ฟังชัดๆ!! ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. 100 วันแรก…จะทำอะไรให้คนกรุงเทพ?

เจ้าของแคมเปญไม่พูดเยอะ ทำงาน…ทำงาน…ทำงาน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ประกาศชัดหากชนะศึกเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค.นี้ 100 วันแรกของการทำงาน จะต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงทันทีแน่นอน

“100 วันแรก ไม่ได้วัดเฉพาะโครงการระยะสั้น แต่โครงการ 4 ปี ก็ต้องเริ่มไปพร้อมกัน ผมอยากให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ดังนั้น 100 วันแรก คนกรุงเทพฯทุกคนต้องมีชีวิตที่น่าอยู่ขึ้น ตามแนวคิดการพัฒนาเมือง “9 ด้าน 9 ดี” ด้วยแผนปฏิบัติงาน 200 โครงการ คือ บริหารจัดการดี, ปลอดภัยดี, สุขภาพดี, สิ่งแวดล้อมดี, เรียนดี, เดินทางดี, โครงสร้างดี, เศรษฐกิจดี และสร้างสรรค์ดี โดยการพัฒนาเมืองทั้ง 9 ด้าน จะเริ่มลงมือทำพร้อมกันตั้งแต่ 100 วันแรก ด้วยความโปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และเดินหน้าทันที

…คอร์รัปชันใน กทม.ต้องเป็นศูนย์ การเก็บส่วยของเทศกิจต้องเป็นศูนย์ ผมจะไม่อดทนต่อการทุจริตคอร์รัปชัน หากจับได้ต้องลงโทษอย่างรุนแรง ปัจจุบันข้าราชการ กทม. มี 80,000 คน 16 สำนัก 50 เขต ต้องรู้ตั้งแต่วันแรกว่าจะปรับปรุงการทำงานเพื่อบริการประชาชนอย่างไร สำหรับผมการเป็นผู้ว่าฯ ไม่ใช่เอาตัวเราเป็นคนทำงาน แต่ต้องใช้องคาพยพทั้งหมดของ กทม. ขับ เคลื่อนแผนปฏิบัติงานไปพร้อมกัน ข้าราชการ กทม.ต้องหันหลังให้ ผู้ว่าฯ และหันหน้าให้ประชาชน ต้องเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ต้องลงไปดูปัญหาประชาชนและแก้ไขปัญหาทันท่วงที ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องกระจายอำนาจและฟังประชาชนให้เยอะ พวกนี้จริงๆแล้วมันทำได้เลย ไม่ต้องรองบประมาณ เพราะคือเรื่องประจำวันอยู่แล้ว ผมคิดว่าอันนี้ 100 วันแรกจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทันที

…ถ้ายกตัวอย่างเป็นรูปธรรม เราสามารถคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีและสุขภาพที่ดีให้คนกรุงเทพฯ โดยตั้งแต่สัปดาห์แรกของการทำงาน ผมจะกำหนดให้ทุกเขตปลูกต้นไม้ 100 ต้น ทุกวันอาทิตย์ ในเวลา 1 ปี จะได้ต้นไม้เพิ่ม 250,000 ต้น โครงการนี้ไม่ต้องใช้เงินทุน ใช้เพียงกล้าไม้ และหาพื้นที่ปลูก นอกจากนี้ ผมจะประกาศสงครามกับฝุ่น PM 2.5 เพราะอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จุดไหนทำให้เกิดฝุ่นมลพิษ เช่น ไซต์ก่อสร้าง ต้องกล้ายึดใบอนุญาตก่อสร้างทันที ต้องติดตั้งเซ็นเซอร์ทั่วกรุงเทพฯเตือนฝุ่น และแจกอุปกรณ์กันฝุ่นแก่กลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกันต้องขยายการให้บริการด้านสาธารณสุข, ขยายเวลาดูแลประชาชน, เพิ่มหมอพาร์ตไทม์ และให้บริการแพทย์ทางไกล ในฐานะผู้ว่าฯ เรามีหน้าที่ต้องแถลงให้ประชาชนรับรู้ว่า 200 โครงการดำเนินไปถึงไหนแล้ว”

ด้าน “ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ผู้สมัครหมายเลข 4 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ มาพร้อมสโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” ย้ำหากมงลงได้เป็นผู้ว่าฯ ฟุตปาทต้องเรียบ, กรุงเทพฯต้องเท่าเทียมด้วยสาธารณูปโภคพื้นฐาน และหน่วยงาน กทม.ต้องปลอดการล่วงละเมิดทางเพศ โดยภารกิจเร่งด่วน 100 วันแรกขอเข้าไปสู้กับโควิด-19 อย่างถึงลูกถึงคนซะก่อน เพราะหลังเดินหาเสียง 50 เขต พบว่าผู้ติดเชื้อไม่ได้ลดน้อยลง และเห็นคนตายต่อหน้าต่อตา เพราะเข้าถึงระบบได้ช้า

“ผมเห็นคุณแม่ร้องไห้ เพราะไม่รู้ต้องทำอย่างไร เมื่อลูกวัย 11 ขวบติดโควิด เราควรเสริมกำลังให้อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.), หมอ และพยาบาล ทำระบบให้การเข้าถึงผู้ป่วยกระชับกว่านี้ วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีมากกว่าที่ปรากฏ ขณะที่ อสส.ยังไม่ได้รับการอบรมว่า เมื่อพบผู้ติดเชื้อต้องทำอย่างไร จำนวนเจ้าหน้าที่ก็ไม่เพียงพอ จนนำไปสู่การส่งต่อโรงพยาบาล และเกิดปัญหาเตียงไม่เพียงพอ ควรจัดการอบรมเพื่อให้องค์ความรู้ อสส. ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากถามว่าอะไรสำคัญที่สุด ต้องตอบว่าชีวิตคน หากยังสู้โควิดไม่ได้ จะไม่มีอะไรดีขึ้น และคนวัยไหนที่ต้องการความดูแลมากที่สุดก็คือเด็กเล็ก ขณะนี้มีงบประมาณอาหารอยู่เพียง 20 บาท ทำให้เห็นข้าวกับแกงจืดวิญญาณหมู, นม 1 กล่อง และเศษผลไม้ เราต้องเร่งเข้าไปดูแลให้เด็กเล็กได้อาหารครบ 5 หมู่ อีกหนึ่งปัญหาเร่งด่วนคือการเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วมที่กำลังจะมา ซึ่งเป็นเรื่องถนัดด้วยวิชาชีพส่วนตัว”

ถ้ายังไม่โดนใจลองไปฟังทัศนะของ ผู้สมัครหมายเลข 3 “สกลธี ภัททิยกุล” ซึ่งสลัดเก้าอี้รองผู้ว่าฯ กทม. อาสามาเป็นพ่อเมืองของกรุงเทพฯ ด้วยวัยเพียง 44 ปี ถือเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ไฟแรง

“หากเปรียบกรุงเทพฯเป็นทีมฟุตบอลแมนฯยู ก็เหมือนกันตรงที่มีทุกอย่าง แต่ขาดการบริหารจัดการ และรวมทุกอย่างให้มันดี จากประสบการณ์ทำงานใน กทม. ถ้าเข้าไป 100 วันแรก โครงการใหญ่คงทำไม่ทัน เพราะต้องมีการทำจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น 100 วันแรก ต้องทำสิ่งที่ทำได้ โดยไม่ต้องสร้างโครงการใหม่ อย่างแรกคือ กฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้ว แต่ยังบังคับใช้ไม่เข้มงวด เช่น การจับปรับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า เฉพาะตอนเป็นรองผู้ว่าฯ 3 ปี จับปรับได้ถึง 46 ล้านบาท ซึ่งหากได้เป็นผู้ว่าฯจะกลับไปเข้มงวดเรื่องนี้ ต่อมาคือเรื่องกฎหมายล้าสมัย บางอย่างต้องยกเลิก เพราะทำให้เกิดข้อจำกัด รวมถึงการเพิ่มกฎหมายที่จำเป็น โดยเฉพาะกิจกรรมบางอย่างของ กทม. เช่น การเก็บขยะที่ กทม. ไม่จำเป็นต้องทำ ปกติการเก็บขยะ ค่าจ้างคน, ซื้อรถ, เช่ารถ, ค่าถังขยะ 1 ปี ใช้งบ 4,000-5,000 ล้านบาท ส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องจ่ายถ้าให้เอกชนทำเผลอๆได้เงินด้วย และเงินส่วนนี้สามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้อีก กฎหมายเปิดช่องให้เอกชนดำเนินการได้ แต่ต้องออกข้อบัญญัติเพิ่มเติม ซึ่งภายใน 3 เดือนเสร็จทันแน่นอน เรื่องเร่งด่วนต้องทำยังรวมถึงการเข้าไปดูงบประมาณขุดลอกท่อ แต่ละเขตได้งบไปทำเสร็จไหม เพราะแต่ละเขตทำจัดซื้อจัดจ้างช้า เมื่อฤดูฝนมาก็ไม่ทัน

…ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โควิดทำให้เงิน กทม. หายไป 30–40% ทำให้โครงการที่ช่วยประชาชนง่อยไปเยอะ หากผู้ว่าฯกทม.หาเงินเข้ามาได้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนมาก ที่มีคนบอกว่า ผู้ว่าฯต้องลุย ผมไม่เห็นด้วย เพราะการเป็นผู้ว่าฯต้องประสานได้ และผมจะขอเป็นผู้ว่าฯที่หาเงินเข้ามาด้วย ไม่ใช่ใช้เงินงบประมาณอย่างเดียว นอกจากนี้ 100 วันแรก จะขอเข้าไปช่วยชุมชนจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้ลืมตาอ้าปากได้ โดยมีอาวุธสำคัญคือ เงินช่วยเหลือประกอบอาชีพของผู้เดือดร้อน ที่อนุมัติจัดสรรเพิ่มได้ทันทีหัวละ 5,000 บาท เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ทันที”

เป็นดาวสภารุ่นใหม่ที่ปากกล้าท้าลุยเป็นที่ร่ำลือ เมื่อผันตัวเองมาลงสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผู้สมัครหมายเลข 1 “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ตัวแทนพรรคก้าวไกล ก็ไม่ทำให้แฟนๆสายชงเข้มต้องผิดหวัง ชูนโยบายเด่น “สร้างเมืองที่คนเท่ากัน”

“100 วันแรกเรื่องแรกที่จะทำคือ การนำกุญแจเซฟไปเปิดเอาร่างบันทึกการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกมาให้ประชาชนได้ดูเสียที เพราะปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงคือ การจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน การต่ออายุสัญญาสัมปทานมีเงื่อนไขตั๋วร่วมหรือไม่ เกิดอะไรกับสัญญาที่ดำมืด เพราะประชาชนทุกคนสงสัยว่ามีความเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ เงื่อนไขในการคิดค่าโดยสารเป็นอย่างไร อย่างน้อยสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวกรุงเทพฯ คือสิทธิที่จะรู้ใช่ไหม และนี่คือภาระที่ชาวกรุงเทพฯต้องแบกอีก 30 ปี

…เรื่องต่อมาคือ “ปัญหาขยะ” กลิ่นขยะที่รบกวนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก มาจากโรงกำจัดขยะ ที่เจ้าของอาจจะรู้จักกับคนในรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะนี่คือเรื่องที่มีคนได้รับผลกระทบเป็นแสนๆคน ผู้ว่าฯต้องกล้าพูดเรื่องนี้ไม่ใช่ไม่กล้าแตะ แต่ต้องมาวางแผนเพื่อแก้ปัญหา ส่วนเรื่อง “ไซต์ก่อสร้างเต็ม กทม.” ก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข หลายไซต์เกินกำหนดสัญญามานานแล้ว แต่ไม่มีการปรับตามสัญญา ทำให้กี่ชีวิตต้องสังเวยจากรถมอเตอร์ไซค์ขับไปชนแบริเออร์ ผิวถนนไม่เรียบจากฝาครอบงานที่ไม่เรียบ ต้องทำให้พื้นที่ก่อสร้างปลอดภัยโดยคำนึงถึงชีวิตประชาชนที่สัญจรไปมา เรื่องสุดท้าย “กทม. กำลังจะเจอหน้าฝน” จะสามารถใช้งบกลางซ่อมบำรุงเครื่องสูบหน้าแต่ละสถานีได้หรือไม่ ซักซ้อมการประสานงานระหว่างเขตกับสำนักการระบายน้ำว่า เมื่อเกิดน้ำท่วมเครื่องสูบน้ำโมบายจะไปที่ไหน”

อยากจับเขย่าขวดรวมผู้สมัครทั้ง 4 คน เป็นร่างเดียว เราคงจะได้ “ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” ที่สามารถพลิกอนาคตกรุงเทพฯได้จริงๆ.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ