มอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร อาชีพ “เสี่ยงภัย” ยุค New Normal – ไทยรัฐ

แม้ในปี 2563 ที่ผ่านมา “ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน” (Thai RSC) จะรายงานผลการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ว่า มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2563 จำนวนอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจากผู้คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการเดินทางและอยู่กับบ้านมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการระบาดของโรค COVID-19 รวมถึงการเลื่อนเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ออกไป ทำให้อุบัติเหตุทางท้องถนนลดลงอย่างมากในช่วงดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม การเกิดอุบัติเหตุในรถบางประเภท เช่น รถจักรยานยนต์ กลับยังไม่ได้ลดลงเหมือนในภาพรวมเท่าไหร่นัก

อัตราการตายที่เฉลี่ย 35 นาทีต่อ 1 คน ยังคงสถิติเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แต่ในยุค New Normal มีการสังเกตว่า การเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชน เป็นเหตุให้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คือ กลุ่มธุรกิจจัดส่งอาหารหรือ Food Delivery

รายงานจาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารหรือ Food Delivery เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้ความนิยมและเป็นที่สนใจอย่างมากในช่วงก่อนและหลังโควิด มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงเงินลงทุนของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มธุรกิจจัดส่งอาหารทั้งไทยและต่างชาติ

จากสถิติพบว่า จำนวนการสั่งอาหารในปี 2563 มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 78.0% ถึง 84.0% เช่นเดียวกับจำนวนแพลตฟอร์มของธุรกิจจัดส่งอาหารที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10 ราย ในช่วงเวลาไม่นาน ยังไม่รวมธุรกิจรับส่งพัสดุ ที่เกิดจากพฤติกรรม และความนิยมซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ในช่วงที่ร้านค้า และห้างสรรพสินค้าต่างๆ กำลังถูก Disrupt ให้ต้องปรับตัวเอง ไปสู่รูปแบบการขายสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย ให้สัมภาษณ์ว่า กิจการส่งอาหารที่เรียกว่า food delivery เติบโตอย่างรวดเร็ว เท่าที่ทราบปัจจุบันมีคนที่เข้าสู่ระบบธุรกิจนี้มากกว่า 300,000 คนทั่วประเทศ เฉพาะเจ้าใหญ่ๆที่เพิ่งฉลองความสำเร็จไปไม่นาน ก็ปรากฏว่า มีพนักงานอยู่มากกว่า 120,000 ราย ทั่วประเทศ

จริงอยู่ที่ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร อาจเป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและน่ากังวล คือ ผู้ให้บริการในธุรกิจนี้กว่า 70% คือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งในส่วนการทำ Web Surveillance ของนักวิจัยในโครงการ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย คือ คุณสิริวรรณ สันติเจียรกุล พบว่า รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทย หลายรุ่น มีสเปกที่ต่ำกว่ารถจักรยานยนต์ซึ่งจำหน่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศผู้ผลิตอย่างเช่น ญี่ปุ่น ฯลฯ

“โครงการเราพยายามที่จะนำเสนอให้เห็นถึงปัญหาหลายอย่างของรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสเปก ที่ถ้าไปดูก็จะเห็นชัดว่า มอเตอร์ไซค์บ้านเราล้อกว้างแต่ยางแคบ เช่น วงล้อ 17 นิ้ว หน้ายาง 50-80 มม. การเกาะถนนจึงต่ำ เสียหลักได้ง่าย เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และยังเปิดช่องให้มีการดัดแปลง แต่งซิ่งได้ง่าย และวันนี้ ถ้าเราต้องใช้มอเตอร์ไซค์ในการทำงาน ทำเงิน ต้องอยู่กับรถสองล้อคันนี้ทั้งวัน บางคนควงกะถึงกลางคืนด้วย ก็เป็นเรื่องน่าห่วง” พญ.ชไมพันธุ์ กล่าว

อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ยังบอกด้วยว่า รู้สึกเห็นใจคนที่ประกอบอาชีพส่งอาหาร ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา คือ ต้องส่งอาหารให้ได้เร็ว ขณะเดียวกัน ก็ต้องระวังในการขับขี่ บางครั้งฝนตกก็ยิ่งอันตรายมากขึ้น จากการค้นหาข่าวอุบัติเหตุของกลุ่มคนที่ทํางาน food delivery พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนน มีอยู่ 2 แบบ คือ แบบแรกผู้ขับขี่ขับรถโดยประมาท เช่น ขับเร็ว ขับปาดซ้ายขวา ซึ่งก็เป็นไปได้เรื่องทำงานแข่งกับเวลา กับแบบที่สอง คือ เกิดจากสิ่งรอบข้าง เช่น มีรถปาดหน้า เบรกกะทันหัน หรือถนนชำรุด

“เท่าที่ศึกษาข้อมูล ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ส่งอาหารมักจะขับเร็ว ทำให้มีมุมมอง ด้านข้างลดลง และระยะเบรกต้องยาวขึ้น เช่น ถ้าวิ่งด้วยความเร็ว 50 กม.ต่อ ชม. ระยะเบรกจะอยู่ที่ 27 เมตร แต่ถ้าความเร็วเพิ่มเป็น 100 กม.ต่อ ชม. ระยะเบรกจะต้องเป็น 83 เมตร สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ วิ่งเร็วและเบรกกะทันหันทำให้เสียหลัก” พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวและว่า อยากเสนอให้บริษัทที่ทำธุรกิจ food delivery ตระหนักถึงความปลอดภัยของพนักงานแม้จะไม่ใช่พนักงานประจำก็ตาม ควรมีการสร้างวินัยความปลอดภัยในการขับขี่ เพื่อลดความสูญเสีย เพราะคงไม่มีใครอยากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า “ต้องขออภัยด้วย บะหมี่ที่คุณสั่ง มาไม่ถึง เพราะพนักงานของเราประสบอุบัติเหตุ”.