำกว่าเดือนละประมาณ 100 พ่วง โดยจำหน่ายไปทั่วภาคใต้ และจัดส่งถึงพื้นที่ตามออร์เดอร์
เจ้าของร้านโตยานยนต์แม่ขรี ซึ่งรับซ่อมจักรยานยนต์และคนกลางรับซื้อขายรถจักรยานยนต์มือ 2 เทศบาลตำบลแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์รถจักรยานยนต์มือ 2 ครึ่งปี 2564
ยอดขายอยู่ในเกณฑ์ที่ดีตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลไม่อำนวยความสะดวกต่อผู้ค้าขายรถจักรยานยนต์มือ 2 ในการเดินทางหาซื้อได้ เพราะกลุ่มผู้ค้ารถเก่าจะต้องเดินทางหารถเก่าไปทั่วในพื้นที่ตั้งแต่ จ.สงขลา จ.พัทลุง จ.ตรัง เพื่อมาเก็บไว้และขายต่อ ส่งผลให้ต้องชะลอการซื้อขายไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มตนเมื่อเทียบกับโควิด-19 ระลอกแรกปี 2563
Discover the panel d…
This website uses cookies.